ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ |
เผยแพร่ |
ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
ชีวประวัติของการแปล
: จากทาสอเมริกันศึกษาถึงไทยศึกษา
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ศกนี้ ผมไปแสดงปาฐากถานำในการสัมมนาไทยคดีศึกษานานาชาติครั้งที่ 15 ณ มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน
ในหัวข้อเรื่อง “ชีวประวัติของการแปล : จากทาสอเมริกันศึกษาถึงไทยศึกษา” (The Biography of a Translation : From American Slavery to Thai Studies)
การประชุมสัมมนาไทยคดีศึกษานานาชาติดำเนินมา 14 ครั้งแล้วโดยจัดทุก 3 ปีเวียนกันไปตามประเทศที่เป็นสมาชิกทั้งในยุโรป อเมริกาและเอเชีย
ผมเคยไปร่วมสัมมนานำเสนอที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี 1996 และเสนอเรื่อง “สิทธิของคนไทย” (Thai Rights) ที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี ค.ศ.1999
ปีนี้ได้รับเกียรติให้เป็นองค์ปาฐกถานำในวันแรก ทำให้ผมตื่นเต้นและประหม่าเพราะไม่รู้จะพูดอะไรที่ถือว่าเป็นผลงานสำคัญของผมที่นักไทยศึกษาทั้งหลายควรฟัง
ที่ผมหนักใจเพราะโดยการศึกษาและฝึกฝนระหว่างทำปริญญาเอกนั้น ผมไม่ได้ทำเรื่องไทยศึกษาอะไรเลย
ผมทำเรื่องระบบทาสแอฟริกันอเมริกันก่อนสงครามกลางเมืองสหรัฐ
เมื่อกลับมาสอนผมก็สอนแต่ประวัติศาสตร์สหรัฐ ไม่เคยสอนเรื่องไทยศึกษาเลยสักเรื่อง ความรู้และการวิจัยในประเทศผมเริ่มทำเองเมื่อย้ายมาสอนที่ธรรมศาสตร์ จึงค่อยค้นคว้าในประเด็นที่พอมีความสนใจใคร่รู้นั่นคือประวัติภูมิปัญญาหรือความคิดทางการเมือง
แล้วทำการบ้านส่งให้อาจารย์ที่ปรึกษาคือ “ศิลปวัฒนธรรม” และ “มติชนสุดสัปดาห์”
ผมตัดสินใจร่างปาฐกถาโดยรวบรวมผลงานที่ได้ทำในเรื่องทาสอเมริกันและสิทธิคนไทย มองหาจุดเชื่อมและจุดตัดระหว่างสองอาณาบริเวณศึกษาที่ไม่มีอะไรร่วมและเหมือนกันเลย มีแต่ความแตกต่างตรงข้ามกันแทบทุกเรื่อง
จากระบบการเมืองที่ฝ่ายหนึ่งเป็นประชาธิปไตยล้นเกิน อีกฝ่ายมีประชาธิปไตยที่ขาดเกิน
ฝ่ายหนึ่งมีระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่ทรงพลานุภาพ อีกฝ่ายมีระบบทุนที่ยังไม่โตต้องอุปถัมภ์ค้ำจุนจนจะเป็นง่อยแล้ว
อีกฝ่ายเป็นสังคมที่พหุวัฒนธรรมเต็มไปด้วยความหลากหลาย มีสิทธิสตรีที่เข้มแข็งและเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง อีกฝ่ายยอมให้มีพหุวัฒนธรรมและความหลากหลายแต่ต้องอยู่ภายใต้ความมั่นคงแห่งรัฐเดี่ยวที่แตะต้องไม่ได้
อีกฝ่ายมีเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะบัญญัติเพิ่มเติม 10 ประการ แต่อีกฝ่ายมีเสรีภาพตามแต่กฎหมายลูกอนุญาตและผู้ใหญ่เมตตา
