ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | สุภา ปัทมานันท์ |
เผยแพร่ |
ญี่ปุ่นมีการลงคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงโตเกียว เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ยูริโกะ โคอิเคะ (小池百合子) วัย 72 ปี ผู้ว่าฯ หญิงคนปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 2 สมัย รวม 8 ปี เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง จะดำรงตำแหน่งต่ออีก 4 ปี เป็นสมัยที่ 3 รวม 12 ปี
การเลือกตั้งครั้งนี้คึกคักเป็นพิเศษ มีผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งทั้งหมด 56 คน มากที่สุดที่เคยมีมา ผู้สมัครมีหลากหลาย ทั้งนักการเมืองระดับประเทศ และท้องถิ่น พนักงานบริษัท อาชีพอิสระ ศิลปิน เป็นต้น
ผู้สมัครอายุมากที่สุด 79 ปี และอายุน้อยที่สุด 31 ปี
ยูริโกะ โคอิเคะ ผู้ว่าฯ สมัยที่ 3 เป็นคนจังหวัดเฮียวโกะ เคยเป็นผู้ดำเนินรายการข่าวโทรทัศน์ ปี 1992 ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก และได้รับเลือกติดต่อกันมารวม 8 ครั้ง เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันประเทศ (2007-2007) ต่อมา ปี 2016 ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ โตเกียวครั้งแรก และครั้งต่อมา
ระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ โคอิเคะ ต้องฝ่าด่านงานหินต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชาวโตเกียวต้องเผชิญค่าครองชีพสูงขึ้น ค่าเงินเยนอ่อน ปัญหาเด็กเกิดน้อยลง และการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาการทำงานในองค์กรและธุรกิจ เป็นต้น จากนี้ไปอาสาที่จะปฏิรูปโตเกียวครั้งใหญ่ เพื่อการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นของประชากร 14 ล้านคน
ตลอดเวลาที่ผ่านมา เธอได้รับการสนับสนุนจากพรรคแอลดีพี (自民党) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลมาโดยตลอด ครั้งนี้ก็เช่นกันเธอได้รับพลังหนุนจากพรรครัฐบาลคือ พรรคแอลดีพี พรรคโคเม (公明党) และพรรคฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชน (国民民主党) รวมถึงส่วนหนึ่งของสมาชิกสภากรุงโตเกียวด้วย
พลังหนุนขนาดนี้ จะมีใครหาญสู้ไหม?
ผู้สมัครที่โดดเด่นอีกคนเป็นผู้หญิงเช่นกัน คือ เร็นโฮ ไซโต (蓮舫) วัย 56 ปี ถือ 2 สัญชาติ ลูกครึ่งพ่อชาวไต้หวัน สมาชิกวุฒิสภา 4 สมัย ตั้งแต่ปี 2004 สังกัดพรรครัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย (立憲民主党) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน เธอได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้านอีกหลายพรรค เป็นตัวเก็งที่คาดหวังว่าพลังของหญิงผู้มุ่งมั่น มีนโยบายเพื่อเด็ก คนหนุ่มสาว และผู้สูงวัย ตั้งใจเปลี่ยนโตเกียวให้เป็นเมืองของทุกช่วงวัย จะสามารถต่อกรกับผู้ว่าฯ หญิงคนเดิมได้
แต่…ไม่สำเร็จ เธอยอมรับความพ่ายแพ้ ประกาศจะไม่หยุดการทำงานทางการเมือง
ผู้สมัครอีกคนหนึ่ง นายชินจิ อิชิมารุ (石丸伸二) วัย 41 ปี เป็นพ่อเมือง (市長) อะคิทาคาตะ (安芸高田市) เมืองทางตอนเหนือของจังหวัดฮิโรชิมา
ข้อเด่นคือ เป็นผู้สมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด
ข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของญี่ปุ่น คือ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไม่จำเป็นต้องมีภูมิลำเนาในจังหวัดที่สมัคร
ผู้สมัครตัวเก็ง 3 คนในครั้งนี้ มีเพียงนางเร็นโฮ ที่เป็นชาวโตเกียว ส่วนผู้ว่าฯ โคอิเคะ เป็นชาวจังหวัดเฮียวโกะ ต่อสู้กันด้วยความสามารถส่วนตัวและพลังหนุนทางการเมือง
เมื่อเริ่มรณรงค์การหาเสียง นายอิชิมารุ เป็นรองนางเร็นโฮ แต่เมื่อใกล้เวลาเข้ามา เขาได้รับความนิยมแซงหน้าขึ้นมาอย่างรวดเร็วมาก จากการหาเสียงผ่านทางโซเชียลมีเดีย
อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่สามารถโค่นแชมป์ผู้ว่าฯ หญิงคนเดิมได้
เขาให้สัมภาษณ์ว่า ขอเวลาคิดเกี่ยวกับเส้นทางทางการเมืองระดับประเทศ ซึ่งหมายถึงการลงสมัครผู้แทนราษฎร จังหวัดฮิโรชิมา เขต 1 เขตของเจ้าถิ่น นายฟุมิโอ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีนั่นเอง
ผลคะแนนของผู้สมัคร อันดับหนึ่ง ผู้ว่าฯ โคอิเคะ 2,918,015 คะแนน นายอิชิมารุ 1,658,363 คะแนน และนางโฮเร็น 1,283,262 คะแนน เห็นได้ว่าคะแนนของผู้ว่าฯ โคอิเคะ นำลิ่ว
การเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้มาลงคะแนน 60.2% มากกว่าครั้งก่อนเล็กน้อย สำนักข่าวเอ็นเอชเค ทำ Exit Poll ของ 64 หน่วยเลือกตั้ง พบข้อมูลน่าสนใจ
ผู้ว่าฯ โคอิเคะ ได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้นิยมพรรคแอลดีพี กว่า 60% นายอิชิมารุ ได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้ไม่นิยมพรรคใดๆ กว่า 30% ส่วนนางเร็นโฮ ได้คะแนนจากแฟนๆ พรรครัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย กว่า 60%
ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน วัยหนุ่มสาวช่วงอายุ 10 กว่าถึง 40 ปี เทคะแนนให้นายอิชิมารุ อย่างชัดเจน แต่ในทางกลับกัน ยิ่งเป็นผู้สูงวัยก็ยังนิยมในตัวผู้ว่าฯ โคอิเคะ คือ 40% และ 50% ของวัย 60 ปี และ 70 ปี ส่วนนางเร็นโฮ ก็ได้รับคะแนนจากผู้สูงวัยมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ
เมื่อแยกตามเพศของผู้ลงคะแนน กว่า 30% ของผู้ชาย และกว่า 40% ของผู้หญิง เชื่อมั่นในผลงานของผู้ว่าฯ โคอิเคะ
การได้รับคะแนนท่วมท้นทิ้งห่างคู่แข่งลำดับสองและสาม อาจแสดงให้เห็นถึงผลงานของผู้ว่าฯ โคอิเคะ เป็นที่ประทับใจชาวโตเกียว
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คะแนนที่ได้นั้น มาจากการสนับสนุนของพรรคแอลดีพี และพรรคโคเม ร่วมรัฐบาล แม้ว่าในระยะแรกของการหาเสียง เธอพยายามเลี่ยงที่จะแสดงตนว่าฝักใฝ่พรรคแอลดีพี เนื่องจากคะแนนนิยมพรรคแอลดีพี คณะรัฐมนตรี รวมถึงตัวนายฟุมิโอะ คิชิดะ ลดฮวบลงต่อเนื่องตลอดมา จากประเด็นฉาวเกี่ยวกับ “เงินทอน” การไม่ลงบัญชีรายรับ-จ่าย อย่างโปร่งใสภายในพรรค (อ่าน สุภา ปัทมานันท์ “เรื่องเงินทอนของพรรครัฐบาลญี่ปุ่น” มติชนสุดสัปดาห์ 9 กุมภาพันธ์ 2567) อีกทั้งคะแนนของเธอครั้งนี้ ลดลงจากคะแนนในสมัยที่ 2 ถึง 3.66 ล้านคะแนน
การเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้พรรคแอลดีพีต้องหันมาขบคิดหากลยุทธ์เรียกความเชื่อมั่นคืนมา ดูจากคะแนนสนับสนุนนายอิชิมารุ ที่ไม่สังกัดพรรคใด คือเสียงประชาชนจำนวนไม่น้อยที่หันหลังให้พรรครัฐบาลแล้ว ต้องการคนรุ่นใหม่ มีความสามารถและอิสระจากพรรคการเมือง
พรรคฝ่ายค้านฝากข้อคิดว่า ผู้ว่าฯ โคอิเคะ ที่พรรครัฐบาลหนุนหลังครั้งนี้ชนะนางเร็นโฮ ที่พรรคฝ่ายค้านสนับสนุน อย่าได้เข้าใจผิดว่าประชาชนลืมหรือให้อภัยประเด็นฉาวเกี่ยวกับความโปร่งใสเรื่องเงินในพรรคแอลดีพี (裏金問題) ไปแล้ว
นี่เป็นเพียงการเริ่มต้น…ก่อนถึงการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022