ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คำ ผกา |
ผู้เขียน | คำ ผกา |
เผยแพร่ |
คำ ผกา
ปม (ด้อย) ของชนชั้นกลาง
ประเด็น ส.ว.เกศกมล เปลี่ยนสมัย และวุฒิการศึกษาของเธอเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมไทย
และฉันก็เห็นว่า การถกเถียงนี้เผยให้เห็นมายาคติเกี่ยวกับการศึกษา ชนชั้น สถานะของภาษาอังกฤษในสังคมไทย ความคาดหวังของสังคมไทยที่มีต่ออาชีพแพทย์ และความคาดหวังของสังคมไทยที่มีต่อบุคคลที่เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง
แต่น่าเสียดายที่การถกเถียงในแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดีย ทำให้ประเด็นมันกระจัดกระจาย และนำไปสู่การถกเถียงที่ผิดฝาผิดตัว
ท้ายที่สุดบน “การเมืองแบ่งสีแบ่งฝ่าย” การถกเถียงนี้ก็นำไปสู่เรื่องของการ “แบก” ไปแบบงงๆ
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่าภายใต้กติกาแห่งการได้มาซึ่ง ส.ว.ในปัจจุบันนี้ ไม่มี ส.ว.คนใดเป็น ส.ว.ของประชาชนหรือมาจากประชาชนเลยแม้แต่คนเดียว เพราะ ส.ว.มาจากการโหวตของผู้สมัคร ส.ว.ด้วยกันเอง ในแต่ละกลุ่มอาชีพที่ถูกกำหนดเอาไว้
ย้ำว่า ไม่มีประชาชนอยู่ใน “สมการ” การเลือก ส.ว.นี้ จึงนำมาสู่การ “จัดตั้ง” หรือไม่
ไม่ทราบว่า หากเราต้องการเป็น ส.ว. เราก็พากันไปเกณฑ์เพื่อนเราให้เข้าเป็นผู้สมัครให้เยอะๆ แล้วบอกเพื่อนเราให้เลือกเราเป็น ส.ว. โดยที่เราจะจ่ายค่าสมัครให้ ซึ่งก็ไม่อาจทราบได้ ไม่อาจพิสูจน์ใดๆ ได้ว่ามีคนทำแบบนี้จริงหรือไม่
แต่ที่แน่ๆ ประชาชนไม่ได้ไปเลือก ส.ว. และไม่มีคำว่า ส.ว.ประชาชนแน่ๆ เพราะในกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว.นี้ ไม่มีประชาชนอยู่ในนั้น
จากนั้นเราต้องทราบว่า คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัคร ส.ว. ไม่ได้ระบุวุฒิการศึกษาเอาไว้ เพราะฉะนั้น การบรรยายสรรพคุณจึงเป็นการบรรยายเหมือนเป็น “เครื่องประดับ” ไว้เฉยๆ ทีนี้ก็แล้วแต่ว่าผู้สมัครแต่ละคนจะเลือกบรรยายสรรพคุณทางด้านการศึกษาไว้อย่างไร
และอย่างที่เราเห็นว่า เกศกมล ที่ปัจจุบันเป็น ส.ว.นี้ ได้บรรยายสรรพคุณด้านการศึกษารวมถึงสรรพคุณด้านวิชาการของตนเองไว้อย่างพิสดาร ไม่ว่าจะเป็นวุฒิปริญญาเอก หรือตำแหน่งศาสตราจารย์
ความน่าสนใจคือ เกศกมลลงเรื่องราวของเธอในเฟซบุ๊กอย่างเปิดเผยทุกเรื่อง ไม่ปิดบังอะไรเลย ซึ่งอาจเกิดจากเจตนาในการใช้เฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ประชาสัมพันธ์ตัวเอง
และหากเราใช้เฟซบุ๊กอยู่เป็นประจำเราจะพบว่ามีคนอย่างเกศกมลเยอะมาก
ซึ่งฉันคิดว่าหากเราจะอธิบายเกศกมล เราสามารถใช้สำนวนสมัยใหม่ว่าจัดอยู่ในประเภท “วัยรุ่นสร้างตัว” เพราะเราจะพบชื่อมหาวิทยาลัยแปลกๆ พบคุณวุฒิ ประกาศณียบัตรประหลาดๆ รวมไปถึงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่ใกล้เคียงกับคำว่า “กำมะลอ” เพราะใครๆ ก็พึงรู้ว่าตำแหน่งศาสตราจารย์ในประเทศไทยนั้นเป็นตำแหน่งที่ต้องโปรดเกล้าฯ (ฉันพูดไว้ในรายการคุยคลายข่าวทาง nbt ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม)
เว้นแต่ได้ตำแหน่งโปรเฟซเซอร์จากมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศที่ไม่ปรากฏว่าเกศกมลเคยมีอาชีพนักวิชาการในต่างประเทศ
เพราะฉะนั้น เมื่อเราอ่านสรรพคุณทางวิชาการของเกศกมลมันจึงมีความน่าเชื่อถือพอๆ กับที่มีคนเขียนว่า “จบปริญญาเอกจากดาวอังคาร”
ถามว่าเกศกมลทำผิดหรือไม่ และน่าจะมีความผิดในกรณีใดบ้าง?
ก. ขาดคุณสมบัติในเรื่องวุฒิการศึกษาหรือไม่?
คำตอบคือไม่ขาด เพราะ ส.ว.ไม่ได้กำหนดวุฒิการศึกษา
ข. ปลอมวุฒิการศึกษาหรือไม่?
เกศกมลไม่ได้บอกว่าตัวเองจบปริญญาเอกแพทยศาสตร์มหิดล ไม่ได้บอกว่าตัวเองจบคอร์แนล ฮาร์วาร์ด แต่เขียนไปตามจริงว่าจบจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ใครๆ ก็รู้อีกนั่นแหละว่าเป็นเพียงสถาบันเทียบวุฒิ อันไม่สามารถอ้างอิงตาม “มาตรฐานทางวิชาการ” ได้
พูดง่ายๆ ว่าเอาวุฒิปริญญาเอกนี้ไปสมัครเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ไหนก็ไม่มีใครรับ เป็นเพียงกระดาษที่มีไว้เพื่อเอาติดข้างฝาบ้าน เหมือนการติดยันต์ ติดรูปหลวงปู่ เกจิอาจารย์ดังๆ ตามรสนิยมเท่านั้น
ค. การเขียนสรรพคุณเกินจริงเข้าข่ายโกหก หลอกลวง อันนำไปสู่การได้มาซึ่งคะแนนเสียงโดยมิชอบหรือไม่?
ฉันคิดว่าประเด็นนี้มีน้ำหนักมากที่สุดในการเอาผิด ซึ่งแนวทางในการเอาผิดประเด็นนี้คือต้องไปยื่นร้องเรื่องจริยธรรมของนักการเมืองเพื่อให้เพิกถอนสิทธิทางการเมืองของเกศกมลที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ง. ไม่ใช้ศาลทางการเมือง แต่ใช้วิธีฟ้องคดีหลอกลวง ฉ้อโกงตามปกติ หากศาลพิพากษาว่ามีความผิด จำคุก ก็จะทำให้เกศกมลขาดคุณสมบัติโดยอัตโนมัติ
เพราะสิ่งที่เป็นปัญหาในตัวของมันเองในการ “สอย” นักการเมืองโดย “ศาล” ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลที่ใช้วินิจฉัยเรื่องจริยธรรมของนักการเมืองที่กำกวมและเป็นที่ถกเถียงกันว่ามาตรฐานทางจริยธรรมนี้มักถูกใช้เพื่อกลั่นแกล้งหรือกำจัดนักการเมืองคู่แข่งของผู้ที่กำลังครองอำนาจ
ดังเราจะเห็นการตัดสิทธินักการเมืองอย่างธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปารีณา ไกรคุปต์ พรรณิการ์ วานิช สิระ เจนจาคะ
อันเราไม่อาจพูดได้ว่า การตัดสิทธิปารีณากับสิระ นั้นชอบธรรม แต่การตัดสิทธิธนาธรกับพรรณิการ์ ไม่ชอบธรรม เพียงเพราะเรา “รู้สึกว่า” ธนาธรและพรรณิการ์ เป็นนักการเมืองที่ “ดี” กว่าปารีณา หรือสิระ หากเราเป็นคนที่ยึดถือในหลักการประชาธิปไตยจริงๆ
ฉันใดก็ฉันนั้น ในฐานะคนที่สมาทานหลักการประชาธิปไตย เราต้องถามตัวเองดีๆ ว่า เราสามารถเห็นด้วยกับการไปยืมมือศาลมาตัดสิทธิทางการเมืองของเกศกมลจากการเขียน “สรรพคุณ” ทางวิชาการที่เกิดจริงและ “ไม่เนียน” ขนาดนี้หรือไม่?
เพราะหลักการประชาธิปไตยที่ยั่งยืนคือการเคารพสามอำนาจหลัก นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ เท่าๆ กัน
หากการเป็น ส.ว. เป็นตำแหน่งทางนิติบัญญัติ การตรวจสอบลงโทษเกศกมลควรสงวนให้เป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ
เพราะทุกครั้งที่เราอนุญาตให้ศาลมาตัดสิน ตัดสิทธินักการเมือง มันคือการตอกย้ำว่าประชาชนเห็นว่า “ตุลาภิวัฒน์” เป็นเรื่องถูกต้อง ชอบธรรม ควรมีต่อไป
นี่คือประเด็นเกี่ยวกับการเขียนสรรพคุณเหนือจริง เกินจริง ที่โจ่งแจ้ง เห็นชัด เปรียบเป็นโฆษณาก็เป็นโฆษณาแบบฮาร์ดเซลส์ เหมือนการขายครีมที่บอกว่าใช้แล้วหน้าจะขาวภายใน 7 วัน
ตัวฉันไม่กังวลกับการโฆษณาเกินจริงแบบนี้ เพราะมันรู้เท่าทันได้ง่าย ไม่ซับซ้อน
ไม่เหมือนการโฆษณาสรรพคุณเกินจริงที่ “เนียน” แล้วออกแบบมาถูกจริตชนชั้นกลาง
เช่น การตัดเรื่องราวของชายหนุ่มหน้าตาดี จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก แต่ไม่ลงรายละเอียดว่าระบบมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหลายแห่งมีระบบรับนักศึกษาที่มีจดหมายรับรองแนะนำตัวจากผู้นำประเทศ เช่น นายกฯ หรือรัฐมนตรี เขียนจดหมายรับรองให้ ก็สามารถเข้าเรียนในหลักสูตรพิเศษนี้ และรับประกันการจ่ายครบจบแน่ ซึ่งก็ไม่ได้มีความผิดอะไร
จากนั้นก็มีกระบวนการสร้างเรื่องเล่าให้เขากลายเป็นนัการเมืองเลือดใหม่ เป็นแฟมิลี่แมนที่แสนอบอุ่น ยืนอยู่เคียงข้างการต่อสู้ของคนหนุ่มสาว อนิจจา ชัยชนะของเขาถูกปล้นจากพวกนักการเมืองตระบัดสัตย์
แล้วเราก็พร้อมให้อภัยเรื่องบ้านคุณยายที่พระตะบอง
พร้อมจะลืมว่าเขาเล่าเรื่องหลายอย่างในชีวิตของเขาไม่ตรงกัน เช่น ฉากขึ้นเครื่องบินมางานศพพ่อแล้วเจอเหตุการรัฐประหาร เขาถูกถุงดำคลุมกัว เงินในบัญชีถูกอายัด ฯลฯ
การสร้างเรื่องเล่าแบบนี้ไม่ใช่ “อาชญากรรม” และเป็นเรื่องปกติธรรมดาในการทำ “การเมือง”
และฉันก็เชื่อว่าเราควรปล่อยให้กลไกของ “การรู้เท่าทันสื่อ” และเสรีภาพในการแฉ การเปิดโปง การตรวจสอบในสังคมทำงาน ไม่มีการใช้อำนาจในการฟ้องร้องปิดปากประชาชนมาปิดกั้นการ “แฉ” ข้อเท็จจริงของบุคคลสาธารณะ
แนวทางนี้น่าจะทำให้สังคมเราค่อยๆ มีวุฒิภาวะทางการเมืองและเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรมประชาธิปไตย”
สิ่งที่ยืนยันความ hypcrite อย่างมากของชนชั้นกลางไทยที่มีการศึกษาและ “รู้ตัว” ตลอดเวลาว่าตัวเองมีการศึกษาคือ ความพยายามจับโป๊ะเกศกมลด้วยการให้เธอพูดภาษาอังกฤษในรายการโทรทัศน์ ทั้งๆ ที่ชื่อมหาวิทยาลัยในสรรพคุณของเกศกมลมันโจ่งแจ้งอยู่แล้วในความ “ไม่ใช่มหาวิทยาลัยในความหมายมาตรฐาน” แต่เป็นเพียงสถาบันเทียบวุฒิ
ดังนั้น การให้เกศกมลมาโชว์สกิลภาษาอังฤษในรายการโทรทัศน์มันไม่ทำร้ายเกศกมลเท่ากับมันตอกย้ำสำนึกปมด้อยของคนพื้นเมืองในประเทศราชอาณานิคมที่ปกครองเมืองขึ้นด้วยการทำให้คนพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งเป็น “หัวหน้า” ของคนพื้นเมืองส่วนใหญ่ ผ่านระบบการศึกษา และทักษะภาษาของเจ้าอาณานิคมไปพร้อมกับการทำให้คนพื้นเมืองที่เหลือเชื่อฝังหัวว่า ตัวเราไม่ดีพอที่จะครอบครองภาษาของประเทศแม่ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ หรือฝรั่งเศส
กลไกที่ทำให้คนพื้นเมืองส่วนใหญ่เชื่อเช่นนั้น เช่น การหัวเราะเยาะ ถากถางดูแคลนภาษาอังกฤษที่แหว่งวิ่น ขาดๆ เกินๆ ของคนชั้นล่าง
การทำงานทางภาษา การศึกษา การเมือง อำนาจ การก่อตัวของชนชั้นกลางในฐานะเครื่องมือพยุงอำนาจของ “ผู้ปกครอง” เป็นการทำงานเชิงอุดมการณ์ที่เราเรียกว่าการกล่อมเกลาทางสังคมผ่านเครื่องมือหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา แบบเรียน สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ นิตยสาร นวนิยาย อิทธิพลของปัญญานสาธารณะ และมักเป็นกลไกลการทำงานเชิงความคิดที่เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และเราไม่รู้ตัว
จะเห็นอีกทีมันก็เซ็ตตัวเป็น “มาตรฐาน” ทางความดี ความงาม ความจริง มารยาท ไร้มารยาท รสนิยม ไร้รสนิยม หรือที่เรียกรวมๆ ว่า อะไรจะนับเป็น respectability ในสังคมนั้นๆ
เรามีวิธีตรวจวุฒิปลอมของเกศกมลได้อีกร้อยอย่าง แต่ไม่มีอย่างไหนที่จะทำให้เรา “สนุกอยู่ในใจ” เท่ากับการเอาเกศกมลมาประจานในหน้าจอว่า คนคนนี้พูดภาษาอังกฤษไม่ได้
ไม่ต่างอะไรกับการตรวจจับว่าใครเป็นคนต่างด้าวโดยการให้ร้องเพลงชาติไทยให้ฟัง บนมุขตลกเรื่องคนต่างด้าวร้องเพลงชาติไม่ได้ และร้องไม่ชัด
สําหรับฉัน สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในปรากฏการณ์เกศกมลไม่ใช่เรื่องปริญญาใจปริญญาปลอม แต่มันเปลือยให้เห็นถึงภาวะไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย และปมด้อยของคนชั้นกลางไทย ที่อยู่สภาพกลับไม่ได้ ไปไม่ถึงมาตลอดประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของไทยนับตั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ชนชั้นกลางไทยมีสถานะที่สูงกว่าเหนือกว่าชาวบ้าน ชาวนา คนจน ด้วยโอกาสทางการศึกษา และในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ชนชั้นกลางควรเป็นพันธมิตรกับชาวบ้าน ชาวนา และคนจน
ทว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั้นไม่ได้นำไปสู่กระบวนการ decolonization เหตุเพราะฝ่ายจารีตช่วงชิงการนำได้ในท้ายที่สุด
นี่คือเหตุผลที่ฉันอยากให้ใครต่อใครได้อ่านหนังสือ “เลือดสีน้ำเงิน ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรมของมติชนนี่แหละ
พูดในภาษาชาวบ้านคือ ชนชั้นนำไทย “ร้อยก้นชนชั้นกลางไว้ใช้” โดยมอบโอกาสทางการศึกษาให้ประมาณหนึ่ง เพียงพอที่จะสูงส่งกว่าชาวบ้าน ชาวนา มอบโอกาสทางเศรษฐกิจให้ประมาณหนึ่ง พร้อมๆ กับมอบชุดทางศีลธรรมให้ชนชั้นกลางภูมิใจว่า ตนเองนั้นมีวิถีการกิน การอยู่ จริยธรรมว่าด้วยความซื่อสัตย์ ครอบครัวอบอุ่น จริยศาสตร์แห่งการทำงานหนักโดยซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อให้ชนชั้นกลางรู้สึกว่าแม้ตนเองจะไม่รวยเท่าเจ้าสัว แต่ก็มี “รสนิยม” ที่ดีกว่าเจ๊กบ้า
พร้อมกันนั้นก็มีความเหนือกว่าชาวบ้าน ชาวนา เพราะมีการศึกษาที่ดีกว่า ความภูมิใจที่หล่อเลี้ยงอัตลักษณ์ของชนชั้นกลางคือ มีการศึกษาที่ดีกว่าชาวบ้าน ชาวนา และมีรสนิยมที่ดีกว่าเจ๊กบ้า ขณะเดียวกันก็มีจริยธรรมทางเพศที่สูงกว่าพวกคนชั้นสูงที่มากผัวหลายเมีย
ด้วยสำนึกทางศีลธรรมที่เหนือกว่านี้มันจึงไปอยู่ในสมการที่ไม่ Trust หรือไม่ไว้ใจ “เสียงข้างมาก” เพราะเสียงข้างมากคือ ชาวบ้าน ชาวนา ที่ไร้การศึกษา โง่ จน เจ็บ แล้ว เสียงข้างมาก โง่ จน เจ็บ นี้ก็เป็นเหยื่อของ “เจ๊กบ้า” นายทุนทั้งที่เป็นนัการเมืองเอง และเป็นนายทุนหนุนหลังนักการเมืองและพรรคการเมือง
กระบวนการนี้เกิดขึ้นโดยที่ชนชั้นกลางเหล่านี้มักลืมว่าตัวเองก็เป็นเจ๊กด้วยเพราะถูกกระบวนการกล่อมเกลาให้เป็น “ไทย” ผ่านระบบการศึกษา วรรณกรรม ละคร นิยายสี่แผ่นดินต่างๆ
ในหลายครั้ง ชนชั้นกลาง จึงรู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง เกลียดทั้งชนชั้นนำจารีต (ที่ตัวเองลึกๆ ก็บูชาเขา) เกลียดนายทุนเจ้าสัว (แต่ก็อยากรวยมากๆ แบบเขา) ไม่ชอบชาวบ้าน ชาวนา เพราะโง่ จน เจ็บ (แต่ก็ไฝ่ฝันถึงชีวิตชนบทแสนงาม ชาวบ้านแสนใจดีแบบมานี มานะ ปีติ ชูใจ)
