ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เศรษฐกิจ |
เผยแพร่ |
บทความเศรษฐกิจ
เงินขาดมือ หนี้ฉุดรั้ง
คนไทยรอ…
‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ชุบชีวิต??
สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันเผชิญปัญหาเรื้อรังมากมาย ทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนทรงตัวสูงมาก สัดส่วนมากกว่า 90% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) คิดเป็นมูลหนี้กว่า 16 ล้านล้านบาท
อีกปัญหาคือ ความเหลื่อมล้ำ กลุ่มรายได้สูงอยู่แล้วจะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่า
ข้อมูลปี 2566 ชี้ชัดว่า 40% ของการบริโภคมาจากกลุ่มรายได้สูงสัดส่วน 10% ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ให้ข้อมูลสำคัญ ภาคครัวเรือนอีสาน มีรายได้เติบโตต่ำกว่ารายได้ของประเทศ
โดย ธปท.คาดการณ์จีดีพีไทยปี 2567 อยู่ที่ 2.6% ต่อปี และคาดการณ์จีดีพีของภาคอีสาน ติดลบ 0.2-0.8% ส่วนปี 2568 จีดีพีไทยอยู่ที่ 3.0% ส่วนจีดีพีภาคอีสานจะขยายตัวที่ 0.9-1.9%
ขณะเดียวกัน ครัวเรือนอีสาน ยังมีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายมากถึง 5,396 บาทต่อเดือน เป็นพื้นที่ที่มีช่องว่าง (gap) สูงที่สุด เมื่อเทียบกับภาคอื่นในประเทศ และยังมีการขยายตัวอย่างมากเมื่อเทียบกับเมื่อปี 2556 ที่รายได้น้อยกว่ารายจ่ายที่ 2,338 บาทต่อเดือน เนื่องจากแรงงานอีสานมากกว่า 50% อยู่ในภาคการเกษตร ทำให้โอกาสที่รายได้จะเติบโตไม่มากนัก เนื่องจากพึ่งพารายได้เพียง 1 รอบต่อปี
ขณะที่ภาพรวมของประเทศเองก็ไม่ต่างกัน โดยข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า สถานการณ์การปิดกิจการของโรงงานอุตสาหกรรม ช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม) ในปี 2567 ปิดไปกว่า 600 โรงงาน มูลค่าเฉลี่ย 27 ล้านบาทต่อโรงงาน ส่วนในปี 2566 ปิดตัวลงไป 358 โรงงาน มูลค่าเฉลี่ย 110 ล้านบาท สะท้อนว่า ผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี กำลังแข่งขันไม่ไหว การเข้าถึงแหล่งเงิน ธนาคารก็มีความเข้มงวดในการปล่อยกู้
ส่วนจะรอเงินจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็อาจจะไม่ไหว
ทั้งนี้ ตั้งแต่รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเข้ามาบริหาร เป็นเวลาราว 11 เดือนแล้วนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ได้แถลงต่อรัฐสภาถึงนโยบายใหญ่ที่หลายคนจับตา คือ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งที่ผ่านมา โครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง
โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ช่วงเริ่มต้นหาเสียง “เศรษฐา” ระบุว่าถ้ามาเป็นนายกรัฐามนตรี จะเติมเงินก้อนนี้สู่ประชาชนทันที แต่เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้ว ด้วยขั้นตอนต่างๆ ทำให้ต้องขยับ ปรับเป็นเริ่มเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และเลื่อนมาเรื่อยๆ
ล่าสุด มีความชัดเจนแล้วว่าจะเริ่มเปิดลงทะเบียนร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต วันที่ 1 สิงหาคมนี้ และย้ำว่าเริ่มใช้จ่ายเงินดิจิทัลได้ทัน ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 แต่หลายคนก็หวั่นๆ ว่าจะแจกได้จริงหรือไม่
ส่วนจำนวนคนกลุ่มเป้าหมายจะได้รับสิทธิในโครงการ เริ่มแรกจากช่วงหาเสียง จนถึงเริ่มจัดตั้งรัฐบาล “เศรษฐา” ยังยืนยัน เติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตแบบ “อัตโนมัติ” ให้กับประชาชนคนไทยตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งมีจำนวนกว่า 56 ล้านคน ให้เม็ดเงินกว่า 5.6 แสนล้านบาท
แต่จากการทักท้วงของหลายฝ่าย ที่ว่าไม่ควรทำนโยบายแบบทั่วหน้า ทำให้ช่วงต้นปี 2567 มีการปรับเงื่อนไขครั้งใหญ่ จากแจกทุกคนที่อายุตั้งแต่ 16 ปี เป็นตัดกลุ่มฐานบนที่เข้าข่ายมีรายได้สูงออก โดยตัดผู้ที่มีรายได้เกิน 7 หมื่นบาทต่อเดือน และหรือ ผู้ที่มีเงินฝากเกิน 5 แสนบาท ทำให้กลุ่มเป้าหมายลดลงเหลือ 50 ล้านคน จาก 56 ล้านคน ส่วนวงเงินเหลือ 5 แสนล้านบาท จากที่ตั้งไว้ 5.6 แสนล้านบาท
