ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน |
เผยแพร่ |
ในหนังสือ 199 Best Quotes from the Great Entrepreneur ซึ่งเขียนโดย Elon Musk เขาเน้นย้ำคุณค่าของความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ
แม้ Elon Musk จะประสบความสำเร็จสูงสุดกับ Tesla และ SpaceX ที่จะอพยพมนุษย์ไปสร้างอาณานิคมใหม่บนดาวอังคาร แต่เอาเข้าจริงแล้ว เขาเคยกลัวความล้มเหลวมาก่อน
“ความล้มเหลวมีความสำคัญมาก เพราะถ้าไม่ล้มเหลว แสดงว่าคุณยังสร้างสรรค์ไม่พอ” Elon Musk บอก
“อย่ากลัวความล้มเหลว อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง อย่ายึดติดอยู่กับวิธีแก้ปัญหาแบบเดิมๆ อย่ากลัวสิ่งใหม่ๆ มนุษย์เรียนรู้ได้ตลอดชีวิต มีหนังสือ มีข้อมูลให้เราหาอ่าน และทดลองลงมือทำอยู่ทุกที่ทุกเวลา” Elon Musk กล่าว และว่า
“ตอนเริ่มต้น SpaceX ใหม่ๆ ผมคิดว่าโอกาสประสบความสำเร็จมีไม่ถึง 10% ตอนนั้นผมก็แค่ยอมรับความจริงที่ว่า บางทีผมอาจจะสูญเสียทุกสิ่ง แต่บางทีเทคโนโลยีนี้อาจพัฒนาอย่างรวดเร็ว หรืออย่างน้อยก็คงจะมีการพัฒนาบ้าง นั่นก็ทำให้เราเดินไปข้างหน้าได้ แม้จะช้า”
“และถึงแม้ว่าบริษัทจะเจ๊ง หรือเราอาจตายไปก่อน แต่บริษัทอื่นๆ ก็จะรับช่วงต่อ และเดินหน้าไปเรื่อยๆ ดังนั้น เพียงเท่านี้ก็ถือว่าเราได้มีส่วนร่วมแล้ว Tesla ก็เหมือนกัน ผมคิดว่าโอกาสที่บริษัทใหม่ๆ จะผลิตรถยนต์ให้ประสบความสำเร็จนั้นมีน้อยมาก” Elon Musk กล่าว และว่า
“ดังนั้น ตอนเริ่มต้น ทั้ง Tesla และ SpaceX สำหรับผม คือความล้มเหลว”
ปัจจุบัน เราจึงเห็น Elon Musk พยายามผลักดันสิ่งแปลกใหม่ให้เกิดขึ้น เขามองว่าความล้มเหลวเป็นสิ่งดี ถ้าทำให้เราได้คิดถึงมันอย่างถี่ถ้วน และพิจารณาถึงความเสี่ยงให้รอบด้าน
“ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความสำคัญมากพอ เราก็ควรจะพยายามต่อไป ถึงแม้ว่าผลของมันอาจจะเป็นความล้มเหลวก็ตาม” Elon Musk กล่าว และว่า
“ตอนผมเป็นเด็ก ผมสงสัยว่าความหมายของชีวิตคืออะไร เรามาอยู่ที่นี่ทำไม ทุกสิ่งทุกอย่างมันคืออะไรกันแน่”
“หลังจากนั้น ผมสรุปได้ว่า สิ่งที่สำคัญในชีวิตคนเราก็คือ ความพยายามที่จะถามคำถามที่ถูกต้อง” Elon Musk กล่าว และว่า
ทุกวันนี้ ผมคิดไกลไปถึงการสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร คำถามที่ถูกต้องต่อกรณีนี้คืออะไร ถ้าไม่ใช่คำถามที่ว่า “มนุษย์จะย้ายรกรากไปอยู่ดาวอังคารจริงๆ ได้ไหม?”
“เห็นได้ชัดว่า ยิ่งเราเพิ่มขอบเขตความท้าทาย เราก็จะสามารถถามคำถามได้ดีขึ้น” Elon Musk ทิ้งท้าย
สอดคล้องกับศาสตราจารย์ ดร. Saul Perlmutter นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลประจำปี ค.ศ.2011 ที่บอกว่า สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ทำ คือการมองหาข้อผิดพลาดของตัวเอง
“โลกเราทุกวันนี้ เต็มไปด้วยข้อมูลมากมาย เราจะเลือกฟังใครดี?”
“ไม่มีใครที่ไม่เคยผิดพลาด หรือทำทุกอย่างถูกต้องตลอดเวลา” ศาสตราจารย์ ดร. Saul Perlmutter กล่าว และว่า
“ถ้าหมอวินิจฉัยว่าคุณเป็นเนื้องอกในสมอง แทนที่จะเชื่อโดยไม่คิด เราควรพิจารณาสถานการณ์นี้เหมือนนักวิทยาศาสตร์ โดยถามหมอกลับไปว่า พวกเขามั่นใจแค่ไหนเกี่ยวกับการวินิจฉัย โดยอาจจะถามเป็นเปอร์เซ็นต์”
“วิธีนี้อาจฟังดูง่าย แต่ถ้าหมอบอกว่ามั่นใจ 99% แน่นอนว่าเมื่อเทียบกับ 1% ที่เหลือ มันอาจส่งผลกับสิ่งที่คุณจะทำต่อไปอย่างมาก ศาสตราจารย์” ดร. Saul Perlmutter กล่าว และว่า
“การคิดแบบนักวิทยาศาสตร์อาจเป็นประโยชน์ ในกรณีของหมอที่ผมยกตัวอย่าง หรือแม้กระทั่งตอนที่นายหน้าขายบ้านแนะนำโปรแกรมสินเชื่อที่ดีที่สุด เราก็อาจใช้วิธีการเดียวกันได้”
“โดยทั่วไป การทำงานของนักวิทยาศาสตร์นั้น พวกเราแค่จะออกไปวัดอะไรสักอย่าง และการวัดสิ่งต่างๆ นั้น เป็นเรื่องยากเสมอ นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มักคิดว่า สิ่งที่ฉันกำลังทำ มันถูกต้องหรือไม่?” ศาสตราจารย์ ดร. Saul Perlmutter กล่าว และว่า
มันไม่ใช่แค่การพร้อมรับข้อผิดพลาดของตัวเองเท่านั้น เพราะภารกิจของนักวิทยาศาสตร์กว้างไกลกว่านั้น นั่นก็คือ การนำวิทยาศาสตร์ และกระบวนการคิดวิเคราะห์ไปสู่คนทั่วไป
“ผมเคยตั้งข้อสังเกตบทสนทนาที่โต๊ะอาหารกลางวันของนักวิทยาศาสตร์ พวกเขามักใช้ชุดเครื่องมือทางความคิดที่แตกต่างไปจากคนทั่วไปอย่างสิ้นเชิง” ศาสตราจารย์ ดร. Saul Perlmutter กล่าว และว่า
ผมต้องการส่งมอบกระบวนการคิดวิเคราะห์แบบนี้ให้คนทั่วไป ผ่านชุดเครื่องมือทางความคิดที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ
“ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเป็นผู้กำหนดนโยบายระบบดูแลสุขภาพ คุณจำเป็นต้องสร้างกลไกการทดสอบ การดำเนินการ และการติดตามผล เพื่อตรวจดูว่า มีข้อผิดพลาดตรงไหน และอะไรบ้างที่ถูกต้อง จากนั้นให้ทดลองปรับปรุงกระบวนการซ้ำอีกรอบ” ศาสตราจารย์ ดร. Saul Perlmutter กล่าว และว่า
ในฐานะที่เราคือส่วนหนึ่งของสังคม หากเราปฏิบัติต่อสถานการณ์ต่างๆ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น เราจะยอมรับความผิดพลาดของผู้อื่นได้ดีขึ้น
“ผมเชื่อว่า จริงๆ แล้ว ความล้มเหลวคือโอกาสในการเรียนรู้ ผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ผิดพลาด ไม่ใช่ความผิดพลาด แต่มันคือส่วนหนึ่งของกระบวนการ” ศาสตราจารย์ ดร. Saul Perlmutter กล่าว และว่า
การค้นพบของเขาจะไม่เกิดขึ้น หากเขาไม่ทำผิดพลาดในงานวิจัยชิ้นก่อนหน้า นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขาสนับสนุนให้ทุกคนไม่กลัวความล้มเหลว
ในการทำวิทยานิพนธ์หลังปริญญาเอก ศาสตราจารย์ ดร. Saul Perlmutter เคยคิดว่า เขาได้ค้นพบสิ่งยิ่งใหญ่ที่ยังไม่มีใครค้นพบมาก่อน
เขาตรวจพบสัญญาณที่ดูเหมือนจะตรงกับสัญญาณที่ดาวเคราะห์จะส่งออกมา ทำให้เขาเชื่อว่า ได้พบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเป็นครั้งแรก
แต่ปรากฏว่าสัญญาณที่เขาตรวจจับได้ มาจากเครื่องจักรที่อยู่ถัดจากกล้องโทรทรรศน์ที่มีความไวสูง
“โชคดีที่ผมยังหนุ่ม และอยู่ท่ามกลางนักวิทยาศาสตร์ที่มีประสบการณ์ และมีชื่อเสียงมากในห้วงเวลานั้น” ศาสตราจารย์ ดร. Saul Perlmutter ระลึกถึงความผิดพลาดดังกล่าว
“ผมคิดว่า เราออกมาอธิบายได้เร็วพอ ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำให้คนไม่ถือโทษโกรธเคืองเรามากเกินไป” ศาสตราจารย์ ดร. Saul Perlmutter เปิดเผยความล้มเหลวครั้งนั้นเอาไว้ในหนังสือ Third Millennium Thinking : Creating Sense in a World of Nonsense
แม้การยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีที่แล้วอาจฟังดูขัดกับความรู้สึก แต่ศาสตราจารย์ ดร. Saul Perlmutter ต้องการท้าทายความหมายเชิงลบเกี่ยวกับความล้มเหลว โดยบอกว่า มันมีส่วนช่วยปรับปรุงผลงานของเขาในระยะยาว
“ผู้คนมักรู้สึกอาย ที่จะบอกว่าตัวเองทำผิดพลาด ผมหวังว่าทุกคนจะสามารถผ่านช่วงเวลาแบบนั้นได้ ผมคิดว่ามันจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก”
“การยอมรับความล้มเหลว ทำให้ผมรอบคอบมากขึ้นในภายหลัง” ศาสตราจารย์ ดร. Saul Perlmutter สรุป
Elon Musk ก็เช่นเดียวกัน เขาเคยกลัวความล้มเหลวอย่างรุนแรง
“ไม่ใช่ว่าผมไม่กลัว แต่ผมพยายามเอาชนะความกลัวนั้น โดยแสร้งทำเป็นไม่สนใจ แม้มันจะทำให้ผมเครียด และเป็นทุกข์มาก”
“ไม่ใช่ว่าผมไม่กลัว ผมอยากให้ความกลัวของผมลดน้อยลงด้วยซ้ำ เพราะมันกวนใจผม และทำลายระบบประสาท เราไม่ควรจะคิดว่าฉันกลัวสิ่งนี้ ดังนั้น ฉันจึงไม่ควรลงมือทำ”
“ความกลัวเป็นเรื่องปกติ คุณจะต้องมีความผิดปกติแน่ๆ ถ้าไม่รู้สึกกลัว ที่จริงแล้ว สิ่งที่ช่วยคุณได้ คือการยอมรับความกลัวนั้น”
“ถ้าเพียงแค่ยอมรับในสิ่งที่จะเกิดขึ้น มันก็จะลดความกลัวลงได้” Elon Musk ทิ้งท้าย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022