ชนชั้นกลางจึงใฝ่ฝันอยากมีตัวแทนของตัวเองในรูปแบบของพรรคการเมืองมาโดยตลอด ซึ่งในอดีตคือพรรคประชาธิปัตย์
ความฝันของชนชั้นกลางใกล้เคียงความจริงที่สุดในยุครุ่งเรืองอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนักการเมืองในดวงใจเป็นไอดอลตลอดกาลของชนชั้นกลางคือ ชวน หลีกภัย และ อานันท์ ปันยารชุน
แต่แล้วประชาธิปัตย์ก็ตกต่ำลง จากความย้อนแย้งของชนชั้นกลางเองที่ปากบอกว่าเป็นประชาธิปไตยแต่ดันไปเชียร์รัฐประหารเพราะรับไม่ได้กับรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมากอันเป็นเสียงของชาวบ้าน ชาวนาที่ตนเองเห็นว่าโง่ ถูกซื้อโดยพวกนักการเมืองนายทุนชั่ว
และเหมือนฟ้าประทาน ฉันเห็นว่า ณ วันนี้ พรรคการเมืองที่บรรเทาความอ้างว้างโดดเดี่ยวของชนชั้นกลางไทยได้คือพรรคก้าวไกล ที่มาปิดจุดอ่อนของประชาธิปปัตย์จากบาดแผลที่อภิสิทธิ์สร้างไว้ปี 2553 และมรดกของ กปปส. ฝีมือของสุเทพ เทือกสุบรรณ
พรรคก้าวหน้ามีครบทุกอย่างตามความใฝ่ฝันของชนชั้นกลาง นั่นคือ
– เป็นภาพตัวแทนของ “ความมีการศึกษาในอุดมคติ”
– ภาพของคนหนุ่มสาวผู้เกรี้ยวกราดโกรธแค้นต่อความอยุติธรรม
– ภาพของเทคโนแครตผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ
– ภาพของลูกชายนายทุนหมื่นล้านผู้เป็นกบฏ กลายเป็นไพร่หมื่นล้านอุทิศตนเป็นวัวงานให้ประชาชน
– นักการเมืองสาวสวยใจเด็ดเหมือนตัวละครในนิยายทมยันตี
– นักการเมืองหนุ่มไฟแรงที่เห็นหยกในดวงตาของลูกสาวผู้กินอุปสรรคเป็นอาหารเช้าและถูกคนชั่วปล้นชัยชนะ
แม้จะมีนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของความใฝ่ฝันของชนชั้นกลางที่เขาคิดว่า เขา “เหนือ” กว่าทุกคนไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรู้ โลกทัศน์ รสนิยม จริยธรรม ความเสียสละ การศึกษา และการที่ชนชั้นที่ดีพร้อมนี้จะได้เป็นรัฐบาล บริหารบ้านเมืองมันอยู่แค่เอื้อม
แต่ความฝันนั้นกลับต้องหลุดลอยไปอย่างน่าเจ็บใจที่สุด
และฉันก็เข้าใจความเจ็บใจนั้น อุตส่าห์มี ส.ส.เป็นอันดับหนึ่งแต่กลับไม่ได้เป็นรัฐบาล
แล้วเมื่อมีการสรรหา ส.ว. มันจึงเป็นการเติมความฝันของชนชั้นกลางอีกครั้งว่า แม้กติกาจะประหลาดสักเพียงใด พลังของ “ฝ่ายประชาชน” จะไปช่วงชิงเก้าอี้ของ ส.ว.มาให้มากที่สุดให้จงได้ สิ่งนี้จึงสะท้อนออกมาในคำพูดว่า ส.ว.พันธุ์ใหม่บ้าง ส.ว.ประชาชนบ้าง ส.ว.สีขาวบ้าง (ที่แสนจะประหลาดด้วยตัวของมันเอง)
แต่ปรากฏว่า ฝ่ายชนชั้นกลางกลับแพ้ยับในการสรรหา ส.ว.ครั้งนี้ แล้วมีคนแบบเกศกมลโผล่ออกมา
สำหรับฉันมันไม่มีอะไรจะ sore eyes เท่ากับทุกสิ่งทุกอย่างที่ประกอบรูปออกมาเป็นเกศกมล ไม่ว่าจะเป็นการแต่งหน้า เสื้อผ้า ทรงผม การศึกษา การพรีเซนต์ตัวเอง การระบุตำแหน่ง สรรพคุณทางวิชาการ
มันเป็นสิ่งที่ผิดทุกข้อในมาตรฐานความ respectability อันเป็น “ศาสนา” ของชนชั้นกลาง
ชนชั้นกลางเหล่านี้จึงต้องออกมากรีดร้องระบายความเจ็บปวดในชีวิตของตัวเองอย่างหนัก (และเป็นการอวดจริยศาสตร์เรื่องขยัน ประหยัด อดทน สง่างามของตนเองไปกลายๆ)
ทุกคนพากันเอาเปเปอร์ที่ตีพิมพ์ในระบบที่ scorpus รับรอง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าที่นี้ก่นด่าว่าอี scorpus นี้ไม่เป็นธรรม บลา บลา
ขุดรูปสมัยตัวเองเรียนปริญญาโท ปริญญาเอกหัวฟูออกมาโพสต์ว่า ดูสิ เรียนปริญญาเอกของจริงต้องหัวล้าน ผมหงอก หน้าเหี่ยว ฉันจน ฉันหนาว ฉันเรียนหนัก กว่าฉันจะประสบความสำเร็จ ชื่นชมฉันสิ!!!
ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งคนหัวก้าวหน้าและอนุรักษนิยม พากันเดือนร้อนว่า ตำแหน่งศาสตราจารย์กว่าจะได้มันยากมากนะ ในประเทศไทยเนี่ย ดูสิ ฉันเกษียณแล้ว ฉันก็ยังไม่ได้เลย หรือใครที่ได้แล้วก็จะบอกว่า ดูสิกว่าฉันจะได้มา มันไม่ง่ายเลยนะ
บางจำพวกก็มาเป็นตำรวจตรวจจับแกรมม่า เล็กเชอร์เรื่องภาษาศาสตร์ ออกสื่อเป็นวรรคเป็รเวร แบบมีแพสชั่นสูงมาก
ทั้งที่การจับโป๊ะว่าเกศกมลโกหกแล้วนำไปสู่การถอดถอน กับการนั่งโพสต์รูปตัวเองใส่ชุดครุยรับปริญญาหรือการประกาศตัวเองผมร่วงไปกี่เส้นตอนเขียนวิทยานิพนธ์ ไม่มีอะไรสัมพันธ์กันแม้แต่น้อย
นอกจากเป็นการเปิดเปลือยความอ้างว้าง โดดเดี่ยว ไม่มั่นคง ไม่เคยสนิทใจในสถานะทางสังคม เศรษฐกิจของเหล่าชนชั้นกลางผู้มานะบากบั่นแต่ไม่อาจขึ้นไปยืนหนึ่งในที่ไหนได้สักที
เพราะชนชั้นกลางไม่ยอมรับความจริงว่านี่แหละคือแก่นสารของ “ความเป็นคนชั้นกลาง”
ดังนั้น ปมด้อยของชนชั้นกลางไทยที่โตมาสังคมแบบกึ่งอาณานิคมคือ ลึกๆ อยากเป็นเจ้าอาณานิคม ลึกๆ อยากสูงส่งกว่าใคร ลึกๆ อยากเป็นชนชั้นนำ ดังนั้น จึงโกรธเสมอเมื่อเห็นใครสักคนที่ “ไม่เข้าพวกกับเรา” ได้ และมีในสิ่งที่ไม่ควรมีตามมาตรฐานของเรา
ทั้งหมดนี้ฉันยืนยันว่า ไม่ได้เข้าข้างเกศกมล และสนับสนุนการตรวสอบเกศกมล เท่ากับการตรวจสอบความอ้างว้างของชนชั้นกลางแบบเราๆ ท่านๆ ไปพร้อมๆ กันด้วย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022