น้ำศักดิ์สิทธิ์ (2) : จำลองแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ตามปรัมปราคติ จากชมพูทวีป

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

การบูชา “ตาน้ำ” หรือต้นน้ำศักดิ์สิทธิ์ อย่างที่ผมได้เล่าให้ฟังไปในตอนที่แล้วนั้น ก็มีปรากฏอยู่ในพิธีกรรม และความเชื่อของอินเดีย แม้จนกระทั่งทุกวันนี้ด้วยนะครับ

ดังจะเห็นได้จากประเพณีที่จะทำการ “ยาตรา” คือเดินขึ้นไปนมัสการ “ต้นกำเนิด” ของแม่น้ำคงคา บนเทือกเขาหิมาลัย

แน่นอนว่า ต้นกำเนิดของแม่น้ำคงคานั้น ก็คือ “ตาน้ำ” นั่นเอง

แต่พ่อพราหมณ์เขาผูกเรื่องเล่าให้เป็นอย่างเทพนิยายเอาไว้ว่า แม่น้ำคงคานั้นไหลลงมาจากสรวงสวรรค์ โดยเมื่อแม่น้ำคงคาไหลออกจาก “โคมุขี” คือ ท่อน้ำรูปปากโค อันเป็นดินแดนในปรัมปราคติ แล้วก็จะไหลลงสู่พื้นที่บริเวณที่เรียกว่า “คงโคตรี” (Gangotri) อันเป็นดินแดนที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งบนเทือกเขาหิมาลัย เพราะเป็นสถานที่ที่แม่น้ำคงคาตกลงสู่โลกมนุษย์

บางตำราได้ให้รายละเอียดไว้แตกต่างออกไปว่า แต่เดิมแม่น้ำคงคาไหลอยู่เฉพาะบนสวรรค์เท่านั้น แต่ต่อมากษัตริย์ที่มีนามว่า สาคร แห่งราชวงศ์อิกษวากุ ได้ทำบาปมหันต์ ที่ไม่สามารถลบล้างได้ ยกเว้นแต่จะได้ชำระบาปด้วย “น้ำ” จากแม่น้ำคงคาเท่านั้น

ดังนั้น ลูกหลานของพระองค์คือ กษัตริย์ภาคีรสจึงต้องบำเพ็ญตบะเพื่ออัญเชิญพระแม่คงคาลงมาจากสรวงสวรรค์จนสำเร็จ

แต่เรื่องก็ไม่ได้ง่ายๆ เพียงแค่นั้น เพราะพระอิศวร (องค์เดียวกันกับ พระศิวะ) ทรงเล็งเห็นว่า พระแม่คงคามีมวลมหาศาล หากกระทบลงสู่แผ่นดินโดยตรง ผืนโลกก็จะแตกเป็นเสี่ยงๆ (ในภาษาสันสกฤตนั้น คำว่า “คงคา” แปลตรงตัวว่า “ผู้ไปเร็ว”)

พระอิศวรจึงได้เสด็จไปประทับยืนแน่นิ่งเพื่อรองรับแม่น้ำคงคาเอาไว้ในมวยพระเกศาของพระองค์ นัยว่าเป็นการชะลอความแรงของแม่น้ำคงคา ก่อนจะไหลลงสู่พื้นโลกในบริเวณคงโคตรีนั่นเอง

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยสักนิดที่ “แม่น้ำคงคา” จะถูกชนชาวชมพูทวีปนับถือในฐานะ “พระแม่คงคา” และพื้นที่บริเวณคงโคตรีนั้นจะกลายเป็นสถานที่แสวงบุญ ของศาสนิกชนในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูทั้งหลาย โดยมีเทวสถานของพระแม่คงคาที่ชื่อ “คงโคตรีมณเฑียร” ประดิษฐานอยู่ที่นั่น

และที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ทั้งหมดนี้ก็คือที่มาของพิธีกรรมความเชื่อที่เรียกว่า “กุมภะ เมลา” (Kumbha Mela) ที่เป็นการใช้น้ำจากแม่น้ำคงคา ที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ในการชำระล้างบาปทั้งมวลนั่นเอง

 

