ศัลยา ประชาชาติ : ปมร้อนขึ้นค่าแรง เอกชนรุมต้านแข่งขันยาก ราคาสินค้าจ่อขยับ

การปรับขึ้นค่าแรงเคยเป็นประเด็นร้อนของสังคมไทยในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556 ตามนโยบายปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท และปรับเงินเดือนปริญญาตรีเดือนละ 15,000 บาท สังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงความสมเหตุสมผล และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการปรับค่าแรงครั้งนั้น

ล่าสุดกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 ซึ่งมีนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานได้ใช้เวลากว่า 7 ชั่วโมงในการหาข้อสรุปอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ประจำปี 2561

โดยกำหนดให้มีการปรับขึ้นค่าแรงทั้งหมด 7 อัตรา ตั้งแต่ 8-22 บาท หรือเฉลี่ยปรับขึ้นอยู่ที่ 1.64-7.14% เป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ และความสามารถในการแข่งขันของแต่ละพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างกัน

คาดว่าจะมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบแล้ว

ที่สำคัญที่ประชุมครั้งนี้มีข้อเสนอเพิ่มเติม 3 เรื่อง คือ

1. กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปต้องกำหนดโครงสร้างเงินเดือน เพื่อให้ลูกจ้างเห็นอนาคต และเป็นหลักประกันในเรื่องอัตราค่าจ้างที่จะมีการขึ้นทุกปี

2. กำหนดอัตราค่าจ้างแบบลอยตัวให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่ เริ่มนำร่องในจังหวัดเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ช่วยให้สถานประกอบการได้แรงงานฝีมือที่ต้องการ และเสริมให้เกิดการพัฒนาฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้น

และ 3. การกำหนดมาตรการลดหย่อนภาษีของผู้ประกอบการที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ให้สามารถนำเงินดังกล่าวมาลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า

 

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายกังวลว่าการปรับขึ้นค่าแรงจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการผลิตสินค้า และเชื่อมโยงมายัง “ผู้บริโภค”

ซึ่งประเด็นนี้ “นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมายืนยันว่ากระทรวงพาณิชย์ได้ศึกษาพบว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2561 ส่งผลกระทบต่อต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ต่ำสุด 0.0008% และสูงสุดอยู่ที่ 0.1%

หรือมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.05% ถือว่ามีผลกระทบต่อต้นทุน “ไม่มาก”

ผู้ผลิตไม่สามารถใช้เหตุผลนี้ปรับขึ้นราคาสินค้า ในส่วนของผลกระทบเชื่อมโยงที่มีต่ออัตราเงิน เพิ่มขึ้น 0.08% ทำให้กรอบคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2561 เพิ่มขึ้นจาก 0.6-1.6% เป็น 0.7-1.7%

และต้นทุนค่าแรงในภาคการผลิตและบริการจะเพิ่มขึ้น 10,006 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 0.07% ของจีดีพีเท่านั้น

ส่วนผลกระทบต่อภาคการส่งออกจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 0.022% หรือมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 167 ล้านบาทต่อปี

โดยสาขาที่มีสัดส่วนต้นทุนเพิ่มมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การพิมพ์ เครื่องหนัง เครื่องแต่งกาย โลหประดิษฐ์ และเฟอร์นิเจอร์

ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อย ได้แก่ เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ และยานยนต์

 

ล่าสุดฝั่งนายจ้างได้มีการประชุมกันในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย มีมติเห็นชอบเสนอให้รัฐบาล “ทบทวน” มติอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

เพราะมองว่าเป็นอัตราไม่สอดคล้องกับมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด และบทบัญญัติของกฎหมาย (มาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541) ที่กำหนดไว้ โดย กกร.ต้องการให้พิจารณาตามความเป็นจริงและตามหลักกฎหมาย

นายกลินท์ สารสิน ประธาน กกร. ให้เหตุผลว่า ทาง กกร. ได้สอบถามความคิดเห็นไปยังสมาชิกทั้งหอการค้าจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่กว่า 92% มองว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำสูงเกินกว่าคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดพิจารณา

โดยมีผู้ประกอบการใน 38 จังหวัด หรือ “ครึ่งประเทศ” ไม่เห็นด้วยในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง มี 28 จังหวัดที่เห็นด้วยในการปรับขึ้นค่าแรง

และ 11 จังหวัดที่ไม่ได้ออกความเห็นเรื่องดังกล่าว

โดยมีข้อเสนอแนะรัฐบาล 7 ข้อ ประกอบด้วย

1. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำได้มีการดำเนินการแล้วเมื่อ 1 มกราคม 2560

2. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ กกร. มีความเห็นว่า ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจความเป็นจริงของแต่ละจังหวัด และไม่เป็นไปตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด และไม่เป็นไปตามการคำนวณดัชนีทางเศรษฐกิจที่ระบุไว้ตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เช่น คณะอนุกรรมการค่าจ้าง จ.ระยอง มีมติคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมในปี 2560 วันละ 308 บาท แต่ประกาศอัตราค่าจ้างปี 2561 ปรับเป็น 330 บาทต่อวัน โดยมองว่าอยู่เขต EEC ซึ่งเป็นเรื่องอนาคต ไม่สอดคล้องข้อเท็จจริงปัจจุบัน

3. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าจ้างแรงงานและการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตร ภาคบริการ และ SMEs เนื่องจากต้นทุนค่าจ้างและการผลิตเพิ่มขึ้นทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้ทัน โดยเฉพาะเป็นการเร่งให้มีอัตราการว่างงานสูงขึ้น จากการที่ผู้ประกอบการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงาน

4. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเกินพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคม จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อประเทศในภาพรวม รวมทั้งค่าครองชีพจะสูงขึ้นตาม จะส่งผลกระทบต่อประชาชน

5. กกร. สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงาน เพื่อมุ่งสู่การลอยตัวของค่าจ้างในที่สุด

6. การปรับค่าจ้างครั้งนี้ กกร.มีความเป็นห่วงภาคเกษตร ภาคบริการ และ SMEs จึงขอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือโดยเร่งด่วน

7. ภาครัฐควรดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานอย่างจริงจังและเร่งด่วน โดยให้เอกชนที่มีความพร้อมมีส่วนร่วม

 

“ยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์” เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ชี้ว่า การปรับขึ้นค่าแรงจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตเสื้อผ้าเพิ่มขึ้น 3-5% หากคำนวณผลกระทบตลอดห่วงโซ่การผลิตต้นทุนการผลิตเสื้อเพิ่มขึ้น 3-5% ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน และซ้ำเติมผู้ส่งออกที่มีปัญหาค่างินบาทแข็งขึ้นแล้ว จึงมีแนวโน้มว่าการส่งออกเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มปีนี้จะขยายตัว 0%

การปรับขึ้นราคาแรงงานของไทยในจังหวะนี้ เป็นช่วงเดียวกับเมียนมาประกาศปรับขึ้นค่าแรงสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 33% จากปกติปรับแค่ 5-10% ถือเป็นกลยุทธ์ในการดึงแรงงานเมียนมากลับประเทศ เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในเมียนมา

จึงต้องมาลุ้นกันว่าหลังเดือนเมษายนนี้อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นจะวิกฤตขาดแคลนแรงงานอีกหรือไม่