ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว |
ผู้เขียน | มุกดา สุวรรณชาติ |
เผยแพร่ |
“…ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้…”
(พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี วันที่ 11 ธันวาคม 2512)
ส.ว.ต้องมีที่มาอย่างสุจริต ยุติธรรม
ต้องมาจากคนดี มีประสบการณ์
รัฐธรรมนูญ มาตรา 107 วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทํางาน หรือเคยทํางานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม…
เพื่อให้การเลือกกันเองเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และเพื่อประโยชน์ในการดําเนินการให้การเลือกดังกล่าวเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จะกําหนดมิให้ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน หรือจะกําหนดให้มีการคัดกรองผู้สมัครรับเลือกด้วยวิธีการอื่นใดที่ผู้สมัครรับเลือกมีส่วนร่วมในการคัดกรองก็ได้…
ในกรณีที่ตําแหน่งสมาชิกวุฒิสภามีจํานวนไม่ครบ ไม่ว่าเพราะเหตุตําแหน่งว่างลง หรือด้วยเหตุอื่นใดอันมิใช่เพราะเหตุถึงคราวออกตามอายุของวุฒิสภา และไม่มีรายชื่อบุคคลที่สํารองไว้เหลืออยู่ ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่… (ไม่ครบ 200 ก็ได้)
มาตรา 114 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงําใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์
ต้องต่อสู้ให้ได้ ส.ว.ที่ดี
…เกมนี้ยังไม่จบ
หลังจากการเลือก ส.ว.สิ้นสุด ก็มีผู้มาร้องเรียนหลายราย เช่น พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว ผู้สมัคร ส.ว.กลุ่ม 2 กลุ่มกฎหมายฯ ยื่นหนังสือและหลักฐานเพิ่มเติมต่อ กกต. เป็นครั้งที่ 4 เพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบปัญหาการเลือก ส.ว. 2567 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเด็นการฮั้ว บล็อกโหวต และกรณีขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามลงสมัคร
กลุ่มนี้ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต.ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ จาก กกต. และไปยื่นคำร้องต่อศาลต่างๆ แต่ศาลก็ยกคำร้อง โดยเห็นว่า กกต.ยังไม่มีการประกาศรับรองผล พวกเขาเห็นว่า ถ้า กกต.ดำเนินการตามพยานหลักฐานที่ได้ยื่นไว้ จะเห็นว่าบัตรที่อยู่ในหีบรอบเลือกไขว้ มีการลงคะแนนตรงตามโพยจำนวนมาก
พล.ต.ท.คำรบกล่าวอีกว่า หาก กกต.ไม่ดำเนินการตามที่ร้อง ก็จะมายื่นทุกวัน หรือถ้าไม่สนใจแล้วประกาศรับรอง ส.ว. 200 คนไปโดยไม่ดำเนินการใดๆ จะถือว่า กกต.หลีกเลี่ยงที่จะผดุงความสุจริตและเที่ยงธรรม ตามที่มาตรา 32 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.กำหนดไว้ ซึ่งจะมีโทษตามมาตรา 69 จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท อาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี และอาจโดนไปถึง ม.157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อยากเห็น จึงขอวิงวอนให้ กกต.เปิดหีบบัตรลงคะแนนตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ทุกอย่างกระจ่าง
“มาตรา 59 ของกฎหมายเดียวกันให้อำนาจ กกต.ทั้งในเรื่องจะเลือกใหม่ การจะยับยั้ง หรือแม้แต่บัญชีที่ กกต.ประกาศไปแล้วก็สามารถทำขึ้นใหม่ได้ และมีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างนั้นด้วย กกต.เปิดหีบบัตรออกมาแล้วพบว่าผู้ได้รับเลือกได้คะแนนมาโดยไม่สุจริตเที่ยงธรรม ซึ่งก็ต้องได้ใบแดงตามที่กฎหมายกำหนด แล้วก็เลื่อนคนที่ได้คะแนนลำดับถัดไปขึ้นมา อาจจะเกินบัญชีสำรองที่ได้ ก็อยู่ในวิสัยที่ กกต.ทำได้ เพราะกฎหมายให้อำนาจ กกต.ไว้”
แม้ประกาศรับรองให้เป็น ส.ว.แล้ว
ก็ถูกถอดถอนได้
มาตรา 62 เมื่อคณะกรรมการประกาศผลการเลือกตามมาตรา 42 วรรคสอง แล้วถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใดกระทําการอันเป็นการทุจริตในการเลือก หรือรู้เห็นกับการกระทําของบุคคลอื่น อันทําให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการยื่นคําร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น เมื่อศาลฎีกามีคําสั่งรับคําร้องไว้พิจารณาแล้ว
ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาจะพิพากษาว่าผู้นั้นมิได้กระทําความผิด เมื่อศาลฎีกามีคําพิพากษาว่าผู้นั้นกระทําความผิด ให้สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาผู้นั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่
ให้นําความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งอยู่ในบัญชีสํารองด้วย
มาตรา 65 ในการสืบสวนหรือไต่สวน หากปรากฏว่าการให้ข้อมูล การชี้เบาะแสหรือคําให้การของบุคคลซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือมีส่วนร่วมในการกระทําความผิดตาม พ.ร.ป.นี้ รายใดจะเป็นประโยชน์ในการพิสูจน์การกระทําความผิดของผู้กระทําความผิดคนอื่นที่เป็นตัวการสําคัญ…คณะกรรมการจะกันบุคคลนั้นไว้เป็นพยานโดยไม่ดําเนินคดีก็ได้
มาตรา 76 กรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือผู้ดํารงตําแหน่งอื่นใดในพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่น ฯลฯ ผู้ใดกระทําการอันเป็นการช่วยเหลือให้ผู้สมัครผู้ใดได้รับเลือกเป็น ส.ว. ถือเป็นความผิด มีโทษสูง
มาตรา 77 ผู้ใดกระทําการเพื่อจูงใจให้ผู้อื่นสมัครเข้ารับเลือกเป็น ส.ว. หรือถอนการสมัคร อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเลือกหรือได้รับเลือก หรือเพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้ใด ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
การหลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณของผู้สมัครใด ก็มีความผิด (มาตราต่างๆ เขียนโดยย่อ)
ส.ว.ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี
แก่ผู้ช่วย ส.ว. นับพันคน
ส.ว.ชุดใหม่ ยังมีอำนาจมาก เช่น การแก้รัฐธรรมนูญที่ต้องใช้เสียง ส.ว.เห็นด้วยหนึ่งในสาม หรือ 67 เสียง
มีอำนาจในการเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการในองค์กรอิสระ
ส.ว.จะได้รับเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 71,230 บาท และเงินเพิ่ม 42,330 บาท รวม 113, 740 บาท หากได้เป็นกรรมาธิการ จะได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งประชุมคณะกรรมาธิการ ได้รับเบี้ยอัตราครั้งละ 1,500 บาท ประชุมคณะอนุกรรมาธิการ ได้รับเบี้ยอัตราครั้งละ 800 บาท ยังมีสวัสดิการอื่นๆ อีกมากมาย
ส.ว.สามารถตั้งผู้ช่วยประจำตัวได้สูงสุด 8 คน ซึ่งต้องมีเงินเดือนตอบแทนประจำรวมแล้ว 129,000 บาท
ผู้ช่วย ส.ว. จะเป็นผู้มาเรียนรู้งานการเมือง พวกเขาและเธอนับพันคน ควรจะได้แบบอย่างที่ดีในเชิงอุดมการณ์ และการทำงานทั้งในสภาและนอกสภา ถ้าเอาแม่พิมพ์ที่บิดเบี้ยวมา อาจจะสร้างคนที่ไปทำความเสียหายแก่สังคมในอนาคต
การเลือก ส.ว.ครั้งนี้ได้เห็นการกระทำของคนดีและคนไม่ดี มีบางกลุ่มดูหมิ่นรัฐธรรมนูญ ไม่เคารพต่อเกียรติของผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่นิติบัญญัติ กระทำความผิดอย่างไม่กลัวเกรง กกต. และกฎหมาย ถ้าปล่อยให้มีอำนาจจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อระบอบประชาธิปไตย และคนในสังคม
ดังนั้น ข้อร้องเรียนเรื่องการเลือก ส.ว. จะต้องถูกองค์กร และศาลที่เกี่ยวข้องนำมาพิจารณาแก้ไขโดยเร็ว
“…เพื่อควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้…”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022