แต่แม่น้ำที่ชนชาวชมพูทวีปนับถือกันว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์นั้น ไม่ได้มีเฉพาะ “แม่น้ำคงคา” เท่านั้น ดังจะเห็นได้จากการที่มีแม่น้ำอีกสายหนึ่ง ที่ถูกนับถือคู่กับแม่น้ำคงคา ในฐานะของ “พระแม่” ก็คือ “แม่น้ำยมุนา”

ดังปรากฏมีรูปเคารพของพระแม่คงคา กับพระแม่ยมุนา ประทับอยู่เคียงคู่กันอยู่ในเทวสถานพราหมณ์-ฮินดู อยู่หลายครั้ง

“พระแม่สรัสวตี” หรือที่เรียกอย่างเคยปากคนไทยมากกว่าว่า “พระแม่สุรัสวดี” ที่พ่อพราหมณ์ยกให้เป็นชายาของมหาเทพอย่าง พระพรหม นั้น ก็เป็นเทพีประจำแม่น้ำสายสำคัญอีกองค์หนึ่ง

ถึงแม้ว่า แม่น้ำสรัสวตี (หรือ สุรัสวดี เช่นเดียวกับชื่อของพระแม่) จะเหือดหายไปมากกว่า 4,000 ปีมาแล้ว แต่ก็เป็นแม่น้ำสายหลักที่ใช้หล่อเลี้ยงวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ควบคู่ไปกับตัวแม่น้ำสินธุ ที่ยังไม่เหือดหายไปจนกระทั่งทุกวันนี้

วัฒนธรรมดังกล่าวเจริญอยู่ในช่วงระหว่าง 5,000-3,000 ปีมาแล้ว อันเป็นช่วงที่ได้มีการประพันธ์คัมภีร์ที่พวกพราหมณ์ถือกันว่า ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดคือ คัมภีร์พระเวท โดยในคัมภีร์ดังกล่าว ได้มีโศลกสรรเสริญพระแม่สรัสวตีอยู่หลายแห่ง ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเทพีองค์นี้ ไปพร้อมๆ กับแม่น้ำสรัสวตีในยุคที่ยังไม่เหือดหายไปได้เป็นอย่างดี

แน่นอนว่า แม่น้ำสำคัญ ที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ในอินเดียยังมีอีกหลายสาย โดยเฉพาะชุดแม่น้ำ 5 สาย ที่เรียกรวมๆ กันว่า “ปัญจมหานที” ประกอบด้วย คงคา, ยมุนา, มหิ, สรภู และอจิรวดี แต่ที่ถูกพูดถึงกันมากที่สุดนั้นก็คงไม่พ้น แม่น้ำคงคา ซึ่งก็คงเป็นเพราะความเชื่อที่ว่าเป็นแม่น้ำที่ไหลลงมาจากสรวงสวรรค์

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยนะครับ ที่ภาพจิตรกรรมใน “สมุดภาพไตรภูมิ” สมัยกรุงศรีอยุธยานั้น จะวาดรูปแม่น้ำคงคาไหลออกมาจากสวรรค์ ที่ศูนย์กลางของจักรวาล อันมีเขาพระสุเมรุ เป็นประธาน แล้วเชื่อมต่อกับแม่น้ำสายต่างๆ แล้วค่อยๆ ไหลเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนที่จะออกไปยังทะเลที่อ่าวไทย

 

แน่นอนว่า ในโลกของความเป็นจริงแล้ว แม่น้ำต่างๆ ในอุษาคเนย์เรานั้น ไม่ได้เชื่อมต่อกับแม่น้ำคงคาเลยสักนิด แต่ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า จุดมุ่งหมายสำคัญอย่างหนึ่งในการวาดสมุดภาพไตรภูมิขึ้นมาก็คือ การเชื่อมโยงกรุงศรีอยุธยาเข้าเป็นส่วนหนึ่งในจักรวาล หรือโลกแบบปรัมปราคติอันศักดิ์สิทธิ์ของชมพูทวีป การเชื่อมโยงสายน้ำของตนเองเข้ากับแม่น้ำที่ไหลตรงมาจากสรวงสวรรค์ที่ศูนย์กลางของจักรวาล จึงเป็นกลวิธีการผนวกตนเองเข้าไปส่วนหนึ่งของจักรวาลอันศักดิ์สิทธิ์นี้อย่างวิเศษ

