ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สิ่งแวดล้อม |
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ บุตรตัน |
เผยแพร่ |
เสียงประชาชนที่ร่วมคัดค้านผ่านระบบออนไลน์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพืชพันธุ์ กรณีการเฉือนป่าอุทยานแห่งชาติทับลานพื้นที่รวม 265,000 ไร่ เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ปรากฏว่ามีมากถึง 901,982 คน จากจำนวนผู้แสดงความเห็น 947,107 คน หรือคิดเป็น 95.2 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการแก้ปัญหา “ทับลาน” แบบเหมาเข่ง
แนวคิดการเฉือนป่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 2.65 แสนไร่แบบเหมาเข่ง เริ่มมาจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 สมัยรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ซึ่งต้องการนำแผนที่ดิจิทัล มาตราส่วน 1 : 4,000 หรือ One Map มาใช้ปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ
One Map เกิดขึ้นในปี 2558 หลัง พล.อ.ประยุทธ์รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล โดยอ้างว่าสถานการณ์บุกรุกครอบครองที่ดินของรัฐมีแนวโน้มรุนแรง มีความขัดแย้งเรื่องแนวเขตหรือพิสูจน์สิทธิเนื่องจากปัญหาการทับซ้อนกันของแนวเขตที่ดินของรัฐ
ขณะที่จำนวนประชากรของประเทศไทยเพิ่มขึ้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้นทำให้เกิดการบุกรุกป่าทำลายระบบนิเวศ สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ
รัฐบาล “ประยุทธ์” เชื่อว่า ถ้ามี One Map แล้วจะช่วยแก้ปัญหาการบุกรุกป่า พื้นที่ทับซ้อน นำที่ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูสภาพป่าให้คนอยู่กับป่าพึ่งพากันอย่างมีความสุขและนำไปสู่ความยั่งยืน
แต่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลประยุทธ์เลือกใช้ One Map เฉพาะที่ดินที่มีราคาแพงๆ ที่ดินแปลงสวยๆ เขตป่าที่มีนายทุนบุกรุกอยู่ก่อนแล้ว
พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็น 1 ในเป้าหมายที่รัฐบาลประยุทธ์นำ “One Map” เข้าไปแก้ปัญหาเช่นกัน
อุทยานแห่งชาติทับลาน อยู่ในเขตเทือกเขาพนมดงรัก มีพื้นที่กว้างใหญ่ 1,387,375 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อ.ปักธงชัย วังน้ำเขียว ครบุรี และเสิงสาง จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี
สภาพพื้นที่มีความสมบูรณ์มาก มีภูเขาน้อยใหญ่สลับต่อเนื่องกันเป็นบริเวณกว้าง เช่น เขาภูสามง่าม เขาภูสูง ภูเขาวง เขาสลัดได เขาไม้ปล้อง และยอดเขาละมั่ง สูงกว่าระดับน้ำทะเล 992 เมตร เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด มีต้นลานขึ้นตามธรรมชาติ มีหุบผา น้ำตกมากมาย
“ทับลาน” ยังเป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำหลายสาย เช่น ห้วยขมิ้น ห้วยปลาก้าง ห้วยคำแช ห้วยกระทิง ห้วยกุดตาสี ห้วยภูหอม ฯลฯ ลำห้วยแต่ละสายนี้ไหลไปรวมกันเป็นแม่น้ำมูล ส่วนลำห้วยหินยาว ห้วยชมพู ห้วยสาลิกา ห้วยลำไยใหญ่ ห้วยวังมือ ไหลไปรวมเป็นแม่น้ำบางปะกงไหลลงสู่อ่าวไทย
อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มป่าดงพญาเย็น ประกอบไปด้วยอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก เมื่อปี 2548
เป็นที่รู้กันว่า พื้นที่ป่าทับลานมีผู้คนเข้าไปบุกรุกทำลายและตั้งรกรากจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่มานานไม่น้อยกว่า 40 ปี ก่อนมีประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมและประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน
ถ้าย้อนกลับไปดูอดีตจะเห็นว่ารัฐบาลในชุดเก่าๆ ตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา เฉือนป่าทับลานไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองซึ่งนำไปสู่ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าในเวลาต่อมา
ยกตัวอย่างเช่น สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีประกาศราชกิจจานุเบกษา วันที่ 30 ธันวาคม 2528 ลงนามโดยนายณรงค์ วงศ์วรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้พื้นที่บางส่วนในป่าวังน้ำเขียว ต.สะแกราช อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
แสดงว่าป่าวังน้ำเขียว เมื่อ 39 ปีก่อนต้องมีความสมบูรณ์มากแม้โดนรัฐบาล “เปรม” เฉือนแบ่งไปทำพื้นที่เกษตรแล้ว พื้นที่ป่าที่เหลืออยู่ยังสมบูรณ์จนได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก
ดังนั้น การประกาศเขตปฏิรูปที่ดินฯ ในสมัยรัฐบาลเปรมเท่ากับเฉือนพื้นที่ป่า 101,093 ไร่ ที่ควรเป็นมรดกโลกมาทำเป็นที่เกษตร สถิติในข้อมูลสารสนเทศกรมป่าไม้ พื้นที่ป่าใน จ.นครราชสีมา ช่วงปี 2528 มีอยู่ 2,826 ตารางกิโลเมตร หรือเท่ากับ 1,766,250 ไร่ หลังประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรเพียง 3 ปี เนื้อที่ป่าเหลือ 1,614375 ไร่ หดหายไป 12.59 เปอร์เซ็นต์
ปี 2538 เนื้อที่ป่าไม้ของ จ.นครราชสีมา มีทั้งหมด 1,411,250 ไร่ หายไปกว่า 312,500 ไร่ เมื่อเทียบกับปี 2528
10 ปีหลังการพลิกนโยบายแปลงผืนป่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ของ จ.นครราชสีมาหายวูบรวม 3 แสนไร่
ข้อมูลนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า นโยบายของรัฐต่างหากที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ของประเทศลดลง แหล่งทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ระบบนิเวศพังยับเยิน
และท้ายที่สุด ผู้ที่ได้รับสิทธิให้ครอบครอง ส.ป.ก.4-01 ในเขตวังน้ำเขียวก็ขายสิทธิให้บรรดานายทุน ข้าราชการ นักการเมือง
ปี 2554-2555 รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” พลิกนโยบายหันมาสนับสนุนให้เพิ่มพื้นที่ป่า ฟื้นฟูเขตป่าสงวนแห่งชาติ
ในเวลานั้นกรมอุทยานแห่งชาติฯ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและเอาผิดกับนายทุนเจ้าของรีสอร์ต บ้านพักตากอากาศ ผู้บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน คดีฟ้องร้องรวมแล้ว 495 คดี พื้นที่ถูกบุกรุกกว่า 150,000 ไร่
จากการตรวจสอบเอกสารนายทุนซื้อจากเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ ส.ป.ก. พบว่ามีการออกเอกสิทธิทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติฯ หรือที่เรียกกันว่า “ส.ป.ก.บวม” อีกทั้งยังพบว่าเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลอมแปลงเอกสารสิทธิรุกป่า
นั่นหมายความว่า แนวคิดการเฉือนผืนป่ามาแปลงเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเกษตรกรรมล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
จึงไม่แปลกที่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามมติ ครม.รัฐบาล “ประยุทธ์” ผลสรุปออกมาว่า “ไม่เห็นด้วย” ถึง 95.2 เปอร์เซ็นต์
แม้รัฐบาลประยุทธ์อ้างว่าต้องการนำพื้นที่ที่ถูกกันออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลานไปให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือ ส.ป.ก. จัดสรรที่ดินให้ประชาชนทำกิน แต่ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียงข้ออ้างบังหน้า แท้จริงแล้วนักการเมืองที่มีอำนาจในช่วงรัฐบาลประยุทธ์ต้องการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนมากกว่า
ยิ่งดูกระบวนการในการอนุมัติเห็นชอบของรัฐบาลประยุทธ์ให้เฉือนผืนป่าทับลาน ก็พิลึกกึกกือชวนให้สงสัยมากขึ้นอีก
วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2566 พล.อ.ประยุทธ์นั่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) พร้อมกับมีมติใน 4 ประเด็นหลักๆ
1. เห็นชอบแนวทางการใช้เส้นปรับการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ.2543 แก้ปัญหาเขตทับซ้อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ให้กรมอุทยานฯ สำนักงาน ส.ป.ก. จังหวัดนครราชสีมา และปราจีนบุรีไปร่วมตรวจสอบข้อมูลที่ไม่ชัดเจนให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
2. เร่งทำแนวกันชน (Buffer Zone) ที่ชัดเจน
3. ผู้กระทำผิดให้ดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม
4. พื้นที่ที่กันออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ให้กรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. เอาไปจัดเป็นที่ทำกินให้กับประชาชนตามแนวทางของ คทช.
ถัดมาเพียง 3 วัน คือวันอังคารที่ 14 มีนาคม คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ คทช.
นี่เป็นข้อน่าสงสัยทำไม ครม. “ประยุทธ์” มีมติอย่างรวบรัด?
นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ควรไปสืบหาความจริงว่า เป็นขบวนการเฉือนผืนป่ามรดกโลกเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนตามที่มีข้อกล่าวหากันหรือไม่
อีกประเด็นที่รัฐบาลชุดนี้ต้องทำคือ แยกกลุ่มปัญหาซึ่งมีอยู่ 3 กลุ่มใหญ่เพื่อนำมาสังเคราะห์หาหนทางแก้อย่างเป็นระบบ
กลุ่มแรก เป็นกลุ่มคนที่เข้ามาอยู่ในป่าทับลานก่อนประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ กลุ่มนี้ประเมินกันว่ามีพื้นที่รวม 60,000 ไร่
กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่ได้รับการจัดสรรตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม อ.เสิงสางและครบุรี จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี จำนวน 80,000 ไร่
กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่รัฐตรวจสอบแนวเขตว่าอยู่ทับซ้อนกับพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติทับลานหรือไม่ มีทั้งหมด 125,000 ไร่ กลุ่มนี้มีทั้งถูกดำเนินคดีไปแล้วและยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี
สองกลุ่มแรกถ้าตรวจสอบจนปรากฏชัดแล้วว่าอยู่ก่อนประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลานและได้สิทธิให้อยู่ทำกิน ก็ควรสนับสนุนให้เป็นชุมชนเข้มแข็งเพื่อดูแลฟื้นฟูป่าให้สมบูรณ์ยั่งยืนต่อไป
ส่วนกลุ่มที่สามต้องเอาผิดจนถึงที่สุด เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้เอาจริงกับกลุ่มโค่นทำลายผืนป่า •
สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022