ต่อไปคือวิธีวิทยาทางประวัติศาสตร์ ผมประมวลความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่ได้ทำมาตลอดอาชีพ แล้วลองสกัดความคิดหรือมโนทัศน์ที่ประทับใจมากที่สุด ได้แก่ นิยามของประวัติศาสตร์ที่ผมสร้างเองว่าคือ “อุบัติการณ์ร่วมของหลายปัจจัยสังคมที่ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ”
พูดอย่างง่ายๆ คือเหมือนเป็นอุบัติเหตุเพราะมูลเหตุก่อนเกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์มีมากมาย กระทั่งเมื่อมันก่อรูปเป็นกระบวนและท้าทายโครงสร้างได้แล้วถึงอธิบายเล่าได้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
แล้วในวันที่ 24 มิถุนายน วันเกิดเหตุการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์จึงเป็นแค่ปลายเหตุของการมาร่วมกันของหลากหลายปัจจัยและเรื่องราว
ในที่สุดผมหาจุดร่วมในทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจได้และไม่เคยเป็นประเด็นที่มีการวิเคราะห์มาก่อนเลย
นั่นคือทั้งสหรัฐและสยามไทยมีประสบการณ์และพัฒนาการในการเปลี่ยนผ่านจากระบบสังคมก่อนทุนนิยมมาสู่ระบบทุนนิยมที่คล้ายกันอย่างไม่น่าเชื่อ
กล่าวคือ กระบวนการนั้นและผลที่เกิดตามมา ไม่ดำเนินไปตามทฤษฎีพัฒนาการของระบบทุนนิยมที่ได้เกิดในยุโรป
ซึ่งพิสูจน์ว่าระบบทุนนิยมใหม่นั้นเกิดมาจากความเสื่อมทะลายของระบบฟิวดัลหรือศักดินาที่ดำรงอยู่ก่อนหน้านี้
แต่ในกรณีของอเมริกา กำเนิดและพัฒนาการของระบบทุนนิยมดำเนินไปได้เพียงครึ่งเดียวคือภาคเหนือที่กลายมาเป็นระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ส่วนภาคใต้พัฒนาไปเป็นระบบทาสที่ใช้ทุนพาณิชย์เป็นหลัก ไม่อาจก้าวไปสู่การเป็นทุนอุตสาหกรรม
เมื่อเป็นเช่นนี้ระบบการเมืองก็แยกกันพัฒนา ภาคเหนือค่อยกลายเป็นระบบประชาธิปไตยเสรีนิยม ส่วนภาคใต้กลายเป็นระบบประชาธิปไตยของนายทาสไม่ใช่ของประชาชนทั้งหมด
ระบบเศรษฐกิจภาคเหนือใช้แรงงานเสรีของคนผิวขาวและคนอพยพจากยุโรปเรียกว่า “แรงงานจ้างตามสัญญา” (indentured servant) ไม่ใช่แรงงานรับจ้าง (wage labor)ในระบบทุน
ส่วนภาคใต้ใช้แรงงานทาสผิวดำจากแอฟริกาและต่อมาเมื่อมีการห้ามการค้าทาสระหว่างประเทศ ก็หันมาใช้แรงงานทาสที่เพาะเลี้ยงในภาคใต้เอง เป็นการบังคับให้นายทาสต้องยอมรับฐานะครอบครัวของทาสและดูแลรักษาแรงงานทาสที่ค่าตัวแพงมากให้สามารถทำงานได้นานที่สุด
อันเป็นที่มาของการมีระบบปิตาธิปไตย (paternalism) ในการปกครองทาสและคนขาวไม่มีทาส