ถึงแม้อะไรที่เรียกว่า “สมุดภาพไตรภูมิ” นั้น จะสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา ในพระพุทธศาสนา แต่ในศาสนาพุทธเองก็ถือว่าแม่น้ำคงคาศักดิ์สิทธิ์ด้วยเช่นกัน ที่สำคัญก็คือ ในตำราประเภทโลกศาสตร์ คือไตรภูมิ ของพุทธศาสนานั้น ก็มีความเชื่อคล้ายๆ กับในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูว่า น้ำทั้งหลายในทั้งจักรวาลนี้ มีต้นน้ำมาจาก “สระอโนดาต” ที่จะว่าไปแล้วก็คือ ตาน้ำศักดิ์สิทธิ์ในปรัมปราคติ

“น้ำ” ในสระอโนดาตนี้ จะเย็นฉ่ำตลอดทั้งปี เพราะมีที่ตั้งอยู่ที่เชิงเขาพระสุเมรุ และมีเงาของภูเขาจักรวาลแห่งนี้ทาบทับอยู่โดยตลอด ที่สำคัญก็คือถือกันว่าเป็น “น้ำศักดิ์สิทธิ์” ที่ใช้ล้างบาปกรรมได้ ไม่ต่างจากน้ำในแม่น้ำคงคา

หลายครั้งวัดในศาสนาพุทธ โดยเฉพาะที่เกาะศรีลังกา จึงมักจะแกะสลักรูปสระอโนดาตจำลองไว้บนแผ่นหินรูปครึ่งวงกลม ที่เรียกว่า “อัฒจันทร์” (แปลตรงตัวว่า จันทร์ครึ่งดวง) ซึ่งวางไว้ที่พื้นทางเข้าประตูของพระสถูป นัยว่าเป็นการล้างบาปให้กับผู้ที่มานมัสการสถูปเจดีย์นั่นเอง

ตำราไตรภูมิของศาสนาพุทธยังอ้างต่อไปด้วยว่า ที่สระอโนดาตมีท่อน้ำที่ส่งน้ำไหลจากสระออกไปยังส่วนต่างๆ ของโลกอยู่ 4 ท่อ แต่ละท่อมีรูปเป็นสัตว์ประจำทิศทั้ง 4 อันได้แก่ สิงห์ ประจำทิศตะวันออก, ม้า ประจำทิศตะวันตก, ช้าง ประจำทิศเหนือ และโค ประจำทิศใต้ อันเป็นทิศของชมพูทวีป ที่เป็นดินแดนของมนุษย์

รายละเอียดตรงนี้ชวนให้นึกเปรียบเทียบกับความเชื่อเรื่อง แม่น้ำคงคาไหลจากสวรรค์ผ่านปากโค แล้วของไหลทอดลงมาที่คงโคตรี ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งก็คงจะมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ไม่มาก ก็น้อยนั่นแหละครับ

 

ในวัฒนธรรมเขมรโบราณ ยุคที่ยังมีการสร้างปราสาทหินขนาดใหญ่นั้น ได้มีการสร้าง “สระอโนดาตจำลอง” ขึ้นมาด้วย นั่นก็คือ “ปราสาทนาคพัน” (หรือที่เรียกตามสำเนียงเขมรว่า ปราสาทเนียกเพียน) ที่สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ.1750 ในรัชสมัยของกษัตริย์ผู้นับถือศาสนาพุทธ แบบมหายาน อย่างพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้สร้างเมืองพระนครหลวง คือนครธม

ที่ส่วนฐานของปราสาทประธาน ของปราสาทแห่งนี้ แกะสลักเป็นรูปพญานาค 2 ตน ที่ชื่อ นันทะ กับอุปนันทะ พันอยู่ที่ฐานปราสาท ซึ่งก็คือที่มาของชื่อนาคพัน ตัวปราสาทสร้างอยู่ในสระน้ำ ที่มีท่อต่ออกมายังสระเล็กๆ อีก 4 สระ ตามทิศต่างๆ แน่นอนว่า ทั้ง 4 สระนี้ย่อมมีท่อที่สลักเป็นรูปสัตว์ประจำทิศทั้ง 4 ตามคติเรื่องสระอโนดาตด้วย

อย่างไรก็ตาม ท่อทั้ง 4 อันหมายถึงท่อน้ำที่ส่งผ่านน้ำจากสรวงสวรรค์ไปยังทั่วทั้งสากลจักรวาล (ในที่นี้ย่อมหมายถึง จักรวรรดิเขมรของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7) กลับมีรายละเอียดที่แตกต่างไปจากตำราไตรภูมิของพระพุทธศาสนา

เพราะที่ปราสาทนาคพันนี้ได้สลักท่อน้ำรูปหัวช้างไว้ทางทิศเหนือต้องตรงตามตำรา แต่กลับสลักท่อน้ำรูปหัวม้าไว้ทางทิศตะวันออก (แทนที่จะเป็นหัวสิงห์), ท่อน้ำรูปหัวสิงห์ไว้ทางทิศใต้ (ทั้งที่ควรจะเป็นหัวโค) และท่อน้ำรูปหัวมนุษย์ แทนที่รูปหัวโค ไว้ทางทิศตะวันตก (ทิศตะวันตกตามตำราควรเป็นหัวม้า)

เป็นไปได้ว่า ลักษณะความเชื่อแบบพื้นเมืองของอุษาคเนย์ ทำให้มีการนำ “หัวมนุษย์” ที่ถูกนำมาแทนที่ “หัวโค” ที่เกี่ยวข้องกับ “แม่น้ำคงคา”

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคำอธิบายที่น่าพึงใจมากพอสำหรับกรณีดังกล่าว ที่ปราสาทนาคพัน

 

ในไทยเองก็มีการจำลองแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จากชมพูทวีป เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ด้วยเช่นกัน ดังมีตัวอย่างชัดเจนจาก สระสี่สระ จ.สุพรรณบุรี ที่ประกอบไปด้วย สระแก้ว สระคา สระยมนา และสระเกษ

แน่นอนว่า สระคา ก็คือ สระคงคา และสระยมนา ก็คือ สระยมุนา อันเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย ในขณะที่สระแก้ว กับสระเกษ นั้น ใช้คำมงคลพื้นเมืองมาตั้งเป็นชื่อของสระ เพื่อทำให้เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างความเชื่อพื้นเมือง กับปรัมปราคติจากอินเดียที่เข้ามาผสมผสานกัน ในเรื่องความศํกดิ์สิทธิ์ของแหล่งน้ำได้เป็นอย่างดี

อันที่จริงแล้ว การจำลองความศักดิ์สิทธิ์นี้ของแม่น้ำนี้ ก็ไม่ได้มีเฉพาะที่อิมพอร์ตชื่อศักดิ์สิทธิ์มาจากอินเดียอย่างเดียวเท่านั้นนะครับ แต่ก็มีที่นำเข้ามาจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่อื่นๆ ด้วย

เช่น ชื่อของ “แม่น้ำยม” อันเป็นแม่น้ำหนึ่งในสี่สาย ที่จะไหลรวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ก็ได้ชื่อมาจาก “หน่ำโส้ม” หรือ “หน่ำโสม” (คือ “น้ำยม” ในภาษาไทย) อันเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทย-ลาว

เพราะแม่น้ำแห่งนี้คือสายน้ำที่ไหลออกมาจาก “นาน้อยอ้อยหนู” อันเป็นสถานที่กำเนิดมนุษย์ ตามคติของพวกไทยดำ ดังที่ผมได้เล่าให้ฟังไว้ในตอนที่แล้วนั่นแหละครับ

การจำลองแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในอุษาคเนย์ จึงมีทั้งแหล่งน้ำตามความเชื่อในศาสนาพุทธ และพราหมณ์-ฮินดู จากชมพูทวีป และแหล่งน้ำตามตำนานในสาสนาผีพื้นเมืองของอุษาคเนย์ เป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่แบ่งแยกศาสนาความเชื่อ •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

น้ำศักดิ์สิทธิ์ (1) : ตาน้ำศักดิ์สิทธิ์ สถานที่ก่อกำเนิดชีวิตและความอุดมสมบูรณ์