ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ผี-พราหมณ์-พุทธ |
ผู้เขียน | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง |
เผยแพร่ |
ช่วงนี้อาจเห็นผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับภาพยนตร์หรือหนังบ่อยหน่อย อันที่จริงผมชอบดูหนังมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วครับ เติบโตมาข้างโรงหนังเก่าแก่ของระนอง “พูนผล” ซึ่งมีคุณลุงเป็นเจ้าของกิจการ บ้านเช่าของพ่อแม่ก็อยู่ตรงนั้น เมื่อไปเรียนมหาวิทยาลัยก็แวะเวียนตามงานจัดฉายหนังอยู่เรื่อยๆ เพราะเรียนสื่อสารมวลชน
ครั้นพอมาเป็นอาจารย์ ก็ได้ดำเนินรอยตามอาจารย์ของตัวที่ใช้หนังเป็นสื่อการเรียนการสอน ผมฉายหนังทุกวิชาครับ บางทีก็เห็นว่าหนังช่วยสื่อความบางอย่างได้ดีกว่าการเล็กเชอร์เสียอีก
เรียกว่าชีวิตวนๆ เวียนๆ อยู่กับหนังนี่แหละ
อันที่จริง เทอมนี้ผมได้เปิดรายวิชา “ศาสนากับภาพยนตร์” ให้เป็นวิชาเลือกสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ประสงค์จะเข้าเรียนเอก หรือโทในสาขาวิชาปรัชญา
ต้องขอโม้สักนิดว่า ภาควิชาปรัชญาที่ศิลปากรของเรามีวิชาที่น่าเรียนน่าสนุกมากมาย (แม้บางวิชาจะค่อนข้างยากก็ตาม) เพราะเรามีทั้งวิชาหลักทางปรัชญาอย่างเมตาฟิสิกส์ ญานวิทยา จริยศาสตร์ ฯลฯ มีวิชาทางศาสนาซึ่งเรียนกันในแบบปรัชญา (คือเน้นวิเคราะห์และวิพากษ์) แต่ที่นักศึกษามักสนใจกันมากคือพวก “ปรัชญาประยุกต์” ซึ่งมีไว้ให้เป็นวิชาเลือกอย่างมากมายหลายหลาก เช่น ปรัชญากับภาพยนตร์ ปรัชญากับอาหาร ปรัชญาดนตรี ปรัชญากฎหมาย ปรัชญาวิทยาศาสตร์ ฯลฯ
อย่างวิชาที่เคยโด่งดังจนมีรายการข่าวมาสัมภาษณ์คือวิชา “ปรัชญากับการ์ตูน” ออกแบบและสอนโดยท่านอาจารย์บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ ผู้ล่วงลับ
เนื่องจากปรัชญา เน้นเรื่อง “ความคิด” และ “การใช้เหตุผล” ดังนั้น มันจึงเกี่ยวข้องกับศาสตร์อื่นๆ ได้หมด เพราะรากฐานของศาสตร์ทั้งหลายคือตัว “วิธีคิด” นั่นเอง
ดังที่มีคำกล่าวว่า “philosophy is the mother of all subjects” ปรัชญาเป็นมารดาแห่งวิชาทั้งหลาย
ส่วนวิชาศาสนากับภาพยนตร์นั้น เราเพิ่งนำมาเป็นวิชาเลือกระดับต้นในหลักสูตรปี 2564 มีคำอธิบายรายวิชาซึ่งผมจะขอยกมาดังนี้ “ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับภาพยนตร์ โครงสร้างและเนื้อหาสารของเรื่องเล่าทางศาสนา การตีความเรื่องเล่าในศาสนาเพื่อใช้ในการสร้างภาพยนตร์ มุมมองความคิด และข้อวิพากษ์เกี่ยวกับศาสนาที่ปรากฏในภาพยนตร์”
ศาสนากับภาพยนตร์อยู่คู่กันมาโดยตลอด ภาพยนตร์ในสมัยแรกนั้นถูกเสนอในฐานะ “ของแปลก” ที่คนจะเข้าไปชมภาพเคลื่อนไหวได้ ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีของภาพยนตร์ดีขึ้น ภาพยนตร์ได้กลายเป็นความบันเทิงที่ทุกคนสามารถเข้าไปใช้บริการได้ จนกลายเป็นวัฒนธรรมมวลชนหรือประชานิยม (pop culture)
พร้อมๆ กับการเติบโตของระบบทุนนิยมและความเป็นสมัยใหม่ที่ผู้คนกลายเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ของระบบอุตสาหกรรม ภาพยนตร์ทำหน้าที่ช่วยให้ผู้คนหลบออกจากสภาวะเลวร้ายของชีวิตจริง
ช่วงแรกที่ภาพยนตร์กลายเป็นสินค้าราคาถูกและสามารถเข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย นักการศาสนาและฝ่ายอนุรักษนิยมดูเหมือนจะมีความกังวลต่อเรื่องศีลธรรมเป็นพิเศษ ภาพยนตร์ในยุคแรกๆ จึงมักเป็นแนวพ่อแง่แม่งอนหรือเรื่องตลก โดยไม่มีฉากความรุนแรง เพศหรืออบายมุข จนกระทั่งวงการภาพยนตร์ในยุโรปได้พัฒนาแนวคิดภาพยนตร์ศิลปะขึ้น
ภาพยนตร์จึงกลายเป็นสื่อที่มีความหลากหลายในตัวมันเอง
อันที่จริง แม้ว่าศาสนาและฝั่งอนุรักษนิยมในอเมริกาจะระแวงภาพยนตร์ในช่วงแรกๆ ทว่า “เรื่องเล่า” ทางศาสนาได้ถูกตีความและถูกนำมาผลิตเป็นภาพยนตร์ตั้งแต่ช่วงต้นของการกำเนิดภาพยนตร์เลยทีเดียว เรื่อง The Passion of Joan of Arc เป็นหนังเงียบก็สร้างขึ้นตั้งแต่ปี1928 หรือภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงอย่าง The Ten Commandments (บัญญัติสิบประการ) ในปี 1956 และ Ben-Hur ในปี 1959 ก็นำมาจากเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนา
พระเยซูดูเหมือนจะเป็นผู้ที่ปรากฏในภาพยนตร์อย่างมากมาตั้งแต่ต้นจนถึงช่วงทศวรรษที่ 80 ในปี 2004 เมล กิบสัน ได้นำภาพยนตร์เรื่อง The Passion of the Christ ออกฉาย ฉากพระมหาทรมานของพระเยซูในเรื่องดังกล่าวสมจริงเสียจนคุณไมเคิล ไรท์ เคยวิจารณ์ไว้ว่าสยดสยองทนดูไม่ได้
ความรุนแรงของพระมหาทรมานเคยถูกแสดงด้วยภาพวาด ภาพแกะสลัก ดนตรีและการละครมาก่อน แต่ความสมจริงนั้นเทียบไม่ได้กับภาพยนตร์ และความสมจริงจนกระทั่งคนดู “รู้สึก” ได้นั้นคือแก่นแกนสาระในช่วงเทศกาลมหาพรตของชาวคริสต์ ซึ่งจำจะต้องรู้สึกถึงความทรมานของพระเยซู เพราะนั่นคือการเสียสละตนเองเพื่อปลดเปลื้องทุกคนจากบาป และเพื่อที่เราเองจะได้ทุกข์ถึงบาปของตนด้วย
ในแง่นี้ ภาพยนตร์จึงได้ทำหน้าที่ส่งผ่าน “ประสบการณ์ทางศาสนา” ไปยังผู้ชม
ประสบการณ์ทางศาสนาซึ่งเป็นมิติทางอารมณ์ความรู้สึกอันลึกซึ้งรุนแรงเช่น ความศรัทธา ความซาบซึ้ง ความโศกาอาดูร ความรู้สึกมีหวัง หรือความรู้สึกสิ้นอาลัย ไปจนถึงประสบการณ์แห่งปีติ สงบสุขหรือลืมตนเองไปชั่วขณะ ถูกส่งไปยังผู้ชมโดยง่ายในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ภาพยนตร์นั้นฉายอยู่
ศาสตร์แห่งภาพยนตร์ซึ่งหลอมรวมเอาศิลปะการแสดง วรรณกรรม ดนตรี ภาพ เข้าไว้ด้วยกัน ได้ทำหน้าที่นั้นอย่างดีเยี่ยม
กระทั่งประสบการณ์ของการหลอมตนเองเข้ากับตัวละครในเรื่องเล่าทางศาสนา ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยง่ายผ่านภาพยนตร์ แม้โดยทั่วไปเราจะถูกวางตำแหน่งแห่งที่เป็นบุคคลที่สามในภาพยนตร์ก็ตาม
ทว่า หลายครั้งดูเหมือนเราจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับเรื่องราวในนั้นมากกว่าที่คิด เช่น เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครในนั้น จนเกิดความเห็นอกเห็นใจหรือเกลียดชังตัวละครอีกตัวได้
อินเดียเกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เมื่อนักแสดงซีรีส์รามายณะ ซึ่งฉายในปี 1987 อรุณ โกวิล (Arun Kovil) ผู้แสดงเป็นพระรามได้รับความเคารพจากผู้คนอย่างมากมายราวกับเขาเป็นพระรามเอง ในอาชีพนักแสดงของเขาการรับบทพระรามดูจะเป็นสิ่งที่คนทั่วไปจดจำได้มากที่สุด
จนกระทั่งเขาได้รับเชิญเป็นหนึ่งในแขกผู้มีเกียรติร่วมพิธีสถาปนาเทวสถานของพระรามในเมืองอโยธยาเลยทีเดียว แม้ว่าเขาจะไม่ใช่นักบวชก็ตาม
ผู้ชมชาวอินเดียคงไม่ได้มีความสับสนระหว่างความคนจริงๆ กับบทบาทในภาพยนตร์ ทว่านักแสดงพระรามได้ทำให้ “ลีลา” ของพระเจ้าปรากฏขึ้นมาอย่างจริงจังต่อหน้า ซึ่งแตกต่างไปจากพระเจ้าซึ่งพวกเขาเห็นจากเทวรูปที่ยืนนิ่งอยู่ในเทวสถาน
