ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
“ลัทธิอนุรักษนิยมสมัยใหม่เป็นผลผลิตจากยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ… [และ] เริ่มต้นชีวิตด้วยการเป็นความลังเลภายในลัทธิเสรีนิยม มากกว่าที่จะเป็นความคิดหรือปรัชญาในตัวเอง”
Roger Scruton
Conservatism (2017)
กระแสขวาในเวทีโลกหวนกลับมาให้เห็นอีกครั้งผ่านการเมืองของยุโรปในยุคปัจจุบัน
แต่ว่าที่จริงแล้วอาจต้องเรียกว่าเป็นการมาของ “กระแสขวาจัด” มากกว่า หรือจะเรียกเป็น “ขวาสุด” ก็คงไม่ผิดนัก
กล่าวคือ เป็น “far right” ไม่ใช่เป็นกลุ่มการเมืองปีกขวาตามปกติ และมีลักษณะของความเป็น “ลัทธิสุดโต่ง” (Extremism) ในทางการเมืองอีกด้วย
ซึ่งว่าที่จริงลัทธิสุดโต่งของฝ่ายขวาเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เป็นสิ่งที่เคยเห็นกันมาแล้วในประวัติศาสตร์
กระแสฝ่ายขวาสุดโต่งเช่นนี้ทำให้อดคิดแบบคนที่ต้องเรียนประวัติศาสตร์สงครามไม่ได้ว่า ก็เพราะการขึ้นมาของกลุ่ม “ขวาจัดยุโรป” ในอิตาลีและเยอรมนีในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่ใช่หรือ ที่สุดท้ายแล้วพวกเขาได้พาโลกเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไม่คาดคิดในปี 1939
การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1918 และตามมาด้วยสนธิสัญญาสันติภาพแวร์ซายในปี 1919 ดูจะเป็นความหวังอย่างมากว่าสงครามใหญ่จะไม่หวนคืน แต่แล้วด้วยระยะเวลาเพียง 20 ปีเท่านั้น (จาก 1919 ถึง 1939) สงครามก็กลับคืนสู่สนามรบในยุทธบริเวณของยุโรป ตามมาด้วยการยกระดับขึ้นเป็นสงครามโลก
ฉะนั้น จึงไม่แปลกนักที่ทหารหลายนายจะผ่านทั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2
เราอาจกล่าวได้ว่ายุโรปพักรบ 20 ปี แล้วผู้นำฝ่ายขวาจัดก็พาชาวยุโรป พร้อมกับชาวโลกลงสู่สนามรบอีกครั้ง และแน่นอนว่าการรบในครั้งนี้รุนแรงกว่าในครั้งก่อนอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นความสูญเสียของชีวิตทั้งพลเรือนและทหาร ตลอดรวมถึงชีวิตของบ้านเมืองในพื้นที่สงคราม
อย่างไรก็ตาม วันนี้กระแสขวาจัดกลับมาเขย่าการเมืองยุโรปอีกครั้ง ไม่แตกต่างจากกระแสขวาที่เกิดขึ้นในการเมืองอเมริกัน จนทำให้ความเป็นประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกาและยุโรป ถูก “ค่อนแคะ” อย่างมากจากบรรดาผู้ที่สมาทาน “ลัทธิอำนาจนิยม” (Authoritarianism)
เพราะด้านหนึ่งมีนัยถึงความพ่ายแพ้ของฝ่ายเสรีนิยมในการเมืองของประเทศ เช่น ชัยชนะของพรรคฝ่ายขวาจัดในเนเธอร์แลนด์และในฝรั่งเศส และในอีกด้านหนึ่งก็มีนัยถึงความถดถอยของกระแสประชาธิปไตยทั้งในระดับชาติและในระดับสากล
ถ้าเช่นนั้น “กลุ่มขวาจัด” พวกนี้คือใคร?… เขาเป็นพวกเดียวกับ “กลุ่มอนุรักษนิยม” ที่เรากล่าวถึงในวิชารัฐศาสตร์ หรือกล่าวถึงในเวทีสาธารณะหรือไม่? ดังนั้น บทนี้จะลองเริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักกับ “ฝ่ายขวา” และความคิดพื้นฐานของพวกเขาอย่างสังเขป
คิดแบบขวา
เราอาจเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจในจุดกำเนิดของฝ่ายขวา ซึ่งความเป็นฝ่ายขวาในมิติทางความคิด หรือในมิติทางการเมืองนั้น มีต้นรากทางความคิดมาจาก “ลัทธิอนุรักษนิยม” (conservatism) และแตกแขนงทางความคิดออกไป ไม่แตกต่างจากชุดความคิดทางการเมืองและ/หรืออุดมการณ์ทางการเมืองอื่นๆ ที่มีพัฒนาการทางความคิดของตน และเกิดการขยายตัวทางความคิดในมิติทางอุดมการณ์
ถ้าเริ่มจากโลกในอดีตแล้ว ความเป็นอนุรักษนิยมไม่ใช่เรื่องแปลก จนอาจกล่าวได้ว่า ชุดความคิดเช่นนี้แฝงอยู่กับเงื่อนไขของความเป็นมนุษย์มาอย่างยาวนาน หรือที่มักจะกล่าวกันว่า มนุษย์โดยทั่วไปแล้ว มีแนวโน้มที่จะเป็นอนุรักษนิยม
เช่น มนุษย์ต้องการที่จะใช้ชีวิตในชุมชนตามปกติ อยู่ร่วมกันด้วยความเชื่อใจและปลอดภัย อีกทั้งต้องการอยู่กับเพื่อนบ้านอย่างมีสันติภาพ และหากมีภัยคุกคามเกิด ก็พร้อมที่ร้องขอให้คนอื่นเข้าช่วยจัดการกับภัยคุกคามนั้น
สภาวะเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นเงื่อนไขพื้นฐานตามปกติของมนุษยชาติ (คือเป็น human condition) และความต้องการที่จะยกเลิกหรือเรียกร้องให้ละทิ้งเงื่อนไขเช่นนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติ และไม่เป็นความจริง และทั้งไม่ต้องการที่จะยกเลิกเงื่อนไขเช่นนี้อีกด้วย
ดังนั้น ชุดความคิดแบบอนุรักษนิยมจึงเป็นผลของเงื่อนไขทางธรรมชาติของมนุษย์ และทำให้เกิดพัฒนาการของชุดความคิดทางการเมืองตามมา
ในมิติของความเป็นมนุษย์นั้น เราอาจกล่าวในอีกมุมหนึ่งได้ว่า ปัจจัย “ความเป็นสมาชิกภาพทางสังคม” (social membership) เป็นประเด็นสำคัญ เพราะมนุษย์ต้องอาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชน และพึ่งพาผู้คนในชุมชุมชนที่เราอาศัยอยู่ในการสร้างความปลอดภัยและความสุข
ด้วยสภาวะเช่นนี้ กลุ่มอนุรักษนิยมจึงให้ความสำคัญกับเรื่องของความเป็นเครือญาติและเรื่องราวทางศาสนา และจะมีท่าทีต่อต้านอย่างมากกับความพยายามของรัฐที่เข้ามาจัดการเรื่องเหล่านี้ผ่าน “กฎหมายทางการเมือง”
ในโลกสมัยใหม่ พวกเขาจึงต่อต้านอย่างชัดเจนในเรื่องของการทำแท้ง หรือการยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ เนื่องจากประเด็นเหล่านี้มีนัยที่เชื่อมโยงทั้งกับเงื่อนไขทางชีววิทยาและศาสนาที่เป็นคุณค่าของความเป็นอนุรักษนิยม
หรือเห็นชัดถึงการวางน้ำหนักของ “พระเจ้า” (God) ด้วยความยกย่องไว้เป็นศูนย์กลางของเรื่องทั้งหมด เพราะมนุษย์เป็นผลผลิตของพระองค์
นอกจากนี้ เราอาจมองความเป็นสมาชิกนี้ผ่านสังคมใน 3 รูปแบบ คือ
1) ถ้าอาศัยอยู่ในสังคมชนเผ่าแบบดั้งเดิม การเชื่อมต่อจะถูกกำหนดด้วยความสัมพันธ์ผ่านระบบเครือญาติ
2) ถ้าอยู่ในสังคมที่นิยมศาสนา ความสัมพันธ์นี้จะถูกจัดวางด้วยเรื่องของความศรัทธาและพิธีกรรม
และ 3) เมื่อมนุษย์อาศัยอยู่ในสังคมการเมืองสมัยใหม่ (political society) มนุษย์จะถูกปกครองด้วยกฎหมาย และกฎหมายนี้จะถูกสร้างขึ้นจากประชาชน โดยผ่านตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้ง และองค์อธิปัตย์ (sovereign authority) จะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายนี้
จะเห็นได้ว่าในสังคมทั้ง 3 แบบดังกล่าว การจะอยู่อย่างมีความสุขและปลอดภัยได้ จะต้องมีเงื่อนไขของ “การจัดระเบียบทางการเมือง” (political order) ซึ่งอาจมีนัยถึงการจัดให้เกิด “ความสงบเรียบร้อยทางการเมือง” หรือในอีกมุมหนึ่งอาจหมายถึง การจัดก็เพื่อให้เกิดการดำรง “สถานะเดิม” (status quo) ในทางสังคมการเมือง
ฉะนั้น เราอาจกล่าวสรุปในเบื้องต้นว่า ความสงบเรียบร้อยทางการเมืองเช่นนี้คือความต้องการพื้นฐานของลัทธิอนุรักษ์นิยม และความสงบเช่นนี้ในอีกส่วนโยงกับการรักษากฎหมายในสังคมด้วย
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องของการจัดระเบียบทางการเมืองมีความสำคัญทางความคิดในการจำแนกคนในทางการเมือง เพราะฝ่ายเสรีนิยมจะถือว่าระเบียบทางการเมืองได้มาจากเสรีภาพของบุคคล (หรือการมีเสรีภาพเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้องมีการจัดระเบียบทางการเมืองตามมา) แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมกลับมองว่าเสรีภาพของบุคคลได้มาจากระเบียบทางการเมือง (ดังนั้น โดยนัย รัฐจะต้องจัดระเบียบทางการเมืองก่อน จึงจะทำให้เกิดเสรีภาพได้)
ประเด็นนี้ทำให้เกิดคำถามสำคัญในวิชารัฐศาสตร์ว่า ระหว่างระเบียบและเสรีภาพอะไรมาก่อนกัน… คำตอบที่ได้จะบอกได้ทันทีว่า ผู้ตอบเป็นเสรีนิยมหรืออนุรักษนิยม (ลองคิดเล่นๆ ถามตัวเราเอง เราตอบคำถามนี้อย่างไร?)
ยูโทเปียของชาวอนุรักษนิยม
ความต้องการในการจัดระเบียบจึงมีความหมายในอีกมุมสำหรับชาวอนุรักษนิยม คือ “ความพยายามในการอนุรักษ์ชุมชนที่เรามี” ด้วยการทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย หรือมีความปรารถนาที่จะดำรงเครือข่ายของความใกล้ชิด (หรือความคุ้นเคย) และความไว้เนื้อเชื่อใจไว้ต่อไป เพื่อให้ชุมชนสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยาวนาน ซึ่งก็คือการดำรงอยู่ทางสังคมในแบบที่เป็น “สถานะเดิม” นั่นเอง
แม้ในความเป็นจริงของชีวิต จะมีการแข่งขันดำรงอยู่ แต่ชาวอนุรักษนิยมก็หวังในเบื้องต้นว่า การแข่งขันนี้จะเป็นไปอย่างสันติ และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะสามารถแก้ไขได้ และยังมีการขยายความในแบบที่เป็นอุดมคติอีกว่า ความร่วมมือจะเป็นปัจจัยที่เชื่อมต่อมนุษย์เข้าด้วยกัน เช่น สร้างความเป็นเพื่อนบ้านเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และสภาวะเช่นนี้จะช่วยลดทอนความรุนแรงของการแข่งขันลง และเกิดสันติภาพในที่สุด
ชุดความคิดแบบอุดมคติเช่นนี้ จึงเป็นดังการสร้าง “ยูโทเปีย” สำหรับชาวอนุรักษนิยม จนถูกวิจารณ์ว่าความคิดเช่นนี้ไม่แตกต่างกับฝ่ายซ้ายในการสร้าง “สังคมคอมมิวนิสต์เต็มรูป” หรือที่บางคนเรียกว่า “สังคมนิยมยูโทเปีย” เช่นที่นักลัทธิมาร์กซ์มีความฝันตามที่ปรากฏในงานทางทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ์ และเฟรเดอริก เองเกิลล์ (The German Ideology, 1845) ซึ่งในทางปฏิบัติ ทุกคนรู้ดีว่าเรื่องราวของยูโทเปียในเชิงอุคมคติไม่ว่าจะมาจากฝ่ายขวาหรือฝ่ายซ้าย ล้วนเป็นดัง “เทพนิยาย”
อย่างไรก็ตาม การดำรงอยู่ของชุดความคิดในแบบอนุรักษนิยมเช่นนี้ อาจเป็นเรื่องของการอธิบายถึงความต้องการของมนุษย์ในทางธรรมชาติ หรืออาจมีการนำไปผูกโยงว่าชุดความคิดทางการเมืองของอริสโตเติล (Aristotle) ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของการกำเนิดของความคิดแบบอนุรักษนิยมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่เชื่อในเรื่องของความมีเหตุผลของมนุษย์ อันส่งผลให้ความคิดทางการเมืองของชาวอนุรักษนิยมให้ความสำคัญกับเรื่องของ “เสรีภาพของปัจเจกบุคคล” ที่มีนัยโยงถึง “กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล” ในทางเศรษฐกิจด้วย แต่ก็เป็นความสำคัญในฐานะที่มนุษย์มีพันธะผูกพัน และอยู่ภายใต้บริบทของสถาบันและประเพณีที่ล้อมรอบตัวเขาอยู่
ฉะนั้น การใช้เสรีภาพในมุมของฝ่ายอนุรักษนิยมจะต้องไม่ใช่การทำลายสิทธิของบุคคลอื่น
ดังนั้น ในอีกส่วนจึงมีความเห็นว่าความเป็นอนุรักษนิยมนั้น มีความเชื่อมโยงกับความคิดของคริสตจักร ที่มีพื้นฐานมาจากคำสอนทางศาสนา ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ “จิตวิญญาณของปัจเจก” อันทำให้ชาวอนุรักษนิยมให้ความสำคัญกับ “ความเป็นปัจเจก” ของบุคคล (individualism) ซึ่งในทางการเมือง จึงทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่าง “ความชอบธรรม” และ “ความยินยอม” ต่ออำนาจทางการเมือง (หรืออำนาจในการปกครองขององค์อธิปัตย์)
ปัจจัยทางความคิดเช่นนี้จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างสังคมการเมืองของโลกตะวันตก และยังมีนัยถึงการแยกสังคมการเมืองแบบเก่าออกจากแบบใหม่อีกด้วย เพราะการปกครองจะต้องเริ่มด้วย “ความยินยอม” (consent) ของพลเมือง เพื่อที่จะทำให้เกิดความร่วมมือในการออกกฎหมาย และผู้ปกครองจะต้องมี “ความชอบธรรม” ในการปกครอง ซึ่งต่างจากชุดความคิดแบบเก่าที่อาศัย “ลัทธิเทวราช” (Divine Right) ในการสร้างความชอบธรรม ด้วยการอ้างถึง “พระเจ้า” ไม่ใช่ความชอบธรรมที่วางไว้กับความยินยอมของพลเมือง
ทั้งหมดนี้คือ การกำเนิดของชุดความคิดแบบ “อนุรักษนิยมแบบดั้งเดิม” ที่ก่อตัวขึ้นในโลกของยุโรป แต่ก็ยังไม่สามารถพัฒนาขึ้นเป็น “ปรัชญาการเมือง” หรือมีสถานะเป็น “อุดมการณ์การเมือง” แต่อย่างใด!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022