วารสาร ‘โบราณคดี’ วิชาการ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

วารสาร ‘โบราณคดี’ วิชาการ

 

โบราณคดีถูกยกเป็นคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อ พ.ศ.2498 (69 ปีมาแล้ว) มีการบริหารธุรการและการเรียนการสอนอ่อนแอต่อเนื่องจนถึง พ.ศ.2508 (59 ปีมาแล้ว)

นักศึกษาพากันทำจดหมายร้องเรียนนายกรัฐมนตรีสมัยนั้นคือ จอมพลถนอม กิตติขจร ให้ปรับปรุงและพัฒนาการบริหารธุรการและการเรียนการสอนทัดเทียมเสมอหน้ามหาวิทยาลัยไทยอื่นๆ ที่มีขณะนั้น

 

นักศึกษาพึ่งพาตนเอง

พ.ศ.2509 (58 ปีมาแล้ว) นักศึกษาคณะโบราณคดีกลุ่มหนึ่งร่วมกันคิดพึ่งพาตนเองเพื่อแสวงหาข้อมูลความรู้ทางวิชาการด้วยการจัดตั้ง “ชุมนุมศึกษาวัฒนธรรม-โบราณคดี” โดยมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษา แล้วมีกิจกรรมด้วยทุนส่วนตัวของนักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมดังนี้

(1.) ไปต่างจังหวัดสำรวจศึกษาแหล่งโบราณคดี (2.) จัดนิทรรศการแสดงงานศึกษาสำรวจ (3.) จัดอภิปรายวิชาการ (4.) พิมพ์สูจิบัตรนิทรรศการเป็นเล่ม มีรายงานการศึกษาสำรวจ (5.) จัดทำวารสารวิชาการ “โบราณคดี” รายสะดวก ด้วยทุนสนับสนุนจากบริษัทห้างร้าน อักษรหัวหนังสือว่า “โบราณคดี” เป็นงานออกแบบลายมือโดยอังคาร กัลยาณพงศ์ กรุณาทำให้ฟรีๆ ทุนสนับสนุน จัดหากันเองโดยมีตัวแทนหาโฆษณาจากบริษัทห้างร้าน

แล้วแบ่งรายได้เป็นค่าจ้างพิมพ์หนังสือ

 

ปรับปรุงโบราณคดี

ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล คณบดีคณะโบราณคดีครั้งนั้น พยายามกำจัดจุดอ่อนและพัฒนาเพื่อแก้ไขสิ่งอ่อนแอให้แข็งแรง ด้วยการปรับปรุงหลักสูตร, รับอาจารย์เพิ่ม และกระตุ้นความกระตือรือร้นทางวิชาการ

ปรับปรุงหลักสูตร เน้นการสอนวิชาโบราณคดีและวิชาเกี่ยวข้อง ด้วยการลดและตัดวิชาทางอักษรศาสตร์ โดย ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล อธิบายไว้ในคำนำวารสารโบราณคดี (ฉบับที่ 1 ปีที่ 1 พ.ศ.2510) ว่า “บัดนี้มหาวิทยาลัยศิลปากรก็จะได้ตั้งคณะอักษรศาสตร์แล้ว คณะโบราณคดีจึงจะทำการปรับปรุงตนเองให้มีแต่การสอนวิชาโบราณคดีและวิชาที่เกี่ยวข้องเท่านั้น”

รับอาจารย์ใหม่เพิ่ม มีหลายอาจารย์สอนในหลายวิชา

กระตุ้นความกระตือรือร้นทางวิชาการ ได้แก่ พิมพ์หนังสือวิชาการ, สนับสนุนกิจกรรมวิชาการของนักศึกษา

เริ่มต้นด้วยขอทุนอุดหนุนจากภาคเอกชนจัดพิมพ์วารสารทางวิชาการ เพื่อกระตุ้นการอ่านและการศึกษาค้นคว้าวิจัยให้อาจารย์และนักศึกษา นั่นคือ วารสารโบราณคดี ฉบับปฐมฤกษ์ เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2509 ด้วยทุนอุดหนุนจากบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย

รูปเล่มเป็นหนังสือแบบเรียนของราชการ ไม่มีรูปปก และไม่มีออกแบบการจัดหน้าอย่าง “มืออาชีพ” โดยปล่อยโรงพิมพ์จัดการเองทั้งเล่ม

 

นักศึกษาช่วยงาน “ท่านอาจารย์”