ล่าสุด ปรับลดขนาดวงเงินอีกครั้ง เหลือ 45 ล้านคน ใช้วงเงินลดลงมาอยู่ที่ 4.5 แสนล้านบาท โดยให้เหตุผลว่าจากสถิติของโครงการรัฐที่เคยทำมาตลอด ไม่ว่าจะโครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกันนั้น มีผู้ใช้สิทธิจริงๆ เพียง 80-90% ของกลุ่มเป้าหมายในโครงการ รวมถึงเป็นการเตรียมงบประมาณให้พอดีกับโครงการด้วย
ขณะที่เรื่องของแหล่งเงินที่จะมาทำโครงการนั้น มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขไปมาหลายครั้ง ถือเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจอย่างมากเช่นกัน เริ่มแรกโครงการที่วงเงิน 5.6 แสนล้านบาทนั้น จะใช้งบประมาณแต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะมาจากส่วนไหนบ้าง
ต่อมา มีกระแสข่าวว่าจะใช้ผสมกับเงินนอกงบประมาณ คือ มาตรา 28 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง โดยจะเป็นธนาคารออมสินออกให้ก่อน แต่ก็ติดขัดเรื่องกฎหมาย
พอปรับลดวงเงินเหลือ 5 แสนล้านบาท รัฐบาลก็ใช้แนวทางใหม่ คือ การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งช่วงนั้นถือว่าท้าทายอย่างมาก เพราะข้อกฎหมายเองมีการจำกัด และการออกเงินกู้เพื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีคำถามจากหลายฝ่ายว่า เป็นการกู้เงินมาแจกหรือไม่ ก่อนจะล้มเลิกไป
และหันไปพึ่งพาเงินในกรอบวิธีการทางงบประมาณแทน
ดังนั้น จุดเปลี่ยนใหญ่อีกครั้ง คือ การปรับกลับมาใช้งบประมาณแผ่นดินอีกครั้ง โดย 5 แสนล้านบาท แบ่งเป็น การบริหารจัดการงบประมาณปี 2567 ที่จำนวน 1.75 แสนล้านบาท การบริหารจัดการงบประมาณปี 2568 ที่ 1.52 แสนล้านบาท และจากการดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ 1.72 แสนล้านบาท
แต่ความพีกยังไม่จบลงง่าย เพราะวงเงินมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง โดย ธ.ก.ส. นับว่าเป็นเงินนอกงบประมาณ ถูกตั้งคำถามว่า วิธีการนี้ถูกกฎหมาย หรือจะซ้ำรอยโครงการเก่าของรัฐบาลเพื่อไทย อย่างจำนำข้าวหรือไม่ และจุดจบของรัฐบาลเพื่อไทยจะซ้ำประวัติศาสตร์อีกครั้งไหม ขณะเดียวกัน มีอีกข้อห่วงใยคือ ธ.ก.ส.มีเม็ดเงินเพียงพอให้รัฐบาลถึง 1.72 แสนล้านบาทหรือไม่
ล่าสุด รัฐบาลยอมถอย โดยการปรับลดวงเงินเหลือ 4.5 แสนล้านบาท มาจากงบประมาณเท่านั้น แบ่งเป็น
1. งบประมาณปี 2567 จำนวน 1.65 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท และงบประมาณจากการบริหารจัดการในปีงบประมาณ 2567 อีก 4.3 หมื่นล้านบาท
และ 2. งบประมาณปี 2568 จำนวน 2.85 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณที่จัดสรรให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตไว้แล้ว 152,700 ล้านบาท และที่บริหารจัดการเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2568 อีก 132,300 ล้านบาท
เป็นการกลับลำ หรือจะเรียกว่าถอยทัพครั้งใหญ่ หลายคนอาจจะมองว่าทนแรงกดดันไม่ไหวบ้าง กลัวผิดกฎหมายบ้าง
อีกเรื่องสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ เรื่องของวิธีการใช้จ่าย รัฐบาลเปิดทางให้ร้านสะดวกซื้อเข้าร่วมได้ ถ้าถามจากใจประชาชนคนอยากจะใช้เงินดิจิทัลให้หมด 10,000 บาทเร็วๆ คงเลือกจับจ่ายในร้านสะดวกซื้อแน่นอน แล้วแบบนี้เงินจะลงไปถึงร้านค้ารายย่อยได้จริงหรือ
ขณะเดียวกัน ฝั่งร้านค้าเองมีข้อจำกัดมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการถอนเงินสดออกจากระบบดิจิทัล ร้านค้ารายย่อยส่วนใหญ่ไม่จดทะเบียนภาษี ขณะเดียวกันพ่อค้าแม่ค้าตาสีตาสาคงไม่อยากเสี่ยงถ้าไม่ได้จับเงินสดหรือไม่
คำถามมากมายของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ระงมมาเกือบปีแล้ว แต่ยังมองไม่เห็นทางออกที่ดี
สุดท้ายจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงตามที่รัฐบาลมั่นใจ หรือจะเป็นชนวนจุดไฟในรัฐบาล มาวัดกัน!!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022