ความประทับใจดังกล่าวนี้ทำให้นักแสดงถูกถือว่ามีบทบาทสำคัญทางศาสนาไปด้วย เพราะทำให้พระเจ้าปรากฏขึ้น “อย่างมีชีวิต”ในมโนสำนึกของผู้ชม จึงไม่แปลกที่อรุณจะได้รับความเคารพ
เส้นแบ่งอันพร่าเลือนของความจริงและโลกศักดิ์สิทธิ์มีอยู่ในแล้วในขนบศิลปะการแสดงของอินเดียและโลกตะวันออก การแสดงละครดูเหมือนจะพัฒนามาจากการเล่นเข้าทรงจับเรื่อง ในทุกวันนี้ยังคงมีพิธีบูชานักแสดงที่เล่นเป็นเทพเจ้า ในฐานะที่เป็นตัวแทนของเทพเจ้าในเวลานั้นที่ผู้ชมรู้สึกได้
นักวิชาการบางท่านเห็นว่า ไม่เพียงศาสนาจะใช้ภาพยนตร์ในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ หรือปลูกศรัทธา ดังเช่นสำนักนักบวชหลายแห่งมักจะจัดฉายภาพยนตร์ “ส่งเสริมศรัทธา” เท่านั้น
แต่ตัวภาพยนตร์ก็ดูเหมือนจะเป็นศาสนาในตัวมันเอง มันสามารถ “สร้างโลก” ขึ้นมาต่อหน้าผู้ชม สร้าง “วีรบุรุษ” หรือ “ทวยเทพ” ให้ปรากฏตรงหน้าพร้อมกับเรื่องราวต่างๆ แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นจะไม่เกี่ยวอะไรกับศาสนาเลยก็ตาม แต่ประสบการณ์ดังกล่าวดูละม้ายหรือคล้ายคลึงกับพลอตหลักของเรื่องเล่าและพิธีกรรมทางศาสนาอยู่ไม่น้อย
อีกทางหนึ่ง หน้าที่ของงานศิลปะ มิได้มีไว้เพื่อส่งเสริมหรือประชาสัมพันธ์ให้กับศาสนาเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่ในการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเช่นกัน
ภาพยนตร์วิพากษ์ศาสนาไปจนกระทั่งล้อเลียนเสียดสีจึงมีการผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง มีดีกรีความหนักเบาและประเด็นวิจารณ์ที่แตกต่างกันออกไป ที่น่าสนใจคือไม่เพียงจากฝั่งยุโรปที่ศาสนาอาจมีบทบาทน้อยลงในชีวิตผู้คน ทว่า ประเทศที่มีประชาชนนับถือศาสนาในสัดส่วนสูงอย่างอินเดียก็มีภาพยนตร์วิจารณ์ศาสนาออกมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะการวิจารณ์บรรดาคุรุหรือองค์กรทางศาสนาที่กำลังเป็นความนิยม “ตื่นคุรุ” อย่างในทุกวันนี้
แม้ว่าวิชานี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาศาสนา (Religion Studies) มายาวนาน แต่ความสนใจประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับภาพยนตร์ดูเหมือนจะมีความโดดเด่นมากขึ้นไปอีก เพราะเราได้เห็นพลังของภาพยนตร์ในแง่มุมที่ต่างออกไปจากเดิม
ในปัจจุบันภาพยนตร์มิได้เป็นเพียงศิลปะเพื่อความบันเทิงเพื่อโฆษณาชวนเชื่อ หรือเพื่อสอดแทรกความคิด, อุดมการณ์ และความเชื่อบางอย่างเท่านั้น แต่มันยังทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการ เรียกร้องหรือเคลื่อนไหว ในประเด็นทางสังคมการเมืองและศาสนาอีกด้วย
ภาพยนตร์เรื่อง “The Last Breath of Sam Yan” และ “นักรบผ้าถุง” ได้ดึงดูดความสนใจของผู้คนให้มาสนใจต่อประเด็นของคนเล็กคนน้อยในสังคมไทยที่ถูกองค์กรรัฐหรือกลุ่มทุนเบียดเบียนในทางความเชื่อ ศาสนาและวัฒนธรรมย่อยของกลุ่ม
ท้ายนี้ การเริ่มมีภาพยนตร์ในเชิงวิจารณ์หรือวิเคราะห์ศาสนาในสังคมไทย เช่น อาปัติ, สารคดี come and see หรือล่าสุดซีรีส์ “สาธุ” คงพอจะเป็นนิมิตหมายที่ดีที่บ้านเราอาจพัฒนาเนื้อหาของภาพยนตร์ทางศาสนาให้หลากหลายและลุ่มลึกขึ้น
มิใช่มีแต่เชิงประชาสัมพันธ์หรือส่งเสริมอย่างเดียว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022