ปรากฏการณ์ GULF

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เกี่ยวกับบุคคลสำคัญ กับบริษัทและธุรกิจซึ่งโดดเด่นในช่วงทศวรรษ

ภาพอันกระชับ จับต้องได้ล่าสุด มาจากกรณีใหญ่ในแวดวงธุรกิจ เมื่อบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF (ชื่อย่อในตลาดหุ้น) และบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ได้พร้อมใจกันแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงมติคณะกรรมการบริษัททั้งสอง ในวันเดียวกัน (16 กรกฎาคม 2567) สาระสำคัญ-ดำเนินแผนการควบรวมบริษัททั้งสองเข้าด้วยกัน

กับแผนการย่อยตามมา ว่ากันว่าไม่ได้จริงจังนัก คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะ นั่นคือ การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข (Conditional Voluntary Tender Offer) ต่อบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM

ความเคลื่อนไหวนั้น โฟกัสทันที มายังบุคคลหนึ่ง

บวกกับอ้างอิงข้อมูลสื่อระดับโลก (www.forbes.com) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าด้วยโฉมหน้าผู้มั่งคั่งไทย ในทำเนียบ Thailand’s 50 Richest 2024 คนคนหนึ่งในนั้น นั่นคือ สารัชถ์ รัตนาวะดี ผู้ร่ำรวยอันดับ 5 ด้วยความมั่งคั่งระดับ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

หากเทียบเคียงผู้คนกับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะที่ปักหลักอย่างสำคัญในประเทศไทยแล้ว ถือว่า สารัชถ์ รัตนาวะดี มีความสามารถรักษาการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องพอสมควร ในช่วงเวลาความผันแปรทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่ออ้างอิงความเป็นไปตลาดหุ้นไทย

ในอีกมิติหนึ่งควรอรรถาธิบายในเวลานี้ คือแนวความคิดในความหมายกว้าง (Perspective) สัมพันธ์กับบริบท ช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญๆ สังคมธุรกิจไทย

 

อย่างที่เคยนำเสนอไว้บ้าง สารัชถ์ รัตนาวะดี เริ่มต้นในฐานะมืออาชีพ คลุกคลี และมีบทบาทบุกเบิกธุรกิจโรงไฟฟ้าเอกชนในประเทศไทยมาแต่ต้น ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยครั้งสำคัญ ปรากฏเป็นแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ ด้วยมีโฉมหน้าธุรกิจใหม่ๆ และนักธุรกิจ “หน้าใหม่”

“ช่วงทศวรรษนั้น (2530-2540) เครือธุรกิจใหม่ เกิดขึ้นและเติบโตอย่างน่าทึ่ง ใช้เวลาสะสมความมั่งคั่งสั้นกว่ามาก โดยเปรียบเทียบกับครือข่ายธุรกิจดั้งเดิม โดยเฉพาะกับธุรกิจครอบครัวซึ่งเกิดขึ้นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

พวก “หน้าใหม่” มาแรง ด้วยปัจจัยคล้ายๆ กัน 2-3 ประการ หนึ่ง-โอกาสจากสัมปทานแบบใหม่ เกี่ยวกับระบบโทรคมนาคม ซึ่งซุกซ่อนไว้โดยที่รัฐและกลุ่มธุรกิจเก่าไม่รู้ หรือไม่สนใจ

สอง-เป็นตัวแทน หรือใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูงของโลกตะวันตก หรืออยู่ในห่วงโซ่สำคัญเครือข่ายธุรกิจระดับโลก

สาม-ที่สำคัญมากๆ สามารถระดมทุนจากตลาดทุนซึ่งเปิดกว้างกว่าช่วงใดๆ ทั้งมีกระแสเงินทุนท่วมท้นจากโลกตะวันตก” (จากเรื่อง “ทักษิณ ชินวัตร” มติชนสุดสัปดาห์ สิงหาคม 2566)

ว่าไปแล้ว ทั้ง INTUCH (เดิมชื่อ บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ เซอร์วิส แอนด์ อินเวสเมนท์ จำกัด ก่อตั้งปี 2526 เข้าตลาดหุ้นปี 2533) ADVANC (ก่อตั้งปี 2529 เข้าตลาดหุ้นปี 2534) และ THCOM (ก่อตั้งปี 2534 เข้าตลาดหุ้นปี 2537) ได้กำเนิดขึ้นในช่วงเดียวกันนั้น

เป็น “ชิ้นส่วน” ในปรากฏการณ์ทักษิณ ชินวัตร

 

