นมหมดอายุ (2)

ญาดา อารัมภีร
ภาพจิตรกรรมเชิงสังวาสที่วัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี

คนไทยเชื่อกันว่า หญิงที่เป็นสาวพรหมจารี สาวพรหมจรรย์ สาวบริสุทธิ์ ยังไม่เคยร่วมประเวณี ทรวงอกย่อมเต่งตึง ไม่หย่อนคล้อย ตรงกันข้ามกับหญิงที่มีเจ้าของแล้ว ดังจะเห็นได้จาก “กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” เล่ม 1 มีข้อความว่า

“แลมันทำชู้แล้วมันทอดหญิงนั้นเสีย ท่านว่ามันทำให้ลูกหลานท่านนมบกอกพร่อง ให้ไหมชายผู้เลมิดพ่อแม่ผู้เถ้าผู้แก่นั้นโดยขนาฎ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

‘นมบกอกพร่อง’ เป็นสำนวนกฎหมายโบราณ ใช้เรียกหญิงที่ชายทำให้เสียความบริสุทธิ์แล้วทอดทิ้งไป นอกจากนี้ หญิงใดมีผัวแล้ว นมก็คล้อยลง

ไม่เต่งตึงเหมือนสาวบริสุทธิ์อีกต่อไป

 

สอดคล้องกับความหมายใน “อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ สมัยรัชกาลที่ 5 อธิบายคำเหล่านี้ว่า

“นมคล้อย, ถันเคลื่อน, คือนมเคลื่อนลงจากปรกกะติ, ว่านมคล้อย คนหญิงมีผัวแล้วนมเคลื่อนลงนั้น” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

‘นมคล้อย, ถันเคลื่อน’ และ ‘นมบกอกพร่อง’ เป็นผลมาจากหญิงเสียความบริสุทธิ์ให้แก่ชาย ทรวงอกที่เคยเต่งตึงจึงเปลี่ยนแปลงไป ยิ่งไปกว่านั้นความชราที่มาเยือนก็มีผลต่อสภาพนมเช่นเดียวกัน ดังที่ “อักขราภิธานศรับท์” ให้ความหมายว่า

“นมยาน, นมห้อย, คือนมหญิงห้อยลงยาวโตงเตงอยู่นั้น, แลนมหญิงลางคนยานน้อย ลางคนยานยาว”

กวีไทยใช้คำว่า ‘นมยาน’ บรรยายไว้ใน “โคลงโลกนิติ” บทที่ 343 ว่า

หัวล้านไป่รู้มัก มองกระจก

ผอมฝิ่นไป่อยากถก ถอดเสื้อ

นมยานไป่เปิดอก ออกที่ ประชุมนา

คนบาปไป่เอื้อเฟื้อ สดับถ้อยธรรมกระวี ฯ

ความหมายคือ คนหัวล้านไม่ชอบมองกระจก คนผอมแห้งเพราะสูบฝิ่นไม่อยากถอดเสื้อ หญิงนมยานไม่เปิดทรวงอกให้ใครๆ เห็นฉันใด คนบาปย่อมไม่อยากฟังคำสั่งสอนฉันนั้น

 

นอกจากนี้ ยังพบคำว่า ‘นมยาน’ เป็นระยะๆ ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ดังตอนที่ขุนแผนฟ้องพันโชติ กำนันบ้าน ว่าตนแต่งงานอยู่กินกับนางวันทอง ต่อมาได้ไปราชการศึกที่เชียงทอง กลับมาพบเรือนหอขุนช้างปลูกแทนที่เรือนหอของตน

หลังจากพันโชติเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ขุนแผนฟังแล้ว ขุนแผนสงสารนางวันทอง ถ้าฟ้องร้องให้เป็นคดีความ เกรงว่านางจะอับอายขายหน้า จึงคิดขู่ขุนช้างให้กลัว ไม่กล้าใช้อิทธิพลและเงินทองย่ำยีใครอีกต่อไป

ขุนแผนให้พันโชติส่งคนไปตามตัวยายกลอย ยายสา และนางเทพทอง แม่ขุนช้าง (ซึ่งร่วมมือกันทำให้นางวันทองต้องแต่งงานกับขุนช้าง) มาสอบปากคำพร้อมๆ กัน