ประเด็นที่ทำให้ประวัติศาสตร์การเกิดระบบทาสภาคใต้นำมาเปรียบกับประวัติศาสตร์การเกิดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามได้มาจากการตีความและอธิบายปมเงื่อนของการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์นี้ในแนวลัทธิมาร์กซ์ ว่าหนทางของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบทุนนิยมนั้นมีหนทางเดียว คือจากระบบฟิวดัลหรือศักดินาไปสู่ระบบทุนเท่านั้นหรือ
เพราะการศึกษาประเด็นนี้ที่เปิดประเด็นโดยมอริช ดอบบ์ และวิพากษ์โดยพอล สวีซี่ ในทศวรรษปี ค.ศ.1960 นำไปสู่การเปิดหนทางของการเปลี่ยนผ่านว่าอาจมีมากกว่าหนึ่ง หากแต่อาจมีทางแยกหรือทางโค้งที่ไม่พุ่งตรงไปที่การเกิดระบบทุนและชนชั้นนายทุนอุตสาหกรรมเท่านั้น ขึ้นอยู่กับสภาวการณ์และองค์ประกอบทางเศรษฐกิจและการเมืองขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร
ทางแยกที่ว่านี้มาจากบทบาทของทุนการค้า (พาณิชย์) (merchant capital) ซึ่งเป็นพ่อค้าทำการค้าขายแลกเปลี่ยนผลิตผลเกษตรกรรมและหัตถกรรมในสังคมก่อนแล้ว เงื่อนไขที่จะทำให้ระบบทุนนิยมเติบโตขึ้นมาได้ จะต้องทำให้ทุนการค้าเปลี่ยนบทบาทมาเป็นทุนอุตสาหกรรม หรือไม่ก็ต้องถูกทำลายลงไป พร้อมกับอำนาจรัฐและโครงสร้างการผลิตแบบฟิวดัลหรือศักดินา
ในภาคใต้หลังจากคนขาวจากอังกฤษอพยพเข้ามาตั้งรกรากและทำมาหากินในอาณานิคมอเมริกา ภาคเหนือค่อยพัฒนาการผลิตโดยอาศัยแรงงานครัวเรือนทำไร่ ค้าขาย หัตถกรรม สินค้าของป่าส่งขายให้ตลาดในยุโรปเป็นหลัก
ส่วนภาคใต้ที่ดินทำไร่มากแต่ไม่มีแรงงานพอ จนเมื่อพ่อค้าดัตช์เอาทาสผิวดำ 20 คนมาขายที่เวอร์จิเนีย ในปี 1619 เป็นการเริ่มทดลองใช้แรงงานทาสและพบว่าได้ผลผลิตดีกว่าแรงงานคนผิวขาว
จากนั้นการผลิตไร่ขนาดใหญ่ที่ปลูกข้าว คราม น้ำตาลและยาสูบ ซึ่งเป็นสินค้ามีตลาดต้องการสูงมากก็นำไปสู่การสถาปนาระบบทาส
ระบบทาสไม่ใช่เป็นเพียงแค่ระบบแรงงานแบบหนึ่ง หากแต่ยังเป็นระบบสังคม (social system) โดยได้สร้างอารยธรรมที่มีโครงสร้างทางชนชั้นอันเป็นแบบเฉพาะขึ้นมาคือชนชั้นเจ้าของทาส ชนชั้นทาส และชนชั้นไม่มีทาส สร้างชุมชนทางการเมืองแบบหนึ่ง สร้างระบบเศรษฐกิจ อุดมการณ์และความคิดจิตใจชุดหนึ่งขึ้นมาในภาคใต้
ทำให้ภาคใต้เติบโตขึ้นมาแตกต่างไปจากภาคเหนือและต่างจากสังคมที่พัฒนาไปในยุโรป หมายความว่าระบบกฎหมาย การศึกษา ศาสนา ภาษาและอื่นๆ ล้วนก่อรูปขึ้นบนฐานของระบบทาสคือคนไม่เท่ากัน
กระทั่งอุดมการณ์การปฏิวัติอเมริกาก็ถูกทำให้สอดคล้องกับระบบทาสคือการตีความกฎหมายทำให้คนผิวดำเป็นทรัพย์สินและสิ่งของ จึงไม่อาจมีสิทธิมนุษยชนได้ตามคำประกาศเอกราชอเมริกา
จากปี 1830-60 ราวสามสิบปีก่อนเกิดสงครามกลางเมือง ภาคเหนือกับภาคใต้เริ่มพัฒนาสังคมของตัวเองไปตามโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองที่ต่างกัน
