ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ |
เผยแพร่ |
เริ่มศักราชใหม่ พ.ศ.2487 ขณะที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม กำลังถูกรุมเร้าจากปัญหาการเมืองในประเทศและโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้นไปอีก ผู้ให้การสนับสนุนต่างลดน้อยถอยลงตามลำดับ สถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายสัมพันธมิตรก็กำลังได้เปรียบทั้งในยุโรปและแปซิฟิก ทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยเริ่มหวาดระแวงรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ขณะเดียวกันก็พยายามหาทางกำจัดขบวนการเสรีไทยอย่างเต็มที่
จอมพล ป.พิบูลสงคราม ตระหนักแล้วว่าญี่ปุ่นซึ่งตนนำประเทศเข้าเป็นพันธมิตรทางการทหารจะต้องแพ้สงครามในที่สุด จึงพยายามหาทางออกจากวิกฤตที่ใกล้เข้ามาทุกขณะ
จอมพล ป.พิบูลสงคราม
ในทัศนะขุนศรีศรากร
วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2487 พ.ต.ท.ขุนศรีศรากร ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล ผู้ใกล้ชิดเป็นพิเศษของจอมพล ป.พิบูลสงคราม มายาวนาน ได้ทำรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรถึงอธิบดีกรมตำรวจ หลวงอดุลเดชจรัส ผู้บังคับบัญชาโดยตรงและสหายสนิทของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งสามารถสะท้อนพฤติการณ์ที่ทำให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม ต้องโดดเดี่ยวทั้งจากผู้ร่วมปฏิบัติงานและมิตรสหายที่ใกล้ชิดในลักษณะต่างๆ รวมทั้งประชาชนทั่วไป โดยบันทึกไว้ใน “สันติบาลใต้ดิน” ดังนี้…
“ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นผู้บังคับการตำรวจสันติบาล ย่อมมีความเคารพต่อรัฐบาลทุกรัฐบาล แต่กระแสข่าวต่างๆ ซึ่งได้มาตามความจริงย่อมกระทำให้ผู้บังคับการตำรวจสันติบาลมีความเป็นห่วงและระทมทุกข์เป็นอันมาก ถ้าจะนิ่งไว้ไม่รายงาน ข้าพเจ้าก็มีแต่ความระทมทุกข์ และถ้ามีเหตุการณ์ไม่ดีบังเกิดขึ้นแก่ประเทศไทยแล้ว ผู้บังคับการตำรวจสันติบาลจะถูกตำหนิอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่มีช่องทางจะแก้ตัวได้”
“ในความจำเป็นดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้าจึงต้องรายงานข้อร้ายต่างๆ ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันนี้ได้ถูกตำหนิจากประชาชน”
ข้อร้ายที่สำคัญซึ่งประชาชนตำหนิรัฐบาลชุดนี้มีอยู่ 7 ประการ กล่าวคือ
1. ชอบเลี้ยงคนโกง ข่าวที่ชินหูประชาชนในขณะนี้ก็คือข่าวที่กล่าวกันว่ารัฐบาลชอบเลี้ยงคนโกง ที่มองเห็นง่ายๆ เช่นในคณะรัฐมนตรี เป็นต้น ในคณะรัฐมนตรีมีคนไม่กี่คน แต่ได้มีคนโกงเงินแผ่นดินขึ้นแล้วถึง 2 คน มีนายเจียม อทึกเทวเดช กับ นายวนิช ปาณะนนท์ คนโกง 2 คนนี้ได้ประจักษ์แก่ประชาชนแล้ว แต่รัฐบาลชุดนี้ก็ยังทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ทั้งนี้เพราะรัฐบาลชุดนี้ชอบเลี้ยงคนโกง รัฐบาลนี้จึงไม่เอาใจใส่ในข้อเสียหายแต่อย่างใดเลย รัฐบาลชุดนี้คงนั่งนิ่งเฉยอยู่
2. ไม่เอาใจใส่ต่อรัฐธรรมนูญ รัฐบาลชุดนี้ชอบออกพระราชกำหนดซึ่งในสมัยประชุมสภาไม่ทำเป็นพระราชบัญญัติเพื่อขอผ่านทางสภา ชอบเลี่ยงไปออกพระราชกำหนดในเวลาที่สภาผู้แทนราษฎรไม่อยู่ในสมัยประชุม
ในเวลาสมัยประชุมสภานั้น รัฐบาลชุดนี้ก็แสดงความไม่เอาใจใส่อยู่มาก เช่น นายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เดินทางไปอยู่เสียที่โคกกระเทียม รัฐมนตรีมหาดไทย (หลวงพรหมโยธี) ออกไปตรวจราชการและชมการรำโทนที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น
ทั้งนี้ เป็นการแสดงท่วงทีว่าไม่เอาใจใส่ต่อสภาผู้แทนฯ ซึ่งเขากำลังประชุมกันอยู่ กฎหมายที่ออกใช้โดยไม่ผ่านสภานั้น เมื่อนำมาให้สภารับความเห็นชอบ ทางสภาผู้แทนฯ ก็ไม่เห็นชอบด้วย เมื่อกฎหมายตกไปแล้วซึ่งหมายความว่ารัฐบาลได้แพ้แล้วเช่นนั้นก็ตาม รัฐบาลชุดนี้ก็หาเอาใจใส่ต่อการพ่ายแพ้นี้ไม่ เรื่องนี้ประชาชนได้ตำหนิรัฐบาลชุดนี้อย่างรุนแรง
3. รัฐมนตรี 3 นายในคณะรัฐมนตรีชุดนี้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอยู่ 3 กระทรวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทั้ง 3 นายนี้มีสมรรถภาพหย่อนมาก ข้าราชการในกระทรวงนั้นๆ ส่วนมากไม่เลื่อมใส หมดความยำเกรง เพราะการปกครองก็ดี การบริหารการก็ดี อยู่ในระดับที่ต่ำมาก กระทรวงทั้ง 3 ที่กล่าวนี้คือ มหาดไทย (หลวงพรหมโยธี) ศึกษาธิการ (นายประยูร ภมรมนตรี) คมนาคม (หลวงเสรีเริงฤทธิ์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทั้ง 3 นี้ ข้าราชการส่วนมากในกระทรวงนั้นไม่เคารพนับถือ เนื่องจากการปกครองและมีวิธีบริหาร เขาไม่เอาใจใส่ต่อผู้ใต้บังคับบัญชาที่หากินในทางทุจริต ซึ่งประชาชนเข้าใจผิดว่ารัฐบาลชุดนี้ทราบเรื่องนี้ดี แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่เอาใจใส่เอง ประชาชนจึงตำหนิรัฐบาลชุดนี้เป็นอย่างมาก
4.ทหารหญิง เรื่องทหารหญิงนี้ ข้าพเจ้าเคยคัดค้านด้วยวาจาต่อนายกรัฐมนตรี (จอมพล ป.) มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง และในครั้งสุดท้าย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ตอบแก่ข้าพเจ้าว่า ‘ขุนศรีไม่น่าจะอิจฉาผู้หญิงซึ่งเป็นมารดาตนเอง’ คำตอบของจอมพล ป.นี้ข้าพเจ้าถือว่าเป็นคำตอบที่ด่าข้าพเจ้าโดยทางอ้อมและเป็นคำด่าที่รุนแรง จึงในต่อๆ มา ข้าพเจ้ามิได้คัดค้านอย่างใดอีกเลย แต่บัดนี้เป็นเรื่องน่าเสียใจมาก เพราะเรื่องทหารหญิงนี้ได้เป็นชนวนก่อความไม่พึงพอใจให้แก่วงราชการซึ่งมีทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจ เป็นต้น
เขาเสียใจและน้อยเนื้อต่ำใจที่ทหารหญิงได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าทหารชาย ทหารหญิงไม่เคยไปเหนื่อยยากในสนามรบ แต่กลับได้รับสิทธิมากกว่าสถานการณ์ผู้ได้รับความลำบากกรากกรำและเหนื่อยยาก ข้าพเจ้ารับรองว่าได้บังเกิดความเสียใจขึ้นในวงราชการทหารแล้ว จนที่สุดมีพลทหารและนายสิบเริ่มไม่ทำความเคารพนายทหารหญิงแล้ว เรื่องนี้ไม่มีใครกล้ากล่าวความจริงแก่จอมพล ป.พิบูลสงคราม คงจะมีคนทราบบ้างว่า ผู้นำความจริงไปกล่าวนั้น เขาได้ถูกด่าอย่างรุนแรงกลับมา ในเรื่องนายทหารหญิงนี้ประชาชนได้ตำหนิรัฐบาลชุดนี้อย่างแรง
5. หนังสือสงคราม ได้มีผู้พิมพ์หนังสือขึ้นฉบับหนึ่งปกสีดำมีชื่อว่า ‘สงคราม’ หนังสือสงครามนี้ได้ถูกแจกไปตามกองพันทหารต่างๆ ตลอดทั้งกองทัพบกและทัพอากาศ ทางกองทัพบกได้รับแจกแล้ว พันเอกหลวงจุลยุทธยรรยงได้นำไปให้ข้าพเจ้าที่สันติบาล หนังสือสงครามนั้นมีข้อความปลุกปั่นให้กองทัพบก เรือและอากาศเสียสมรรถภาพ ทำให้ทหารขวัญเสียและโน้มไปทางหย่อนวินัย ใจความสำคัญมีการด่าจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในข้อหาต่างๆ อย่างรุนแรง ทั้งนี้เนื่องจากความไม่พึงพอใจของประชาชน จนถึงกับมีคนบางพวกไม่สามารถจะทนนิ่งอยู่ได้ หนังสือสงครามมีข้อความอย่างไรบ้าง ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านอธิบดีกรมตำรวจได้อ่านตลอดแล้วเพราะข้าพเจ้าได้เสนอมาก่อนรายงานนี้
หนังสือสงครามเป็นพยานที่แสดงว่าประชาชนไม่พึงพอใจในตัวจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงถูกกล่าวข้อหาอย่างรุนแรง
6.ชอบใช้อำนาจยิ่งกว่าราชาธิปไตย ประชาชนตำหนิรัฐบาลชุดนี้ว่าเป็นรัฐบาลที่ชอบใช้อำนาจยิ่งกว่ารัฐบาลในระบอบราชาธิปไตย เช่น บังคับประชาชนให้สวมรองเท้า สวมหมวก เป็นการบังคับให้ประชาชนแต่งตัวในยามที่ประเทศกำลังขาดแคลนเครื่องแต่งตัวในยามสงคราม มีการบังคับให้นุ่งกระโปรงและนุ่งถุง เป็นต้น
การบังคับในเรื่องส่วนตัวของราษฎรเช่นนี้ทำให้ประชาราษฎรตำหนิรัฐบาลชุดนี้อย่างแรงและเป็นข่าวที่คงอยู่จนบัดนี้ นอกจากนี้ รัฐบาล จอมพล ป.ยังได้บังคับให้ราษฎรเลิกกินหมาก ที่สุดสั่งทำลายต้นหมากและทำลายสวนพลูซึ่งเป็นอาชีพอันสุจริตของราษฎร ในรัฐบาลระบอบประชาธิปไตยเขาไม่เคยบังคับราษฎรรุนแรงอย่างนี้ จอมพล ป.ชอบใช้อำนาจยิ่งกว่าราชาธิปไตย จอมพล ป.ซึ่งทำให้ชีวิตแห่งประชาธิปไตยเสื่อมเสียอย่างยิ่ง ฉะนั้น ประชาชนจึงตำหนิรัฐบาลชุดนี้อย่างรุนแรง
7. การเกณฑ์แรงงาน รัฐบาลชุดนี้สั่งบังคับเกณฑ์แรงงานราษฎร (เพื่อสร้างเมืองหลวงใหม่ที่เพชรบูรณ์/บัญชร) ผลที่ได้รับจากการเกณฑ์แรงงานครั้งนี้ทำให้ราษฎรเดือดร้อนอย่างยิ่ง ราษฎรที่ถูกเกณฑ์ได้รับความลำบากกรากกรำและเจ็บป่วยมาก ในที่สุดได้ล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพราะผู้ปฏิบัติการเลวไม่พยายามดำเนินงานในทางดี การเกณฑ์แรงงานนั้นควรปฏิบัติการในทางช่วยเหลือราษฎรผู้ถูกเกณฑ์ให้ราษฎรได้รับความสะดวกในที่อยู่ อาหารและยารักษาโรค ทางที่ดีควรต้องจัดหน่วยบำรุงขึ้น 3 หน่วย คือ หน่วยสร้างที่พักอาศัย หน่วยพยาบาล และหน่วยจัดเสบียงอาหาร
ราษฎรที่ถูกเกณฑ์จะได้มีที่พัก มีอาหารบริโภคดี ตลอดจนได้รับการรักษาพยาบาลเป็นอย่างดี
ตรงกันข้ามการเกณฑ์แรงงานครั้งนี้ราษฎรไม่มีที่พักอาศัย ไม่มีอาหารบริโภคและขาดการรักษาพยาบาล ราษฎรจึงล้มเจ็บและถึงแก่ความตายเป็นจำนวนมาก ในเรื่องนี้ประชาชนกำลังตำหนิรัฐบาลชุดนี้อยู่เป็นอันมาก
ข้าพเจ้าผู้รับหน้าที่ผู้บังคับการตำรวจสันติบาลซึ่งรับผิดชอบในหน้าที่ทางด้านการเมืองภายในประเทศ ข้าพเจ้าได้ทราบเรื่องเหล่านี้อย่างเต็มอกจึงทำให้บังเกิดความระทมทุกข์เป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าหวั่นเกรงไปว่าอาจจะเกิดเรื่องรุนแรงอันไม่เป็นมงคลแก่รัฐบาลชุดนี้ขึ้นได้ ข้าพเจ้าจำเป็นต้องรายงานต่อท่านอธิบดีกรมตำรวจเพื่อทราบไว้ ทั้งนี้ เพื่อพิจารณาตามสมควร”
ไม่ปรากฏหลักฐานว่า หลวงอดุลเดชจรัสได้นำรายงานฉบับนี้เสนอต่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม หรือไม่
จอมพล ป.พิบูลสงคราม
แพ้มติในสภา
วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2487 รัฐสภาลงมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดระเบียบบริหารนครบาลเพชรบูรณ์และพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมงคล นำไปสู่การยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อ 24 กรกฎาคม รัฐสภาจึงต้องสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่
ตลอดช่วงเวลา 8 วันที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยื่นใบลาออกอย่างเป็นทางการจนกระทั่ง นายควง อภัยวงศ์ ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2487 นั้น เป็นช่วงเวลาที่ยากต่อการคาดเดาว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม จะยอมออกจากตำแหน่งหรือไม่ เพราะเคยมีปรากฏการณ์ “ลาออกแล้วไม่ออก” มาแล้วหลายครั้ง
โดยเฉพาะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2486 ซึ่งสถานีวิทยุกรมโฆษณาการได้ออกอากาศการลาออกไปแล้ว แต่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับเปลี่ยนใจไม่ลาออก แล้วดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปราวไม่มีอะไรเกิดขึ้น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022