เทวาลัยเจ้าแม่กามาขยา : ที่แสวงบุญใหม่ของคนไทยสายมู

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

อินเดียเป็น “อนุทวีป” ซึ่งหมายความว่า ย่อมมีความหลากหลายทั้งทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรมและความเชื่อ มิได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้ว่าหลักๆ แล้วเราอาจแบ่งความต่างอย่างง่ายที่สุดระหว่างอินเดียเหนือ-ใต้ แต่ยังมีอินเดียในภูมิภาคอื่นๆ และแม้แต่ภายในใต้-เหนือ ก็ยังมีความแตกต่างแยกย่อยออกไปอีกมากมายมหาศาล

ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือทางอีสานของอินเดียนั้น ดูเหมือนจะเป็นพื้นที่พิเศษที่แยกออกจากส่วนอื่นๆ ราวกับเป็นอีกดินแดนหนึ่ง

รัฐต่างๆ เหล่านี้ไม่ว่าจะอัสสัม เมฆาลัย อรุณาจลประเทศ นาคาแลนท์ มีวัฒนธรรม ศาสนา และชาติพันธุ์ของผู้คนแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในประเทศ

เพราะประชากรส่วนมากของที่นั่นเป็นชาติพันธุ์เดียวกับคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาจกล่าวให้ใกล้ชิดว่ามี “คนไท” อยู่ที่นั่นหลายกลุ่มครับ

คนไทหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาไท-กะไดในอินเดียโยกย้ายกันไปที่นั่นตั้งแต่โบราณจนมีอาณาของตนเอง หากกล่าวถึงรูปร่างหน้าตาก็เหมือนเราๆ ท่านๆ นี่แหละครับ ไม่เหมือนคนอินเดียส่วนใหญ่ บางครั้งเวลาที่คนไทยจากบ้านเราไปเที่ยวอินเดีย ถ้าไม่ถูกคนท้องถิ่นทักว่าเป็น “จาปานี” (คนญี่ปุ่น) ก็มักโดนทักว่าเป็นคนนาคาแลนด์หรือคนอัสสัม เพราะหน้าตาเหมือนกันนี่แหละ

ชาวไทในอินเดียมีทั้งที่นับถือพุทธศาสนา แต่โดยมากนับถือศาสนาพื้นเมืองเดิมคือศาสนาผี ต่อมาก็รับศาสนาฮินดูไปบ้าง เช่น ชาวไทอาหม

 

ที่ต้องกล่าวถึงภูมิหลังของภาคอีสานอินเดีย ก็เพราะในรัฐอัสสัมทางอีสานนี้เอง มีสถานที่ซึ่งในเวลานี้คนไทย “สายมู” นิยมและเดินทางไปกันเป็นจำนวนมาก จนเริ่มเป็น “กระแส” มูใหม่ขึ้นมา อีกเพราะมีสายการบินหนึ่งเปิดเส้นทางใหม่ไปยังคุวาหติ (Guwahati) เมืองเอกของรัฐอัสสัมเมื่อไม่นานมานี้

สถานที่แห่งนั้นคือ เทวาลัยเจ้าแม่กามาขยาเทวี (Kamakhya) ตั้งอยู่ในเมืองคุวาหตินี่เอง นับว่าเดินทางสะดวกสบายเพราะบินตรงไปได้เลย

ผมขอใช้คำว่า กามาขยา หมายถึงทั้งองค์เทวีและหมายถึงชื่อของสถานที่ไปด้วยเลยนะครับ เพราะเขาใช้แบบนี้กัน

หลายปีก่อน สมัยที่กามขยายังเป็นที่รู้จักกันในวงแคบ มีเฉพาะพวกนักวิชาการที่สนใจทางโบราณคดีหรือศาสนาของอินเดียที่พอจะได้ยินหรือรู้จัก ผมได้คุยกับศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี ซึ่งน่าจะเป็นคนไทย (จากประเทศไทย) คนแรกที่ไปถึงที่นั่น ท่านเล่าว่าการเดินทางไปกามาขยาสมัยก่อนนั้นยากลำบากเพราะมันไกลมากเหลือเกิน แถมยังมิใช่ที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง แต่ด้วยความเป็นนักโบราณคดี ที่ไหนน่าสนใจก็ต้องดั้นด้นไปให้ได้

อาจารย์เล่าว่า ที่นั่นนอกจากความน่าสนใจทางโบราณคดีและสถาปัตยกรรมแล้ว สิ่งที่น่าแปลกคือมีการบูชายัญด้วยสัตว์ที่ไม่ค่อยพบในการบูชายัญนักเช่น นก นอกจากแพะซึ่งถูกบูชายัญอยู่ทุกวัน

กุมารีกามาขยา ด้านกำแพงทิศเหนือ บริเวณด้านนอกของเทวลัย

“กามาขยา” มีความหมายว่า (พระแม่) “ผู้มีนามว่ากามะ” (กาม-อาขยา) กามะในที่นี้มีความหมายเชิงบวก หมายถึงความปรารถนา (desire) ความสุขทางผัสสะรวมถึงเพศรส ซึ่งเป็นแรงหรือพลังในการก่อกำเนิดสรรพสิ่ง

เจ้าแม่กามาขยาภายในเทวาลัยคือหินธรรมชาติรูปโยนีหรืออวัยวะเพศหญิงซึ่งมีตาน้ำผุดออกมา อย่างเดียวกับหินยายที่เกาะสมุยบ้านเรา ชาวฮินดูเชื่อว่ารูปเคารพศักดิ์สิทธิ์อันเกิดเองตามธรรมชาติ (สวายัมภู) ย่อมจะมีพลานุภาพยิ่งกว่ารูปเคารพที่มนุษย์สร้างขึ้น

ด้านนอกของเทวลัยยังมีรูปเคารพอีกองค์ เขาทำเป็นรูปผู้หญิงท้วมอยู่ในท่าแหกขากว้าง ตรงอวัยวะเพศที่ปรากฏนั้นมีผู้ไปบูชาแต้มเจิมด้วยผงกุงกุมหรือผงสีแดงกันมากมาย ราวกับหญิงสาวที่มีประจำเดือนไหลออกมา

ปัจจุบันปูชารีคงนึกอายจึงไปทำผ้ากระโปรงมาปิดเสียแล้ว เรียกกันว่ากุมารีกามาขยา ถือเป็นรูปกามาขยาที่แพร่หลายมาก ตอนนี้คนไทยนำมาสร้างวัตถุมงคลกันหลายเจ้าแล้ว

แต่ถ้าคุ้นประติมานวิทยาอินเดีย ก็จะเห็นว่าเป็นรูปเจ้าแม่ “ลัชชาเคารี” หรือพระแม่แห่งความอุดมสมบูรณ์หรือการก่อกำเนิดอย่างโบราณ

อีกรูปที่แพร่หลายมาก เขาทำเป็นรูปสตรีหลายเศียรหลายกรประทับบนดอกบัวที่ผุดจากนาภีของพระศิวะ ผู้กำลังอยู่ในโยคะนิทราบนหลังสิงหราช ด้านข้างมีพระพรหมและพระนารายณ์ก้มประนมกรอยู่

รูปนี้สะท้อนความเชื่อของศากตะนิกาย หรือนิกายที่นับถือเจ้าแม่ว่า เจ้าแม่นั้นทรงพลานุภาพยิ่งกว่ามหาเทพบุรุษเป็นไหนๆ เพราะพระองค์คือพลัง (ศักติ) ที่ก่อกำเนิดทุกสิ่งนั่นเอง

 

ตํานานของเทวาลัยกามาขยามีว่า หลังพระแม่สตีกระโดดลงกองไฟตายเพราะทนเห็นสวามีของตนถูกหยามไม่ได้ พระศิวะก็คลุ้มคลั่งฆ่าพระทักษะเสียแล้วแบกศพนางพลางเต้น “ตาณฑวะ” เหาะไปรอบจักรวาล พระวิษณุจึงส่งจักรไปตัดศพเพื่อให้พระศิวะได้สติ ส่วนต่างๆ ของพระแม่จึงตกมาบนโลกกลายเป็น “ศักติปีฐะ” หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระแม่ทั้งห้าสิบเอ็ดที่ อวัยวะ “โยนี” ของพระแม่มาตกยังบริเวณนี้เอง จึงเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์มาก

เป็นมหาศักติปีฐะแห่งแคว้น “กามรูป” ตามที่ปรากฏในคัมภีร์เก่าๆ

เหตุที่โยนีของเจ้าแม่ปรากฏชัดเจนเป็นองค์ประธานเช่นนี้ การบูชาพระแม่จึงเท่ากับบูชาอวัยวะเพศหญิงอย่างตรงๆ กามาขยาจึงเป็นศูนย์กลางของผู้ปฏิบัติ “ตันตระ” ของฮินดู ไม่ว่าจะเป็นทั้งพวกซ้าย (วามจาริน) ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ สัมพันธ์ การฝึกลับต่างๆ รวมทั้งพวกขวาหรือทักษิณจารินซึ่งปฏิบัติภายในกรอบศีลธรรมทางสังคมมากกว่า

เทศกาลสำคัญของที่นี่คือเทศกาลเจ้าแม่มีประจำเดือน เรียกว่าเทศกาลอัมพุวาสีหรืออัมพุพาจี (Ambubachi Mela) เพราะแม่น้ำพรหมบุตรจะเปลี่ยนเป็นแดงขุ่นคลั่ก (จากดินที่มีสีแดง) อยู่สามวันในช่วงต้นฤดูมรสุม วัดจะปิดและเมื่อวัดเปิดอีกครั้ง ผู้เข้าร่วมเทศกาลจะได้รับน้ำและผ้าซับน้ำ (ทำนองเดียวับผ้าซับประจำเดือน) เป็นเทวประสาท

บรรยากาศของกามาขยาจึงเต็มไปด้วยนักบวชในฝ่ายตันตระ นุ่งแดงคล้องมาลัยกระดูกผี บริกรรมท่องบ่นและกระทำพิธีแปลกๆ มีการบูชายัญด้วยสัตว์ มีผงสีแดงที่สาดไปทั่ว กับโยนีของพระแม่ที่ได้รับการกราบไหว้

 

บรรยากาศเช่นนี้ดึงดูดสายมูชาวไทย ซึ่งต้องการความ “แรง” ที่ตรงประเด็น

ผมมั่นใจว่า เจ้าแม่กามาขยาจะเกิดเส้นเรื่องใหม่ๆ ขึ้นในเมืองไทยเป็นแน่ เช่น ในเมื่อบูชาโยนีแล้วก็จะเน้นผลในทางความสมหวังทางเพศ เสน่ห์หรือความรักอะไรทำนองนี้

ซึ่งก็ไม่ได้แปลกอะไรนะครับ ชาวอินเดียเองเวลาเข้าใจคำว่าตันตระก็ยังคิดว่าเกี่ยวกับเรื่องไสยเวทกฤตยาคุณอะไรทำนองนั้นอยู่เลย จึงมีคนอินเดียจำนวนหนึ่งเข้าใจว่า เทวาลัยกามาขยาเป็นศูนย์รวมของไสยเวทมนต์ดำด้วย

อันที่จริงตันตระเป็นระบบที่ซับซ้อน มิใช่เพียงการทอนลงให้เข้าใจว่ายๆ ว่า ปฏิบัติตันตระแล้วต้องเสพกามจนบรรลุธรรม หรือตันตระคือไสยเวทมนต์ดำเท่านั้น การศึกษาตันตระตามขนบจำจะต้องได้รับ “ทีกษา” หรือการอนุญาตจากคุรุจึงจะสามารถปฏิบัติได้

เพราะเป้าหมายของตันตระมิใช่เพียงโภคผลทางโลก แต่มุ่งไปสู่ความหลุดพ้นเลยทีเดียว

เพียงแต่อุปายะหรือวิธีอาจต่างออกไปจากรูปแบบที่เราคุ้นเคย ซึ่งมาจากมโนทัศน์ของตันตระเอง

 

มาถึงตรงนี้ หากมีคำถามว่า สรุปแล้วเจ้าแม่กามาขยาคือใคร

ผมอยากให้ลองอ่านย้อนทวนไปยังย่อหน้าแรกๆ ว่าพื้นที่ของอินเดียส่วนนี้เป็นพื้นที่ของกลุ่มคนพื้นเมือง ซึ่งไม่ได้นับถือศาสนาฮินดูแต่ถือผีมาก่อน

นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าบริเวณโยนีนี้เคยได้รับการสักการะในฐานะที่เป็นเจ้าแม่พื้นเมืองของคนขะสีและคนคะโรในแคว้นเมฆาลัย และน่าจะเป็นที่บูชายัญสัตว์ของชนเผ่ามาอย่างต่อเนื่อง (เดิมว่ากันว่า สัตว์บูชายัญของชนเผ่าแถบนี้คือหมู เช่นเดียวกับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ผมจึงนึกถึงที่อาจารย์เชษฐ์ท่านเล่าว่า ไปเจอการบูชายัญนกที่นั่นโดยที่ไม่เคยเจอที่อื่นเลย

นอกจากนี้ ในคัมภีร์ฝ่ายฮินดูเองเช่นกาลิกาปุราณะและโยคินีตันตระยังกล่าวว่า กามาขยาเป็นของพวก “กิราต” ซึ่งเป็นคำสันสกฤตที่หมายถึง คนดอยหรือชาวเขา

ดังนั้น เจ้าแม่กามาขยาดั้งเดิมคือผีของคนพื้นเมืองของกลุ่มคนไท แล้วถูกนำเข้าระบบฮินดูภายหลัง ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทของพระแม่ลัชชาเคารี เป็นเจ้าแม่ปารวตีตามตำนานในปุราณะและกลายเป็นเทวีในระบบความเชื่อตันตระอย่างเต็มที่

 

การที่พระแม่กามาขยากลายเป็นกระแสขึ้นมานั้น นอกจากความดูแรง หวือหวา มีผู้นำมาเผยแพร่ในวงกว้างโดยอาศัย “ติ๊กต็อก” เป็นแพลตฟอร์มหลัก

อีกเหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะ มีความคุ้นเคยบางอย่างกับคนไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนับถือเจ้าแม่ที่มีความใกล้ชิดกับสตรีและเพศหลากหลายมากกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นชาย หรือรูปลักษณ์ของลัชชาเคารี (กุมารีกามาขยา) ที่ดูคล้าย “อีเป๋อ” อันเป็นเครื่องรางพื้นบ้านของเรา หรือเพราะเบื้องหลังของเจ้าแม่สัมพันธ์กับคนกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกับเราโดยที่ไม่รู้ตัว

จะอย่างไรก็ตาม ผมก็ยังอยากให้เราช่วยกันศึกษาหาความรู้เกี่ยวกัยเจ้าแม่กามาขยากันอีกมากๆ ไม่ว่าในทางไหน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา ภาษาและวัฒนธรรม ฯลฯ แม้ว่าเราจะเน้นมูกันเป็นหลัก

แต่อยากให้มูอย่างมีคุณภาพครับ •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง