น้ำและบทบาทของพระมหากษัตริย์สยาม

รายงานพิเศษ | กรกฤษณ์ พรอินทร์

น้ำและบทบาทของพระมหากษัตริย์สยาม

 

ตั้งแต่ครั้งอดีตมาแล้ว พื้นที่บริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยามีชุมชนเมืองตั้งอยู่ ซึ่งชุมชนเมืองเหล่านั้นนักวิชาการบางคนจะเรียกว่า “สังคมเมืองน้ำ” และน้ำมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตและวิถีการผลิตของผู้คนในสังคมเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้การจัดการน้ำจึงเป็นพันธกิจหนึ่งของผู้ปกครองในดินแดนลุ่มน้ำเจ้าพระยาต้องบริหารจัดการ

ดังที่พระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ได้ประดิษฐ์คิดค้นวิธีการต่างๆ เพื่อจัดการน้ำ ผ่านพิธีกรรมและการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นพิธีเสี่ยงทาย พิธีขอฝน พิธีขอขมาพระแม่คงคา พิธีไล่น้ำ ฯลฯ หรือการขุดคลอง การสร้างประตูน้ำและเหมืองฝาย ไปจนถึงการใช้วิทยาการความรู้จากตะวันตกควบคู่ในการสร้างทางน้ำ

ด้วยแนวคิดจักรพรรดิราช เทวราชา และธรรมราชา ทำให้พระราชกรณียกิจต่างๆ ของกษัตริย์ถูกมองว่าจะส่งผลต่อพระราชอาณาจักร โดยปกติแล้วกษัตริย์อยุธยาจะไม่ค่อยออกจากวังที่เป็นฐานที่มั่นทางอำนาจ แต่ถ้ามีเรื่องที่เกี่ยวกับน้ำ มักจะได้เห็นกษัตริย์มาประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น เสด็จทางชลมารคไปถวายผ้าพระกฐิน

ซึ่งการจัดการน้ำของพระมหากษัตริย์ในรูปแบบนี้ มีความสัมพันธ์อย่างมากกับความชอบธรรมและอำนาจทางการเมืองในฐานะผู้ปกครอง


แผนที่่กรุงศรีอยุธยา แสดงราชธานีล้อมรอบไปด้วยน้ำ ภาพนี้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ เปเร่ คูร์โตแลง (Père Courtaulin) บาทหลวงชาวฝรั่่งเศสจัดทำขึ้้นใน พ.ศ. 2229

อาสยุชพิธี

พิธีแข่งเรือเสี่ยงทายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชุมชนชาวบ้านยุคดึกดำบรรพ์กระทั่งเมื่อวัฒนธรรมฮินดู-พุทธเข้ามาผสมผสาน เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์และกลายเป็นพระราชพิธีของราชสำนักที่เรียกว่า “อาสยุชพิธี” (อาสยุช แปลว่า เดือน 11)

ทั้งนี้ การแข่งเรือเสี่ยงทายเกิดขึ้นเพื่อคาดคะเนสภาพการณ์ “น้ำท่วม-น้ำนอง” และคลายความวิตกกังวล พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน เพราะการเสี่ยงทายนำไปสู่การรับรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า

ซึ่ง “อาสยุชพิธี” ปรากฏใน “กฎมณเฑียรบาล” ว่าพระมหากษัตริย์ พระมเหสี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ต่างๆ ต้องแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างเต็มพระยศ ก่อนเสด็จฯ ลงเรือพระที่นั่งเพื่อแข่งเรือเสี่ยงทาย

เรือที่ใช้ในการเสี่ยงทายประกอบด้วย “สมรรถไชย” คือเรือของพระมหากษัตริย์ ส่วน “ไกรสรมุกข์” คือเรือของพระอัครมเหสี และนำเรือทั้ง 2 ลำมาแข่งเพื่อเสี่ยงทาย

หากเรือของพระมหากษัตริย์เป็นฝ่ายแพ้เรือของพระมเหสี คำทำนายคือบ้านเมืองจะมี “ข้าวเหลือ เกลืออิ่ม” อุดมสมบูรณ์

แต่หากเรือพระมหากษัตริย์เป็นฝ่ายชนะ บ้านเมือง “จะมียุข” คือความอดอยากยากแค้น

นอกเหนือจากคำทำนาย พิธีกรรมดังกล่าวยังสะท้อนความเป็นสังคมแบบ “มาตาธิปไตย” ที่ยกย่องและให้ความสำคัญกับเพศแม่ หรือเพศหญิง

ดังพบว่าเพศหญิงมักเป็นบุคลาธิษฐานของสรรพสิ่งในธรรมชาติในสังคมเกษตร ทั้งผืนดิน (พระแม่ธรณี) น้ำ (พระแม่คงคา) ข้าว (พระแม่โพสพ) ก่อนที่เพศหญิงจะสูญเสียฐานะความเป็นใหญ่ในสังคมแก่เพศชายจากความเชื่อที่มาจากภายนอกซึ่งให้ความสำคัญกับเพศชายมากกว่า

สมัยกรุงธนบุรีต่อเนื่องถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ “อาสยุชพิธี” ไม่ได้เป็นธรรมเนียบปฏิบัติสืบเนื่อง แต่ในพระราชนิพนธ์ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ระบุว่า “พิธีแข่งเรือ อย่างว่าในกฎมณเฑียรบาล ได้ทำมาเพียงในชั้นกรุงเก่ามาถึงครั้นกรุงรัตนโกสินทร์หาได้ทำไม่” เหลือเพียงการแข่งเรือของประชาชน เพื่อความสนุกสนานและการพนัน ตลอดจนการละเล่นทางน้ำ เช่น การเล่นเรือ เล่นเพลงดอกสร้อยสักวาในช่วงเทศกาลต่อเนื่องคาบเกี่ยวกับฤดูกฐิน

ในสมัยรัชกาลที่ 1 มีเหตุการณ์แข่งเรือระหว่างวังหลวงกับวังหน้าในเดือน 11 ปีมะโรง เรือวังหลวงชื่อ “ตองปลิว” เรือวังหน้าชื่อ “มังกร” แข่งกันเปรียบฝีพาย แต่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลจัดฝีพายสำรับอื่นที่แข็งแรงไว้ ครั้นเมื่อเวลาแข่งจะเอาคนสำรับใหม่ลง ข้าราชการฝ่ายวังหลวงแจ้งดังนั้นจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระองค์ทรงทราบแล้วมีพระราชดำรัสว่า “เล่นดังนี้จะเล่นด้วยที่ไหนได้ให้เลิกการแข่งเรือแต่นั้นมา”

แม้ว่าอาสยุชพิธีจะเลือนหายไปในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ กล่าวคือ ไม่มีการแข่งเรือเพื่อการเสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์กันอีกต่อไปแล้ว

แต่พระราชพิธีนี้ก็ยังอยู่ในความทรงจำชนชั้นนำสยามสมัยนั้น และถูกแปลงให้เป็น “ฉาก” อยู่ในวรรณกรรมนางนพมาศ ที่บรรจุความคิด ความฝันของยุคสมัย ตลอดจนทัศนะของชนชั้นนำไทยในมุมมองแบบ “เสรีนิยม” เพื่อการค้าและให้ความสำคัญกับ “ลูกค้าพาณิชย์นานาประเทศ” ที่คับคั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ

แล้วต่อเนื่องถึง “เศรษฐกิจการตลาด” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

จิตรกรรมพระราชพิธีสิบสองเดือน ในพระอุุโบสถวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ในภาพคือ ฉากการลอยพระประทีป ณ บริเวณท่าราชวรดิฐ ดังคำบรรยายในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน รููปเรือในวงกลมไม่ใช่เรือจริง หากแต่คือ “กระทงหลวง” ที่่ประดิษฐ์จากแพหยวกกล้วย ตกแต่งเป็นรูปเรือศรีและเรือชัย ประดับประดาตุ๊กตาต่างๆ แสดงให้เห็นถึงการสร้างสรรค์การละเล่นในช่วงฤดููน้้ำอย่างประดิดประดอยของราชสำนัก

