‘ดร.เก๊’

เว็บไซต์มติชนสุดสัปดาห์เพิ่งนำเอาบทความเก่าเมื่อปี 2545 ของนักวิชาการ-คอลัมนิสต์ผู้ล่วงลับ “นิธิ เอียวศรีวงศ์” มาเผยแพร่ซ้ำ

ชื่อของบทความดังกล่าวก็คือ “ดร.เก๊”

อาจารย์นิธิเริ่มต้นบทความชิ้นนี้ด้วยการ “อำ” หรือ “วิพากษ์” ตัวเอง ในฐานะ “ด๊อกเตอร์เก๊” คนหนึ่ง

ด้วยเหตุผลว่า แม้จะไปเรียนปริญญาเอกและเขียนวิทยานิพนธ์เพื่อจบการศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย ที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา

แต่ตนเองก็ไม่ได้ (มีโอกาส) จะศึกษาเรื่องอินโดนีเซียอย่างลงลึกมากนัก ส่วนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกที่เขียนส่งไป อาจารย์นิธิก็ให้คำจำกัดความแบบตลกร้ายเอาไว้ว่า

“สารภาพเลยว่าปั่นๆ ให้จบไปโดยเร็ว หลังจากเที่ยวเล่นเสียปีกว่าโดยไม่ทำอะไร ในทรรศนะของผมไม่มีคุณภาพอะไรอยู่ในนั้นเอาเลย ถ้าทำได้ก็อยากจะฝังร่วมลงไปกับกากนิวเคลียร์จากโรงไฟฟ้าต่างๆ เสียให้สิ้นซาก”

ขณะที่เมื่อจบการศึกษาแล้ว “ดร.ด้านประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย” ท่านนี้ ก็สารภาพเพิ่มเติมอย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่ได้อัพเดตความรู้เกี่ยวกับเรื่องอินโดนีเซียมากนัก

โดยนัยยะของเรื่องเล่าข้างต้น อาจารย์นิธิจึงบอกว่า แม้ตัวเองจะยังเป็น “ดร.จริง” ตามมาตรฐานของ ก.พ. (คือจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่ ก.พ.ให้การรับรอง) แต่ก็ถือเป็น “ดร.เก๊ในทางวิชาความรู้”

 

ในบริบทที่บทความชิ้นนี้ถูกเขียนขึ้นเมื่อกลางทศวรรษ 2540

ปัญหาหลักประการแรก ที่อาจารย์นิธิมองเห็น ก็คือ เรื่อง “ดร.เก๊” รับปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยปลอมนั้น ยังไม่หนักหนาสาหัสเท่ากับเรื่อง “ดร.จริง” คนแล้วคนเล่า ที่ไม่ได้เพิ่มพูนต่อยอดความรู้ของตนเองอีกเลยหลังจบการศึกษาระดับปริญญาเอก

ลำพังแค่ข้อสรุปเบื้องต้นนี้ อาจดูเหมือนว่าเป้าประสงค์ของบทความเมื่อกว่าสองทศวรรษก่อน จะไม่ค่อยต้องตรงกับสถานการณ์ของการตรวจสอบ-จับผิด “ดร.เก๊” ในสังคมการเมืองไทยยุคปี 2567 สักเท่าใดนัก

อย่างไรก็ดี ข้อคิดเห็นประการถัดมาของอาจารย์นิธิ กลับน่าสนใจและมีลักษณะ “ข้ามกาลเวลา” นั่นคือ การเสนอว่ารัฐไทยหรือสังคมไทยควรจะ

“เจาะลึกลงไปกว่ากระดาษ ให้ถึงตัวความรู้ความสามารถของคนจริงๆ แทนที่จะติดอยู่กับความเป็นด๊อกเตอร์ซึ่งกลายเป็นเก๊ได้ง่าย”

ก่อนที่คอลัมนิสต์ผู้ล่วงลับจะวิเคราะห์ต่อว่า การให้ความสำคัญกับ “แผ่นกระดาษ” มากกว่า “ความรู้จริง” นั้นยึดโยงกับมิติทางวัฒนธรรมของปริญญาบัตรในสังคมไทย

กล่าวคือ อาจารย์นิธิได้แบ่ง “สถานภาพทางสังคม” แบบไทยๆ ออกเป็นสองลักษณะ ได้แก่ “สถานภาพทางสังคมที่ได้มาจากการบัญญัติ” (ซึ่งรวมถึงสถานภาพทางสังคมอันมาจากการได้/ประสาทปริญญาบัตรด้วย) และ สถานภาพทางสังคมอีกประเภทที่มาจาก “การทำอะไรเพื่อให้ได้มา”

ปัญญาชนอาวุโสเชื่อว่าวัฒนธรรมราชการไทยนั้นยังสืบทอดคติเรื่องการมีสถานภาพที่ได้มาจากการบัญญัติ และน่าจะยังเชื่อว่าสถานภาพทางสังคมประเภทแรกสูงส่งกว่าสถานภาพประเภท “ทำอะไรเอาเองเพื่อให้ได้มา”

นี่จึงเป็นสาเหตุหลัก ที่ผลักดันให้หลายต่อหลายคน (ซึ่งต้องการมีตำแหน่งแห่งที่ในสังคมไทยหรือวัฒนธรรมแบบระบบราชการไทย) ต้องขวนขวายเพื่อให้ได้เป็น “ด๊อกเตอร์” แม้อาจเป็น “ดร.เก๊” ก็ตาม •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน