ซ้ายสุด vs ขวาสุด: ปัญหาประชาธิปไตยตะวันตก | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ข่าวด่วนในเช้าในวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม เป็น “ข่าวช๊อกโลก” อย่างมาก ในขณะที่โลกกำลังจับตาเฝ้าดูการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึง แต่แล้วสิ่งที่คาดไม่ถึงก็เกิดขึ้น เมื่ออดีตประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ที่อยู่ในระหว่างการหาเสียง ถูกลอบยิง แต่กระสุนเฉียดใบหู เขารอดชีวิต และมือปืนถูกยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

ยังไม่ชัดเจนว่ามือสังหารสังกัดกลุ่มใดหรือไม่ แต่ในการเมืองอเมริกัน มีกลุ่ม “ANTIFA” ซึ่งถูกนิยามว่า เป็น “กลุ่มการเมืองปีกซ้ายสุด” และมีทิศทางการเมืองในแบบต่อต้าน “กลุ่มการเมืองปีกขวาสุด” ด้วยความรุนแรง จึงน่าสนใจว่า เกิดอะไรกับระบอบประชาธิปไตยอเมริกัน … ทำไมการเมืองอเมริกันมีอาการสวิงไปหาความรุนแรงมากขึ้น

อีกทั้งการลอบสังหารครั้งนี้ จะมีส่วนอย่างสำคัญต่อผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น และมีผลต่อตัวการเมืองอเมริกันเองในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

ดังนั้น บทความนี้จะทดลองนำเสนอข้อสังเกตเพื่อการทำความเข้าใจกับ “กระแสการเมืองสุดโต่ง” ที่กำลังเกิดในบริบทของการเมืองอเมริกัน อันทำให้กลุ่มกิจกรรมมีแนวโน้มที่จะกลายเป็น “ลัทธิสุดโต่ง” (extremism) ในทางการเมืองมากขึ้น

1) เรากำลังเห็นการปะทะของ “กระแสสุดโต่ง” ระหว่างเสรีนิยม vs อนุรักษ์นิยมในการเมืองอเมริกันยุคหลังทรัมป์ (หมายถึงหลังการขึ้นสู่อำนาจของทรัมป์ในปี 2016)

2) อนุรักษ์นิยมชุดนี้ ไม่ใช่ “อนุรักษ์นิยมกระแสหลัก” ในแบบเดิมของสังคมตะวันตก แต่เป็นอนุรักษ์นิยมที่เป็น “ขวาจัดของยุคศตวรรษที่ 21” หรือเป็น “ประชานิยมปีกขวา” (right-wing populism) คู่ขนานกับกระแสขวาจัดแบบเดียวกันในการเมืองยุโรป (ไม่ใช่ “ประชานิยม” ที่หมายถึง นโยบายแจกเงินแบบไทย)

3) การขยายตัวของกระแสประชานิยมปีกขวาในสังคมอเมริกันเกิดก่อนยุคทรัมป์ อันเป็นผลจากปัญหาสังคมเศรษฐกิจอเมริกัน และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทรัมป์ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง 2016 ซึ่งอาจทำให้ทรัมป์ชนะอีกครั้งในการเลือกตั้ง 2024

4) กระแสขวาจัดชุดนี้ยังมีพลังสำคัญ และไปบรรจบกับพลังขวาจัดอื่นๆ ในสังคมอเมริกัน เช่น กลุ่มคนผิวขาวเป็นใหญ่ (White Supremacy) กลุ่มชาตินิยมคนผิวขาว (White Nationalist) และกลุ่มนีโอนาซี (Neo-Nazi) เป็นต้น

5) กลุ่มนี้ไม่ยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม และมีทัศนะแบบ “กลัวคนนอก“ จึงมีทิศทางในแบบต่อต้านผู้อพยพ ต่อต้านมุสลิม ต่อต้านโลกาภิวัฒน์ และต่อต้านชนชั้นนำ เป็นทิศทางทางหลัก (ดังปรากฏในคำพูดหรือคำหาเสียงของทรัมป์)

6) การมาของกระแสประชานิยมปีกขวา ทำให้เกิดการตอบโต้ของกลุ่มเสรีนิยม ที่รู้สึกว่าพลังของพวกเขากำลังอ่อนแรงลง เพราะประชานิยมปีกขวาเป็นกระแสสูงในหมู่คนผิวขาว รวมทั้งในการเมืองยุโรปด้วย

7) การขยับตัวของกลุ่มเสรีนิยมมีลักษณะ “เอียงซ้าย” ไปสู่ความสุดโต่งมากขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากชัยชนะของทรัมป์ในปี 2016 และขนานกับการขยายตัวกลุ่มขวาในการเมืองอเมริกันทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ

8) กระแสฝ่ายขวาจัดที่มาพร้อมกับแนวโน้มชัยชนะของทรัมป์ในปี 2024 ก็ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้ปีกเสรีนิยมบางส่วนขยับไปทางซ้ายมากขึ้น เช่น กลุ่ม “ANTIFA” (กลุ่มต่อต้านฟาสซิสต์) ซึ่งแต่เดิมไม่ใช่กลุ่มนิยมความรุนแรง ปัจจุบันกลายเป็น “กลุ่มสุดโต่ง” อีกแบบ

9) ความขัดแย้งทางความคิดชุดนี้ทับซ้อนอยู่กับปัญหาสิทธิตามรัฐธรรมนูญอเมริกันในการครอบครองอาวุธปืน และมีโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะเอียงไปสู่การใช้อาวุธมากขึ้น เช่น กลุ่มประชานิยมปีกขวาที่ติดอาวุธ (เช่นกลุ่ม “Proud Boys”) และกลุ่มต่อต้านที่ก็ติดอาวุธเช่นเดียวกัน ซึ่งทำให้การควบคุมอาวุธปืนในสังคมเป็นความยากลำบากมากขึ้น

10) การติดอาวุธของกลุ่มการเมืองในสังคมอเมริกันไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นสิ่งที่เคยเกิดมาแล้ว เช่นในยุคสงครามเย็น และอาจนำไปสู่ “พฤติกรรมสุดโต่ง” ของทั้ง 2 ฝ่ายในแบบก่อการร้ายมากขึ้น หรือนำไปสู่ปัญหา “ความรุนแรงบนถนน” และในบางกรณีก็กลายเป็น “การจลาจลบนถนน” ด้วย หรือทั้ง 2 ปีกสุดโต่งใช้วิธีต่อต้านอีกฝ่ายด้วยความรุนแรงไม่แตกต่างกัน

11) ความขัดแย้งชุดนี้ทับซ้อนกับปัญหาความขัดแย้งเรื่องสีผิว โดยเฉพาะปัญหาคนผิวดำ ที่ปีกเสรีนิยมมีทิศทางในการสนับสนุนขบวนการแบบ “Black Lives Matter” และกลุ่มขวาจัดมีทิศทางต่อต้าน และทำให้สังคมมีความเห็นต่างมากขึ้นในทางการเมือง

12) ประเด็นการถูกยิงน่าจะเป็น “ปัจจัยความเห็นใจ” ที่ช่วยให้ทรัมป์ชนะ และกระตุ้นให้ฝ่ายสนับสนุนเขาออกมาลงเสียง ขณะเดียวกัน ก็จะยิ่งทำให้โอกาสชนะของไบเดนดูจะลดต่ำลงเรื่อยๆ อีกทั้งยังมีเสียงเรียกร้องให้เขาถอนตัวออกจากการแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้อีกด้วย

จากสภาวะของการเมืองอเมริกันในข้างต้น สิ่งที่จะเป็นผลกระทบจากการลอบสังหารครั้งนี้ ได้แก่

(13) สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ภาพสะท้อนถึงการปะทะระหว่าง “ซ้ายสุด vs ขวาสุด” ในการเมืองอเมริกัน ซึ่งซ้ายสุดวันนี้ไม่ใช่พวกคอมมิวนิสต์ หรือสังคมนิยม แต่เป็น “เสรีนิยมสุดโต่ง” และขวาสุดก็ไม่ใช่อนุรักษ์นิยมแบบเดิม ที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่เป็น “อนุรักษ์นิยมสุดโต่ง”

(14) ภาวะเช่นนี้ทำให้สังคมอเมริกันแตกแยกมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีแนวโน้มของความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

(15) การลอบยิงกำลังเปลี่ยนทิศทางการแข่งขัน และเปลี่ยนบริบทของการเมืองอเมริกันในอนาคต โดยเฉพาะอาจนำมาซึ่งชัยชนะของทรัมป์ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

(16) การลอบยิงมีผลกระทบสำคัญกับภาพลักษณ์ที่ตกต่ำของระบอบประชาธิปไตยอเมริกัน และกลายเป็นจุดอ่อนให้ “รัฐในกลุ่มอำนาจนิยม” ในเวทีโลกใช้เป็นเครื่องมือของการโฆษณาชวนเชื่อว่า ความสงบเรียบร้อยภายใต้ระบอบเผด็จการ ดีกว่า “ความวุ่นวาย” ทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตย

(17) สิ่งที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่ “การเลียนแบบ” จากการลอบสังหารประธานาธิบดีสโลวัคในเดือนพฤษภาคม ถึงการลอบสังหารทรัมป์ในปัจจุบัน ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลกับปัญหาความรุนแรงทางการเมืองยุคปัจจุบัน