จองเปรียงลดชุดลอยโคม ไล่เรือ-ไล่น้ำ

ถัดจาก “อาสยุชพิธี” ในช่วงเดือน 11 ช่วงเดือน 12 (พฤศจิกายน) จะเริ่มเกิดสภาพ “น้ำทรง” คือสภาวะน้ำนิ่ง จึงมีการจัดพิธีขอบคุณน้ำที่นำพาความอุดมสมบูรณ์มาให้ ด้วยการ “จองเปรียง” หมายถึง จุดโคมไฟรับพระเจ้า เป็นพิธีกรรมตามความเชื่อของพราหมณ์ โดยจุดแล้วใส่โคมไฟยกขึ้นแขวนบนเสา หรือลอยเป็นประทีปไปตามน้ำ (ต่อมาถูกเรียกรวมเข้ากับพิธีลอยกระทง)

สมัยต้นรัตนโกสินทร์ การลอยประทีปหรือกระทงเริ่มเป็นการละเล่นที่ทำกันในโอกาสต่างๆ มากขึ้น เช่น งานศพ คนในวังจะสร้างกระทงกันสวยงามอลังการ เป็นรูปสัตว์ รูปเขาพระสุเมรุ

ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงห้ามไม่ให้ขุนนางใส่เสื้อเข้าเฝ้าในช่วงที่แขวนโคม เพราะการใส่เสื้อเป็นเสมือนการแช่งให้น้ำลดเร็ว มีขุนนางเคยถูกลงโทษเพราะใส่เสื้อเข้าเฝ้าในช่วงนี้ด้วย ด้วยเหตุว่า ตามธรรมเนียมแล้ว ชาวสยามมักไม่ใส่เสื้อ แต่จะใส่เสื้อเมื่อหนาว = หนาวเพราะลมหนาวมา = ลมหนาวมาจากตะวันออกเฉียงเหนือ พัดลงทางใต้ -> พัดพาน้ำออกจากท้องทุ่ง ถ้าน้ำออกจากท้องทุ่งไวเกินไป ต้นข้าวหรือผลผลิตก็จะตาย นำมาสู่สภาวะข้าวยากหมากแพง

จากนั้นจะมีพิธี “ไล่เรือ-ไล่น้ำ” ทำกันในช่วงปลายเดือน 12 (พฤศจิกายน) ถึงต้นเดือน 1 (ธันวาคม) เนื่องจากน้ำท่วมมาสักระยะแล้ว ถ้าท่วมนานไปกว่านี้ต้นข้าวที่กำลังออกรวงจะเสียหาย จึงต้องไล่น้ำออกจากทุ่ง ให้น้ำไปลงบาดาล (ทะเล) กระทำพิธีโดยการที่กษัตริย์เสด็จฯ ทางชลมารค ใช้พัชนี พัดน้ำ ใช้ส้าว (ไม้พลองมีพู่ขาวผูก) กระทุ้ง และใช้พระแสง (ดาบ) ฟันน้ำ

การชักโคมขึ้้นเสาประทีป ในภาพจิตรกรรมฝาผนังหลังพระประธาน ในอุุโบสถวัดสุวรรณาราม เขตบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี เสาประทีปเป็นเสาไม้ แขวนโคมจีน ภาพจิตรกรรมยังชี้้ให้เห็นว่าบ้านแขวนโคม/ชักโคมเสา น่าจะเป็นบ้านพราหมณ์

การขุดคลองรังสิต

กับกระบวนการเปิดพื้นที่นา พ.ศ.2398-2440

นอกจากพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับน้ำ การบริหารจัดการน้ำด้วยวิทยาการตะวันตก ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่พระมหากษัตริย์สยามทรงกระทำด้วยเช่นกัน หลังทำสนธิสัญญาเบาว์ริง การค้าข้าวมีความสำคัญ จึงมีการขุดคลองหลายสายเพื่อขยายพื้นที่ทำนาในบริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยา

โครงการรังสิตคือพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในการขยายพื้นที่ทำนาช่วงนี้ มีการจ้างชาวตะวันตกเข้ามาดูแลเรื่องระบบชลประทาน

เกิดการขุดคลองและสร้างประตูน้ำ เช่น เขื่อนพระรามหกกั้นแม่น้ำป่าสัก และประตูน้ำจุฬาลงกรณ์กับประตูน้ำเสาวภาผ่องศรีทางต้นคลองรังสิตฝั่งตะวันออก

