‘ปิยบุตร’ จับเข่าคุย ‘ใบตองแห้ง’ มากกว่าเรื่องยุบพรรค ‘ก้าวไกล’ ต้องรักษา ‘ความหวัง’ คนให้ได้

เปลี่ยนผ่าน | ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

‘ปิยบุตร’ จับเข่าคุย ‘ใบตองแห้ง’

มากกว่าเรื่องยุบพรรค

‘ก้าวไกล’ ต้องรักษา ‘ความหวัง’ คนให้ได้

 

หมายเหตุ “ใบตองแห้ง-อธึกกิต แสวงสุข” ชวน “ปิยบุตร แสงกนกกุล” อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ มาสนทนาในรายการ “ประชาธิปไตยสองสี” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี

นอกจากจะวิเคราะห์ถึงแนวโน้มของคดียุบพรรคก้าวไกลแล้ว ทั้งคู่ยังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเรื่องพันธกิจสำคัญในการรักษา “ความหวัง” ทางการเมืองไทย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

 

ใบตองแห้ง : บางคนเปรียบเทียบเหมือนกับว่าสิ่งที่สำคัญกว่าการยุบพรรคก้าวไกลก็คือการทำให้คน “หมดความหวัง” ที่จะเปลี่ยนประเทศ

ตราบใดที่คนมีความหวังที่จะเปลี่ยนประเทศ ก้าวไกลจะยังได้รับเลือกอยู่จะยังชนะอยู่ แต่ถ้าคนหมดความหวังเมื่อไหร่ว่า สรุปแล้วประเทศมันเป็นได้แค่นี้แหละ ประชาธิปไตยมันเป็นได้แค่นี้แหละ เราเปลี่ยนไม่ได้หรอก เราต้องยอมรับสิ่งที่มันเป็นอยู่ เราก็เอาชีวิตรอดกันไป

(ถ้าเป็นอย่างนั้น) มันก็ไม่ (จำเป็นต้อง) มีก้าวไกลแล้ว

ปิยบุตร : วันก่อน พรรคก้าวไกลในจังหวัดหนึ่งเขาก็ชอบเชิญผมไปบรรยายเป็นวิทยากรพิเศษ ในฐานะมีประสบการณ์ตั้งพรรคมาแล้วก็โดนยุบ เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วย ผมไปบรรยายก็พูดประเด็นอย่างที่คุณอธึกกิตพูด

คือพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล ที่มันได้คะแนนนิยมสูงขึ้นอยู่ในกระแสตลอดเวลา มันมาจาก “ความหวัง” นะ คนเชื่อว่ายานพาหนะที่ชื่อ “อนาคตใหม่-ก้าวไกล” จะเป็นยานพาหนะที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงได้

นั่นก็หมายความว่าประชาชน ผมใช้คำว่า “politicize” ตัวเอง (ทำให้ตนเองมีความตื่นตัวทางการเมือง) กันอย่างมหาศาลเลย ซึ่งมันเป็นผลพลอยได้มาจากรัฐประหารต่อเนื่องยาว

ทีนี้ ฝั่งผู้มีอำนาจเขาจะ “depoliticize” พลเมือง (ให้เฉยชาทางการเมือง) ให้กลับไปทำมาหากิน ใช้ชีวิตปกติ ผมไม่ได้บอกว่าไม่ให้ทำมาหากินนะ แต่แบบว่า (เขาจะ) ให้คุณเลิกคิดเรื่องส่วนรวม คิดเรื่องส่วนตัวมากขึ้น

ในเวทีมีคนถามว่า “politicize” แปลว่าอะไร? ยกตัวอย่างง่ายๆ หน่อย ผมบอกเอาอย่างนี้ “politicize” คือ ณ เมื่อไหร่ก็ตาม คุณคิดถึงเรื่องคนอื่น คุณคิดถึงเรื่องสังคม คุณคิดถึงเรื่องส่วนรวม

แต่ถ้าวันหนึ่ง คุณคิดเรื่องฉันมีเงินเท่าไหร่ วันนี้ฉันจะทำยังไง ฉันจะซื้อบ้านได้เมื่อไหร่ ฉันจะซื้อรถเมื่อไหร่ เนี่ยค่อยๆ “depoliticize” ตัวเอง

พอ “politicize” ตัวเองมากขึ้น มันมียานพาหนะ (อนาคตใหม่-ก้าวไกล) นี้ออกมาพอดี ก็เลยไปกันหมด

