ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | มองบ้านมองเมือง |
ผู้เขียน | ปริญญา ตรีน้อยใส |
เผยแพร่ |
ในขณะที่ โทรศัพท์มือถือเข้ามาแทนที่โทรศัพท์ กล้องถ่ายรูป และอื่นๆ อีกมากมาย
ในขณะที่รถยนต์ไม่ต้องเติมน้ำมันหรือก๊าซแล้ว หากเปลี่ยนมาเป็นรถไฟฟ้า
ในขณะที่การเดินทางของผู้คนในกรุงเทพฯ เปลี่ยนจากรถประจำทางหรือรถแท็กซี่บนถนน มาเป็นรถไฟทั้งบนดิน บนฟ้าและใต้ดินใต้แม่น้ำ
ในขณะที่ร้านอาหารเปลี่ยนมาเป็นฟาสต์ฟู้ด หรือเดลิเวอรี่ส่งถึงบ้าน
ในขณะที่กระแสโซเชียลมีเดีย มาแทนที่สื่อสารมวลชนรูปแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หรือวิทยุ
แต่ดูเหมือนว่า ที่อยู่อาศัยในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เปลี่ยนแปลงน้อยมาก
จากที่ดินจัดสรร เป็นแค่บ้านจัดสรร จากบ้านเดี่ยวเป็นแค่บ้านแฝด จากตึกแถวเป็นแค่ทาวน์เฮาส์ จากอพาร์ตเมนต์เป็นแค่คอนโดฯ หรู จากแฟลตเป็นแค่คอนโดฯ ประหยัดรอบสถานีรถไฟฟ้าเท่านั้น
ที่ทำให้เห็นว่ามีความหลากหลาย ก็มีแค่คำโปรยของฝ่ายการตลาด เช่น บ้านเดี่ยวหน้ากว้างหรือบ้านนอร์ดิค ทาวน์โฮมหรือโฮมออฟฟิศ ห้องชุดพักอาศัยในป่า (ประดิษฐ์) หรือห้องชุดของคนวัยมันส์ โครงการสำหรับผู้สูงวัยหรือบ้านแวลเนส เท่านั้น
คงเป็นเพราะผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ล้วนเรียนหรืออบรมหลักสูตรโบราณเดียวกัน หรือส่วนใหญ่ใช้วิธี มีทู หรือทำตามๆ กัน
แม้แต่บริษัทใหญ่ๆ ก็แค่เดินตามความสำเร็จของโครงการที่ผ่านมา
เมื่อเกิดปัญหาการเปลี่ยนขาด สภาพบ้านเมือง เศรษฐกิจ และสังคมแปรเปลี่ยนไป ส่งผลถึงวิถีชีวิต ความนึกคิด และความต้องการของผู้คนไม่เหมือนเดิม แทนที่ผู้ประกอบการจะหาแนวคิด แนวปฏิบัติใหม่ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์หรือบ้านเมือง กลับใช้วิธีเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ ออกมาตรการพิเศษ ลดค่าธรรมเนียม ที่ล้วนเป็นสูตรสำเร็จเดิม
ยิ่งนายกรัฐมนตรีมาจากวงการอสังหาริมทรัพย์ ก็เลยคุ้นกับมาตรการแบบเก่า ไม่เกี่ยวกับอุปสงค์ที่ลดลงหรือเปลี่ยนไป ในขณะที่อุปทานยังเหมือนเดิม
ทุกวันนี้ ที่ตั้งโครงการที่อยู่อาศัย จะไปอยู่ชานเมืองอันไกลโพ้น ตามราคาที่ดิน และที่ว่างที่พร้อมพัฒนา แม้ผู้ซื้อมีปัญญาจ่ายค่าบ้าน แต่ก็มีปัญหาค่าเดินทาง ทั้งตัวเงิน และเวลา
โครงการห้องชุดพักอาศัย ที่พอกับกำลังซื้อหาได้ จะมีขนาดพอสำหรับคนเดียว แต่ถ้าเพิ่มคน สัตว์ และสิ่งของ ก็จะเกิดปัญหาทันที
แม้แต่หมู่บ้านหรูคนพักอาศัยเต็มโครงการ เมื่อยี่สิบปีก่อน วันนี้กลายเป็นหมู่บ้านอันตราย มีบ้านร้างให้เห็น โรงเรียนอนุบาลไร้เด็ก สวนหมู่บ้านกลายเป็นป่ารก มีคนจรจัดยึดพักพิง กรรมการหมู่บ้านถ้ามี ก็ทะเลาะกันมากกว่าทำอะไรที่เป็นประโยชน์
เช่นเดียวกับปัญหาคอนโดมิเนียม ตามกฎหมายอาคารชุดพักอาศัย ที่มีอายุมากกว่าสิบปีขึ้นไป ล้วนมีปัญหาระบบอาคาร ที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเจ้าของร่วมในการประชุมประจำปี
ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ที่ผู้ประกอบการไม่เคยสนใจ นอกจากไม่รับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น ยังทำให้เกิดความเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ
ในวันที่ธุรกิจมีปัญหา ผู้ประกอบการยังคงใช้วิธีการตลาด สร้างภาพ สร้างกิจกรรม และเรียกร้องรัฐบาลช่วยเหลือ
ไม่ได้คิดหาวิธีการใหม่ๆ ไม่สร้างนวัตกรรมที่อยู่อาศัย หรือระบบการครอบครองที่เหมาะกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป •
มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022