จนกระทั่งในยุคพัฒนา (ตั้งแต่ทศวรรษ 2500) รัฐมีการขยายระบบสาธารณูปโภคขนานใหญ่ เช่น การสร้างถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปา ฯลฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ก็เข้ามามีบทบาทในด้านนี้ ทั้งการเสด็จประพาสต่างจังหวัด และการเกิดขึ้นของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะน้ำ เช่น ฝนหลวง แก้มลิง กังหันน้ำชัยพัฒนา โครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า ฯลฯ โครงการต่างๆ

มีการเกิดขึ้นของ “คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” (กปร.) พ.ศ.2524 ที่จะประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนเพื่อให้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริดำเนินการได้

เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จากเดิมเป็นฝายน้ำขนาดเล็กกั้นลำน้ำแม่งัดซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำปิง ที่ ต.ช่อแล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ต่อมาฝายพังเสียหาย รัชกาลที่ 9 จึงมีพระราชดำรัสให้สร้างเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ซึ่งก็ได้รับการก่อสร้างในช่วง พ.ศ.2520-2528

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนขุนด่านปราการชล ก็เป็นผลพวงจากพระราชดำริในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2536 หลังจากนั้น 1 ปี รัฐก็อนุมัติสร้างเขื่อนป่าสักฯ และในปี พ.ศ.2539 รัฐก็อนุมัติให้สร้างเขื่อนขุนด่านฯ สะท้อนความกระตือรือร้นของหน่วยงานต่างๆ ที่จะดำเนินงานตามพระราชดำริ

และสะท้อนถึงพระราชอำนาจนำในการบริหารจัดการน้ำของรัชกาลที่ 9

หลังจากการประกอบพิธีตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ใส่ขันสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้เชิญขันสาครและที่ตักน้ำขึ้นเสลี่ยง ลอดซุ้มประตูชุมพลไปยังวัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร

พิธีพลีน้ำศักดิ์สิทธิ์ในรัชกาลที่ 10

เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 รัฐบาลได้จัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกันนี้ ยังมีการจัดพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ นำมาประกอบเป็นส่วนหนึ่งในพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย

สำหรับพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นพิธีตักหรือขอแบ่งน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมด 108 แหล่ง สำหรับนำไปประกอบพิธีต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยน้ำศักดิ์สิทธิ์จะมาจากแหล่งน้ำ 108 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 76 จังหวัด จำนวน 107 แห่ง และอีก 1 แห่ง จากหอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร

คำว่า “พลีน้ำ” คือการขออนุญาตตักน้ำขึ้นมา แบ่งมาในส่วนน้อย เพื่อทำพิธีขอพรให้เป็นสิริมงคลและนำเข้าไปในวัด โบสถ์ สำคัญในจังหวัดนั้นๆ เพื่อประกอบพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ และพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นก็จะนำน้ำที่ผ่านทั้งสองพิธีมาใช้ในพระราชพิธีต่างๆ ต่อไป

โดยมีกำหนดการจัดพิธีพลีกรรมตักนํ้า ณ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ (ทุกจังหวัด) วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม 2567 ฤกษ์เวลา 14.49 น. เป็นต้นไป, จัดพิธีเสกทําน้ำพระพุทธมนต์ฯ (ทุกจังหวัด) วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม 2567 ฤกษ์เวลา 17.09 น. เป็นต้นไป, จัดพิธีเวียนเทียนสมโภชนํ้าพระพุทธมนต์ฯ (ทุกจังหวัด) วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม 2567 ฤกษ์เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป

เชิญคนโทน้ำพระพุทธมนต์ฯ มาเก็บรักษาที่กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2567 ระดับจังหวัด วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2567, ขบวนเชิญน้ำพระพุทธมนต์ฯ (ทุกจังหวัด) จากกระทรวงมหาดไทยไปวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2567 เวลา 07.00 น., จัดพิธีเสกนํ้าพระพุทธมนต์ฯ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2567 เวลา 16.30 น.

จากนั้นจะจัดขบวนเชิญน้ำพระพุทธมนต์ฯ จากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เดินทางไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม 2567 ฤกษ์เวลา 16.35 น. •

 

ข้อมูลประกอบการเขียน : ชลารักษ์บพิต การจัดการน้ำของกษัตริย์ไทยจากพิธีกรรมสู่การพัฒนา / ผู้เขียน อาสา คำภา และทิพย์พาพร อินคุ้ม / สำนักพิมพ์มติชน