อุทยานประวัติศาสตร์ ‘ภูพระบาท’ มรดกโลกแห่งใหม่ของไทย

ในที่สุด องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ก็ได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม หลังไทยเสนอขอขึ้นทะเบียน ตั้งแต่ปี 2547

แม้จะใช้เวลากว่า 20 ปี แต่ก็นับเป็นความสำเร็จที่น่ายินดี โดยเฉพาะชาวจังหวัดอุดรธานี ที่มีมรดกโลกถึง 2 แห่ง คือ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2535 และล่าสุดอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา

โดยยูเนสโกได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” (Phu Phrabat, atestimony to the S?ma stone tradition of the Dvaravati period)

ถือเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ 8 และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย

ต่อจากนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี และเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

 

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกภายใต้คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ได้แก่ การรักษาความเป็นของแท้และดั้งเดิมของแหล่งวัฒนธรรม สีมาหินสมัยทวารวดี และเป็นประจักษ์พยานที่ยอดเยี่ยมของการสืบทอดของวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องอย่างยาวนานกว่าสี่ศตวรรษ โดยเชื่อมโยงเข้ากับประเพณีของวัดฝ่ายอรัญวาสีในเวลาต่อมา

“ภูพระบาท” ได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมแบบต่อเนื่อง จำนวน 2 แหล่ง ประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และแหล่งวัฒนธรรมสีมา

วัดพระพุทธบาทบัวบาน ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกห่างจากอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมาในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) อันโดดเด่นที่สุดของโลก ตามเกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ข้อที่ 3 คือสามารถอนุรักษ์กลุ่มใบเสมาหินสมัยทวารวดีที่มีจำนวนมากและเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยใบเสมาดังกล่าวมีความสมบูรณ์และยังคงตั้งอยู่ในสถานที่ตั้งเดิม แสดงถึงวิวัฒนาการที่ชัดเจนของรูปแบบ และศิลปกรรมที่หลากหลายของใบเสมา ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

และเกณฑ์ข้อที่ 5 ภูมิทัศน์ของภูพระบาทได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้พื้นที่เพื่อประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนาและยังคงความสำคัญของกลุ่มใบเสมาหิน โดยความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับประเพณีสงฆ์ในฝ่ายอรัญญวาสี (พระป่า)

ภูพระบาทจึงเป็นประจักษ์พยานที่โดดเด่นของการใช้ประโยชน์ของธรรมชาติ เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี ซึ่งได้รับการสืบทอด รักษาวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องยาวนาน เชื่อมโยงประเพณีวัฒนธรรมของอรัญวาสีมาถึงปัจจุบัน

“หอนางอุสา” ไฮไลต์ของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นเพิงหินสูงรูปร่างแปลกตาคล้ายดอกเห็ด ล้อมรอบด้วยใบเสมา แสดงให้เห็นถึงการเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์หรือพัทธสีมาของสงฆ์เมื่ออดีตกาลนานนับพันปีมาแล้ว มนุษย์ได้ขึ้นมาดัดแปลงหอนางอุสาให้เป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธ โดยการสกัดพื้นที่ใต้หลังคาแล้วก่อหินทำเป็นห้องขนาดเล็กและนำหลักเสมามาปักล้อมรอบทั้ง 8 ทิศ (ภาพจากเพจ : กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร)

อุทยานฯ ภูพระบาท มีแหล่งโบราณสถานสำคัญกระจายทั่วพื้นที่ อาทิ หอนางอุสา เป็นเสาเฉลียงรูปเห็ด ประกอบด้วยแกนหินขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายเสาหิน และมีก้อนหินเป็นแผ่นหนาขนาด ใหญ่ทับอยู่ด้านบน

แกนหินสูง 10 เมตร ก้อนหินด้านบน กว้าง 5 เมตร ยาว 7 เมตร

แกนของเสาหินมีการก่อหินกั้นเป็นห้องไว้ส่วนบนของเสาที่อยู่ใต้แผ่นหิน มีการเจาะช่องเป็นช่องๆ เป็นประตูและหน้าต่างคล้ายช่องสังเกตุการณ์คล้ายหอคอย

ที่เพิงหินโบราณแห่งนี้ได้พบหลักฐานภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บริเวณผนังด้านทิศเหนือของหินก้อนล่าง เป็นภาพเส้น 2 3 เส้น ปัจจุบันนี้ภาพลบเลือนไปมากแล้ว

มีการปักสีมาล้อมรอบแปดทิศ เพื่อแสดงว่าเพิงหินนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ หรืออาจใช้เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ที่ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา

ปัจจุบันสีมาเหลืออยู่ 7 หลัก แต่เดิมน่าจะครบ 8 หลัก

 

อีกโบราณสถานสำคัญ ถ้ำพระ เป็นเพิงหินขนาดใหญ่ที่เกิดการวางตัวทับซ้อนกันของหิน มีการสกัดส่วนที่เป็นหินด้านล่างให้เกิดเป็นห้องขนาดใหญ่ โดยมีการสลักรูปประติมากรรม พระพุทธรูป และรูปบุคคลไว้ที่ผนังถ้ำ และยังพบภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ด้วย

พื้นที่บริเวณด้านข้างพบหลุมเสาเรียงเป็นแนวและอยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า แสดงให้เห็นว่ามีการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นส่วนของหลังคาอาคารที่เป็นเครื่องไม้ โดยมีการทรุดตัวลงมาของแผ่นหินด้านบนและพังทลายลงมา ส่งผลให้ทำลายประติมากรรมบางส่วนชำรุดเสียหายลงด้วย

จุดนี้พบการปักสีมาล้อมรอบ 2 ชั้น แปดทิศ แสดงถึงเพิงหินนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ หรือใช้เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ที่ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ปัจจุบันคงเหลือเสาสีมาตามตำแหน่งเดิมเพียง 6 หลัก

นอกจากนี้ ยังมีกู่นางอุสา ฉางข้าวนายพราน หีบศพท้าวบารส ถ้ำช้าง โบสถ์วัดพ่อตา วัดพ่อตา หีบศพพ่อตา คอกม้าท้าวบารส วัดลูกเขย บ่อน้ำนางอุสา ลานหินมณฑลพิธี ฯลฯ

ทุกแหล่งล้วนมีเรื่องราวและหลักฐานบ่งชี้ความสำคัญทางประวัติศาสตร์

 

อุทยานฯ ภูพระบาทยังถือเป็นโบราณสถานที่ปรากฏการปักใบสีมามากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

ในปีงบประมาณ 2567 อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ได้ดำเนินงานโครงการอนุรักษ์และพัฒนาให้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น

โดยดำเนินการปรับตำแหน่งและจัดวางใบสีมาที่ทรุดเอียงให้อยู่ในตำแหน่งเดิม รวมถึงประกอบชิ้นส่วนของใบสีมาที่แตกให้เข้าด้วยกัน

อีกทั้งปรับแต่งดินส่วนฐานล่างของใบสีมาบดอัดให้แน่น เพื่อเป็นการเสริมสภาพของแหล่งให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้และรองรับการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในพื้นที่

การได้รับรองเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งล่าสุด ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาอย่างเข้มข้นในแต่ละวาระนั้น

ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของคนไทย

และเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว

กรมศิลปากร ได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม-12 สิงหาคม 2567

เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ร่วมเฉลิมฉลองการประกาศขึ้นทะเบียน ภูพระบาทเป็นมรดกโลกในครั้งนี้ด้วย •