ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | การศึกษา |
เผยแพร่ |
บทความการศึกษา
อว.เปิดปฏิบัติการล่า…
ขบวนการ ‘ซื้อ-ขาย’ วุฒิการศึกษา
ฟัน ‘วินัย-อาญา’ เพิกถอนใบอนุญาตฯ
ช่วงนี้มีข่าวคราวที่สะเทือนแวดวงอุดมศึกษาของไทยเป็นระลอกๆ เริ่มจากกรณี น.ส.วิไลลักษณ์ ไชยชาญ หรือ ซ้อลักษณ์ นักธุรกิจสาว ที่ยอมเปิดหน้าเปิดตาออกสื่อ “กล่าวหา” ประธานมูลนิธิชื่อดังแห่งหนึ่ง ว่า “ถูกหลอก” ให้ “ซื้อ” วุฒิปริญญาตรีปลอม จากมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.พิษณุโลก ในราคา 2 แสนบาท
แต่ยังไม่ได้รับ “วุฒิการศึกษา” แม้จะควักเงินจ่ายไปเรียบร้อยแล้ว
พร้อมทั้งยังกล่าวหา “ประธานมูลนิธิ” ชื่อดัง ที่ทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” ด้วยข้อหาที่หนักหน่วงว่า แอบอ้างขาย “ตำแหน่ง” ในรัฐสภา เป็นเงิน 6 หมื่นบาทให้อีกด้วย
ซ้อลักษณ์นอกจากเปิดหน้า เปิดตา และเปิดตัว ออกมาชนแล้ว…
เพื่อยืนยันว่าสิ่งที่พูดเป็นเรื่องจริง ยังงัดหลักฐานเด็ด โชว์ภาพ “ใบเสร็จรับเงิน” จาก “มหาวิทยาลัยเอกชน” แห่งหนึ่ง ที่เจ้าตัวอ้างว่าเป็น “ผู้ขาย” วุฒิการศึกษาให้
พร้อมทั้งไปแจ้งความดำเนินคดีกับประธานมูลนิธิดัง ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ จ.สกลนคร
งานนี้ ทำเอารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี นั่งไม่ติดเก้าอี้ สั่งการด่วนให้ปลัด อว.เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง และรายงานความคืบหน้า เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจน และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
เพราะนอกจาก อว.จะเป็นต้นสังกัดของมหาวิทยาลัยเอกชน ที่ถูกกล่าวหาว่าขายใบปริญญาแล้ว ยังต้องดูแลเรื่องธรรมาภิบาล และการบริหารของระบบอุดมศึกษาให้มีมาตรฐาน
ฉะนั้น ถ้าพบว่ามหาวิทยาลัยทำผิดจริง ก็พร้อมจะดำเนินการตามกฎหมาย!!
เบื้องต้น รัฐมนตรีว่าการ อว.ได้สั่งตั้งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และประสานไปยังมหาวิทยาลัยเอกชนที่ถูกกล่าวอ้าง ขณะที่ “อธิการบดี” มหาวิทยาลัยพิษณุโลก ได้รายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริง ของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ผลสรุปพบว่ามีมูลความจริง และมี “อาจารย์” 1 ราย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการดังกล่าว
โดยมีหลักฐานเป็น “ข้อความ” และ “บทสนทนาทางไลน์” รวมถึง “คลิปเสียง” ของซ้อลักษณ์ และอาจารย์ที่เกี่ยวข้อง ชัดเจน
ซึ่งตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยพิษณุโลกว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2566 ถือเป็นความผิดวินัยร้ายแรง ตามข้อ 52 (52.1) ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ให้บอกเลิกสัญญาจ้าง และดำเนินคดีตามกฎหมาย
เมื่อผลสอบเบื้องต้นได้ข้อสรุป ทาง อว.จึงออกมา “ขอโทษ” ต่อสังคม ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการศึกษาของไทย
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการ อว.ก็ได้แจ้งไปยังกรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ ตามมาตรา 28(4) ตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ซึ่งเป็นผู้แทน อว. 3 ท่าน ให้ติดตามข้อมูลใกล้ชิด และรายงาน อว.
พร้อมทั้งสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นอีก 1 ชุด มี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว.เป็นประธาน เพื่อร่วมดำเนินการให้เกิดความโปร่งใส และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงการซื้อขายใบปริญญาของมหาวิทยาลัยพิษณุโลกในเชิงลึก!!