กวีบรรยายถึงสามหญิงชราที่รีบเดินงกๆ เงิ่นๆ มาเรือนขุนช้างอย่างตื่นตระหนก ดังนี้

“ฝ่ายว่ายายกลอยพลอยตกใจ พลัดตกบันไดเดินขาเฉ

นมยานฟัดพุงยุ่งหยำเป เง้ขึ้นบนเรือนท่านเทพทอง

ยายสาตาไม่ดูกระดานต่อ ขอไปทีอีพ่อพลัดตกล่อง

โก้งโค้งลากขานัยน์ตาพอง ค่อยย่องขึ้นไปให้ขัดนัก

เทพทองว่าเป็นไรท่านยายสา เจ็บขาม่อยเมินกระทงเหินหัก

สายแล้วไปเถิดพเยิดพยัก เบาหนักเป็นอย่างไรจะได้รู้

ฉวยคว้าผ้าห่มปกนมยาน รีบไปให้การเถิดเหวยสู

ข้าไทตามหลังมาพรั่งพรู แลดูหน้ากันงกงันมา”

ความรีบร้อนลนลานของยายกลอย ยายสา และนางเทพทองสะท้อนผ่านท่าทีของแต่ละคน ยายกลอยตื่นกลัวจนพลัดตกบันไดเดินเป๋ไปเป๋มา ทำให้นมที่ยาวยานนั้นแกว่งกระทบพุงตัวเอง ยายสาเดินไม่มองทางเลยพลัดตกล่องจนขาลากเดินกระย่องกระแย่ง

ส่วนนางเทพทองรีบ ‘ฉวยคว้าผ้าห่มปกนมยาน’ คือคว้าผ้ามาปิดนมของตนขณะรีบไปให้ปากคำ

 

นอกจากคำว่า ‘นมยาน’ ที่กวีใช้บรรยายหญิงสูงวัย ยังพบสำนวน ‘นมยานกลิ้งอก’ ตอนที่นางบุษบาเล่าเรื่องพลายงามเข้าหานางศรีมาลา เมื่อพระพิจิตรรู้เรื่องฉาวของลูกสาวจึงกล่าวแก่เมียว่า

“ถ้าต่อว่าต่อขานพานอื้อฉาว จะรานร้าวถึงขุนแผนไม่พอที่

เขาก็ยังซื่อตรงคงภักดี เรานี้เป็นผู้ใหญ่อย่าใจเบา

จะขึ้นชื่อลือเสียงศรีมาลา ว่าคบชู้สู่หาขายหน้าเขา

เป็นนมยานกลิ้งชกอกของเรา ทำเฉยเลยเถิดเจ้าอย่าแพร่งพราย”

‘นมยานกลิ้งอก’ ในที่นี้เป็นสำนวนมีความหมายว่า ตัดไม่ขาด ปัดไม่พ้นตัว เนื่องจากตกอยู่ในฐานะจำเป็นจำยอม อยู่ในสภาพเดือดร้อนลำบากใจ ไม่มีทางหลีกเลี่ยง ฉะนั้น พระพิจิตรจึงเตือนนางบุษบาว่าอย่าได้แพร่งพรายเรื่องนี้ เพราะมีแต่จะขายหน้า

อีกตอนหนึ่งนั้นเมื่อขุนช้างต้องโทษประหารตามคำสั่งสมเด็จพระพันวษา นางวันทองก็ไปอ้อนวอนขอร้องให้พระไวยช่วย

“วันทองจึงว่าพ่อทูนเกล้า ทุกข์แม่เทียมเท่าจะเป็นผี

เหลียวไม่เห็นใครในครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยชีวีให้รอดตาย

เห็นแต่ดวงใจพระไวยแม่ ที่จะแก้ทุกข์ร้อนให้ผ่อนหาย

เจ้าขุนช้างคนคดประทษร้าย เพราะเช่นนั้นอันตรายจึงถึงตัว

เหมือนนมยานกลิ้งอกแม่หมกไหม้ ถึงชั่วดีเขาก็ได้มาเป็นผัว

ครั้นจะนิ่งให้ตายอายติดตัว จะเชิดชื่อลือชั่วทั่วกัลปา”

สำนวน ‘นมยานกลิ้งอก’ หมายความว่า เป็นภาระจำใจอยู่กับตัว ตัดไม่ได้ตัดไม่ขาด ไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ หรือสลัดตัดทิ้งไปได้ แม้ขุนช้างจะเลวทรามแค่ไหนก็ตาม ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นผัวของนางวันทอง นางจะดูดายปล่อยให้ตายโดยไม่ช่วยเหลือมิได้

จะ ‘นมคุณภาพ’ หรือ ‘นมหมดอายุ’ ดีคนละแบบ •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร