ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | การเมืองวัฒนธรรม |
ผู้เขียน | เกษียร เตชะพีระ |
เผยแพร่ |
การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ
วิกฤตยุโรปในทีทรรศน์ปัญญาชน (จบ)
ชาตินิยม, ลัทธิรักชาติ & เอกลักษณ์ยุโรป
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญถ้าหากความทุรนทุรายของเอกลักษณ์ยุโรปกลายเป็นประเด็นเป้าหมายของการสืบค้นทางปรัชญาใหม่ๆ
ดังที่ ลูค วอน มิดลาร์ (Luuk van Middelaar) นักประวัติศาสตร์และปรัชญาการเมืองชาวดัตช์ เจ้าของผลงานหนังสือเรื่อง The Passage to Europe : How a Continent Became a Union (หนทางสู่ยุโรป : วิถีดำเนินจากทวีปสู่สหภาพ ซึ่งได้รางวัล European Book Prize 2012) ได้เปิดชุดการบรรยายที่อุทิศให้แก่ประเด็นยุโรปขึ้นที่วิทยาลัยเปิด Coll?ge de France ในกรุงปารีสเมื่อปี 2021 เพื่อเชื้อเชิญชักชวนให้สหภาพยุโรป… :
“เปลี่ยนจริยคติ วิธีคิดและวิสัยทัศน์ต่อโลกเสียใหม่” หรือแม้แต่ “ผละออกมาจากความคิดแบบครอบจักรวาลและเป็นนิรันดร์กาลซึ่งสหภาพยุโรปได้อาศัยลี้ภัยอยู่หลังปี 1945 เป็นต้นมา” (https://luukvanmiddelaar.eu/books/pandemonium?edition=62909278ed90c)
ในทำนองเดียวกัน ปีเตอร์ สโลเตอเดค (Peter Sloterdijk) นักปรัชญาและนักทฤษฎีวัฒนธรรมชาวเยอรมันชื่อดัง ณ สถาบันเดียวกันผู้เปิดบรรยายรายปีในประเด็น “การประดิษฐ์สร้างยุโรปขึ้นด้วยนานาภาษาและวัฒนธรรม” ก็ประเมินว่า :
“ไม่อาจมีเอกลักษณ์ทางการเมืองร่วมกันของประดาผู้อาศัยอยู่ในยุโรปและสหภาพยุโรปได้หรอกครับ ค่าที่พวกเขาส่วนใหญ่ยังคงถูกอบรมขัดเกลาทางสังคมอยู่ภายในเอกลักษณ์แห่งชาติแบบเดิมของตนอยู่” คนเหล่านี้ยังไม่ทันแม้แต่จะเข้าไปในชั้นล่างของ “โครงสร้างอาคารมหึมาหลังยุคจักรวรรดิแห่งนี้ที่ได้ปรากฏตัวขึ้นบนฉากประวัติศาสตร์โลกเลย”
(ดูเพิ่มเติมใน https://www.vindobona.org/article/peter-sloterdijk-on-europe-at-the-austrian-integration-fund-pentecostal-dialogue)
แต่กระนั้น สโลเตอเดคก็ยอมรับว่าภายใต้เพดานจำกัดแห่งระบบรัฐชาติปัจจุบัน สหภาพยุโรปเป็นองค์การจัดตั้งเดียวที่พอจะประกันมาตรฐานทางนิเวศวิทยาและสวัสดิการสังคมได้ (https://www.zeit.de/kultur/2017-05/capitalism-globalization-populism-ideology/seite-2)
ทั้งนี้ก็เนื่องจากสาเหตุที่ โรเบิร์ต เมอนาสเซอ (Robert Menasse) นักเขียนและอดีตอาจารย์ทฤษฎีวรรณกรรม-สุนทรียศาสตร์ชาวออสเตรีย ผู้ได้รับรางวัล German Book Prize 2017 จากผลงานนิยายไตรภาคว่าด้วยระบอบสหภาพยุโรปตอนแรกเรื่อง The Capital (https://www.goethe.de/ins/us/en/kul/mag/21076933.html) และรางวัล European Book Prize 2023 จากตอนสองเรื่อง Enlargement (https://www.suhrkamp.de/rights/nachricht/robert-menasse-wins-the-prix-du-livre-europeen-2023-b-4242) อธิบายว่า :
“อุปสรรคใหญ่ทั้งปวงที่ท้าทายโลกทุกวันนี้ล้วนมีลักษณะข้ามชาติและไม่มีรัฐชาติหนึ่งใดจะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ภายในกรอบพรมแดนของตัวเอง
“ใครที่สัญญาว่ามีทางแก้ไขระดับชาติให้ได้ มันผู้นั้นเป็นไอ้คนคดโกงทางการเมืองไม่ว่ามันจะเป็นฝ่ายขวาหรือฝ่ายซ้ายก็ตาม สิ่งที่เราต้องชูขึ้นคัดค้านพวกชาตินิยม ได้แก่ แนวคิดเรื่องความรักชาติบ้านเมือง ชาตินั้นน่ะเป็นแค่นิยาย แต่ชาติบ้านเมืองเป็นสิ่งรูปธรรม”
ฉะนั้น สำหรับเมอนาสเซอเขาจึงป่าวร้องสนับสนุนลัทธิสหพันธรัฐยุโรป ข้อสรุปดังกล่าวได้รับการตอกย้ำโดย โรแมง การี (Romain Gary, 1914-1980) นักเขียนและนักการทูตฝรั่งเศสเชื้อสายยิวชื่อดังผู้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์การยกพลขึ้นบกฝั่งนอร์มังดีในฝรั่งเศสของฝ่ายสัมพันธมิตรสมัยสงครามโลกครั้งที่สองเรื่อง The Longest Day (วันเผด็จศึก, 1962) ในนิยายของเขาเรื่อง ?ducation europ?enne (1945, https://fr.wikipedia.org/wiki/%C3%89ducation_europ%C3%A9enne) ว่า :
“ลัทธิรักชาติ นั่นคือการรักพวกพ้องของเรา ส่วนลัทธิชาตินิยมนั้นคือการเกลียดชังคนอื่น”
[อย่างไรก็ตาม มีข้อคำนึงเชิงวิพากษ์ต่อการจำแนกและรับเชื่อรับใช้ลัทธิชาตินิยมกับลัทธิรักชาติ (nationalism vs. Patriotism) โดยเฉพาะในบริบทประวัติศาสตร์ไทย โปรดดู ธงชัย วินิจจะกูล, “บทที่ 3 การเมืองและวิธีวิทยาของ Siam Mapped”, ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์นอกขนบและวิธีวิทยาทางเลือก (2562, หน้า 89-93)]
ทว่า เบื้องหน้าโลกที่รุ่มร้อนด้วยสงครามความขัดแย้งทุกว้นนี้ ไม่ว่าที่ยูเครน, ฉนวนกาซา, ทะเลจีนใต้, ซูดาน ฯลฯ ยุโรปยังเป็นตาชั่งที่เที่ยงตรงน่าเชื่อถืออยู่ไหม? หรือว่าพอโลกหอบปัญหามาเคาะประตูเรียกเข้า ยุโรปก็มีอันถึงแก่สะดุ้งโหยงกัน?
