รากลึกของ ‘เกียรติอันน่าสังเวช’

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

รากลึกของ ‘เกียรติอันน่าสังเวช’

 

บ่อยครั้งที่มีการพูดถึง “ความไม่เท่าเทียม” หรือ “การแบ่งชนชั้นของคนไทย” ในทำนองว่าเป็นปัญหาในเชิงวัฒนธรรม เพราะความเป็นไปของประเทศถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมให้คุณค่ากับ “ยศถาบรรดาศักดิ์ ตำแหน่งแห่งหนของหน้าที่การงาน” มากจนละเลยการพิจารณาถึง “คุณงามความดีของบุคคล”

จึงทำให้หลายอย่างในประเทศแทนที่จะแก้ไขได้ง่ายๆ กลับกลายเป็นปัญหาซับซ้อน กร่อนเซาะสำนึกแห่งความเป็นคนเท่าเทียมกัน ซึ่งทำให้ปัญหาอื่นตามมาอีกมากมาย

ยกตัวอย่างเรื่อง “การทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์” หากวัฒนธรรมนำสำนึกของคนไทย การทุจริต คอร์รัปชั่นที่เป็นเหมือนเชื้อโรคทำลายการพัฒนาชาติก็จะไม่เกิด หรือน้อยจนควบคุมได้ไม่ยาก ไม่ต้องตั้งหน่วยงานตรวจสอบ ควบคุม ปราบปรามขึ้นมามากมายแล้วก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะแก้ปัญหาได้ อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในทุกวันนี้

หรือการให้เกียรติกับบุคคลในงานพิธีต่างๆ ที่เป็นธรรมเนียมของคนไทย ที่ยกย่องเชิดชูคนที่มีตำแหน่ง หรือฐานะว่าเป็น “ผู้ทรงเกียรติเหนือกว่า” โดยมองข้ามคุณงามความดีของบุคคล และเป็นไปได้ว่าไปตัดสิน “ความมีคุณงามความดี” ด้วยการมีตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์เหนือกว่า

มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเพราะให้ “ค่านิยมการให้ราคาคน” ด้วยวิธีนี้ ทิศทางในการพัฒนาคุณภาพบุคลากรจึงผิดเพี้ยน เสี่ยงต่อความไม่เหมาะสมกับความต้องการของการลงทุน

แต่ไม่ว่าจะพูดจะวิจารณ์หนักหน่วง ขนาดมีผลวิจัยมาทำเสนอแค่ไหน ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้

 

ล่าสุด หลังมีข่าวอื้อฉาวเรื่องคำนำหน้านามอันมีที่มาพิลึกๆ ของผู้ได้รับเลือกมาเป็น ส.ว.

“นิด้าโพล” ได้ทำสำรวจเรื่อง “คำนำหน้านามนั้น สำคัญไฉน” พบว่า ร้อยละ 30.15 ค่อนข้างให้ความสำคัญ, ร้อยละ 28.56 ไม่ค่อยให้ความสำคัญ, ร้อยละ 28.18 ไม่ให้ความสำคัญเลย, ร้อยละ 15.11 ให้ความสำคัญมาก

เมื่อถามลงไปในรายละเอียดของ “คำนำหน้านามแต่ละชุด”

คำนำหน้านามตาม “ฐานันดรศักดิ์” เช่น หม่อมหลวง หม่อมเจ้า เป็นต้น ร้อยละ 43.28 ให้เกียรติมาก, ร้อยละ 36.41ค่อนข้างให้เกียรติ, ร้อยละ 12.14 ไม่ค่อยให้เกียรติ, ร้อยละ 4.27 ไม่ให้เกียรติเลย

ตามวิชาชีพ เช่น นายแพทย์ แพทย์หญิง เป็นต้น ร้อยละ 43.75 ระบุว่า ค่อนข้างให้เกียรติ, ร้อยละ 43.05 ให้เกียรติมาก, ร้อยละ 9.01 ไม่ค่อยให้เกียรติ, ร้อยละ 3.66 ไม่ให้เกียรติเลย

ตามตำแหน่งวิชาการ เช่น ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ เป็นต้น ร้อยละ 43.97 ค่อนข้างให้เกียรติ, ร้อยละ 35.27 ให้เกียรติมาก, ร้อยละ 12.37 ไม่ค่อยให้เกียรติ, ร้อยละ 6.10 ไม่ให้เกียรติเลย

ตามวุฒิการศึกษา เช่น ด๊อกเตอร์ เป็นต้น ร้อยละ 41.76 ระบุว่า ค่อนข้างให้เกียรติ, ร้อยละ 32.67 ให้เกียรติมาก, ร้อยละ 14.96 ไม่ค่อยให้เกียรติ, ร้อยละ 7.79 ไม่ให้เกียรติเลย

ตามยศ เช่น พลเอก พลตำรวจเอก เป็นต้น ร้อยละ 44.12 ค่อนข้างให้เกียรติ, ร้อยละ 29.47 ให้เกียรติมาก, ร้อยละ 17.25 ไม่ค่อยให้เกียรติ, ร้อยละ 7.63 ไม่ให้เกียรติเลย

สตรีที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เช่น คุณหญิง ท่านผู้หญิง เป็นต้น ร้อยละ 39.01 ค่อนข้างให้เกียรติ, ร้อยละ 29.31 ให้เกียรติมาก, ร้อยละ 17.56 ไม่ค่อยให้เกียรติ, ร้อยละ 9.01 ระบุว่า ไม่ให้เกียรติเลย

 

การให้เกียรติย่อมหมายถึงการให้ความเกรงอกเกรงใจ โดยแฝงอยู่ในความหมายของการเป็นคนที่ดีกว่า เหนือกว่า ซึ่งเป็นการเชิดชูค่านิยมแบ่งชั้นวรรณะตามยศถาบรรดาศักดิ์

อันเป็นค่านิยมที่เสี่ยงอย่างยิ่งต่อการสร้างและรักษาวัฒนธรรมที่ทอดทิ้งการพิจารณาคุณค่าของคนจาก “คุณงามความดีอย่างแท้จริง” เหมือนกับยอมมอบบทบาทการตัดสินคุณงามความดีไว้กับบุคคลที่มีอำนาจแต่งตั้ง

การเลือกให้เกียรติด้วยสถานะ ตำแหน่งเช่นนี้ นับว่าเสี่ยงต่อการให้คุณค่าที่ถูกต้องสำหรับร่วมสร้างสังคมที่ดีงามแล้ว

 

อีกคำถามหนึ่งใน “นิด้าโพล” ชิ้นนี้ยังชวนให้ต้องถอนหายใจยาวยิ่งขึ้นคือ

เมื่อถามถึงการตรวจสอบบุคคลที่มีคำนำหน้านาม พบว่ามากถึงร้อยละ 89.54 ไม่เคยตรวจสอบใดๆ เลย, ร้อยละ 10.46 เคยตรวจสอบ

ผลที่ออกมาเช่นนี้ย่อมสะท้อนว่าเป็นการให้เกียรติให้ราคาโดยไม่สงสัย หรือให้ความสนใจกับที่มาของเกียรติที่ควรจะได้รับนั้น

อาจจะเป็นเพราะการให้เกียรติกับฐานะ ตำแหน่ง ยศศักดิ์ โดยไม่มีความคิดที่จะต้องตรวจสอบนี้เอง ทำให้การแสวงหาความเชื่อถือศรัทธาจึงมุ่งไปสู่การทำให้ได้คำนำหน้าชื่อ โดยไม่มีน้ำหนักกับการสร้างคุณงามความดีน้อย หรือไม่ให้เลย

และบ่อยครั้งที่รับรู้ถึงการทำมาหากินกับการให้ “คำนำหน้านาม” โดยมีเบื้องหลังเป็นผลประโยชน์มหาศาล ทำลายความชอบธรรมของการสร้างผลงานด้วยความรู้ความสามารถ และคุณงามความดี