ผมลองจินตนาการดู ถ้า 2570 แล้วก้าวไกลยังไปไม่ถึงฝัน 2574 (กระแสนิยมของ) คนจะลงแล้ว ก้าวไกลเวลาคนเขาเลือก เขาไม่ได้เลือกจากฉีดยุงลาย เขาไม่ได้เลือกจากทำหมันหมา เขาเลือกจาก อู้หู! คุณเข้าไปเปลี่ยนนั่นเปลี่ยนนี่ต่างๆ นานา ซึ่งถึงเวลาทำได้-ไม่ได้ไม่รู้ แต่วันนี้เขาเชื่อว่าฝากความหวังไว้ที่คุณไปทำ

แต่ถ้าเมื่อไหร่คนบอกไอ้อย่างนี้มันไกลเกินจริง เป็นไปไม่ได้แล้ว เราเลือกจาก ส.ส.เขตที่ดูแลเราดีกว่า ถ้าคนเริ่มคิดแบบนี้มากเท่าไหร่ คะแนนก้าวไกลก็จะหายลงไปทันที

ใบตองแห้ง : เหมือนอีกฝั่งหนึ่งที่เขาแบกๆ กัน บอกว่า (ก้าวไกล) ปลอม โกหก ทำจริงไม่ได้ ไปไม่ถึงดวงดาว ไปได้แค่ยอดมะพร้าว

ปิยบุตร : นี่คือความพยายาม “depoliticize” (ลดทอนความเป็นการเมือง) แบบหนึ่ง พยายามให้คนไม่คิดอะไรแบบแกรนด์ ไม่คิดอะไรแบบเรื่องเชิงเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ แต่ให้คิดว่าชีวิตเราจะเอาตัวรอดแต่ละวันอย่างไร

แน่นอนที่สุด ปัญหาของพี่น้องประชาชนสำคัญมาก ก้าวไกลเขาต้องแก้ แต่คุณต้องพยายามผูกโยงให้เห็นว่าปัญหารายวันบันเทิงแบบที่พวกเราเจอ มันโยงกับระบบทั้งระบบ

ปัญหาน้ำไม่สะอาด ไฟไม่สว่าง ทางไม่ดี คุณโยงให้เข้ากับกระจายอำนาจ ปัญหาเรื่อง ส.ส. ต้องมาฉีดยุงลาย-ทำหมันหมา ก็โยงเข้ากับกระจายอำนาจได้

ปัญหาเรื่องที่ดินก็โยงเข้ากับระบบภาษี ระบบกลุ่มทุนผูกขาด หรือกระทั่งกองทัพเสนาพาณิชย์ได้ มันต้องอธิบายในเชิงแบบนี้

แต่ถ้าเมื่อไหร่ ทุกเรื่องถูกย่อยให้เป็นปัญหาเชิงจุลภาค เมื่อนั้น ส.ส.หน้าใหม่แบบก้าวไกลลงไป ก็ไม่มีใครเลือก เขาก็เลือกคนที่ดูแลเขาได้ดีที่สุด

 

ใบตองแห้ง : ถ้าเราประเมินตอนนี้ ความหวังจะเปลี่ยนแปลง ความต้องการความเปลี่ยนแปลง ความกระตือรือร้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 มันหายไปเยอะไหม? หรือเพียงแค่ว่ามันแฝงไปอยู่ในความเหนื่อยหน่าย แต่มีโอกาสที่จะปะทุใหม่?

ปิยบุตร : ส่วนหนึ่งผมเข้าใจว่ามันอ่อนล้าจากกระบวนการนิติสงคราม ที่จับกุม คุมขัง ดำเนินคดีกันเยอะมาก อันนี้ก็ส่งผลสำคัญอย่างยิ่ง ประกอบกับเขา (ประชาชน) รู้สึกเขาใส่เต็มแม็กให้กับการเลือกตั้งพฤษภาคม 2566 แล้วสุดท้ายผลลัพธ์เป็นแบบนี้ คนก็เริ่มคาดคิดกันว่า มันก็ได้เท่านี้แหละ ค่อยๆ ไป

ทีนี้ ความหวังของผู้คนจะกลับมาได้อย่างไร? ผมว่าอยู่ที่พรรคก้าวไกล ในฐานะที่โดยสภาพตอนนี้ คุณกลายเป็นยานพาหนะของการนำเรื่องการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพราะคุณเข้าไปมีอำนาจรัฐ

ดังนั้น คณะผู้นำของพรรคต้องทำยังไงให้เห็นได้ว่า ประเทศนี้ยังมีความหวัง มีโอกาสในการเปลี่ยนแปลงอยู่

ผมจำลองเหตุการณ์ง่ายๆ ตอนที่พวกผมคิดตั้งพรรค (อนาคตใหม่) ขึ้นมา คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เขามีทักษะพูดเรื่องแบบนี้ ทำให้คนแบบเท้ง ณัฐพงษ์ (เรืองปัญญาวุฒิ) สมัครออนไลน์เข้ามา (เป็นสมาชิกพรรค) เลย แต่ละคนเข้ามาออนไลน์เต็มเลย ก็เพราะธนาธรพูด แล้วคนเห็นว่าจริงว่ะๆ เราต้องการเปลี่ยน

ผมคิดว่ากระแสที่เคยสูงมันกำลังลง ต้องหาทางดึงขึ้นอีกที ซึ่งคณะผู้นำพรรคก้าวไกลเขาน่าจะคิดอ่านเรื่องนี้กัน เพราะถ้าดึงความหวังขึ้นไม่ได้ คนก็จะเลือกตั้งด้วยพฤติกรรมแบบเดิม เลือกบ้านใหญ่เวิร์กที่สุดในการดูแลเรา

 

ใบตองแห้ง : แต่ปัจจุบัน มันก็ไม่มีพรรคอื่นเลยนะ ที่จะมาเทียบเคียง (กับก้าวไกล) ในเรื่องการสร้างความหวังให้คนได้

ปิยบุตร : เรื่องแบบนี้ด้านหนึ่งก็เป็นดาบสองคมในมุมที่มันไม่ดี ผมก็กังวลใจว่าถ้าคิดกันอย่างนี้มากขึ้น มันทำให้บุคลากรในพรรคก้าวไกล ส.ส.พรรค เขามีความรู้สึกว่ายังไงก็ได้เป็น สบาย ลอยลำ ก็จะไม่ขยันขันแข็งในการทำหน้าที่ของตัวเอง ก็จะรู้สึกเฉยๆ เดี๋ยวลงเลือกตั้งยังไงก็ได้

มันก็จะเกิดความรู้สึกว่าในเขตเมือง จังหวัดใหญ่ที่มีความเป็นเมืองสูง ลงไปเหมือนเทียบเท่ากับปาร์ตี้ลิสต์แล้ว แทบไม่ต้องหาเสียง ถ้าคิดกันแบบนี้ มันก็จะทำให้การทำงานของตัว ส.ส.ของพรรคเอง มันค่อยๆ ถอยลง เพราะคิดว่าได้อยู่แล้ว และก็จะอยู่ในอาการประมาท คิดว่าของตาย

อีกด้านหนึ่งก็คือถ้าคิดแบบนี้ไปมากขึ้นๆ ในท้ายที่สุด คุณจะกลายเป็น “bureaucracy” (อำมาตยาธิปไตย) นะ ก็คือจาก ส.ส.หน้าใหม่ที่มีความมุ่งมั่น แต่พอเข้าสู่ระบบแล้ว จะค่อยๆ เปลี่ยนสภาพจากคนทั่วไปคนธรรมดาที่เข้ามาเป็นผู้แทนราษฎร เป็น “มหาอำมาตย์รายใหม่” มากขึ้นๆ

เทคนิคนี้ใช้กันมานานแล้วนะครับ ตั้งแต่ปฏิวัติฝรั่งเศสเลย คือระบบสภามันเป็นระบบที่ยั่วยวนคน จากคนเต็มที่มุ่งมั่น เข้าสภาเมื่อไหร่ มัน “bureaucratization” ให้เป็นแบบนี้ และถ้าชินกันแบบนี้มากขึ้น มันก็จะทำให้พรรคอ่อนลง

อีกด้านหนึ่ง คือ ผมมีความคิดว่าอยากให้มีพรรคที่มาแข่งกับพรรคก้าวไกล จะเป็นความคิดแบบอนุรักษนิยมก็ได้ การเมืองมันต้องมีทางเลือก

ผมถึงดีใจมากที่พรรคเพื่อไทยตัดสินใจว่าเขาจะเดินหน้าทำอะไรใหม่ๆ สร้างอคาเดมีขึ้นมา ก็เป็นประโยชน์ที่ในอนาคตจะได้มีการแข่งขันกัน