สู่เส้นชัยจีโนมมนุษย์ (1) (ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทคตอนที่ 51)

ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

Biology Beyond Nature | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

 

สู่เส้นชัยจีโนมมนุษย์ (1)

(ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทคตอนที่ 51)

 

ช่วงเวลาเพียง 5 ปีจาก 1995-1999 วงการจีโนมพุ่งทะยานไปไวเกินใครจะคาดคิด

เริ่มจากจีโนมเซลล์ชิ้นแรกของแบคทีเรีย Haemophilus influenzae ขนาด 1.8 ล้านเบสถูกถอดรหัสสำเร็จโดยทีมของ Craig Venter สมัยอยู่ The Institute of Genome Research (TIGR) ในปี 1995

ถัดมาแค่ปีเดียว 1996 ทีมวิจัยนานาชาตินำโดย Andre Goeffeau จากเบลเยียมก็ถอดรหัสจีโนมยีสต์ Saccharomyces cerevisiae ขนาด 12 ล้านเบสสำเร็จ ถือเป็นจีโนมยูแคริโอตตัวแรก

จากนั้นอีกแค่สองปีเราก็ได้จีโนมของหนอน Caenohabditis elegans นำทีมโดย John Sulston จากอังกฤษ

และตามมาติดๆ ด้วยจีโนมแมลงวัน Drosophila melanogaster ของทีมโดย Craig Venter เจ้าเก่าที่ขณะนี้ย้ายมาอยู่บริษัท Celera Genomics ทั้งสองจีโนมนี้ขนาดกว่า 100 ล้านเบสแถมยังเป็นจีโนมของสัตว์หลายเซลล์

Cr.ณฤภรณ์ โสดา

เพดานจำกัดของขนาดจีโนมที่ถอดรหัสได้ทะลุหลักล้านเบสเป็นสิบล้านเบส และร้อยล้านเบสแทบจะปีต่อปี “จีโนมมนุษย์” ขนาดสามพันล้านเบสที่เมื่อทศวรรษก่อนเราเคยมองว่าไกลเกินเอื้อมต้องใช้เวลาอีกร้อยปีจะถอดรหัสได้ก็แทบจะกลับกลายเป็นของตายที่วางอยู่ตรงหน้า

พฤศจิกายน 1999 โครงการจีโนมภาครัฐประกาศความสำเร็จในการอ่านจีโนมมนุษย์ครบพันล้านเบสแรก

ธันวาคม 1999 โครงการจีโนมภาครัฐตีพิมพ์ข้อมูลโครโมโซม 22 ที่ถูกถอดรหัสครบเป็นโครโมโซมแรก

มกราคม 1999 Celera ประกาศว่าได้ลำดับเบส 90% ของทั้งจีโนมมนุษย์แล้ว

มีนาคม 1999 Celera ตีพิมพ์งานวิจัยจีโนมแมลงวัน หลักฐานสำคัญว่าเทคนิค WGS ใช้กับจีโนมใหญ่ๆ ได้จริง ในเดือนเดียวกันโครงการจีโนมภาครัฐประกาศว่าอ่านจีโนมมนุษย์ได้สองพันล้านเบสแล้ว

การเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นไบโอเทคช่วงต้นศตวรรษที่ 21
Cr. The Economist, Yahoo Finance

การแข่งขันดุเดือดเพิ่มความคึกคักให้อุตสาหกรรมไบโอเทค

ช่วงเพียงครึ่งปีจากพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน 1999 หุ้น Celera โตขึ้นมาหนึ่งเด้ง (2 เท่า) หลังจากนั้นอีกแค่สามเดือนหุ้น Celera ขึ้นไปอีกสิบเด้ง ส่วนภาพรวมทั้งตลาดหุ้นกลุ่มดัชนีไบโอเทค (NASDAQ Biotechnology Index) ขึ้นไปกว่า 80% ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2000

แต่เรื่องราวความขัดแย้งระหว่าง Celera กับโครงการจีโนมภาครัฐก็กลายมาเป็นระเบิดเวลาที่บั่นทอนความมั่นคงของตลาดไบโอเทคไปด้วย

ตัวแทนจาก Celera และโครงการจีโนมภาครัฐพยายามเปิดโต๊ะเจรจาสร้างความร่วมมือระหว่างกัน แต่ว่าตกลงกันไม่ได้เรื่องการเปิดเผยข้อมูลจีโนมสู่สาธารณะ

Celera ยืนกรานสิทธิขาดในข้อมูลจีโนมส่วนของตัวจนถึงปี 2005 ซึ่งฝั่งโครงการจีโนมภาครัฐยอมรับไม่ได้