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปดูการบริหารงานของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา น.ส.ศุภมาสระบุว่า มหาวิทยาลัยดังกล่าว เคยถูก อว.เข้าควบคุมเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2567 เนื่องจากทำผิดระเบียบการขอ “ตำแหน่งทางวิชาการ” ไม่เป็นไปตามที่คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กำหนด
โดย อว.เพิ่ง “ยกเลิก” การควบคุมเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา
ฉะนั้น มั่นใจได้ว่าการออกวุฒิการศึกษาที่ไม่ถูกต้อง ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างแน่นอน เพราะ อว.ควบคุมอย่างเข้มงวด
งานนี้ รัฐมนตรีว่าการ อว.มั่นใจว่าสาเหตุที่ดีลซื้อขายวุฒิการศึกษาล่ม น่าจะเป็นเพราะ อว.ควบคุมเข้มข้น เลยทำให้การซื้อขายไม่เป็นไปตามที่ตกลง
อย่างไรก็ตาม อว.จะเช็ก “ย้อนหลัง” ไปก่อนช่วงเวลาที่ได้มีการควบคุมด้วย ว่าที่ผ่านมา มีการซื้อขายวุฒิการศึกษาอย่างที่เป็นข่าวหรือไม่
ถ้าพบว่ามีการซื้อขายจริง จะใช้มาตรการเด็ดขาดตามกฎหมาย ซึ่งตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ให้อำนาจ อว.เข้าไปควบคุม ดำเนินคดี ไปจนถึงการ “ยกเลิก” ใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัย
ซึ่งในอดีต ก็เคย “เพิกถอน” ใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ทำผิดกฎหมายในลักษณะเดียวกันมาแล้ว!!
หลังรัฐมนตรีว่าการ อว.ได้สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่มีรองปลัด อว.เป็นประธาน ศ.ดร.ศุภชัยก็ได้นำทีมกฎหมาย อว.ลงพื้นที่มหาวิทยาลัยพิษณุโลก ร่วมประชุมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว
ซึ่ง ศ.ดร.ศุภชัยระบุว่า เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อสังคม และความเชื่อมั่นต่อระบบการอุดมศึกษาของประเทศ โดยรัฐมนตรีว่าการ อว.ได้กำชับให้เร่งแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้สังคมคลางแคลงใจ โดยมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน
โดยพบว่ามี “ผู้บริหาร” ระดับคณะเกี่ยวข้อง จึงได้สั่งให้ผู้บริหารคนดังกล่าว พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว และได้รายงานสภามหาวิทยาลัยพิษณุโลกทราบ รวมทั้งจะรายงานให้ อว.ทราบภายใน 7 วัน
“ครั้งนี้เป็นการสอบสวนข้อเท็จจริงในเบื้องต้น และแจ้งให้มหาวิทยาลัยทราบถึงกระบวนการต่างๆ อว.ไม่ได้มาจับผิด แต่ทำความจริงให้ปรากฏแก่สังคม และขอให้มหาวิทยาลัยให้ความร่วมมือในสอบสวนข้อเท็จจริงอย่างเคร่งครัด” รองปลัด อว.กล่าว
นอกจากนี้ อว.ยังได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากทางมหาวิทยาลัยพิษณุโลก อาทิ ข้อมูลตรวจสอบการเข้าเรียนของนักศึกษา เพื่อตรวจสอบย้อนหลังว่ามีการออกปริญญาบัตรที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ และหากพบความผิดปกติ ก็จะดำเนินการตามมาตรการอย่างเด็ดขาด
ขณะที่ นายมานพ เกตุเมฆ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยพิษณุโลก กล่าวว่า มหาวิทยาลัยพร้อมพิสูจน์ความจริงว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายปริญญาบัตร และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีก กระบวนการหลังจากนี้ มหาวิทยาลัยจะปรับเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ ควบคุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคอยสอดส่องดูแลภายในอย่างเข้มงวด
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการซื้อขายวุฒิการศึกษา ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก แต่มีต่อเนื่องมายาวนานแล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมา อาจจะใช้วิธีจ้างทำวุฒิการศึกษาปลอม ซึ่งรับจ้างทำเกลื่อนโซเชียล ทั้งระดับประถม มัธยม ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ไปจนถึงวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก
ราคามีตั้งแต่หลักร้อย ไปจนถึงหลักหลายพันบาท แล้วแต่ “ระดับ” วุฒิการศึกษา และ “สถาบัน” การศึกษาที่ต้องการ
ช่วงหลังๆ เริ่มมีเจ้าหน้าที่ หรือบุคลากร กระทั่งอาจารย์ หรือผู้บริหาร ของสถาบันการศึกษา เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
ทำให้หลายๆ ครั้ง เมื่อตรวจสอบวุฒิการศึกษากลับไปยังสถาบันการศึกษานั้นๆ จึงมีชื่อของผู้ที่ซื้อวุฒิการศึกษา เป็นผู้จบการศึกษาอย่างถูกต้อง…
ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หรือ อว.ก็รับรู้ แต่ยังคงนิ่งเฉย ปล่อยให้ขบวนการซื้อขายวุฒิการศึกษาได้ใจ เดินหน้าทำวุฒิปลอมขายกันโจ่งครึ่ม
ถึงเวลาที่ ศธ.และ อว. รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องเอาจริงเอาจัง จัดการขั้นเด็ดขาดกับผู้ที่กระทำผิด ทั้ง “ผู้ซื้อ” และ “ผู้ขาย” หรือแม้กระทั่ง “คนกลาง” ไม่ว่าจะเป็นคนใน หรือคนนอกสถานศึกษา
ฟันทั้งทางวินัย และคดีอาญา…
ก่อนที่แวดวงการศึกษาไทย จะย่ำแย่ไปมากกว่านี้!!
| บทความ (ฉบับประจำวันที่ 26 ก.ค.- 1 ส.ค. 2567 ฉบับที่ 2293)