คนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มองจีนอย่างไร

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
(Photo by AFP) / China OUT

โลกมองจีน : บทสำรวจล่าสุด

นี่เป็นบทสำรวจล่าสุดว่า โลกมองจีนอย่างไร ที่สำรวจโดยหน่วยงานสำรวจที่น่าเชื่อถือ Pew Research Organization เขาสำรวจทัศนคติของคนในประเด็นสำคัญ โดยทัศนคติต่อจีนมีการสำรวจมาทุกปี ดังนั้น ผมจะไม่ท้วงติงเรื่องวิธีการวิจัย เช่น จำนวนผู้ถูกสอบถาม การสำรวจเขาใช้การสอบถามทางออนไลน์ โทรศัพท์ บางส่วนสัมภาษณ์ตัวต่อตัว สาระที่บทความผมจะเขียนคือ ภาพรวมโดยเฉพาะคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งใกล้บ้านเราและมุมมองของเขาอาจมีผลต่อนโยบายภายในและนโยบายต่างประเทศของเรา ผมจะวิเคราะห์ว่า ทำไมพวกเขาจึงมีทัศนคติต่อจีนเช่นนี้ แล้วย้อนมาดูที่ไทยทั้งสิ่งที่เหมือนและแตกต่าง สุดท้ายอะไรที่ผมมองต่างจากบทสำรวจข้างต้น แน่นอน ผมไม่ได้มองไทยเป็นเอกเทศ เป็นกรณีพิเศษ

จีนในมุมมองของคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : บทสำรวจ

พิวรีเสิร์ช ในสหรัฐอเมริการายงานว่า ไทยมีมุมมองบวกที่สุดต่อจีน คือเชื่อว่าจีนช่วยทำให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพ และเชื่อมั่นอย่างสูงในตัวประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

ใน 35 ประเทศทั่วโลก ไทยมองจีนมุมบวกที่สุด (80%) มองจีนมุมลบเพียง 18 % เชื่อว่าจีนช่วยทำให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพโลก รองลงมาคือ สิงคโปร์ (67%) และมาเลเซีย (64%) แต่ทั้งสองประเทศก็มองจีนในแง่ลบด้วยคือ มาเลเซีย (36) สิงคโปร์ (32%) ที่มองจีนลบสูงมากคือ ฟิลิปปินส์ (64%)

ทั้ง 3 ประเทศมองลบต่อจีนนี้เข้าใจได้ ด้วยเหตุผลชาติพันธุ์และการเมืองอัตลักษณ์ (Identity Politics) เชื้อชาติจีนในมาเลเซียและสิงคโปร์

ส่วนฟิลิปปินส์นอกจากเรื่องชาติพันธุ์จีนแล้ว ยังมีปัญหากับจีนในทะเลจีนใต้ทั้งเรื่องอาณาเขต ความเป็นเจ้าของหมู่เกาะ และแหล่งน้ำมัน ยังมีการปะทะกันด้วยกำลังและอาวุธในทะเลจีนใต้ต่อเนื่อง

พวกมองแง่บวก แต่ไม่ได้อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศรีลังกา (59%) บังกลาเทศ (55%) ก็เข้าใจได้เพราะจีนเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทั้งเงินกู้และให้เปล่า จีนทำการก่อสร้างโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่คือ ท่าเรือน้ำลึก ถนน จีนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ เป็นตลาดใหญ่ จีนยังเป็นนักท่องเที่ยวสำคัญของทั้งสองประเทศ

พวกมองมุมลบ แต่ไม่ได้อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ เกาหลีใต้ (71%) ออสเตรเลีย (85%) และญี่ปุ่นสูงสุด (87%) เพราะประเทศเหล่านี้เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก ส่วนอินเดีย (52%) เขาเป็นคู่ขัดแย้งกับจีนในเชิงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ มีข้อขัดแย้งเรื่องพรมแดน เคยมีการปะทะกันทางทหาร

บางคำอธิบาย

จากงานเขียนของ Selina Ho และ Chin-Hou Hung1 ได้อ้างเหตุผลมุมมองบวกและลบต่อจีน เห็นว่าคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แตกต่างจากชาติตะวันตก คือมองว่า คนภูมิภาคนี้มองจีนเป็นเรื่องมากกว่า กลัวหรือต่อต้านการทะยานขึ้นทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ และประเทศเหล่านี้มีแนวทางปฏิบัติได้และมองการทะยานขึ้นของจีน เป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของระบบการปกครองของพวกเขา เป็นความจำเป็นภายในของความอยู่รอดและความชอบธรรมของระบบการปกครองที่ผูกติดกับผลทางเศรษฐกิจ อันเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของนโยบายต่างประเทศต่อจีน

การทะยานขึ้นของจีน ไม่ใช่โอกาสทางเศรษฐกิจ แต่เป็นโอกาสทางยุทธศาสตร์สำหรับรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่มีมหาอำนาจเดียวสามารถครอบงำภูมิภาค จีนที่กระฉับกระเฉงอนุญาตให้รัฐเหล่านี้ ใช้การกระจาย (diversify) ทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ ซึ่งปกป้องพวกเขาจากการกลายเป็นพึ่งพาล้นเกินต่อสหรัฐอเมริกาหรือมหาอำนาจอื่นๆ ในเวลาเดียวกัน เป็นเหตุผลให้รัฐเหล่านี้รักษาสหรัฐอเมริกาไว้ในภูมิภาค ไม่ต้องวิตกการถอนตัวของสหรัฐอเมริกา

การกระจายตัวทางยุทธศาสตร์

แม้จีนมีนโยบายก้าวร้าวในทะเลจีนใต้ ทั้งฟิลิปปินส์และเวียดนามเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาขึ้นๆ ลงๆ ขึ้นอยู่กับการจัดลำดับของผู้นำ อย่างไรก็ตาม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้โอบกอดการทะยานขึ้นของจีน โดยปราศจากความหวาดหวั่น แม้แต่ สปป.ลาวซึ่งมักถูกมองว่าเป็นรัฐลูกไล่จีน ใช้การกระจายตัวทางยุทธศาสตร์ เมื่อมีโอกาส สปป.ลาวผูกพันทางเศรษฐกิจกับไทย เป็นรัฐอารักขาทางการเมืองจากเวียดนาม และรับความช่วยเหลือการพัฒนาจากญี่ปุ่น

 

ความอยู่รอดและความชอบธรรมของระบบการปกครอง

รัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยืนยันความเป็นผู้นำของจีน (หรือสหรัฐอเมริกา) จากคำอธิบายการเมืองภายในด้วยหลายปัจจัย เช่น มรดกทางประวัติศาสตร์ ความใกล้ชิด/ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความชอบธรรมทางการเมืองและความแตกแยกทางการเมืองภายใน ซึ่งเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของพวกเขา

ประเทศเหล่านี้พิจารณาปัจจัยภายในซับซ้อนยอมรับจีนและสหรัฐอเมริกา น่าสนใจ พวกเขาผลักดันขั้นต้น ด้วยความจำเป็นของความอยู่รอดและความชอบธรรมของรัฐและการแสวงหาความมั่นคงทางศรษฐกิจ ทำให้ประเทศเหล่านี้ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีน

อย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัดต่างๆ ทำให้ผู้นำบางประเทศไม่สามารถผลักดันความผูกพันทางเศรษฐกิจกับจีน ได้แก่ มติมหาชน การเมืองของพรรค การเมืองชาติพันธุ์ และความแตกต่างทางสังคม

มองพลังจีนต่อภูมิภาค คือ

1. ข้าราชการ นักการทูตและพลเมืองทั่วไป เรียนและฝึกอบรมเพิ่มขึ้นในจีนผ่านทุนเล่าเรียนจีน ผลของความพึ่งพิงและความมั่งคั่งของจีน การมองจีนถูกแบ่งเป็นฝักฝ่ายและเกิดตกตะลึงด้วยชาติพันธุ์นิยมและการเมืองอัตลักษณ์

2. พหุการเมืองและสังคมและความแตกแยกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อนุญาตให้จีนมีอิทธิพลต่อการพัฒนาภายใน ปักกิ่งมักลงทุนในโครงการ ที่จัดอันดับโดยผู้นำท้องถิ่นที่ได้ประโยชน์ จีนมักซื้อช่องทางสื่อในประเทศเหล่านี้

3. ความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมกับจีน รายงานของพิวรีเสิร์ช 2022 ชี้ว่าสิงคโปร์และมาเลเซียที่มีประชากรเชื้อจีนมาก ประชาชนมีแนวโน้มนิยมจีนน้อย องค์กรแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์จีนกระฉับกระเฉงในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สะท้อนได้จากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เรียกลูกชาย ลูกสาวของชาติจีนและในต่างประเทศ ทำให้จีนวัยหนุ่มสาวกลับมากระปรี้กระเปร่า

 

ไทยที่ตกสำรวจ

ความจริงไทยก็เหมือนกับหลายประเทศที่มีการสำรวจทัศนคติต่อจีน เบื้องต้นคือ

จีนเป็นอันดับ 1 ของหลายประเทศคือ

จีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุด

นักลงทุนจีนเข้ามามากที่สุด

นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาท่องเที่ยวมากที่สุด

นักศึกษาจีนเป็นนักศึกษาหลักของประเทศเรา

ดังนั้น สำหรับชนชั้นนำทางนโยบายและนักธุรกิจ จีนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ใช้ได้กับแนวคิดการกระจายทางยุทธศาสตร์เพื่อถ่วงดุลสหรัฐอเมริกา ความผูกพันจีนเป็นสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้ จีนทำให้เศรษฐกิจดีย่อมทำให้เกิดความชอบธรรมต่อการปกครองและต่อความอยู่รอดของผู้นำ

แต่ไทย บทสำรวจนี้ตกสำรวจคนในภาคส่วนอื่นโดยเฉพาะในตลาดล่าง และคนในท้องถิ่น

ในสวนทุเรียน ในมหาวิทยาลัยที่จีนเป็นเจ้าของหรือผู้บริหาร บริษัททัวร์ที่เจอทัวร์ศูนย์เหรียญ วงการอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะคอนโดฯ หรู บ้านราคาแพง คนที่อยู่ห้วยขวางที่ร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะ ร้านขายยา ห้องแถวมีไว้เพื่อต้อนรับทัวร์จีน เขาว่ากันว่า เหล้า น้ำดื่ม แม้แต่โฮสก็นำเข้าจากจีน

งานสำรวจนี้จึงไม่ได้ยินเสียงบ่นเรื่องคนจีนที่ดังแสบแก้วหู


1“Unpacking the Drivers of Southeast Asia’s Policy towards China” China Power, 8 July 2024 ซึ่งตีพิมพ์ช่วงที่รายงานของ Pew Research 2024 ออกมาพอดี