แกะรอย ชาญวิทย์ ความเป็นมา ของคำสยามฯ กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ

บทความพิเศษ

 

แกะรอย ชาญวิทย์

ความเป็นมา ของคำสยามฯ

กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

หากต้องการจะรู้ถึงต้นตอของการเปลี่ยนแปลงในทางความคิดของ สุจิตต์ วงษ์เทศ จุดหนึ่ง อาจเริ่มจากการศึกษาและทำความเข้าใจใน “โองการแช่งน้ำ” โดยเฉพาะที่สัมพันธ์กับ จิตร ภูมิศักดิ์

จุดต่อมา ย่อมเป็น “ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ”

ไม่เพียงเพราะเป็นงานอันยิ่งใหญ่ของ จิตร ภูมิศักดิ์

หากแต่ในความยิ่งใหญ่จากการค้นคว้าและเรียบเรียงของ จิตร ภูมิศักดิ์ นั่นแหละที่ส่งผลสะเทือนต่อ สุจิตต์ วงษ์เทศ

นั่นก็คือ ความคิดของผมทางภาษาและวรรณกรรมไทย (รวมทั้งประวัติศาสตร์ โบราณคดี) ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทั้งมีส่วนสำคัญที่กระตุ้นให้เริ่มต้นผลิตนิตยสารรายเดือนชื่อศิลปวัฒนธรรม (ฉบับปฐมฤกษ์ พฤศจิกายน 2522)

“โองการแช่งน้ำ” ได้มีการนำเสนอให้พิจารณาก่อนหน้านี้แล้ว คราวนี้สมควรเป็น “ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ”

จำเป็นต้องอ่าน “คำนำ” อันเป็นการเขียนโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่เขียนเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2519

อ่าน

 

คำนำ ไม่จำเป็น

ต่อ จิตร ภูมิศักดิ์

หนังสือ “ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นหนังสือที่เกือบไม่ต้องการคำนำใดๆ ทั้งนี้ เพราะงานที่ยิ่งใหญ่นี้สามารถจะบอกความเป็นมาและความสำคัญด้วยตัวของมันเอง

และก็เป็นที่น่าเชื่อว่ายังไม่มีนักเขียนหรือนักวิชาการใดที่ค้นคว้าได้รอบรู้เท่ากับ จิตร ภูมิศักดิ์ ในประเด็นเหล่านี้

ซึ่งก็ทำให้มีน้อยคนนักที่จะกล้าพูดว่าสามารถจะเขียนคำนำได้อย่างเต็มปาก

ดังนั้น คำนำชิ้นนี้จึงเพียงแต่กล่าวแนะนำ “ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” ที่ได้ก้าวออกมาสู่บรรณพิภพ

และการที่มูลนิธิโครงการตำราได้รับเกียรติในการจัดพิมพ์

“ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” เป็นผลงานเขียนชิ้นสุดท้ายของ จิตร ภูมิศักดิ์ และเป็นผลงานที่ใช้ในการค้นคว้าและวิเคราะห์ทางวิชาการอย่างยอดเยี่ยมที่สุด

ถ้าจะดูจากเนื้อหาของมัน จิตร ภูมิศักดิ์ คงจะใช้ระยะเวลานานมากที่จะเขียนงานชิ้นนี้ออกมาอย่างละเอียดลออ

กระนั้นก็ตาม งานชิ้นนี้ก็ยังเป็นงานที่ยังไม่เสร็จ (ดังที่จะเห็นได้จากสารบัญ) งานเขียนส่วนใหญ่ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ว่าจะเป็นงานทางด้านประวัติศาสตร์ วรรณคดี งานแปลและกวีนิพนธ์ (ร้อยกรองในลักษณะต่างๆ และเพลง) เขียนขึ้นในช่วงที่เขาเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งในตอนที่ศึกษาอยู่และในตอนที่ถูกพักการเรียน (2493-2500) และช่วงที่ถูกจองจำที่คุกลาดยาว (2501-2507)

ช่วงเวลาของการทำงานทางด้านปัญญาและวิชาการของ จิตร ภูมิศักดิ์ มีไม่มากนัก แต่จำนวนของผลงานที่ปรากฏออกมาก็นับได้ว่าน่าทึ่งอย่างยิ่ง (ดู “งานของ จิตร ภูมิศักดิ์ เท่าที่ค้นพบในปัจจุบัน”, อักษรศาสตร์พิจารณ์ 3 : 11-12 เมษายน-พฤษภาคม 2519)

จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกปล่อยออกจากคุกในปี 2507

และต่อมาในปี 2508 เขาก็จากเมืองเข้าสู่ป่าเพื่อทำการต่อสู้ในแนวทางของเขา

จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกยิงสิ้นชีวิตในเขตเทือกเขาภูพาน เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 เมื่ออายุ 36 ปี

 

5 ปี ที่ถูกจองจำ

กับ ความเป็นมา

จิตร ภูมิศักดิ์ คงจะเริ่มเขียน “ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” ในช่วง 6 ปีของการถูกจองจำ

ณ ที่นั้น “คุกขังตัวเขาได้ แต่หัวใจปรารถนา”

ทำให้เขามีเวลาค้นคว้าอย่างจริงจังทั้งในด้านหลักฐานข้อมูลและในด้านของภาษาต่างๆ

จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นผู้ที่ฝึกฝนตนเองจนชำนาญทางด้านภาษามาก่อนการถูกจองจำ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส และเขมร ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยเบิกทางให้รู้อดีตของไทย

และเวลาที่อยู่ในคุกเขาก็มิได้ปล่อยให้ผ่านไปในการที่จะเรียนภาษาเพิ่ม ทั้งจีนและมอญ-พม่าในบางส่วน

อันจะเห็นได้ชัดจากบทต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ของเขา

ความพิถีพิถันและความประณีตในการทำงานนี้แหละทำให้ จิตร ภูมิศักดิ์ สามารถเข้าถึงนิรุกติศาสตร์แห่งต้นตอของอดีตไทยได้อย่างลึกซึ้ง

 

อ่านคำ อ่านความ

ความหมาย ชีวิต

“ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” เป็นเรื่องราวทางภาษาศาสตร์ มุ่งไปในการค้นคว้าอดีตบางประการของไทย

จิตร ภูมิศักดิ์ พยายามชี้ให้เห็นรากและต้นตอของคำแต่ละคำ

ชี้ให้เห็นข้อบกพร่องและความผิดพลาดในการหาหลักฐานจากคำต่างๆ เขาใช้คำเหล่านั้นสืบค้นต้นกำเนิดของไทยอย่างมีระบบ

หนังสือเล่มนี้เป็นการ “เล่น” กับของเก่าที่เป็นหลักฐานของคนไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการดึงเอกสารโบราณออกมาใช้ เช่น บรรดาพวกตำนานที่เขียนขึ้นในภาคเหนือของไทย

เอกสารเหล่านี้มักจะถูกนักวิชาการเพิกเฉยหรือไม่ก็ถูกตีคุณค่าไว้ต่ำมาก

จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ดึงเอกสารเหล่านี้ขึ้นมาและชี้ให้เห็นว่ามันมีชีวิตและความหมายของมันอย่างไร

 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

กับ จิตร ภูมิศักดิ์

ที่ยกมาเป็นความในเบื้องต้นของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นความประทับใจในสถานะที่เป็นนักวิชาการ

นักวิชาการในทาง “ประวัติศาสตร์” และ “การเมือง”

หากศึกษาแต่ละเส้นทางของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ มาอย่างต่อเนื่องย่อมเข้าใจในความรู้สึกอันเป็นความประทับใจ

เส้นทางตั้งแต่ “สวนกุหลาบ” กระทั่ง “ธรรมศาสตร์”

เส้นทางจากธรรมศาสตร์ รับราชการอยู่ระยะหนึ่งก่อนได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยคอร์แนล

แล้วก็เปลี่ยนจาก “รัฐศาสตร์” มาเป็น “ประวัติศาสตร์”

วิทยานิพนธ์ของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นการค้นคว้าในเรื่องการก่อรูปและพัฒนาแห่งอาณาจักรอยุธยา

ตรงนี้แหละสำคัญและไม่ควรมองข้าม

สำคัญตรงที่สามารถเชื่อมร้อยเข้ากับ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าเมื่อมองผ่าน “โองการแช่งน้ำ” ไม่ว่าเมื่อมองผ่าน “ข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา”

และที่สุดก็ตื่นตะลึงไปกับ “ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ”

ดังที่สัมผัสและรับรู้ผ่าน “คำนำ”

 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

จาก จิตร ภูมิศักดิ์ ส่งผ่าน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เชื่อมไปยัง สุจิตต์ วงษ์เทศ อย่างสอดรับ กลมกลืน

เพราะ “โบราณคดี” กับ “ประวัติศาสตร์” มีความแนบชิดสนิทกันยิ่ง

ยิ่งกว่านั้น ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็เป็นแม่เหล็กระหว่างกันและกันตั้งแต่ก่อน สุจิตต์ วงษ์เทศ เดินทางไปเยือนมหาวิทยาลัยคอร์แนลอยู่แล้ว

เห็นได้จากการนำเสนอภาพของ เชิง แก่นแก้ว ออกมา

ในห้วงเดินทางกลับบ้านเกิดหลังได้ปริญญาเอกและเข้าสอนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เส้นทางระหว่างท่าพระจันทร์กับโรงพิมพ์พิฆเนศแทบจะกลายเป็นร่องดินลึกในการสัญจร

ทั้งเมื่อร่วมวงเบียร์ และการแสดงวิวาทะโต้แย้งกันร้อนแรง