ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
ศิลปะแห่งเสื่อที่ปลดปล่อยประวัติศาสตร์อาณานิคม
ของศิลปินมาเลเซีย Yee I-Lann
ในมหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ 2024
ในตอนนี้ เราขอเล่าถึงผลงานของศิลปินอีกคนที่เราได้ชมในนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร ที่เป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า ยี่ อิ-ลาน (Yee I-Lann) ศิลปินร่วมสมัยชาวมาเลเซีย ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานภาพถ่าย, คอลลาจ, ภาพเคลื่อนไหว, งานหัตกรรมชุมชน และงานศิลปะจากวัสดุรอบตัวทั่วไป กระบวนการทำงานศิลปะของเธอเป็นการสำรวจสถานะของอำนาจ, ลัทธิอาณานิคม และลัทธิอาณานิคมใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสำรวจผลกระทบของความทรงจำทางประวัติศาสตร์ที่มีต่อประสบการณ์ทางสังคมของผู้คน
ยี่สร้างภาพที่ประกอบด้วยถ้อยคำอันซับซ้อนเปี่ยมความหมายหลายชั้น ที่อ้างอิงจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์, วัฒนธรรมป๊อป, เอกสาร, จดหมายเหตุ และวัตถุรอบตัวทั่วไปในชีวิตประจำวัน
ปัจจุบันเธออาศัยและทำงานอยู่ที่เมืองโคตาคินาบาลู รัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย
ยี่เคยจัดแสดงนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ทั่วเอเชีย, ยุโรป, สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย รวมถึงนิทรรศการแสดงเดี่ยวอย่าง Yee I-Lann: Unt
il We Hug Again (2021) ที่ Centre for Heritage Arts & Textile ในฮ่องกง, Fluid World (2011) ที่ Contemporary Art Centre of South Australia (CACSA) ในเมืองแอดิเลด ออสเตรเลีย, Yee I-Lann : 2005-2016 (2016) ที่ Ayala Museum ในกรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ เธอยังร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะ Yinchuan Biennale (2016), Asia Pacific Triennial (2015), Jakarta Biennale (2015), Singapore Biennale (2013, 2006), Fukuoka Asian Art Triennale (2009) Istanbul Biennial (2022) Gwangju Biennale (2023)
และ Bangkok Art Biennale (2022)
ในนิทรรศการครั้งนี้ ยี่ อิ-ลาน นำเสนอผลงาน Oh My Dalling (featuring Billboard and Balai Bikin) (2022) และ Budi’s Song (2024) ในรูปของวิดีโอจัดวางที่นำเสนอวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนชายฝั่งทะเลในเกาะบอร์เนียว และการสำรวจประวัติศาสตร์การเดินเรือเพื่อพลิกฟื้นความรู้ที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ ในวิดีโอยังมีเสียงขับขานบทเพลงท้องถิ่นที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนชายขอบในสังคมมาเลเซียอีกด้วย
และ Jalan-jalan cari Jalan (Walking around looking for the Way) (2024) ศิลปะจัดวางจากเสื่อที่ร่วมงานกับช่างทอเสื่อท้องถิ่นในการทำ ทิการ์ (Tikar) หรือเสื่อมาเลเซียที่ทอจากต้นเตยทะเล ผสมกับขยะพลาสติกเก็บตกที่ถูกพัดพามาเกยตื้นบนชายฝั่งของเกาะโอมาดาล เลียบทะเลซูลู-เซเลบีส ในเมืองเซมโปรนา รัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย ที่ทอดตัวสู่มหาสมุทร เชื่อมร้อยเมืองเวนิสและเกาะบอร์เนียวเข้าด้วยกัน
นับตั้งแต่ปี 2018 ยี่ทำงานร่วมกับกลุ่มช่างทอเสื่อที่อาศัยอยู่บนเกาะโอมาดาล ในเขตทะเลซูลาเวซี ทางตะวันออกเฉียงเหนือนอกเกาะบอร์เนียว ผลงานทั้งสามชุดนี้นำเสนอภาพยนตร์สารคดีและเสื่อทอมือ ที่สำรวจความเป็นภาษาและสุนทรียะผ่านการถักทอของช่างทอเสื่อและชุมชนของพวกเขา
ยี่มองเสื่อทอมือนี้ว่าเป็นภาชนะที่บรรจุเรื่องเล่า, ภาษา, สุนทรียะ และปรัชญา ตลอดจนเป็นพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้สื่อสารและแบ่งปันอำนาจซึ่งกันและกัน
ผลงานชุดนี้เป็นการร่วมงานระหว่างชุมชนช่างทอเสื่อทางทะเลอย่างชาวบาจาว (Bajau) และชาวซามาดิลัท (Sama Dilat) จากเมืองเซมโปรนา เกาะโอมาดาล ในทะเลซูลู-เซเลบีส (บางคนในชุมชนเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ) ผู้ทอเสื่อโดยใช้วัตถุดิบจากต้นเตยทะเลที่เติบโตในพื้นที่ชายฝั่งทะเล
และช่างทอเสื่อบนแผ่นดินอย่างชาวดูซุน (Dusun) และมุรุต (Murut) ในเมืองเกอนีเงา ที่เป็นศูนย์กลางของงานหัตถรรมในรัฐซาบาห์ ผู้ทอเสื่อจากไม้ไผ่ที่เติบโตในป่า
ชุมชนหัตถกรรมผู้อาศัยอยู่บนภูเขาและที่ราบชายฝั่งของเกาะบอร์เนียวเหล่านี้ มักจะมีความผูกพันกับตลาดนักท่องเที่ยวในมาเลเซีย การร่วมมือของทั้งสองชุมชนนี้ทำให้ชุมชนหมู่บ้านในทะเลบริเวณชายแดนทะเลซูลูและทะเลเซเลบส์ เปลี่ยนอาชีพจากการตกปลาเป็นการทอเสื่อ ซึ่งช่วยลดการบุกรุกพื้นที่สามเหลี่ยมปะการังที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพทางน้ำที่สุดแห่งหนึ่ง ในโลกบริบทของการร่วมมือนี้ เสื่อทอมือถูกมองว่าเป็นเวทีของความเป็นประชาธิปไตยและความเสมอภาค หรือแม้แต่ความเป็นสตรีนิยม ที่แบ่งปันประสบการณ์อันใกล้ชิด และเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตกับพิธีกรรมท้องถิ่นเข้าไว้ด้วยกัน
“ฉันถูกกระตุ้นบ่อยๆ จากข่าวสารในทุกวันนี้ ทั้งจากความสับสน, ความขุ่นเคือง, ความสงสัย และบ่อยครั้ง ฉันคิดถึงการทำงานศิลปะและกระบวนการทำงานของฉันที่มีความเรียบง่ายมากๆ จนเกือบจะเป็นผลพลอยได้ งานหลายๆ ชิ้นที่ฉันทำนั้นเกี่ยวกับการเปิดเผยแง่มุมทางประวัติศาสตร์ และการตั้งคำถามว่า อำนาจคืออะไร? และใครกันแน่ที่มีอำนาจในเรื่องเล่าของเรา?”
“ชุมชนของเราทุกชุมชนเป็นช่างทำเสื่อพื้นเมือง ผู้นั่งบนพื้น เราแนบชิดกับผืนโลก เสื่อเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำโดยผู้หญิง, ในช่วงก่อนยุคอาณานิคม เราไม่มีคำว่าโต๊ะ เพราะในภูมิภาคหมู่เกาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเราไม่เคยมีโต๊ะมาก่อน ดังนั้น ‘โต๊ะ’ ในมโนทัศน์ของฉัน จึงเป็นตัวแทนของอำนาจอาณานิคม หรือระบอบปิตาธิปไตยสุดขั้ว”
“คำว่า ‘โต๊ะ’ ในภาษามาเลย์คือ เมจา (maja) หรือในภาษาตากาล็อกของฟิลิปปินส์เรียกว่า แมซา (mesa) ที่มาจากภาษาโปรตุเกสว่า แมซา ที่แปลว่า โต๊ะ นั่นเอง”
“ในผลงานชุด Picturing Power ของฉัน ฉันถามคำถามง่ายๆ ว่า คุณจะล่าอาณานิคมบางคนได้อย่างไร ด้วยวิธีการแบบไหน? นอกจากการใช้กองทัพที่ถือปืนแล้ว เราลองนึกถึงกองทัพของโต๊ะ ซึ่งเป็นความรุนแรงของการบริหารจัดการ และความรุนแรงประเภทนี้ยิ่งมีความรุนแรงร้ายกาจยิ่งกว่าปืนเสียอีก เราอาจยิงคนด้วยปืน แต่ด้วยโต๊ะและการบริหารจัดการ เราจะสามารถบอกผู้คนว่าคุณเป็นใคร เราจะสามารถบอกคุณว่าประวัติศาสตร์ของคุณต้องเป็นแบบไหน เราจะสามารถบอกคุณว่าอะไรควรค่าที่จะเก็บเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์และอะไรไม่คู่ควร เราจะสามารถบอกคุณว่าภาษาหมายถึงอะไร ภาษาอะไรที่คุณควรใช้ ภาษาอะไรที่คุณควรเรียนรู้ อะไรเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับคุณ”
“การปลูกฝังความคิดเช่นนี้กลายเป็นความรุนแรงที่ได้รับการถ่ายทอด ส่งต่อไปเรื่อยๆ”
“ฉันมองว่าเสื่อทอมือเป็นสถาปัตยกรรมที่ดึงดูดให้ผู้คนมาชุมนุมด้วยกัน มาแบ่งปันพื้นที่ร่วมกัน ทั่วทั้งภูมิภาคนี้ ภาษาแม่ของเราต่างมีคำที่มีความหมายว่า ‘เสื่อ’ เป็นของตัวเอง ฉันคิดว่าเสื่อมีความเป็นสตรีนิยมและความเสมอภาคโดยพื้นฐาน งานของฉันคือการปลดปล่อยความเป็นอาณานิคมผ่านเสื่อเหล่านี้นี่แหละ”
เมื่อเราได้ลองนั่งลงไปบนผลงานเสื่อของยี่ อิ-ลาน ชุดนี้ ก็ทำให้เราอดรู้สึกคุ้นเคยและสบายใจอย่างน่าประหลาด อาจเป็นเพราะรากฐานทางวัฒนธรรมแต่ดั้งเดิมของเรานั้นก็เป็นวัฒนธรรมการนั่งพื้น เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน การได้สัมผัสกับพื้นผิวของเสื่อ ได้นอนเขลงทอดกายชมผลงานวิดีโอของเธอบนเสื่อผิวสัมผัสละเอียดอ่อนเย็นสบาย ก็อาจทำให้เรารู้สึกเป็นอิสระจากแอกของสำนึกแห่งความเป็นอาณานิคมที่กดทับอยู่บนบ่าของเราได้บ้าง แม้จะเพียงชั่วขณะก็ตาม
นิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร จัดแสดงในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 ณ พื้นที่แสดงงาน Palazzo Smith Mangilli Valmarana ในเมืองเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน-24 พฤศจิกายน 2567
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ทาง Facebook และ Instagram : Bkkartbiennale
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากมูลนิธิบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่, Arina Matvee และอมรินทร์ ข้อมูลสัมภาษณ์ศิลปินจาก https://shorturl.at/XxtNk
อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022