คือภาคเหนือเป็นระบบทุนนิยมเสรี ส่วนภาคใต้เป็นระบบทุนพ่อค้าที่ไม่เสรี
อำนาจรัฐส่วนกลางทั้งประธานาธิบดีและสภาคองเกรสก็เริ่มแตกแยกตามภาคทีละน้อยจนไม่อาจทำการปกครองได้
ประธานาธิบดีลินคอล์นพูดได้ประทับใจมากเมื่อสะท้อนภาพของสังคมอเมริกันตอนนั้นว่า “บ้านที่แตกแยกกันเองไม่อาจตั้งอยู่ได้” (A house divided against itself cannot stand)
นักลัทธิมาร์กซ์อเมริกันมีชื่อคือ ยูยีน เยโนเวเซ (Eugene Genovese) เสนอว่าลักษณะสังคมภาคใต้เก่าไม่ใช่ทุนนิยมและก็ไม่ใช่ระบบฟิวดัล สังคมทาสภาคใต้เป็นสังคมก่อนทุนนิยมที่อยู่ในระบบทุนนิยมโลก แต่ก็ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลกสมัยใหม่ (the South was in but not of the modern capitalist world)
กล่าวคือ ภาคใต้เก่าเป็นสังคมพิเศษตั้งแต่แรกก่อตั้งในสมัยอาณานิคมที่ค่อยๆ ก่อรูปความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างนายกับทาส
ความสัมพันธ์นี้หรือเรียกสั้นๆ ว่าระบบทาส ได้แทรกซึมเข้าไปในทุกอณูของสังคมใต้ แทรกซึมเข้าไปในทุกระดับของความคิด ความรู้สึก และการปฏิบัติ
จุดนี้เองที่ทำให้ภาคใต้เก่ามีคุณลักษณะพิเศษแตกต่างทั้งจากสังคมทุนนิยมและแม้กระทั่งจากสังคมครองทาสอื่นๆ ในยุคเดียวกันเช่นในบราซิล คิวบา และจาเมกา เป็นต้น
ประเด็นสำคัญที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือการที่ระบอบทาสภาคใต้ได้พัฒนาและก่อรูปชนชั้นเจ้าของทาสขึ้นมาจนเป็นชนชั้นปกครองที่มีอำนาจทางสังคมและพลังทางเศรษฐกิจจากการสร้างระบบเกษตรกรรมแบบไร่ขนาดใหญ่ที่ใช้แรงงานทาสเป็นหลักขึ้นมา
นายทาสภาคใต้อเมริกามีโลกทัศน์ที่สะท้อนความขัดแย้งระหว่างมรดกทางความคิดสองประการ
ประการแรกคือ โลกทัศน์ที่เป็นมรดกจากการปฏิวัติอเมริกา คือการเมืองประชาธิปไตยเสรีนิยม การยอมรับความก้าวหน้าของสังคม การให้ความสำคัญกับการศึกษา ซึ่งเป็นโลกทัศน์ที่ชาวอเมริกันภาคเหนือและภาคใต้มีเหมือนๆ กัน
แต่โลกทัศน์อีกประการคือ ความคิดอนุรักษนิยมที่มาจากคุณค่าแบบสังคมก่อนทุนนิยม ซึ่งได้รับการต่อยอดจากการมีระบบทาสในเวลาต่อมา อันนำไปสู่การมีโลกทัศน์ที่ปะทะและต้องโค่นล้มกันในที่สุด
คราวหน้าเราจะมาดูกันว่า ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่านนี้ระหว่างระบอบทาสอเมริกันกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามมีอะไรที่คุยกันรู้เรื่องบ้าง
ผมตั้งโจทย์ไว้คือการเกิดระบบปิตาธิปไตย ทุนพาณิชย์ที่อิงรัฐ โลกทัศน์ที่ขัดกันระหว่างด้านเสรีนิยมกับอำนาจนิยม
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022