(1.)”ท่านอาจารย์” ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล จัดทำ “วารสารโบราณคดี ฉบับปฐมฤกษ์” โดยไม่มีใครช่วยดูแล จึงส่งต้นฉบับให้โรงพิมพ์จัดการตามประสบการณ์ของโรงพิมพ์ (2.) ทุนอุดหนุนจากบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย ให้ครั้งเดียว พิมพ์เล่มเดียว (3.) มหาวิทยาลัยศิลปากรไม่มีทุนสนับสนุน

หลังจาก “วารสารโบราณคดี ฉบับปฐมฤกษ์” พิมพ์เสร็จเป็นเล่มแจกจ่ายผู้สนใจเรียบร้อยแล้ว “ท่านอาจารย์” เรียกนักศึกษาในชุมนุมศึกษาวัฒนธรรม-โบราณคดี ที่ผลิตวารสาร “โบราณคดี” รายสะดวก ไปพบเพื่อสอบถามความเป็นมาและการทำงาน

เมื่อซักไซ้ไล่เลียงเสร็จแล้ว “ท่านอาจารย์” จึงขอให้นักศึกษากลุ่มนั้นร่วมทำวารสารและหนังสือวิชาการให้คณะโบราณคดี

นักศึกษากลุ่มนั้นรับสนองตามต้องการของ “ท่านอาจารย์” แล้วปฏิบัติดังนี้

(1.) เลิกทำวารสาร “โบราณคดี” รายสะดวกของชุมนุมศึกษาวัฒนธรรม-โบราณคดี

(2.) เริ่มทำวารสาร “โบราณคดี” ของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

นักศึกษาในชุมนุมฯ ต้องไปทำเรื่องขออนุญาตตามกฎมายที่ตำรวจสันติบาลอยู่ที่กรมตำรวจ ปทุมวัน (สมัยนั้นเรียกกรมตำรวจ) ใช้เวลานานหลายเดือนจึงเสร็จ ได้ใบอนุญาตโดย ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล เป็นบรรณาธิการ

การออกวารสารสมัยนั้น มีกฎกติกาดังนี้ (ก.) รายสะดวก ไม่ต้องขออนุญาตราชการ ถ้าอยากทำก็ทำได้เลย แต่ (ข.) รายประจำ ต้องขออนุญาตราชการตามกฎหมาย ซึ่งเคร่งครัดมาก (โดยห้ามออกหนังสือพิมพ์รายวัน)

นักศึกษาในชุมนุมศึกษาวัฒนธรรม-โบราณคดี ต้องทำเรื่องขออนุญาตราชการ ดังนี้ (1.) ยื่นเรื่องขออนุญาตที่สำนักงานตำรวจสันติบาล (2.) ปกติต้องสอบประวัติ ซึ่งใช้เวลานานมาก แต่เป็นข้าราชการมหาวิทยาลัยและเป็นหม่อมเจ้า ทุกอย่างก็ผ่านสะดวก (3.) ถึงกระนั้นก็ต้องผ่านขั้นตอนตามระบบราชการ จึงต้องเดินทางไปกรมตำรวจปทุมวัน (สมัยนั้น) เพื่อติดตามความคืบหน้าถึงไหน? อย่างไร? ต้องทำอะไรอีก? 3-4 ครั้ง จึงได้รับใบอนุญาต ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา

 

วารสารโบราณคดี (ราย 3 เดือน) ของคณะโบราณคดี

โบราณคดี ฉบับที่ 1 ปีที่ 1 : 2510 กรกฎาคม-สิงหาคม-กันยายน (กระดาษปอนด์ 160 หน้า) พิมพ์เสร็จวางจำหน่าย ราคาเล่มละ 8 บาท

คำนำของ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ในฐานะบรรณาธิการ บอกว่าวารสารโบราณคดี จัดทำร่วมกันโดยอาจารย์และนักศึกษา “ปัจจุบันคณะโบราณคดีได้รับอาจารย์ใหม่ๆ เข้าไว้ทำงานอีกหลายท่าน เป็นการช่วยเหลือให้ข้าพเจ้าสามารถกระทำการดังกล่าวได้สำเร็จผลดียิ่งขึ้น เราจึงได้พร้อมใจกันร่วมประชุมพร้อมกับนักศึกษาบางคนที่สนใจ กะจะออกวารสารโบราณคดีนี้เป็นการประจำ ปีละ 4 เล่ม คือ 3 เดือนออกครั้งหนึ่ง และจะเป็นการจำหน่าย มิใช่แจกจ่ายโดยไม่คิดมูลค่าดังแต่ก่อน”

เนื้อหา มี 2 ส่วน ได้แก่ (1.) บทความของ “ท่านอาจารย์” รวมทั้งบทความที่ส่งผ่านมาทาง “ท่านอาจารย์” และ (2.) บทความที่จัดหามาจากที่ต่างๆ โดยนักศึกษาในชุมนุมศึกษาวัฒนธรรม-โบราณคดี

ค่าพิมพ์ ได้จากการหาโฆษณา (มีนายหน้ารับจัดการแล้วบ่งรายได้ตามเปอร์เซ็นต์ที่ตกลงกัน) โดยการประสานงานของนักศึกษาในชุมนุมศึกษาวัฒนธรรม-โบราณคดี

รูปเล่ม จัดทำโดยนักศึกษาในชุมนุมศึกษาวัฒนธรรม-โบราณคดี ดูแลการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบเป็นเล่ม ดังนี้

(1.) ทำหน้าที่บรรณาธิการ (ตามที่ “ท่านอาจารย์” มอบหมาย) จัดหาต้นฉบับงานวิชาการมาลงพิมพ์

(2.) จัดหาแล้วคัดเลือกรูปประกอบไปทำบล็อกแม่พิมพ์ (สมัยนั้นการพิมพ์ยังไม่มีระบบออฟเซ็ตเป็นเพลทอย่างทุกวันนี้) ที่ร้านรับจ้างทำบล็อกฝีมือดีโดยเฉพาะ มี 2 แห่ง คือ สะพานวันชาติ และริมคลองมหานาค ตรงข้ามวัดสระเกศ

(3.) ราว 3-5 วัน รับบล็อกจากร้านทำบล็อกไปให้โรงพิมพ์ประกอบตัวเรียงพิมพ์จัดหน้าทีละหน้า (สมัยนั้นไม่มีจัดหน้าตัวพิมพ์ระบบคอมพิวเตอร์) และตรวจปรู๊ฟ แล้วส่งพิมพ์เป็นเล่ม

การเดินทางทุกครั้งด้วยรถเมล์ ถ้าเร่งด่วนก็นั่งสามล้อเครื่อง (ตุ๊กตุ๊ก) เพราะไม่มีเงินมากพอค่าแท็กซี่

หลัง พ.ศ.2513 (54 ปีที่แล้ว) หมดรุ่นนักศึกษาชุมนุมศึกษาวัฒนธรรม-โบราณคดี ไม่มีกิจกรรมต่อเนื่อง จึงคืนงานวารสารโบราณคดี ส่วน “ท่านอาจารย์” ขอให้นักศึกษาชุมนุมฯ ทำต่อไป แต่ไม่มีใครรับทำ เพราะนักศึกษาเรียนจบแล้ว ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกิจกรรมในคณะอีกต่อไป

นับแต่นั้นงานวารสารโบราณคดีอยู่ในความรับผิดชอบของอาจารย์ประจำต่อไปอีกหลายปี กระทั่งเงียบหายไปอย่างไร้ร่องรอย โดยเหลือไว้แต่ “เรื่องเล่า” ว่าเหตุที่หายไปเพราะมีทุจริตค่าสมาชิกวารสารโบราณคดี

ใต้ภาพ

(ซ้าย) “วารสารโบราณคดีเล่มนี้จัดเป็นฉบับปฐมฤกษ์ เพราะเพิ่งเป็นฉบับแรกที่จัดพิมพ์ขึ้น ถ้ามีสิ่งบกพร่องอย่างไร ก็ยินดีจะได้รับคำติชมจากท่านทั้งหลาย เพื่อแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ในการจัดพิมพ์ครั้งแรกนี้ได้รับความอุดหนุนจากบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จึงขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย และหวังจะจัดพิมพ์ต่อไปอีก อย่างน้อย 2 เล่ม ต่อ 1 ปี.” (คำนำของ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล คณบดี คณะโบราณคดี พฤษภาคม 2509)

(ขวา) ปกหน้าโบราณคดี (ฉบับที่ 1 ปีที่ 1) กรกฎาคม, สิงหาคม, กันยายน พ.ศ.2510 วารสารราย 3 เดือน ของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีพระนาม ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล บรรณาธิการ (ซึ่งจัดทำโดยนักศึกษาชุมนุมศึกษาวัฒนธรรม-โบราณคดี ปกรูปทับหลังปราสาทหิน พิมาย โดยพิบูล ศุภกิจวิเลขการ เป็นอาจารย์สอนวิชาถ่ายรูป)