ต่อเรื่องนี้ ชูเซป บูเรียลี นักการเมืองสเปนซึ่งเป็นผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงยอมรับว่า :
“สำหรับผมมันดูเหมือนเป็นที่ประจักษ์ว่ายุโรปเรากำลังสูญเสียฐานะทางศีลธรรมของเราลงไปเรื่อยๆ ในสายตาของโลกส่วนที่กำลังเจริญเติบโต”
เฉพาะกรณีสงครามอิสราเอลกับฮามาสที่กาซา เมอนาสเซอชี้ว่า :
“มีทางออกทางเดียวเท่านั้นและทุกวันนี้มันก็ฟังดูเป็นเรื่องไร้สติด้วย แต่สักวันหนึ่งมันจะถูกผลักดันออกมาอยู่หน้าสุดด้วยจิตวิญญาณของชาวโลก ได้แก่ รัฐหนึ่งเดียวร่วมกัน เป็นรัฐของชาวปาเลสไตน์ร่วมกับทั้งชาวยิว ชาวมุสลิม ชาวคริสเตียน ฯลฯ บนพื้นฐานสิทธิมนุษยชนและในฐานะสมาชิกสหภาพยุโรปด้วย
“เราควรตระหนักว่าอิสราเอลนั้นเป็นผลลัพธ์สืบเนื่องจากปัญหาของยุโรปเอง (หมายถึงปัญหาฮอโลคอสต์ หรือการฆ่าหมู่ชาวยิวในยุโรปโดยพวกนาซีสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ชาวยิวสนับสนุนการตั้งรัฐใหม่ของเชื้อชาติตนเองเพื่อป้องกันตัว) มันเป็นปัญหาที่ถูกผลักไสออกไปข้างนอก ยุโรปต้องรับเอาปัญหานั้นกลับมาและแก้ไขมัน”
สำหรับประเด็นคุณค่า/ค่านิยมร่วมกันของยุโรป เมอนาสเซอชี้ว่ามันจะเป็นเกียรติเป็นศรีแก่ยุโรปหากสหภาพยุโรป “เสนอตัวเป็นแหล่งลี้ภัยทางการเมืองให้แก่จูเลียน อัสซานจ์”
เขาย่อมหมายถึงชาวออสเตรเลียผู้ก่อตั้งกลุ่ม Wikileaks และเปิดเว็บไซต์แสดงหลักฐานเอกสารภาพวิดีโอแฉโพยอาชญากรรมสงครามของอเมริกันและอังกฤษระหว่างทำสงครามรุกรานในอิรัก ทำให้เขาเสี่ยงถูกจับส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปสหรัฐอเมริกา ที่ซึ่งเขาอาจต้องโทษถึงประหารเนื่องจากเปิดเผยความลับทางการ
(ดูข่าวล่าสุดซึ่งมีการต่อรองลดโทษปล่อยตัวกันไปแล้วใน https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/226983)
เมอนาสเซอตั้งคำถามท้าทายต่อยุโรปตบท้ายว่า :
“ยุโรปเอ๋ย ทำไมเจ้าไม่ยึดถือคุณค่าของตัวเองอย่างจริงจังเล่า? ทำไมเจ้าจึงทำเป็นตื่นตกใจที่โลกถือว่าเจ้าปลิ้นปล้อนหลอกลวงและเยาะเย้ยขวางโลก? ที อเล็กเซ นาวาลนี แกนนำฝ่ายค้านต่อปูตินในรัสเซีย เจ้ายังถือเป็นวีรชนเลย แล้วทำไมไม่แยแสสนใจจูเลียน อัสซานจ์ บ้างล่ะ? ข้าขอกล่าวโทษเจ้า!”
[อนึ่ง นาวาลนีตายลงขณะติดคุกทางภาคเหนืออันหนาวเหน็บของรัสเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ศกนี้ https://www.bbc.com/thai/articles/c6pq4ek39ndo)]
ส่วนคำสรุปจบตบท้ายวาจาร้องท้ายุโรปของเมอนาสเซอข้างต้นคือวลี “J’accuse!” ซึ่งลำเลิกถึงชื่อจดหมายเปิดผนึกที่เอมิล โซลา ปัญญาชนสาธารณะฝรั่งเศสชื่อดังเขียนถึงประธานาธิบดีเมื่อปี 1938 เพื่อปกป้องอัลเฟรด ไดรฟัส นายทหารเชื้อสายยิวผู้ถูกใส่ความว่าทรยศชาติเนื่องจากลัทธิต่อต้านยิวในกองทัพฝรั่งเศสตอนนั้น (https://www.britannica.com/topic/Jaccuse)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022