
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | วิรัตน์ แสงทองคำ |
ผู้เขียน | วิรัตน์ แสงทองคำ |
เผยแพร่ |
ว่าด้วยกลุ่มธุรกิจหนึ่งซึ่งโลดโผน โดดเด่น ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
จากสมมุติฐาน อ้างอิงสื่อระดับโลก (www.forbes.com) เปิดโฉมทำเนียบผู้มั่งคั่งไทย เชื่อว่าจะให้ภาพรวมความเป็นไปสังคมธุรกิจไทยได้บ้างในบางแง่มุม
อ้างอิงจากทำเนียบ Thailand’s 50 Richest 2024 จัดเป็นประจำโดยสื่ออเมริกันมีชื่อ – Forbes (https://www.forbes.com/) จากรายชื่อต้นตารางทำเนียบ เป็นที่คาดๆ กันอยู่แล้ว ในนั้นมีภาพกว้างๆ ลางๆ บางภาพซ่อนอยู่ด้วย
จากความสนใจ คนคนหนึ่ง สู่คนอื่นๆ และขยายไปสู่ธุรกิจเกี่ยวข้องสอดคล้องกัน นั่นคือเรื่องราวเริ่มต้น จาก สารัชถ์ รัตนาวะดี (อันดับ 5) ไปยัง Harald Link (อันดับ 16) อิสระ ว่องกุศลกิจ (อันดับ 24) และ สมโภชน์ อาหุนัย (อันดับ 32)
สารัชถ์ รัตนาวะดี (วัย 59 ปี) ผู้สร้างอาณาจักรธุรกิจเติบโตอย่างน่าทึ่ง ด้วยปรากฏตัวขึ้นราวทศวรรษเดียว สามารถแสวงหาโอกาสในจังหวะที่หาไม่ได้ง่ายนัก ให้ภาพสังคมไทยบางภาพค่อนข้างหยุดนิ่ง เกี่ยวกับความสำคัญสายสัมพันธ์ผู้มีอำนาจ บวกกับบริบทเกี่ยวข้องกับจังหวะและโอกาสที่มาถึง
ว่าไปแล้วโอกาสที่ว่า เปิดขึ้นและเป็นมาช้าๆ ตั้งแต่ยุคทศวรรษ 2530 เมื่อมีการปฏิรูปกิจการผลิตไฟฟ้าครั้งใหญ่ ในสถานการณ์ซึ่งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสำคัญ-การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่อาจแบกรับภารกิจได้ตามลำพัง ในปี 2537 เปิดโอกาสครั้งแรกให้เอกชนเข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ในรูปแบบที่เรียกว่า Independent Power Producer (IPP)
ตามโมเดล ว่าด้วยโอกาสและความมั่งคั่งใหม่ในสังคมไทย มักเริ่มต้นจากศูนย์กลางอำนาจ ผู้ทรงอิทธิพล ผู้มีสายสัมพันธ์ เฉกเช่นเดียวกันกรณีครึกโครมยุคต้นอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ “โชติช่วงชัชวาล” แม้อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่กรณีโรงไฟฟ้าเอกชน ดูมีความสำคัญไม่มาก บวกกับขั้นตอนอย่างช้าๆ ความเป็นไปค่อนข้างเงียบๆ
อย่างไรก็ตาม “ผู้เล่น” ดั้งเดิมได้เข้ามาในเวทีใหม่ด้วยกันหลายราย
รายหนึ่งที่น่าสนใจ มองผ่าน Harald Link ไปยัง บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRI ในฐานะเป็นเครือข่ายกิจการรากฐานในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่รัชสมัย ร.5
“ในปี พ.ศ.2421 หรือ ค.ศ.1878 ชาวยุโรปสองท่าน…เภสัชกรชาวเยอรมันชื่อ แบร์นฮาร์ด กริม…กับหุ้นส่วนชาวออสเตรียชื่อ แอร์วิน มุลเลอร์ ได้เดินทางมายังประเทศไทยและก่อตั้งห้างจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมและเคมีภัณฑ์ขึ้นที่ถนนโอเรียนเต็ล ห้างนี้ชื่อว่าสยามดิสเปนซารี่ ถือเป็นร้านยาในรูปแบบแพทย์สมัยใหม่แห่งแรกในประเทศไทย” (https://bgrimmgroup.com/th)
เดินมาถึงจุดเปลี่ยนหนึ่งในรุ่นที่ 4 พลิกกิจการเก่าซึ่งดูซบเซาไปหลายทศวรรษ มาสู่ยุคใหม่ “เริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2536 โดยเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนของประเทศไทย ในช่วงเริ่มต้นของการลงทุนเราใช้ชื่อ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด และได้มีการก่อตั้ง บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด ในเวลาต่อมา” (ที่มา อ้างไว้ข้างต้น) กว่ากิจการเป็นไปคึกคักพอสมควรได้ผ่านมาระยะหนึ่ง จนถึงหลังจาก BGRI เข้าตลาดหุ้นในปี 2560
มีการกล่าวขานกันถึงโครงการหนึ่ง โดยสื่อเยอรมันให้ความสนใจเป็นพิเศษ “โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้…พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ กำลังการผลิตไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์ ที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ซึ่งถือเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย” (ข้อมูลจากสารประธานกรรมการ-ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ปี 2563)
อย่างไรก็ตาม BGRI ดำเนินกิจการอย่างตามแบบแผนธุรกิจพลังงานดั้งเดิม ตามจังหวะโอกาส
อีกรายหนึ่ง อ้างอิง อิสระ ว่องกุศลกิจ ตัวแทนกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมในนาม กลุ่มมิตรผล ผ่านกิจการหนึ่งในเครือข่าย ผันตัวจากธุรกิจเก่าๆ หรือข้างเคียง สู่ธุรกิจใหม่ที่ว่าด้วยในนาม บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU
เริ่มต้นธุรกิจพลังงานดั้งเดิม ดำเนินกิจการเหมืองแร่ตั้งแต่ปี 2526 ปรับตัวสู่ช่วงเวลาใหม่อย่างทันท่วงที ในปี 2536 ทั้งร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจระดับโลก เข้าร่วมโครงการผู้ผลิตกระแสไฟฟ้ารายย่อย (SPP) ในเวลาเดียวกับนำกิจการเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นด้วย ภาพที่เห็นในวันนี้คือกิจการโรงงานไฟฟ้าเป็นส่วนเสริมให้สามารถรักษาฐานธุรกิจให้เติบโตขึ้นบางระดับ
แตกต่างไปจากกรณี สารัชถ์ รัตนาวะดี ผู้มีประสบการณ์คลุกคลีธุรกิจโรงไฟฟ้า ในฐานะมืออาชีพ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ เกือบๆ 2 ทศวรรษ จึงก่อตั้งกิจการตนเอง (ราวปี 2550) เมื่อผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ กิจการดูมั่นคงขึ้น
จุดเปลี่ยนในช่วงเวลาสังคมไทยพลิกผัน จากรัฐประหาร (2557) สู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งก่อน (2562) บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ได้เข้าจดทะเบียนกับตลาดหุ้นไทย (ปลายปี 2560) สร้างสถิติด้วยมูลค่าหุ้น IPO (หุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งจำนวนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก) ที่สูงสุดที่สุดในรอบ 11 ปี
ตั้งแต่บัดนั้น เรื่องราว สารัชถ์ รัตนาวะดี กับ GULF ได้ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางมากขึ้นๆ ที่สำคัญเป็นสัญลักษณ์อิทธิพลธุรกิจพลังงานในมือเอกชน เป็นฐานแห่งความมั่งคั่งใหม่ล่าสุดของสังคมธุรกิจไทย
ปรากฏการณ์ GULF กับแผนการขยายอิทธิพลจากธุรกิจพลังงาน สู่ธุรกิจสำคัญอื่นๆ เป็นไปอย่างตื่นเต้น

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง มีอีกบุคคล กับกิจการหนึ่ง กำลังปรับตัวอย่างเร่งรีบและโลดโผน
สมโภชน์ อาหุนัย (วัย 57) อยู่ในวัยใกล้เคียงกัน ผู้มีประสบการณ์ในแวดวงตลาดหุ้นไทยอย่างโชกโชนมาตั้งแต่ช่วงคาบเกี่ยววิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เข้าสู่ธุรกิจพลังงาน ตามความหมายกว้างพอประมาณ จากพลังงานทางเลือก สู่พลังงานสะอาด จากธุรกิจไบโอดีเซล (ปี 2551) สู่ธุรกิจพลังงานลม และแสงอาทิตย์ (ปี 2554) ถือได้ว่าเป็นผู้นำกระแสในช่วงต้นๆ จนเข้ามาเกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของไทยด้วย (ลงนามซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ตั้งแต่ปี 2555)
ที่สำคัญมาสู่ช่วงเวลาครึกโครม เมื่อเข้าสู่เวทีซึ่งเชี่ยวกรำ ปรับเปลี่ยนฐานะ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ E@ จากตลาดหลักทรัพย์รอง (MAI) สู่ตลาดหลักทรัพย์หลัก (SET) ในปี 2560 แผนการอันกระชั้นในการขยายกิจการไฟฟ้าที่ทำงานอย่างเร่งรีบ รวดเร็ว ครึกโครม รวมทั้งมีแผนการใหม่ ดูเข้ากับกระแสที่เป็นไปอย่างเข้มข้น เกี่ยวข้องกับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (2561) แผนการอันโลดโผนอย่างยิ่งในธุรกิจนี้ ประหนึ่งอยู่บนกระแสคลื่นตลาดหุ้นไทยอันผันผวน ดูจะสวนทางกับความเป็นไปธุรกิจพลังงานอย่างที่เป็นมา ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐาน ขยับเขยื้อนตามจังหวะ
การก้าวข้ามคาบเกี่ยวจากธุรกิจพลังงานสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ดูเผินๆ เป็นเส้นทางเชื่อมต่อ หากพิจารณาสถานการณ์ความเป็นไปเชื่อมโยงกับความผันแปรของยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้าจีน กำลังถาโถมตลาดในระดับต่างๆ ทั้งระดับโลก ภูมิภาคและไทย
ในช่วงเวลาอันเชี่ยวกรากนั้น สมโภชน์ อาหุนัย กับ E@ มีเรื่องราวมากมายถาโถมเข้ามา
เมื่อพัฒนาการความมั่งคั่ง (จากข้อมูล Thailand’s 50 Richest 2024) เกี่ยวกับ สมโภชน์ อาหุนัย ดูเปลี่ยนแปลงในเชิงลบ ความเป็นไปสัมพันธ์กับตัวเลขทางการเงินกิจการ ไม่น่าจะเชื่อว่ามีเรื่องราวอื้อฉาวในตลาดหุ้นตามมา กลายเป็นว่าธุรกิจนี้มีอีกด้าน โดยเฉพาะมีอิทธิพลต่อตลาดหุ้น ส่งผลสะเทือนเชิงลบเป็นวงกว้าง
เรื่องราว สมโภชน์ อาหุนัย แม้จะแยกออกจาก E@ แล้ว เขาพ้นตำแหน่งบริหารและกรรมการเมื่อ 15 กรกฎาคม 2567) ก็ยังน่าติดตามหาบทสรุปต่อไป •
วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022