และมองว่า Celera เล่นไม่แฟร์ตรงที่เอาข้อมูลสาธารณะไปใช้ประกอบการวิเคราะห์ของบริษัทแต่ไม่ยอมเปิดของมูลจีโนมฝั่งของบริษัทออกมาสู่สาธารณะในอัตราเดียวกันบ้าง

นักลงทุนไบโอเทคแตกตื่นเรื่องแถลงการณ์จีโนมเสรีของ Bill Clinton – Tony Blair
Cr. ณฤภรณ์ โสดา

วันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคมปี 2000 Wellcome Trust หน่วยงานผู้นำโครงการจีโนมภาครัฐฝั่งอังกฤษเปิดจดหมายลับที่ Francis Collins หัวหน้าโครงการจีโนมจาก NIH ฝั่งสหรัฐบรรยายถึงความยุ่งยากในการเจรจากับ Celera และระบุเส้นตายให้ Celera ตัดสินใจยอมรับข้อตกลงภายในวันจันทร์ถัดมา

Venter หัวหน้าทีม Celera ประณามออกสื่อว่าการเปิดจดหมายลับเป็นการกระทำที่ต่ำช้า (“a low-life thing to do”)

ขณะที่ John Sulston หัวหน้าโครงการจีโนมภาครัฐฝั่งอังกฤษสวนว่าการที่ Celera คิดเอาข้อมูลจีโนมสาธารณะมารวมกับของตัวเองเพื่อขายทำกำไรนั้นคือการฉ้อฉลหลอกลวง (“con-job”)

ดีลความร่วมมือจึงเป็นอันล่มลง หุ้น Celera และตลาดไบโอเทคเริ่มร่วงตั้งแต่ตอนนั้น

14 มีนาคมปี 2000 Bill Clinton ประธานาธิบดีสหรัฐ และ Tony Blair นายกรัฐมนตรีอังกฤษออกแถลงการณ์ร่วมว่า “ข้อมูลดิบขั้นพื้นฐานของจีโนมมนุษย์รวมทั้งลำดับเบสดีเอ็นเอควรเปิดให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเข้าถึงได้ฟรี” เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อมวลมนุษยชาติ

แถลงการณ์นี้เหมือนระเบิดลงกลางวงนักลงทุนไบโอเทคที่พากันแตกตื่นกันว่าทิศทางนโยบายของสองประเทศผู้นำวงการจะทำให้บริษัทต่างๆ จะไม่สามารถถือสิทธิบัตรหาผลประโยชน์จากยีนและจีโนมได้อีกต่อไป

NASDAQ Biotech Index ร่วงไป 12.5% ภายในวันเดียว ทั้งหุ้น Celera และคู่แข่งธุรกิจขายข้อมูลจีโนมอย่าง Incyte Pharmaceutical และ Human Genome Science (HGS) ร่วงไปกว่า 20%

ที่ตลกคือในแถลงการณ์ของ Clinton-Blair ก็บอกไว้ชัดเจนว่าทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ข้อมูลพันธุกรรมยังคงเป็นสิ่งสำคัญต่อการกระตุ้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางสุขภาพใหม่ๆ ทั้งสหรัฐและอังกฤษก็ยังไม่ได้มีแผนใดๆ ที่จะไปเปลี่ยนกฎหมายสิทธิบัตร

Celera, Incyte และ HGS รีบออกมาอธิบายว่าข้อมูลลำดับเบส DNA ดิบๆ จากจีโนมในแถลงการณ์นั้นเป็นคนละอย่างกับข้อมูลยีนที่มีหน้าที่การประยุกต์ใช้แน่นอนซึ่งบริษัทเหล่านี้พยายามจดสิทธิบัตรกัน มีสิทธิบัตรหลายร้อยยีนที่ได้รับการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย

แต่ว่านักลงทุนก็ตื่นตระหนกไปแล้ว แถมในช่วงกลางเดือนมีนาคมเดียวกันนั้นก็ดันมีวิกฤตฟองสบู่แตกในวงการอินเตอร์เน็ต (2000 dot-com bubble) หุ้นเทคโนโลยีรวมทั้งไบโอเทคเลยพากันร่วงทั้งตลาด ไม่ได้กลับมาถึงระดับสูงสุดที่เคยทำได้ตอนต้นเดือนมีนาคมปี 2000 อีกเลยจนกระทั่งกว่าทศวรรษให้หลัง

เหตุการณ์หุ้นร่วงครั้งนั้นเป็นบทเรียนสำคัญถึงความอ่อนไหวของตลาดทุนที่อาจจะสวนทางกับการเติบโตของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม