ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เหยี่ยวถลาลม |
เผยแพร่ |
เหยี่ยวถลาลม
‘อาญา’ ไม่ถึงเบื้องสูง
‘เกียรติยศ’ ไม่มีในบ่าวไพร่
จริงหรือ
“เธอ” ตัดสินใจเด็ดขาดแล้วว่าจะต้องพึ่ง “ตำรวจ”
เคยได้ยินคำเปรียบเปรยว่าตำรวจเป็น “ต้นธาร” ของกระบวนการยุติธรรม
แม้ก่อนหน้านี้ได้แต่ร้องห่มร้องไห้ กลัว เครียด วิตกกังวล สับสน ตัวเองเป็นแค่ผู้น้อยเหมือนปลาซิว ผู้ที่กระทำต่อเธอเป็น “ผู้บังคับบัญชาสูงสุด” แจ้งความไปก็คงไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่เมื่อคิดถี่ถ้วนทบทวนแล้ว แม่ของลูกไม่ควรจะถูกข่มเหงรังแกเช่นนั้น เธอจะเป็นแม่ที่เข้มแข็งของลูกทั้งสอง จึงตัดสินใจ “แจ้งความ” ดำเนินคดีกับอธิบดีฯ ศาล (รายหนึ่ง)
การดำเนินคดีในระบบกล่าวหาได้แยกหน้าที่ “สอบสวนและฟ้องร้อง” ออกจากหน้าที่ “พิจารณาพิพากษา”
กระบวนการดำเนินคดีอาญาจึงเริ่มจาก การสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 130 ว่า “ให้เริ่มการสอบสวนโดยมิชักช้า…”
(ความชักช้า จะด้วยเหตุประการใดก็ตาม อาจนำมาซึ่งความอยุติธรรม)
มาตรา 131 ว่า “ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้…”
คดีล่วงละเมิดทางเพศที่เธอแจ้งความกับกองปราบปรามครั้งนี้กล่าวได้ว่า “เบามือ” สำหรับพนักงานสอบสวน “กองกำกับการ 4 กองปราบปราม” อย่างยิ่ง เนื่องจาก “เธอ” ได้ใช้ประสบการณ์จากการเป็น “เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์” เก็บรวบรวมหลักฐานอย่างละเอียดยิบ พร้อมภาพถ่ายร่องรอยฟกช้ำอันเกิดจากการฉุดกระชากล็อกคอ กดแขน ขา ศีรษะ ดึงผม กดใบหน้า คาง คอ สร้อยคอ สร้อยข้อมือขาด ครบถ้วนให้ “ต้นธาร” กระบวนการยุติธรรมได้ทำหน้าที่เป็นที่พึ่งหวัง
ดังสโลแกนที่ว่า “ถ้าพึ่งใครไม่ได้ ให้มานี่…”
ปกติ “คดีล่วงละเมิดทางเพศ” ไม่ค่อยจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือถ้าหากเป็นคดีแล้ว ไม่ว่าอยู่ในชั้นสอบสวนฟ้องร้อง หรือไปถึงชั้นพิจารณาของศาล “ผู้หญิง” ซึ่งเป็น “ผู้เสียหาย” หรือเป็นเจ้าทุกข์มักจะได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจซ้ำสองซ้ำสามจากผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการ
บ่อยครั้งผู้หญิงจึง “จำนน” จนบางคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ส่วนคนที่ทนพิษบาดแผลในใจไม่ไหวก็คิดสั้น!
คดีของเธอเกิดขึ้นบนขบวนรถไฟ จาก กทม.มุ่งหน้าจังหวัดทางภาคเหนือ
“ดิฉันอดสงสัยไม่ได้ว่า การจัดให้ดิฉันนอนเตียงล่าง ติดห้องน้ำ น่าจะเป็นการวางแผนกันมาก่อนหรือเปล่า”!?!
เอกสารแนบ หมายเลข 1 เป็นผังการจัดห้องนอนบนรถไฟที่เธอถูกจัดให้นอน “ตู้นอนชั้น 2 ล่าง” ซึ่งอยู่ติดกับตู้นอนชั้น 1 ของผู้บริหาร ที่อยู่ท้ายสุดของขบวน
บนขบวนรถไฟในคืนวันนั้น บรรยากาศไม่น่าวางใจ เธอจึงตั้งใจจะยื้อเวลาด้วยการนั่งพูดคุยกับเพื่อนๆ ที่ตู้เสบียงให้นานที่สุด กระทั่งล่วงเข้าตี 1 วันใหม่ “ผู้ถูกกล่าวหา” เดินเข้ามาหาแล้วนั่งลงใกล้ๆ พร้อมลูบผมโอบไหล่เธอต่อหน้าเพื่อนๆ
จังหวะนั้น “ท่าน” ซึ่งเป็นผู้หญิงคงจะสังเกตเห็นพฤติกรรมที่ไม่ปกติของ “ผู้ถูกกล่าวหา” เดินเข้ามาขัดคอพร้อมกับบอกว่าดึกดื่นทุกคนเข้าประจำที่นอนกันได้แล้ว
นับเป็นโอกาสดีที่จะได้แยกย้ายจากกัน
แต่ระหว่างช่วงสถานีศิลาอาสน์ จ.อุตรดิตถ์ ต่อเนื่องถึงช่วงสถานีเด่นชัย จ.แพร่
เวลาตี 2 เธอตกใจตื่น “ผู้ถูกกล่าวหา” เข้ามานอนเบียดและลวนลาม ด้วยตกใจกลัวจึงออกอุบาย จะเข้าห้องน้ำ แต่ “ผู้ถูกกล่าวหา” กดแขน ล็อกคอ กดใบหน้าเธอลงกับหมอน มีการเหวี่ยงแขนต่อสู้ดิ้นรนกัน
มีเสียงคนเดินภายนอก!
“ผู้ถูกกล่าวหา” เสียงเข้มคุกคาม อย่าเสียงดัง เดี๋ยวจะไปแล้ว
จากนั้นก็ผละไป
เธอได้แต่ร้องไห้ ไม่กล้าหลับตาลงอีก จนกระทั่งตี 3 “ผู้ถูกกล่าวหา” แหวกม่านเข้ามาหาอีกครั้ง คราวนี้เธอลุกหนีทันที แต่ถูกผลักให้ล้ม จากนั้นก็ฉุดกระชากดิ้นรน ผมเผ้าถูกจิกหลุดร่วง กระทั่งมี “เสียงคนเดิน” อยู่ด้านนอกอีก
“ผู้ถูกกล่าวหา” ข่มด้วยเสียงเข้มเช่นเดิม “อย่าเสียงดัง” จากนั้นก็ผละออกไป
เธอทำได้ก็แต่ร้องไห้ นึกถึงใบหน้าสามีและลูกทั้งสองคน จนถึงตี 5 เจ้าหน้าที่ผู้หญิงซึ่งนอนชั้นบนก็ลงมาและนั่งที่เตียงเธอ เห็นสภาพที่นอนเต็มไปด้วยเส้นผมขาดเป็นกระจุกๆ ก็ตกใจ เธอร่ำไห้ พร้อมให้ดูร่องรอยฟกช้ำตามลำคอ แขน ข้อมือ
ท่าน (ผู้หญิงกล้า) คนเดิม เดินมาหาแต่เช้าคล้ายเป็นห่วง เมื่อเห็นสภาพอิดโรยก็เข้ากอดปลอบใจให้เข้มแข็ง ซึ่งเธอก็ได้แต่ร่ำไห้ ในใจได้แต่คิดว่าเพิ่งจะบรรจุเป็นข้าราชการได้ 3 ปีก็มีมารผจญ จากนี้ไปไม่รู้จะทำอย่างไรดี ไม่รู้จะพึ่งใคร เธอเล็กเกินไปที่จะต่อกรกับ “ผู้ใหญ่”
คดีนี้ พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผู้บังคับการกองปราบปราม เสนอรายงานถึง พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบช.ก. ให้ตั้ง “คณะกรรมการสืบสวนสอบสวน” เพราะเป็นคดีที่กล่าวหา “ข้าราชการระดับสูง”
บัดนี้ สถานะของ “ข้าราชการระดับสูง” ที่ว่านั้น ตาม ป.วิอาญา มาตรา 2 (2) คือ “ผู้ต้องหา”
ส่วนสถานะของเธอเป็น “ข้าราชการระดับต่ำ” ตาม ป.วิอาญา มาตรา 2 (4) คือ “ผู้เสียหาย”
ความสลับซับซ้อนของคดีไม่มี ในชั้นสอบสวนฟ้องร้อง ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย วินิจฉัยไม่ยาก
ความผิดอาญาในลักษณะนี้เรียกว่า “ความผิดในตัวเอง” หรือ mala in se หมายถึง ความผิดที่คนทั่วไปซึ่งไม่ต้องเรียนกฎหมาย ไม่ต้องรู้กฎหมายก็รู้ได้โดยสามัญสำนึกว่า “ผิด”
ผิดทั้งกฎหมาย ศีลธรรม จารีตประเพณี ที่ปุถุชนทุกคนรู้ว่าผิด!
กรณีที่เกิดขึ้น “ผู้ถูกกล่าวหา” เป็นผู้พิพากษาผู้ใหญ่ เป็นผู้บังคับบัญชา ถ้าพิจารณาจากพฤติการณ์และอิริยาบถทั้งหมดก็เพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ว่า มีการคิดไตร่ตรอง มีการตกลงใจ และได้ลงมือทำตามที่คิดไตร่ตรองตกลงใจ
เข้าทำนอง “กรรมชี้เจตนา” ผู้กระทำความผิดเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดผลร้ายอย่างไรแก่ “ผู้ถูกกระทำ” เป็นการกระทำที่ล่วงพ้นขั้นเตรียมการ ไปถึงขั้นลงมือทำ อันใกล้ชิดต่อผลสำเร็จแล้ว เกิดผลร้ายต่อ “ผู้เสียหาย” แล้ว จึงถือได้ว่า เป็นการกระทำโดยเจตนา รู้สำนึกในการกระทำ และประสงค์ต่อผล เล็งเห็นผลของการกระทำนั้นแล้ว
ท้าทายต่อ “ศรัทธา” กระบวนการยุติธรรมไทยทั้งระบบ เป็นคดีที่ต้องตามดูกันยาวๆ ยิ่งกว่า “คืนบาป-พรหมพิราม”!?!!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022