วัตถุมงคลพระกริ่งอรหัง หลวงปู่แคล้ว สุมุตโต พระเกจิลุ่มน้ำแม่กลอง

“พระเทพเมธากร” หรือ “หลวงปู่แคล้ว สุมุตโต” อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาชัยคล้ายนิมิตร ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร พระเกจิผู้ทรงวิทยาคมเข้มขลังลุ่มน้ำแม่กลอง

จัดสร้างวัตถุมงคลต่างๆ ล้วนโดดเด่นเป็นเอกทั้งสิ้น โดยเฉพาะ “พระกริ่งอรหัง” ซึ่งปัจจุบันหาเช่าบูชาได้ยากยิ่ง

พระกริ่งอรหัง รุ่นแรก สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2516 ที่ระลึกในงานฉลองอายุวัฒนมงคลครบ 6 รอบ

ลักษณะเป็นพระกริ่งหล่อโบราณ แกะพิมพ์โดยนายช่างเกษม มงคลเจริญ ช่างแกะพระกริ่งชื่อดัง สร้างด้วยเนื้อนวโลหะเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น

ด้านหน้า มีรูปจำลองพระพุทธปางสมาธิบนฐานเขียง องค์พระห่มจีวรลดไหล่ ที่ฐานเขียงมีอักขระยันต์อ่านว่า “อรหัง”

ด้านหลัง ที่ฐานเขียงมีอักขระยันต์อ่านว่า “สุมุตโต” ใต้ฐานเรียบตอกโค้ด “ส.”

เป็นอีกวัตถุมงคลที่ได้รับความศรัทธาเชื่อมั่น

พระกริ่งอรหัง หลวงปู่แคล้ว

อัตโนประวัติมีนามเดิมว่า แคล้ว สุพรรณ เกิดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2444 เป็นชาวบ้านหมู่ที่ 5 ต.โคกคราม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี บิดา-มารดาชื่อ นายเพิก และนางตุ๊กตา สุพรรณ

ในวัยเด็กเป็นเด็กที่ฉลาดกว่าเด็กทั่วไป บิดาจึงนำไปฝากไว้กับพระอาจารย์แก้ว วัดสวนหงษ์ ผู้เป็นลุง เพื่อศึกษาเล่าเรียนในสำนักวัดสวนหงษ์ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี จนอ่านออกเขียนได้ และบรรพชาที่วัดแห่งนี้

ขณะที่มีอายุ 20 ปี ได้มาเรียนต่อที่วัดเสน่หา เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งนักธรรมและบาลี

อายุครบ 21 ปี จึงเข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2465 ณ พัทธสีมาวัดเสน่หา ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม

ได้รับฉายาว่า สุมุตโต โดยมี พระธรรมไตรโลกาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสังวรกิจ (อาจ ชุตินธโร) วัดเสน่หา เป็นพระกรรมวาจาจารย์

อยู่จำพรรษาที่วัดเสน่หาเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม และสวดมนต์บทต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล้ว

หลังจากที่อยู่จำพรรษาที่วัดเสน่หา 5 พรรษา จึงย้ายไปจำพรรษาที่วัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมบาลีต่อ จนสอบได้เปรียญ

พ.ศ.2480 ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดใหม่ หรือ วัดมหาชัยคล้ายนิมิตร ว่างลง คณะสงฆ์จึงมีคำสั่งให้มารักษาการเจ้าอาวาส และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2480

หลังจากขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัด มุ่งมั่นพัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

 

วัดมหาชัยคล้ายนิมิตร เดิมชื่อ วัดใหม่ สร้างเมื่อปี พ.ศ.2434 โดยหม่อมคล้าย บุนนาค ชายาในสมเด็จเจ้าพระยาบรมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ได้บริจาคที่ดินหมู่บ้านสนามไชยเพื่อสร้างวัด และได้บริจาคทรัพย์ก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ

ในปี พ.ศ.2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ ยังจังหวัดสมุทรสาคร โดยรถไฟสายคลองสาน-มหาชัย เพื่อเยี่ยมราษฎร

จากเอกสารสำคัญในสำนักราชเลขาธิการ คือ หนังสือประมวลพระบรมฉายาลักษณ์ ของ ร.8 ที่มีชื่อว่าอัฐมหาราชานุสรณ์ พิมพ์พระราชทานในงานพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งมีภาพในการเสด็จครั้งนั้น รวม 7 ภาพ เป็นหลักฐานว่า พระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎรเมืองสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2489 เป็นการเสด็จส่วนพระองค์ มิได้มีหมายกำหนดการเป็นหลักฐานทางราชการแต่ประการใด

ตามบันทึกกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และสมเด็จพระอนุชาเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยข้าราชบริพารประมาณ 20 คน เสด็จโดยรถไฟขบวนพิเศษเป็นราชพาหนะ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2489 พระสมุทรคุณากร เจ้าคณะจังหวัด เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ สวดชยันโต ถวายพระพรเป็นคำรบแรก

หลังทรงมีพระราชปฏิสันถารกับผู้ที่คอยเฝ้าฯ รับเสด็จเพียงเล็กน้อยแล้ว พระสมุทรคุณากร จึงได้นำเสด็จไปนมัสการพระประธานในพระอุโบสถวัดมหาชัยคล้ายนิมิตร ซึ่งขณะนั้นพระมหาแคล้ว สุมุตโต เจ้าอาวาสได้เตรียมการรับเสด็จไว้พร้อมแล้ว การเสด็จต้องพระราชดำเนินด้วยพระบาทโดยตลอด เพราะมีถนนอยู่สายเดียว จะมีรถสามล้อเพียงไม่กี่คัน และพระองค์ก็ไม่มีพระประสงค์จะเสด็จโดยรถสามล้อ

หลวงปู่แคล้ว สุมุตโต

ทางวัดได้จัดปูลาดพระบาทตั้งแต่ประตูทางเข้าวัดจนถึงประตูพระอุโบสถ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระอนุชา เข้านมัสการพระประธานแล้ว ก่อนจะเสด็จออกจากพระอุโบสถได้ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์บำรุงวัดจำนวน 200 บาท

เงินจำนวนนี้ ทางวัดพิจารณาเห็นว่าเป็นพระราชทรัพย์ที่มีคุณค่าเป็นอเนกประการ ไม่ควรจะนำไปจับจ่ายใช้สอยให้สิ้นเปลือง จึงได้นำไปสมทบทุนมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเป็นเงินบำรุงการศึกษาปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณรมาจนทุกวันนี้ จากนั้นทั้งสองพระองค์ได้เสด็จทางชลมารคไปฝั่งท่าฉลอม และเสด็จกลับโดยรถไฟขบวนพิเศษ พระสงฆ์สวดชยันโตถวายพระพรส่งเสด็จอีกคำรบหนึ่ง

 

ลำดับงานปกครอง

พ.ศ.2488 เป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองมหาชัย

พ.ศ.2495 เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2490 เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่พระครูพิสณฑวินัยกิจ

พ.ศ.2496 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระพิสณฑวินัยกิจ เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร ฝ่ายธรรมยุต

พ.ศ.2498 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะที่พระเทพเมธากร

ทำนุบำรุงวัดมหาชัยคล้ายนิมิตรจนรุ่งเรือง เป็นพระที่สมถะ มีวัตรปฏิบัติเรียบง่าย

ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2540 เวลา 04.45 น. สิริอายุ 96 ปี พรรษา 75 •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]