วิกฤต ‘ต้มกบ’

ก่อสร้างและที่ดิน | นาย ต.

 

วิกฤต ‘ต้มกบ’

 

เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ผู้ออกแบบ ผู้รับเหมาก่อสร้าง โรงงานผลิตวัสดุ ตกแต่งภายในและรับจัดสวน หลายรายได้รวมตัวกันแถลงผ่านสื่อมวลชน เพื่อแสดงจุดยืน ขอความเห็นใจและเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ผ่านภาวะเศรษฐกิจชลอตัวในครั้งนี้

SME กลุ่มนี้ระบุว่า วิกฤตที่เผชิญอยู่ในขณะนี้รุนแรงที่สุดที่เคยเจอมา เทียบได้กับวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ปี 2540

วิกฤตครั้งนี้หากมองผิวเผินอาจดูไม่รุนแรงรวดเร็วเหมือนวิกฤต 2540 แต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปสะสม จนระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นเทียบเท่า

ทางกลุ่มเรียกร้องมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน 7 ข้อ ได้แก่ มาตรการซอฟต์โลน, สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ยกเลิก LTV, ดึงกำลังซื้อกลุ่มคนทำงานที่เป็นต่างชาติ, กระตุ้นกำลังซื้อประชาชน, ลดภาษีนำเข้าลดต้นทุนการผลิต, ลดค่าสาธารณูปโภคลดเงินสมทบประกันสังคม, ตั้งหน่วยงานช่วยเหลือแนะนำ

 

ข้อเรียกร้องของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก แตกต่างจากข้อเสนอต่อรัฐบาลของธุรกิจขนาดใหญ่ที่ผ่านทางองค์กรสมาคมต่างๆ หรือสภาหอการค้า

ธุรกิจขนาดใหญ่ ปัญหาใหญ่คือปัญหากำลังซื้อในตลาดตกต่ำ ข้อเรียกร้องจึงเป็นการขอให้รัฐบาลกระตุ้นกำลังซื้อ หรือดึงกำลังซื้อจากชาติ เป็นสำคัญ

ธุรกิจรายใหญ่มักมีเครดิตเรตติ้งทางการเงินดี มีหนี้สินต่อทุนต่ำ มีแหล่งเงินทุนทั้งจากสถาบันการเงิน จากการออกตราสาร จึงมักมีสภาพคล่องทางการเงินเพียงพอ

ส่วนธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่เป็นห่วงโซ่อุปทานอสังหาริมทรัพย์ เมื่อกำลังซื้อในตลาดตกต่ำลง สิ่งแรกที่เจอคือ ระยะเวลาการรับชำระเงินถูกถึงยาวออกไป ทำให้สภาพคล่องเงินทุนหมุนเวียนเริ่ม “ตึง” มือ ธุรกิจกลางและเล็กยังเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก

ดังนั้น จึงต้องการซอฟต์โลนจากรัฐเข้ามาช่วยเติม

หากสถานการณ์วิกฤตยังดำเนินต่อไป ปัญหาการผิดนัดไม่ได้รับการชำระหนี้ก็ย่อมเกิดขึ้น ปัญหาสภาพคล่อง จนกระทั่งปัญหาความสามารถที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป ก็จะตามมา

 

เมื่อกล่าวถึงธุรกิจ SME ทั่วไปมักจะนึกถึงธุรกิจที่มีขนาดเล็ก แต่หากมองภาพรวมเศรษฐกิจรวมกันแล้วธุรกิจ SME รวมกันแล้วมีการจ้างงานมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ หรือมูลค่าธุรกิจเมื่อรวมกันแล้วก็มากกว่า แต่เวลาเกิดปัญหาเศรษฐกิจธุรกิจมักได้รับการดูแลน้อยกว่า

เสียงเรียกร้องของธุรกิจ SME ต้องได้รับการเอาใจใส่

วิกฤตที่เกิดแบบสะสม ค่อยเป็นค่อยไปใช้เวลา จนผู้คนที่อยู่ในสถานการณ์ไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อรู้สึก น้ำในหม้อก็เดือดเสียแล้ว เหมือนกบถูกต้ม

อยากให้ทุกภาคส่วนตระหนักว่า วิกฤต “ต้มกบ” ได้เกิดขึ้นแล้ว รีบร่วมกันหาทางแก้ไขก่อนที่จะลงลึกไปกว่านี้

และอยากให้ทุกคนช่วยกันจำว่า การเกิดวิกฤตแบบค่อยไปค่อยไปใช้เวลาสะสมเป็นทศวรรษนี้ มีสาเหตุจากอะไร

เพราะถ้าจำไม่ได้ ไม่ป้องกันก็จะเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นได้อีก เป็นวงจรอุบาทว์