จรัญ พงษ์จีน : โรดแมปเลือกตั้งเจอโรคเลื่อน! อีกตามเคย

จรัญ พงษ์จีน

เรียกว่าพี่เขาจัดการให้ “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ” (พ.ร.ป.) หมวด “ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.” มีมติเสียงข้างมาก “ลากไป” ให้แก้ไข “มาตรา 2”

กำหนดให้ร่าง “พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง” มีผลบังคับใช้ 90 วัน ภายหลังจากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

“สิ่งที่ตามมา” โรดแม็ปเลือกตั้ง จากกำหนดเดิมซึ่งคาดว่าน่าจะลงตัวเรียบร้อยในปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 ต้องเลื่อนโปรแกรมออกไป เป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อย่างน้อยๆ ซึ่งจะลงตามล็อก 3 เดือน กรณีที่ไม่มี “เงื่อนไขอื่น” มาเป็นอุปสรรคต่อไปอีก

“เหมือนเคย” โรดแม็ปว่าด้วยศึกเลือกตั้ง เจอ “โรคเลื่อน” มาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้ว ล่าสุด คิดว่าน่าจะสะเด็ดเสียสักที เพราะ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้า คสช. และนายกฯ ประกาศเจตนารมณ์เสียงดังฟังชัด ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อกลางตุลาคม 2560 จำได้มั้ย “บิ๊กตู่” ลั่นว่า

“เพื่อผ่อนคลายในสิ่งที่จำเป็น โดยยืนยันว่า ไม่ต้องการหน่วงเวลาอะไรทั้งสิ้น ในส่วนนี้พูดได้ว่า ประมาณเดือนมิถุนายน 2561 จะมีการประกาศวันเลือกตั้ง และในเดือนพฤศจิกายนจะมีการเลือกตั้ง วันนี้มีความชัดเจนมากขึ้น ขอให้ทุกคน นักการเมือง พรรคการเมือง อยู่ในความสงบ”

ผู้สื่อข่าวถามย้ำเพื่อความชัวร์ชัดในวันนั้นว่า จะประกาศวันเลือกตั้งประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 ยืนยันใช่มั้ย “พล.อ.ประยุทธ์” เฟิร์มเสียงเข้ม เหมือนกำลังปีนป่ายภูเขาสูงชัน ย้ำอีกครั้ง “ใช่ ก็ผมบอกแล้วไงว่า จะเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561”

สอดรับกับเมื่อโฟกัสไปยังขบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนที่ “บิ๊กตู่” จะลั่นดานก่อนหน้าวันสองวัน เมื่อ “พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ” หรือ “กฎหมายลูก” หมวดที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ ขับเคลื่อนเสร็จสมบูรณ์ไปเป็นที่เรียบร้อย

คือ “พ.ร.ป.พรรคการเมือง” ประกาศใช้ จี้ติดตูด “พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือ “กกต.” แห่นาคตามหลังกันไป เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2560

เหลือแค่ 2 ฉบับ คือ “พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.” กับ “พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว.” ซึ่งดังที่รับทราบว่า “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” หรือ “สนช.” เล่นเสียว ด้วยการลงมติรับหลักการ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 ก่อนจะแปรสภาพเป็น “นมบูด” ครบกำหนด 240 วันไปแค่คืนเดียว เป็นการผ่านฉลุยแค่เส้นยาแดงผ่าแปด

แต่แล้วมีเรื่องสนุกเกิดขึ้นกับโรดแม็ปเลือกตั้ง ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ลั่นสัจวาจาไว้ เข้าใจได้ ด้วยฝีไม้ลายมืออันท่วมท้นล้นเหลือของ “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ”

เป็น “กมธ.” เสียงข้างมาก ลากไปช่วยกันทำเรื่องให้ปวดหัว แก้ไข “มาตรา 2” กำหนดให้กฎหมายลูก หมวดว่าด้วยการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ 90 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งทำให้โปรแกรมเลือกตั้ง ต้องข้ามห้วยไปยังพุทธศักราช 2562 ช่วงต้นปี เลื่อนจากกำหนดเดิมไปอีก 3 เดือน

ต่อวีซ่าให้ “คสช.” อยู่ในศูนย์อำนาจแบบมาราธอนเฉียด 5 ปีเต็ม ซึ่งตรงกันข้ามกับอำนาจทางตรงที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนพลเมืองอย่างสิ้นเชิง

 

ยํ้าอีกครั้งว่า ผู้ที่ร่วมด้วยช่วยกันให้ศึกเลือกตั้งต้องดราม่าออกไปอีก 3 เดือน “ดับฝัน” นักเลือกตั้งมืออาชีพแบบไม่ไว้หน้า ดังที่ทราบคือ “กมธ.” เสียงข้างมาก

ทีนี้ ตามไปดูรายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. … เต็มคณะประกอบด้วย

1. “นายวิทยา ผิวผ่อง” ประธานคณะกรรมาธิการ 2. “นายบัญญัติ จันทน์เสนะ” รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ คนที่ 1 3. “นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์” รองประธาน กมธ. คนที่ 2 4. “นายประพันธ์ นัยโกวิท” รองประธาน กมธ. คนที่ 3 5. “นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์” รองประธาน คนที่ 4 6. “นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน” เป็นโฆษก กมธ.

7. “นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ” 8. “พล.อ.จีระศักดิ์ ชมประสพ” 9. “พล.ร.อ.ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร” 10. “นายปรีชา บัววิรัตน์เลิศ” 11. “พล.อ.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล” 12. “พล.อ.อ.สุรศักดิ์ ทุ่งทอง” 13. “นายอนุมัติ อาหมัด” 14. “พล.ต.ท.วิบูลย์ บางท่าไม้”

15. “พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร” 16. “นายชาญวิทย์ วสยางกูร” 17. “นายธานี อ่อนละเอียด” 18. “พล.อ.ศุภวุฒิ อุตมะ” 19. “พล.อ.องอาจ พงษ์ศักดิ์” 20. “นายเสรี สุวรรณภานนท์” 21. “นายสกุล สื่อทรงธรรม” 22. “นายวันชัย สอนศิริ” 23. “นายอัชพร จารุจินดา” 24. “ดร.เจษฏ์ โทณะวณิก” 25. “พล.อ.อัฏฐพร เจริญพานิช” 26. “นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง” 27. “นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล” เป็นกรรมการ

โดยมี “พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ” เป็นประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญ “พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์-พล.อ.อ.ชนัท รัตนอุบล-พล.ร.อ.นพดล โชคระดา-นายมหรรณพ เดชวิทักษ์” เป็นที่ปรึกษา

ส่วนใครจะเป็น “เสียงข้างมาก” ลากไป ให้โปรแกรมเลือกตั้งขยับออกไป “ขยายฝัน” ของคนการเมือง ให้วูบต่อไปอีก 3 เดือนเป็นอย่างต่ำ ก็โปรดใช้วิจารณญาณกันเอาเอง

อย่างไรก็ตาม “กมธ.” เสียงข้างมาก ออกมาย้ำหัวตะปูว่า 3 เดือนก็บุญถมไปแล้ว “พระไม่ว่าแน่” เนื่องจากในการประชุม “กมธ.” บางคน ได้สงวนคำแปรญัตติ เสนอให้ปรับแก้เป็นข้อบังคับใช้ หลักจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน บางคนเห็นด้วย 180 วันหรือ 6 เดือน

ทั้งนี้ทั้งนั้น ความดีงามเพื่อไม่ให้พรรคการเมืองต้องปวดขมับ สามารถจัดการเรื่องราวต่างๆ ได้ทัน ทั้งการดำเนินการจัดหาสมาชิกพรรค ทุนประเดิมของพรรค และอื่นๆ อีกจิปาถะ

สรุปกันแบบชัดๆ การเลื่อนโปรแกรมออกไปอีก 90 วันนั้นน่ะเนื้อแท้แล้วเป็นการช่วยพรรคการเมือง ได้มีเวลาทำงานได้สะดวก สบายขึ้น

“เข้าใจมั้ย”