ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
การยกระดับทางการเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจากการยึด 1 ทำเนียบรัฐบาล ไปสู่การยึด 1 สนามบิน เท่ากับเป็นการทวีความร้อนแรงอย่างแหลมคมในทางการเมือง
ไม่เพียงยึด 1 สนามบินดอนเมือง หากแต่ 1 ยังรุกคืบไปสู่การยึดสนามบินสุวรรณภูมิ
เท่ากับสร้าง “สมรภูมิ” ขึ้นมา 3 สมรภูมิ
เท่ากับชี้ให้เห็นว่าหากข้อเสนอของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการกดดันต่อรัฐบาล กดดันต่อพรรคพลังประชาชน ไม่ประสบความสำเร็จ เป้าหมายอย่างแท้จริงจะอยู่ตรงไหน
หากประเมินจากท่าทีของกองทัพที่ร่วมในการกดดันตั้งแต่แรกที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยึดทำเนียบรัฐบาลในเดือนสิงหาคม 2551 มาแล้วก็พอคาดหมายได้ว่าทางออกจะเป็นอย่างไร
คำตอบเฉพาะหน้าในทางการเมืองมองไปยัง “รัฐประหาร” แต่คำถามก็คือสังคมไทยเพิ่งผ่านการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 มาเพียง 2 ปี หากเกิดการรัฐประหารขึ้นอีกจะอธิบายต่อประชาคมโลกอย่างไร
นี่คือโจทย์ทางการเมืองซึ่งทวีความร้อนแรงและแหลมคมมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
หากมองผ่านภาพการเคลื่อนไหวก็จะได้คำตอบว่าเป้าหมายของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้กำหนดไว้แล้ว
การปิดล้อม “รัฐสภา” เป็นเป้าหมาย 1 แต่มิใช่เป้าหมายหลัก
เมื่อ นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา สั่งปิดการประชุม เป้าหมายต่อไปคือดอนเมืองซึ่งรัฐบาลกำหนดเป็นสถานที่ประชุม “คณะรัฐมนตรี” แต่เมื่อรัฐบาลย้ายการประชุมไปยังกองบัญชาการกองทัพไทย
การยึดสนามบิน “ดอนเมือง” ก็ยังอยู่ ขณะเดียวกัน การเคลื่อนกำลังไปยึดสนามบิน “สุวรรณภูมิ”
เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ในเวลา 20.00 น.ของวันที่ 25 พฤศจิกายน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ออกแถลงการณ์ยกระดับการชุมนุมและเพิ่มมาตรการอารยะขัดขืนโดยการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ
ยื่นคำขาดให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ลาออกโดยทันทีและโดยไม่มีเงื่อนไข
ท่าทีของ “รัฐบาล” ท่าทีของ “ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง” เป็นอย่างไร
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการประชุมเอเปคที่ประเทศเปรู ย้ำอย่างหนักแน่นข้ามทวีปมาว่า
ไม่ลาออก ใครก็ตามที่ล้มล้างรัฐบาล ถือเป็น “กบฏ”
ขณะเดียวกัน เวลา 21.00 น.ของวันเดียวกันนั้น นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและรักษาการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สั่งปิดการใช้บริการสนามบินทั้งขาเข้าและขาออกโดยไม่มีกำหนด
ขณะนั้นมีผู้ใช้บริการอยู่ประมาณ 3,000 คน
วันรุ่งขึ้น 26 พฤศจิกายน ผู้บริหารร ทอท.ยื่นฟ้องแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยศาลแพ่งรับคำร้องและไต่สวนฉุกเฉินพร้อมมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว
ให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถอนตัวออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ
วันรุ่งขึ้น 27 พฤศจิกายน ศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมืองในทันที แต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังคงปักหลักชุมนุม
ไม่ว่าที่ทำเนียบรัฐบาล ไม่ว่าที่สนามบินดอนเมือง ไม่ว่าที่สนามบินสุวรรณภูมิ
ความน่าสนใจอยู่ที่การเคลื่อนไหวของ “กองทัพ” ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ภายหลังพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศยกระดับการชุมนุม
เริ่มจาก พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมด้วยผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ออกมาประกาศ 3 จุดยืนของ “กองทัพ”
1 ดูแลปกป้องสถาบันหลักของ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์
1 ในฐานะที่เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานรับมอบหมายให้ดูแลความสงบเรียบร้อย ต้องการให้บุคคลที่มีความขัดแย้งไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าฝ่ายใด ไม่ให้ประชาชนบาดเจ็บ
1 การดำเนินการใดควรเป็นไปตามครรลองของกฎหมาย หรือกระบวนการยุติธรรมเป็นหลัก
พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม ยังระบุในระหว่างการแถลงร่วมกันด้วยว่า ไม่อยากให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบีบผู้บัญชาการทหารบกยึดอำนาจ
บทบาทต่อไปเป็นของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก
นั่นก็คือ อาศัยสถานะแห่งประธานคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ร่วม (คตร.) และรองผู้อำนวยการรักษาความสงบภายใน (รอง ผอ.รมน.) เชิญหัวหน้าส่วนราชการ นายกสมาคมทุกสาขาอาชีพ ผู้นำทุกองค์กรธุรกิจและอธิการบดีมหาวิทยาลัย
เข้าร่วมประชุมหาแนวทางในการยุติสถานการณ์การชุมนุมยืดเยื้อที่เกิดขึ้นจากเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2551 ที่ประชุมมีมติว่า
1 จะแก้ปัญหาโดยใช้กรอบหลักประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
1 จะไม่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา
1 จะเสนอให้นายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด
1 ให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกจากสนามบินสุวรรณภูมิโดยเร็วที่สุด และยุติการชุมนุมในทุกพื้นที่
ทั้งยังย้ำด้วยว่า “กองทัพจะไม่ปฏิวัติ”
ถามว่าเบื้องหน้าการเคลื่อนไหวทั้งจากกองทัพ ทั้งจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิไตย บทบาทของรัฐบาล บทบาทของพรรคร่วมรัฐบาล บทบาทของพรรคพลังประชาชนเป็นอย่างไร
บทบาทของรัฐบาล บทบาทของพรรคพลังประชาชน สัมพันธ์กับบทบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างมิอาจแยกออกจากกันได้
ขณะเดียวกัน การรุกต่อรัฐบาล รุกต่อพรรคพลังประชาชน รุกต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็สัมพันธ์กับการตอบโต้อย่างเต็มกำลังของรัฐบาล ของพรรคพลังประชาชน และของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
การต่อสู้ยิ่งยกระดับ การตอบโต้ยิ่งรุนแรง ไม่ว่าจะในทางรูปแบบ ไม่ว่าจะในทางเนื้อหา
ไม่เพียงผ่านการตั้ง “ม็อบ” เข้ามาชนกับ “ม็อบ”
นั่นก็คือ การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นั่นก็คือ การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
ด้านหนึ่งมี นายสนธิ ลิ้มทองกุล ด้านหนึ่งมี นายวีระ มุสิกพงศ์
หากมองว่าด้านของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีรัฐบาล มี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีพรรคพลังประชาชน อีกด้านก็มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีพรรคประชาธิปัตย์ ประสานกับสมาชิกวุฒิสภา
ยิ่งกว่านั้น บทบาทของ “องค์กรอิสระ” ยังทำหน้าที่เพื่อขยายผลจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่กองทัพก็ออกมาไต่ “กระแส” ไปด้วยความร้อนแรง
การยกระดับของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจากการยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นการยึดสนามบิน โดยเริ่มต้นที่ดอนเมืองและขยายขอบเขตไปยังสนามบินสุวรรณภูมิอันเป็นสนามบินนานาชาติ
มากด้วยความแหลมคม
เป็นปัจจัยที่เร่งให้นำไปสู่การตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งในทางการเมืองระหว่างการรัฐประหารเหมือนที่เคยทำเมื่อเดือนกันยายน 2549
หรือว่าเป็นหนทางใหม่ที่นุ่มนวลทรงประสิทธิผลมากกว่า
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022