น้ำศักดิ์สิทธิ์ (3) : ชักนาคดึกดำบรรพ์ในเกษียรสมุทร เพื่อน้ำอมฤต | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในความเชื่อของอินเดียนั้น นอกเหนือจากที่จะมีน้ำใน “แหล่งน้ำ” ที่ถือกันว่า “ศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น แม่น้ำคงคา ดังที่กล่าวถึงมาในตอนที่แล้ว ก็ยังมี “น้ำศักดิ์สิทธิ์” จากแหล่งน้ำที่มีอยู่เฉพาะในปรัมปราคติ เช่น สระอโนดาต หรือเกษียรสมุทร อันเป็นที่ประทับของพระนารายณ์ (องค์เดียวกับพระวิษณุ) เป็นต้น

แน่นอนว่า น้ำในแหล่งน้ำจากเทพปกรณัมพราหมณ์-ฮินดูเหล่านี้ ย่อมต้องถือว่าเป็น “น้ำศักดิ์สิทธิ์” ด้วยเช่นกัน

แต่ในตำนานเก่าแก่เกี่ยวกับเทพเจ้าของพราหมณ์เหล่านี้ ก็ยังบอกเราไว้อีกด้วยว่า มีพิธีกรรมบางประการ ที่ทำให้ “น้ำศักดิ์สิทธิ์” เหล่านี้ ศักดิ์สิทธิ์เสียยิ่งกว่าอีกนะครับ

น้ำที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่สุก ตามมติของพ่อพราหมณ์นี้เรียกว่า “น้ำอมฤต”

 

เทพปกรณ์ของพ่อพราหมณ์ชมพูทวีปเกี่ยวกับ “น้ำอมฤต” นี้มีอยู่หลายสำนวน แตกต่างกันไปตามตำราในศาสนาพราหมณ์และเรื่องเล่าประจำถิ่นต่างๆ แต่โดยรวมแล้วมีพลความหลักของท้องเรื่องเหมือนกันอยู่ทุกสำนวนคือ “พระอินทร์” ผู้เป็น “ราชา” เหนือเทพเจ้าทั้งหลาย ได้ถูก “ทุรวาส” ผู้เป็นพรหมฤๅษี ตนหนึ่งในสัปตมหาฤๅษี (คือ พระฤๅษีที่มีฤทธิ์ และยิ่งใหญ่ที่สุดในสากลจักรวาลทั้ง 7) สาปให้รบแพ้อสูร เพราะช้างทรงของพระองค์ที่มีชื่อว่า เอราวัณ ได้เขวี้ยงเอามาลัยที่ฤๅษีทุรวาส ถวายแด่พระอินทร์ทิ้ง จึงมำให้ฤๅษีผู้ขึ้นชื่อว่ามากด้วยโทสะตนนี้โกรธเคืองพระอินทร์เป็นอย่างยิ่ง

แถมฤๅษีทุรวาสไม่ได้สาปพระอินทร์เป็นการเฉพาะแค่เพียงองค์เดียวเท่านั้น แต่คำสาปนี้ยังส่งผลต่อเทวดาผู้เป็นบริวารของพระองค์ทุกๆ องค์บนสรวงสวรรค์อีกด้วย ดังนั้น พวกเทวดาจึงพากันไปทูลถามพระอิศวร (องค์เดียวกับพระศิวะ) ว่าจะแก้คำสาปนี้ได้อย่างไร ซึ่งก็ทรงแนะนำว่าให้ กวน “น้ำอมฤต” ที่ดื่มแล้วเป็น “อมตะ” ขึ้นมาดื่มกิน เพื่อถอนคำสาป

การจะกวนน้ำอมฤตนั้นต้องกระทำที่ “ทะเลน้ำนม” คือ “เกษียรสมุทร” วิมานของพระนารายณ์ โดยใช้ “เขามันทระ” (ไทยเรียก “เขาสรรพยา” เพราะบนภูเขาลูกนี้เต็มไปด้วยสมุนไพรทั้งปวง) เป็นแกนในการกวน ใช้พญานาค “วาสุกิ” (ไทยเรียก “วาสุกรี”) แทยเชือกกวนน้ำอมฤต แล้วใช้กำลังเทวดาทั้งหลายช่วยกันกวนน้ำวิเศษนี้ขึ้นมา

แต่ลำพังกำลังของพวกเทวดาอย่างเดียวนั้นมีไม่มากพอ จึงต้องไปเชิญพวกอสูรมาช่วยกันกวนน้ำ โดยอ้างว่า เมื่อได้น้ำอมฤตมาแล้ว จะแบ่งสันปันส่วนให้ได้ดื่มกันทั้งสองฝ่าย พวกอสูรเห็นดีด้วย จึงมาร่วมกวน

 

เมื่อเริ่มกวนน้ำอมฤต พวกเทวดาถือตนว่ามีเกียรติจึงไปยุดนาควาสุกิที่ฝั่งเศียรนาค แล้วให้พวกอสูรไปจับที่ฝั่งหางนาค ปรากฏว่าเมื่อกวนน้ำไปสักพัก พญานาคก็รู้สึกคันลำตัว เพราะการเสียดสี จึงทำให้คายพิษออกมาจำนวนหนึ่ง พวกเทวดาโดนพิษเข้าก็บาดเจ็บล้มตาย จึงเห็นท่าไม่ดีแล้วออกอุบายให้ไปหลอกพวกอสูรมากวนน้ำทางฝั่งของเศียรนาคแทน โดยอ้างว่าพวกอสูรมีเกียรติกว่าเทวดา จึงควรมากวนที่ฝั่งเศียรมากกว่า แน่นอนว่าพวกอสูรก็เคลิ้มตามในกลอุบายดังกล่าว

ระหว่างกวนน้ำอมฤตก็มีของวิเศษลอยขึ้นมาจากเกษียรสมุทรหลายอย่าง เช่น หม้อบรรจุพิษหราหระ, วัวกามเธนุ, ม้าอุจไชยศรพ, ช้างเอราวัณ (ใช่ครับ เจ้าช้างตัวเดียวกับที่ทำให้ฤๅษีทุรวาสโกรธพระอินทร์นี่แหละ), สังข์, เพชรเกาสตุภะ, ต้นกัลปพฤกษ์, หริธนู, พระจันทร์เสี้ยว, บรรดานางอัปสร, เทพีวารุณี, พระแม่ลักษมี ก่อนที่สุดท้ายเทพเจ้าแพทย์ธันวันตริ จะถือหม้อน้ำอมฤตลอยขึ้นมา

แต่กว่าเทพเจ้าแพทย์องค์นี้จะปรากฏกายขึ้น เหล่าอสูรก็โดนพิษที่พญานาควาสุกิคายออกมาเสียจนงอมพระรามกันไปหมดแล้ว ดังนั้น จึงมีเฉพาะพวกเทวดาเท่านั้นแหละที่ได้ดื่มน้ำอมฤต จนเป็นอมตะกันไปด้วยเล่ห์เพทุบายอย่างนี้เอง

ถึงแม้จะมีรายละเอียดอื่นๆ แทรกอยู่อีกมาก (เช่น พระราหูมาขโมยดื่มน้ำอมฤต หรือพระอิศวรกลืนพิษร้ายเสียจนพระกัณฐ์ คือคอ กลายเป็นสีดำไปด้วยพิษร้าย เป็นต้น) แต่โดยภาพรวมแล้วตำนานการกวนน้ำอมฤตถือว่าจบลงเพียงเท่านี้

 

ตํานานเรื่องของการกวนเกษียรสมุทรนี้เป็นเรื่องเล่าสำคัญของพวกพราหมณ์ ดังนั้น เมื่อศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแพร่เข้ามายังภูมิภาคอุษาคเนย์แล้ว ก็จึงมีการรับเอานิทานเรื่องนี้เข้ามาด้วย

เพียงแต่ได้มีการดัดแปลงรายละเอียดแตกต่างออกไปในแต่ละท้องถิ่น ด้วยเหตุปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป

ตัวอย่างเช่น ในมหากาพย์ของชมพูทวีปอย่าง มหาภารตะ ฉบับภาษาชวาเก่า ภาคอาทิบรรพ ที่ประพันธ์ขึ้นเมื่อราว พ.ศ.1450-1550 ได้กล่าวถึงการกวนเกษียรสมุทรโดยใช้เขาศูนย์กลางของจักรวาลคือ “เขาพระสุเมรุ” เป็นแกนกลาง แทนที่จะเป็นเขามันทระตามอย่างต้นฉบับในอินเดีย

ที่เป็นอย่างนี้น่าจะเกี่ยวข้องอยู่กับตำนานฮินดู-พุทธพื้นเมืองอย่างชวาภาคตะวันออก (ในวัฒนธรรมแบบชวาตะวันออกนั้น ศาสนาพุทธแบบมหายาน กับพราหมณ์-ฮินดู ผสมกลมกลืนอย่างเข้มข้น) ที่ชื่อ “ตันตุปังเกลารัน” เล่าว่า นานมาแล้วเหล่าเทพทั้งหลายช่วยกันยกเขามหาเมรุ (ก็ภูเขาลูกเดียวกันกับทเขาพระสุเมรุ นั่นแหละ) จากชมพูทวีปมาประดิษฐานไว้ทางทิศตะวันออกของเกาะชวา

โดยมีรายละเอียดด้วยว่า ระหว่างทางที่กำลังขนย้ายเขามหาเมรุกันนั้น ยอดทั้งแปดของเขามหาเมรุได้หักตกลงมาเสียก่อน จึงกลายเป็นเขาเปหนังกุนกัน ส่วนตัวเขามหาเมรุเองได้นำไปประดิษฐานสำเร็จกลายเป็นภูเขาเมรุ ภูเขาที่สูงที่สุดบนเกาะชวา ซึ่งอยู่ถัดลงไปทางด้านทิศใต้ของภูเขาเปหนังกุนกัน ใกล้กับเมืองมาลัง

ศูนย์กลางอีกแห่งหนึ่งของวัฒนธรรมชวาตะวันออก

 

แน่นอนว่า ทั้งภูเขาเมรุ และภูเขาเปหนังกุนกัน นั้นเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีของชวาภาคตะวันออกมาก่อน เรื่องเล่าเกี่ยวกับเขาพระสุเมรุข้างต้นนั้น เป็นการผูกโยงความสำคัญของภูเขาทั้งสองลูกที่ว่านี้ในศาสนาผีพื้นเมือง เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปริมณฑลความศักดิ์สิทธิ์แบบฮินดู-พุทธของชวา

ที่สำคัญก็คือ บนภูเขาทั้งสองลูกที่ว่านี้ มีตาน้ำศักดิ์สิทธิ์อยู่มาก โดยส่วนใหญ่จะมีการสร้างจันทิ (ชนชาวชวาเรียกศาสนสถาน ไม่ว่าจะเป็นในศาสนาพุทธ หรือพราหมณ์-ฮินดู และสิ่งปลูกสร้างประธานในนั้นว่า จันทิ คล้ายกันกับที่เขมรใช้คำว่า ปราสาท) ครอบทับ โดยใช้เป็นสถานที่สรงน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งพบมากทั้งในชวาตะวันออก และเกาะบาหลี

โดยบางแห่งในนั้น ได้จำลองตาน้ำศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นน้ำอมฤต ด้วยการสลักรูปนาคพันอยู่ปลายท่อน้ำหินสลักรูปลึงค์ โดยนาคนั้นคววรจะเป็นตัวแทนของนาควาสุกิที่ใช้ในการกวนน้ำอมฤต เช่น จันทิโจโลทุนโด บนเขาเปหนังกุนกัน ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1520 เป็นต้น

ปกรณัมความเชื่อที่มีรายละเอียดต่างไปจากอินเดียในทำนองเดียวกันนี้ ก็มือยู่ในพิธีที่มีชื่อเรียกว่า “อินทราภิเษก” (บางเอกสารโบราณก็เรียก “อมเรนทราภิเษก” ซึ่งก็แปลตรงตัวว่า การอภิเษกพระอินทร์เหมือนกัน) หรือที่เรียกด้วยศัพท์พื้นเมืองอีกอย่างว่า “ชักนาคดึกดำบรรพ์”

คำว่า “ดึกดำบรรพ์” ในที่นี้ มาจากภาษาเขมรว่า “ตึ๊ก-ตะบัน” แปลว่าการตำน้ำ ไม่ได้หมายถึงความเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ ดังนั้น จึงหมายถึง “การกวนน้ำอมฤต” ด้วยการ “ชักนาค” ตามอย่างปรัมปราคติของพราหมณ์ โดยในกฎหมายตราสามดวงสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็เรียกเขาที่ใช้เป็นแกนว่า “พระสุเมรุ” เหมือนกับในเกาะชวา

ดังนั้น คติที่ต่างไปจากอินเดียเรื่องนี้มีอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ในทำนองเดียวกันกับบนเกาะชวาด้วยแน่ และน่าจะเป็นการรับเอาพระราชพิธีดังกล่าวจากชวา ผ่านทางราชสำนักเขมรเสียด้วยซ้ำไป

 

ที่ปราสาทนครวัด จ.เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา มีภาพสลักรายล้อมอยู่รอบระเบียงคต ภาพสลักเหล่านี้มีอายุโดยประมาณอยู่ที่ พ.ศ.1650 (ยกเว้นบางภาพที่มาสลักขึ้นใหม่ในช่วงร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุธยา) โดยมีภาพของการ “กวนน้ำอมฤต” ด้วยพิธี “ชักนาคดึกดำบรรพ์” อยู่ด้วย

ภาพสลักรูปการณ์กวนเกษียรสมุทรนี้ เป็นภาพที่ต่อเนื่องมาจากขบวนทหารของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนครวัด และภาพนรก-สวรรค์ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กันระหว่างภาวะหลังสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์เขมรโบราณองค์นี้

โดยที่ภาพการกวนเกษียรสมุทรก็เหมือนการทำพิธีเพื่อให้ได้มาเพื่อ “น้ำอมฤต” เพื่อให้พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 มีชีวิตเป็นอมตะ และเป็นราชาเหนือเทพเทวดาทั้งปวง ดั่งพระอินทร์ ในโลกหลังความตายนั่นเอง

กษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาก็ย่อมอยากเป็นมีชีวิตเป็นอมตะ และเป็นราชาเหนือเทพเทวดาทั้งปวง ในโลกหลังความตายเหมือนกันกับกษัตริย์เขมรโบราณนั่นแหละนะครับ ดังนั้น จึงได้มีการทำพิธีการกวนเกษียรสมุทร หรือที่ในกฎมณเฑียรบาลของกรุงศรีอยุธยา ที่ตราขึ้นเมื่อใกล้ๆ พ.ศ.2000 เรียกว่า ชักนาคดึกดำบรรพ์

ข้อความในกฎมณเฑียรบาลนี้เองที่ทำให้ทราบว่า พิธีชักนาคดึกดำบรรพ์ เป็นพระราชพิธีจำลองการกวนเกษียรสมุทร มีการเกณฑ์เจ้าพนักงานฝ่ายต่างๆ มาแต่งกายเป็นยักษ์ เป็นเทวดา ตามเทพปกรณัม เหมือนอย่างเป็นการแสดงละคร (คำว่า “ละคร” นี้ชวาเรียก “เลกอง” เขมรเรียก “ละโคน” หรือ “ละโคนพระกรุณา” ไทยเรียก “ละคร”, “ละคอน” หรือ “โขน” ทั้งหมดหมายถึง การแสดง)

ดังนั้น จึงต้องมีการตั้งเขาพระสุเมรุ และมีนาคสำหรับให้ตัวละครชัก เพื่อให้ได้มาซึ่ง “น้ำอมฤต” ที่กษัตริย์ผู้ทรงประกอบพิธีนั้นจะเสวยเพื่อเป็นอมตะ พร้อมกับที่ประทับเป็นผู้ปกครองเหนือเหล่าเทวดาทั้งหลาย ในฐานะของ “พระอินทร์ พระราชพิธีนี้จึงรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “อินทราภิเษก” นั่นแหละ

บางครั้ง “น้ำศักดิ์สิทธิ์” จึงเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น ผ่านพิธีกรรมบางอย่าง เช่น พิธีอินทราภิเษก หรือชักนาคดึกดำบรรพ์ โดยอ้างอิงจากเทวตำนานของพ่อพราหมณ์ก็ได้นั่นแหละครับ