ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | Multiverse |
ผู้เขียน | ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ |
เผยแพร่ |
Multiverse | บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
เส้นทางชีวิต Nikola Tesla (จบ)
ความเดิม : ระบบไฟฟ้ากระแสสลับของเทสลาและเวสติ้งเฮาส์มีชัยชนะเหนือระบบไฟฟ้ากระแสตรงของเอดิสัน เพราะได้รับเลือกใช้ในงานใหญ่ระดับโลก 2 งาน ได้แก่ World’s Columbian Exposition และการผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำตกไนแอการา ชัยชนะยิ่งใหญ่นี้ส่งผลให้เทสลามีชื่อเสียงโด่งดัง มาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้นครับ
อายุ 42 ปี : เทสลาสาธิตการควบคุมเรือด้วยคลื่นวิทยุที่ Madison Square Garden สร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้าชม นี่คือการสาธิตการควบคุมแบบไร้สายเป็นครั้งแรก ชื่อเสียงของเขาโด่งดังถึงขีดสุด ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เขาได้รับสิทธิบัตรเกี่ยวกับการสื่อสารไร้สายจำนวน 17 ฉบับ
อายุ 43 ปี : วันที่ 27 มีนาคม ค.ศ.1899 มาร์โคนีได้ส่งสัญญาณแบบไร้สายข้ามช่องแคบอังกฤษ เทสลาเชื่อว่ามาร์โคนีใช้วิธีการจากสิทธิบัตรเกี่ยวกับการสื่อสารไร้สายของเขา จึงรู้สึกไม่พอใจอย่างยิ่ง
อายุ 44 ปี : เจ พี มอร์แกน เสนอเงินจำนวน 150,000 ดอลลาร์ เพื่อให้เทสลาพัฒนาระบบสื่อสารไร้สายโดยมุ่งเน้นไปที่วิทยุเพียงอย่างเดียว ในช่วงเวลาเดียวกันนี้มาร์โคนีได้ก่อตั้ง American Marconi Company (RCA) ขึ้น
อายุ 45 ปี : เริ่มการก่อสร้างหอส่งสัญญาณวอร์เดนคลิฟฟ์ (Wardenclyffe Tower) เพื่อส่งคลื่นหลายความถี่ หอคอยนี้สูง 187 ฟุต ส่วนบนเป็นรูปครึ่งทรงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 68 ฟุต
อายุ 46 ปี : มาร์โคนีส่งสัญญาณตัวอักษร “S” ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกจาก เมืองคอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ ไปยังนิวฟาวด์แลนด์ โดยใช้แนวคิดที่อยู่ในสิทธิบัตรของเทสลา เทสลาจึงเร่งกดดันให้จอร์จ เชอริฟฟ์ ช่วยดำเนินคดีฟ้องร้อง
อายุ 47 ปี : เจ พี มอร์แกน ไม่ได้มอบเงินให้เทสลาครบจำนวนตามที่ตกลงกันเอาไว้
อายุ 48 ปี : สิทธิบัตรของเทสลาจะหมดอายุในอีกราว 1 ปี เทสลาเริ่มไม่มีเงินทุนเพื่อสร้างหอส่งสัญญาณวอร์เดนคลิฟฟ์
อายุ 49 ปี : เทสลาไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างคนงาน และดูเหมือนอาการย้ำคิดย้ำทำกลับมากำเริบอีกครั้ง
อายุ 50 ปี : เทสลายื่นฟ้องต่อศาลว่า American Marconi Company (RCA) ละเมิดสิทธิบัตร
อายุ 51 ปี : เพื่อหาเงินทุนมาสร้างหอส่งสัญญาณวอร์เดนคลิฟฟ์ เทสลาจึงเริ่มงานประดิษฐ์ชิ้นอื่น เช่น ระบบขับเคลื่อน
อายุ 56 ปี : มาร์โคนีได้รับรางวัลโนเบลในปี ค.ศ.1911 ทำให้เทสลาไม่พอใจอย่างยิ่ง
อายุ 57 ปี : เทสลาได้รับสิทธิบัตรเกี่ยวกับเทอร์ไบน์ไร้ใบพัด (มีผู้ตีความว่านี่คือสิ่งประดิษฐ์ที่พัฒนามาจากกังหันน้ำที่เขาสร้างขึ้นในวัยเด็กราว 5-6 ขวบนั่นเอง)
อายุ 58 ปี : เทสลาย้ายสำนักงานจาก Metropolitan Tower ไปยัง Woolworth Building ซึ่งเป็นตึกที่สูงที่สุดในโลกในขณะนั้น แต่ด้วยสภาวะการเงินที่ย่ำแย่ ในที่สุดเขาต้องย้ายออกจากตึกดังกล่าว ในช่วงเวลานี้ จอร์จ เวสติ้งเฮาส์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ.1914
อายุ 59 ปี : เทสลายอมนั่งเป็นแบบเพื่อให้ถ่ายภาพ ที่ว่า “ยอม” เพราะเขาถือเรื่องโชคลาง ภาพนี้ต่อมาเรียกว่า “Blue Portrait” เพราะใช้แสงสีน้ำเงินส่องลงมาเหนือศีรษะ
อายุ 61 ปี : หอวอร์เดนคลิฟฟ์ถูกรื้อถอนทำลาย มีคำอธิบายแตกต่างกัน 2 อย่าง คือ (1) หอนี้ถูกรื้อถอนเพื่อนำโลหะไปขายใช้หนี้ที่เทสลาติดค้างค่าเช่าโรงแรม หรือ (2) หอนี้ถูกทางการทำลายเพราะสงสัยว่ามีสายลับเยอรมันใช้งาน
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ American Institute of Electrical Engineers (AIEE) ต้องการมอบรางวัล The Edison Medal ให้แก่เทสลา ตอนแรกเขาไม่ยอมรับโดยแอบหลบไปเลี้ยงนกพิราบใกล้ๆ ห้องสมุด (ใครเล่าจะอยากรับรางวัลที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่คู่กัดจอมปลิ้นปล้อน?) แต่ในที่สุดเทสลาก็ยอมมารับรางวัลนี้และกล่าวสุนทรพจน์
น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ตามปกติเทสลาจะกลัวเรื่องการติดเชื้อโรคมาก ถึงขนาดใส่ถุงมือเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่นโดยตรง แต่เขากลับอยู่ใกล้ชิดท่ามกลางนกพิราบ (ซึ่งไม่สะอาดนัก) เทสลาให้ความรักต่อนกพิราบเหล่านี้มากถึงขนาดที่ว่า เวลาตนเองไม่สบาย กลับสั่งให้ผู้ช่วยในห้องแล็บไปช่วยดูแลนกพิราบที่บาดเจ็บแทน โดยบอกวิธีการดูแลอย่างละเอียด
อายุ 67 ปี : เทสลาเลือกที่พักเป็นโรงแรม St. Regis ซึ่งเป็นโรงแรมที่แพงที่สุด อัตราคืนละ 15 ดอลลาร์ ซึ่งนับว่าแพงมากในสมัยนั้น แต่ต่อมาไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า จึงย้ายไปพักที่โรงแรมหรูอีกแห่งคือ Hotel Marguery
อายุ 70 ปี : เทสลาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากสถาบัน 2 แห่ง ได้แก่ Faculty of Engineering, University of Belgrade และ University of Zagreb
อายุ 74 ปี : เทสลาถูกไล่ออกจาก Hotel Pennsylvania เนื่องจากค้างชำระค่าเช่าราว 2,000 ดอลลาร์ และแขกคนอื่นๆ ในโรงแรมร้องเรียนเกี่ยวกับมูลสัตว์ที่มาจากสัตว์เลี้ยงของเขา เพื่อนของเขาคือ บี เอ เบเบรนด์ ช่วยปลดหนี้ ต่อมาเทสลาได้ย้ายไปที่ Hotel Governer Clinto
อายุ 75 ปี : นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ TIME ฉบับวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ.1931 ลงภาพเทสลาบนปก ในเล่มมีบทความชื่อ “Nikola Tesla at 75” (หากสนใจอ่าน อาจค้นเว็บด้วยชื่อบทความ หรือไปที่ https://teslauniverse.com/nikola-tesla/articles/nikola-tesla-75)
อายุ 76 ปี : เทสลาให้สัมภาษณ์ New York Herald Tribune ฉบับวันที่ 11 กันยายน ค.ศ.1932 ว่าตนเองไม่เชื่อเรื่องอวกาศโค้งตามทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์
ในวาระอื่นๆ เขายังแสดงความคิดเห็นต่อต้านทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ในแง่มุมอื่นๆ เช่น ไม่เชื่อว่ามวลเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ และเชื่อว่าไม่มีทฤษฎีใดๆ ที่สามารถอธิบายการทำงานของเอกภพได้โดยไม่อ้างถึงการมีอยู่จริงของอีเทอร์
อายุ 78 ปี : ทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับ Westinghouse Corporation โดยมีค่าตอบแทน 125 ดอลลาร์ต่อเดือน ทั้งนี้ บริษัทช่วยออกค่าเช่าที่พักและค่าใช้จ่ายต่างๆ ทำให้เทสลาหมดปัญหาเรื่องไม่มีเงินจ่ายค่าที่พักนับแต่นี้ไป หลังเซ็นสัญญาเขาย้ายเข้าไปพักที่ New Yorker Hotel ห้องหมายเลข 3327 เมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.ศ.1934 (สังเกตว่าหมายเลขห้องหารด้วย 3 ลงตัว อันเป็นตัวเลขที่เขาผูกพันอย่างยิ่ง)
อายุ 81 ปี : ประสบอุบัติเหตุถูกรถแท็กซี่ชนระหว่างกลับบ้าน หลังจากนั้นสุขภาพก็ไม่ดีขึ้นอีกเลย เขามีปัญหาเกี่ยวกับปอดและหัวใจ มักปฏิเสธการรักษาโดยแพทย์ อาการกลัวเชื้อโรคเป็นหนักขึ้น และไม่อยากให้ใครเข้ามาใกล้ๆ
อายุ 82 ปี : เทสลาออกไปเลี้ยงนกพิราบพร้อมกับโรเบิร์ต จอห์นสัน ถึงตอนนี้ผู้คนส่วนใหญ่จดจำเทสลาไม่ได้แล้ว เขาขอร้องให้จอห์นสันช่วยดูและนกพิราบเหล่านี้หากตัวเขาเป็นอะไรไป
อายุ 86 ปี : เทสลาเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในห้องพักโรงแรม New Yorker Hotel เมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ.1943 หรือ พ.ศ.2486 (ตรงกับรัชสมัย ร.8) ปัจจุบันมีแผ่นป้ายระบุว่าเทสลาเสียชีวิต ณ ที่โรงแรมแห่งนี้
ในปี ค.ศ.1960 ได้มีการประกาศให้คำว่า ‘Tesla’ เป็นชื่อหน่วยวัดความเข้มสนามแม่เหล็ก และในปี ค.ศ.2003 บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำ Tesla Motors (ต่อมาเปลี่ยนเป็น Tesla, Inc.) ได้นำชื่อของเขามาใช้เพื่อเป็นเกียรติแก่วิศวกรนักประดิษฐ์ผู้ปราดเปรื่องผู้นี้
เมื่อใดก็ตามที่คุณผู้อ่านเปิดสวิตช์อุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ หรือเห็นสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ก็อาจนึกถึงเขา – นิโคลา เทสลา – ผู้ทำให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายในเวลานี้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022