ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | กาแฟดำ |
ผู้เขียน | สุทธิชัย หยุ่น |
เผยแพร่ |
กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น
ตัวเลข GDP
ซ่อนความทุกข์ยากของชาวบ้านอย่างไร?
รัฐบาลบอกว่าปีนี้จะต้องดันให้ตัวเลขอัตราเติบโตเศรษฐกิจหรือ GDP ให้โตให้ได้ 3%
เพราะเกือบทุกสำนักสรุปว่าหากทำอย่างที่ทำอยู่อย่างเก่งก็ได้แค่ 2.7%
อยู่ในอันดับท้ายๆ ของประเทศอาเซียนด้วยกันเอง
แต่รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ประกาศไว้ตอนรับตำแหน่งว่าจะต้องเบ่ง GDP ของประเทศให้ได้เฉลี่ยปีละ 5% ในช่วง 4 ปีที่บริหารประเทศ
จะทำได้หรือ?
ไม่ใช่แค่ “หืดขึ้นคอ” แต่อาจจะเป็น “ฝันกลางวัน” มากกว่า
ผู้รู้ด้านเศรษฐศาสตร์หลายสำนักบอกว่าหากจะให้ผลผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ของไทยโตกว่าที่วางเอาไว้ต้องทำอะไรมากกว่านี้อีกเยอะ
เช่น ต้องยกเครื่องเชิงโครงสร้าง ต้องมีการลงทุน มีเทคโนโลยีใหม่
สรุปว่าต้องมี “อะไรใหม่ๆ” มากมาย
มาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เช่น เรื่องแจกเงินหมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้
เพราะถ้าผลิตได้แค่นี้ จะกระตุ้นให้ตาย ก็จะกลับมาเท่านี้อย่างเดิม
เพราะท้ายที่สุดมันก็อยู่ที่คำว่า “ศักยภาพ”
ซึ่งหมายความว่าเราทำได้เต็มที่ก็เท่านี้
ถ้าทำอย่างที่ทำอยู่ “ศักยภาพ” ก็ประมาณ 3% ไม่ใช่ 5%
คําว่า “เศรษฐกิจฟื้นตัว” ก็คือการกลับไปที่ “ศักยภาพ 3%”
แถมยังมีคำเตือนจากผู้ว่าการแบงก์ชาติว่าคำว่า “เศรษฐกิจฟื้นตัว” นั้นไม่ได้แปลว่าไม่มีความทุกข์ยาก ไม่มีความเดือดร้อน
เพราะความลำบากยากเข็ญของประชาชนนั้นแฝงอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจในเกือบทุกมิติ
เพราะขณะที่ตัวเลข GDP ฟื้น แต่คนไทยเป็นหนี้สูงขึ้น ข้าวของแพงขึ้น คนเครียดมากขึ้น PM 2.5 สูงขึ้น คุณภาพชีวิตแย่ลง
เหตุผลสำคัญคือตัวเลข GDP ไม่ใช่คำตอบของทุกๆ เรื่อง
อาการ “หมกมุ่น” อยู่กับตัวเลข GDP อย่างเดียวอาจทำให้เราเข้าใจสังคมไทยที่แท้จริงผิดพลาดไปอย่างมาก
เพราะจะเน้นไปที่เรื่องการ “กระตุ้นระยะสั้น” ที่เรียกว่า quick win หรือ quick fix
อะไรก็ได้ที่ทำให้ตัวเลขภาพรวมสวยขึ้น แต่มันก็เป็นเพียง “ตัวเฉลี่ยของภาพรวม” เท่านั้น
เราของคนรวยที่สุดกับคนจนที่สุดมาบวกกันแล้วหารเป็นตัวเลขเฉลี่ย
บ่อยครั้งเป็นเพียงภาพลวงตาด้วยซ้ำ
ผู้ว่าการแบงก์ชาติบอกว่า
“ที่สำคัญ เราเห็นชัดว่าการฟื้นตัวที่เราพูดถึงตอนนี้ เป็นการฟื้นตัวในแง่ภาพรวม เป็นการฟื้นตัวในแง่โดยเฉลี่ยของคน ในแง่ตัวเลขรวม ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขจีดีพี หรืออะไรต่างๆ เราเข้าใจดีว่า ในการฟื้นตัวในภาพรวม ตัวเลขรวม หรือตัวเลขเฉลี่ยนั้น มันซ่อนความลำบากและความทุกข์ของประชาชนไม่น้อยในหลายกลุ่มด้วยกัน”
ดูตัวเลข ผ่านๆ ผิวๆ อาจบอกว่ารายได้ของคนทั่วไปฟื้นแล้วและกลับมาสูงกว่าระดับที่เคยอยู่ก่อนโควิดด้วย
แต่มันเป็นตัวเลขที่ซ่อนความลำบาก ความทุกข์ของประชาชนอย่างเห็นได้ชัด
ตัวอย่างของกลุ่มคนที่มีอาชีพอิสระ
แม้รายได้จะกลับมาในระดับที่สูงกว่าจุดเริ่ม แต่มี ‘หลุมรายได้’ มหาศาลที่เกิดขึ้นระหว่างทาง
เพราะที่ไม่มีในรายงาน GDP คือรายได้ที่หายไปผิดปกติ ที่เรียกว่า “หลุมรายได้”
เพราะบางช่วงก็ไม่มีรายได้เลย บางช่วงกลับมาเป็นครั้งคราว
การอ่านเพียงตัวเลขภาพรวมจึงทำให้เรา “ตกหลุมพราง” ได้เช่นกัน
เพราะมันไม่ได้สะท้อนความลำบากของประชาชนจากรายได้ต่างๆ ที่หายไป
ในขณะที่รายจ่ายที่วัดจากค่าครองชีพมีแต่จะเพิ่มขึ้น
เพราะถ้าเราดูในแง่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะเห็นว่าจากเดิมที่อยู่ที่ 100 วิ่งมาที่ 107.2 และยังวิ่งมาอย่างต่อเนื่อง
ตัวเลข GDP หรือ Gross Domestic Product หรือ “ผลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ” หมายถึงรายได้ที่เกิดขึ้นจากในประเทศเท่านั้น ไม่ว่าจะสัญชาติใดก็ตาม
GDP เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจในการศึกษาเปรียบเทียบถึงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ
ใครที่เรียนเศรษฐศาสตร์ก็จะรู้ว่า GDP มีส่วนประกอบหลัก 5 เรื่อง
(+) C (Consumption) คือ การบริโภคของภาคเอกชน เช่น การจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือน
(+) I (Investment) คือ การลงทุนจากภาคเอกชนต่างๆ เช่น การสร้างอสังหาริมทรัพย์
(+) G (Government Spending) คือ การใช้จ่ายของรัฐบาลหรือการลงทุนจากภาครัฐ เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
(+) X (Export) คือ การส่งออก เช่น การที่คนไทยส่งออกข้าวไปขายต่างประเทศ
(-) M (Import) คือ การนำเข้า เช่น การที่คนไทยนำเข้าสินค้ามาขาย
การวัดเศรษฐกิจของประเทศด้วยตัวเลข GDP เพียงอย่างเดียวมีข้อเสียที่สำคัญหลายประการ :
ไม่สนใจการกระจายรายได้
เพราะ GDP ไม่ได้บอกถึงการกระจายรายได้ระหว่างประชากรที่รวยกับจน
เผลอๆ จะมีความพยายามปกปิดความไม่เท่าเทียมของฝ่ายการเมืองด้วยซ้ำไป
ไม่รวมธุรกรรมที่ไม่ใช่ตลาด
กิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมในตลาด เช่น งานบ้านและบริการอาสาสมัคร จะไม่ถูกบันทึก
มองข้ามความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม
GDP วัดผลผลิตทางเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
ไม่สะท้อนถึงคุณภาพชีวิต
GDP ไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น สุขภาพ การศึกษา และความเป็นอยู่โดยรวม
GDP มุ่งเน้นระยะสั้นเป็นหลัก
ไม่สะท้อนความแข็งแกร่งหรือเสถียรภาพระยะยาวของประเทศ
ข้ออ่อนอีกอย่างคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจใสภาคนอกระบบมักไม่รวมอยู่ในการคำนวณ GDP
ที่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของการพึ่งพาตัวเลข GDP ในการประเมินสุขภาพเศรษฐกิจของประเทศก็คือมันไม่สามารถวัดความสุขกายสบายใจของสังคม
มันไม่ชี้ว่าสังคมมีความเหลื่อมล้ำอย่างหนักหนาสาหัสอย่างไร
มันไม่บอกว่า GDP ที่โตขึ้นนั้นเป็นปรากฏการณ์ “รวยกระจุก จนกระจาย” อย่างไร
และมันไม่ได้สะท้อนว่าที่เศรษฐกิจโตขึ้นนั้นเกิดจากการฉ้อฉลในระบบการเมืองและระบบราชการมากน้อยเพียงใด
อีกทั้งไม่ได้วัดว่าเราสร้างประสิทธิภาพของต้นทุนมนุษย์มากน้อยแค่ไหนอย่างไร
ผู้วางนโยบายที่ยึดเอาตัวเลข GDP เป็นสรณะหลักในการวางแผนจึงอาจจะพาประเทศให้หลงทางได้อย่างน่ากลัว
เพราะมันซ่อนความอึดอัดคับข้องใจของคนที่ตกอยู่ในฐานะลำบากบากเข็ญ
เพราะตัวเลขอัตราโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้บอกว่าผู้มีอำนาจเลือกปฏิบัติ ใช้กฎหมายในเรื่องเดียวกันด้วยมาตรฐานที่ต่างกันสำหรับคนที่มีตำแหน่งและบารมีกับชาวบ้านธรรมดา
ประเทศที่มีตัวเลข GDP สูงอาจจะกลายเป็นสังคมที่มีสิ่งแวดล้อมย่ำแย่
เพราะรัฐบาลอาจจะต้องการสร้างตัวเลขเศรษฐกิจให้โตด้วยการทำลายป่าและความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อสร้างโรงงานและความสะดวกสลายให้กับอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อันตรายที่ซ่อนไว้ในความพยายามที่จะดันตัวเลข GDP คือการที่ขาดความตระหนักถึงสุขภาพของคนธรรมดา
เช่น ประชาชนอาจล้มป่วยเนื่องจากสูดดมควันพิษและ PM 2.5 มากขึ้น ก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายรักษาพยายาลมากขึ้น
ค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลได้รับจากบริการนั้นตีเป็นตัวเลข GDP ได้ด้วย
มีตัวอย่างในต่างประเทศมากมายที่ตอกย้ำถึงมหันตภัยของการพึ่งพิงตัวเลข GDP ในการวางนโยบายสำหรับประเทศ
ซึ่งจะได้นำมาเล่าขานกันในตอนต่อไปให้ได้ช่วยกันผลักดันให้เกิดการมองเศรษฐกิจชาวบ้านจากมุมมองนอกเหนือจากตัวเลข GDP เท่านั้น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022