จากนั้นผ่านมาเกือบๆ 2 ทศวรรษทีเดียว มีอีกจังหวะเผชิญอีกระลอกแรงกระเพื่อมจากวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ โฉมหน้าสังคมธุรกิจไทยพลิกไปอีกระดับ เครือข่ายธุรกิจดั้งเดิมหลายต่อหลายรายมีอันเป็นไป เมื่อช่วงเวลาคลี่คลายสักพัก สารัชถ์ รัตนาวะดี จึงมีโอกาสก่อตั้งกิจการตนเองขึ้น (ราวปี 2550) เป็นจังหวะก้าวขยับขยาย จากเป็นพันธมิตรเครือข่ายธุรกิจญี่ปุ่น ค่อยๆ ก้าวจากกิจการร่วมทุนถือหุ้นข้างน้อย สู่กิจการซึ่งถือหุ้นข้างมาก

เชื่อว่ามีความสัมพันธ์และอ้างอิงกับช่วงเวลาธุรกิจพลังงานมาถึง ด้วยปรากฏการณ์ ปตท. มาแรงอย่างรวดเร็ว ในฐานะบริษัทไทยที่ใหญ่ที่สุด มีพลังขับเคลื่อนสังคมธุรกิจไทย

จากรัฐวิสาหกิจ แปลงร่างกลายเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ได้เข้าตลาดหุ้นในปลายปี 2544 ช่วงแรกๆ ดูไม่ตื่นเต้นเท่าที่ควร รอนานพอสมควรกว่าโอกาสจะมาถึง ในสถานการณ์ใหม่ปี 2547 เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างชัดเจน หลังจากเผชิญวิกฤตยืดเยื้อพอสมควร การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบสองทศวรรษ ราคาน้ำมันขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และแล้วปรากฏการณ์ ปตท.เปิดฉากขึ้นอย่างแท้จริง จากสินทรัพย์ระดับ 3 แสนล้านบาทในปี 2545 เพิ่มเป็น 9 แสนล้านบาทในปี 2547 จากกำไรประมาณ 24,000 ล้านบาท ในปี 2545 เพิ่มเป็นประมาณ 90,000 ล้านบาทในปี 2548-2549

ขณะเดียวกันราคาหุ้น จากไม่ถึง 50 บาท ในวันเข้าตลาดหุ้นในปลาย ปี 2545 เพิ่มขึ้นทะลุ 400 บาทในปี 2547

“…ความเป็นรัฐวิสาหกิจในความหมายเดิมที่ว่าด้วยยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านพลังงาน กำลังเปลี่ยนไป กลายเป็นบริษัทที่สามารถแสวงหาโอกาสอย่างมากมาย…” (บางตอนเกี่ยวกับ ปตท. มติชนสุดสัปดาห์ ปี 2553) ดูเป็นไปเช่นนั้นจริงๆ

 

จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่เกี่ยวกับ GULF ได้มาถึงจากนั้นไม่นานนัก เมื่อเข้าตลาดหุ้นในปลายปี 2560 ด้วยสร้างสถิติน่าตื่นเต้น มีมูลค่าหุ้น IPO (หุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งจำนวนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก) ที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี

ในปี 2564 GULF เปิดดีลใหญ่ เป็นแผนการขยับขยายฐานธุรกิจอย่างครึกโครม ด้วยการผนึกธุรกิจทรงอิทธิพลต่างยุคสมัยเข้ามาอยู่ด้วยกัน

ด้วยแผนการทยอยซื้อหุ้นอย่างเงียบๆ มาระยะหนึ่ง จนได้สัดส่วนมีนัยยะ จึงตามมาทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (tender offer) INTUCH ในที่สุด GULF กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดใน INTUCH (ในสัดส่วนราว 46%) ที่สำคัญเชื่อมโยงถึง ADVANC ด้วย ในฐานะ INTUCH เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดใน ADVANC (ราว 40%) โดยใช้เงินลงทุนครั้งนั้นไปราว 80,000 ล้านบาท

อีกขยักหนึ่งในปีต่อมา (ปี 2565) ตามแผนการจะว่าในเชิงเทคนิคก็ได้ โยกย้ายบริษัทในเครือ INTUCH แห่งหนึ่ง มาอยู่ในมือ GULF โดยตรง ในแผนการเข้าซื้อหุ้น THCOM (สัดส่วนประมาณ 41%) จาก INTUCH (ตามถ้อยแถลงเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2565) โดยสรุป ดีลนั้น GULF ลงทุนไปราว 4,500 ล้านบาท แท้จริงก็เป็นการจ่ายเงินให้กับ INTUCH นั่นเอง

ความสัมพันธ์อันซับซ้อนพอประมาณ ระหว่างบริษัทในตลาดหุ้น 4 แห่ง กำลังจะถูกจัดการให้เข้าที่เข้าทาง อยู่ภายใต้โครงสร้างใหม่ควรเป็นไป และอยู่ในมือผู้ร่ำรวยอันดับ 5 ของไทย ในแผนการขยายธุรกิจ (Growth Strategy) อย่างต่อเนื่อง

ในความหมายกว้างๆ ไม่ใช่กรณีตื่นเต้นนัก คงเร็วเกินไปจะว่ากรณี GULF เป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมธุรกิจไทย