ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ตุลวิภาคพจนกิจ |
ผู้เขียน | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ |
เผยแพร่ |
ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ที่ข้าพเจ้าร่วมงาน
ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ได้กลับไปสู่ความเมตตาของพระอัลเลาะห์แล้วเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนนี้
ก่อนหน้านี้มิตรสหายและลูกศิษย์ต่างเป็นห่วงและติดตามอาการเจ็บไข้ของอาจารย์มาอย่างใจจดใจจ่อนับแต่ทราบข่าวนี้มาระยะหนึ่งแล้ว
แต่ในที่สุดชัยวัฒน์ก็ตอกย้ำถึงความเป็นอนิจจังของมนุษย์แก่พวกเรา ไม่เคยเห็นแรงสะเทือนและความโศกเศร้าต่อความสูญเสียครั้งนี้ในหมู่นักวิชาการมากเท่า
เหนืออื่นใดสิ่งที่ชัยวัฒน์เตือนด้วยความหวังดีและอย่างวิภาษวิธีแก่พวกเราคือความเป็นมนุษย์ และเป็นมนุษย์ที่เป็นสามัญชน ที่มีความรู้สึก ความคิดและความปรารถนาในชีวิตที่เป็นธรรมและเสมอภาคต้องทำต่อหน้าความอยุติธรรมและต่อหน้าความรุนแรง
เขาเป็นนักวิชาการที่พูดและสอนในสิ่งนามธรรม แต่ปฏิบัติมันในรูปธรรมของสามัญสำนึก
ผมพบชัยวัฒน์ครั้งแรกในห้องทำงานของอาจารย์เสน่ห์ จามริก ในตึกชั้น 5 คณะรัฐศาสตร์ เมื่อผมแวะขึ้นไปเพื่อทำความเคารพและทักทาย อ.เสน่ห์หลังจากที่ผมได้โอนย้ายจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี 2535 มาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะมีตำแหน่งอาจารย์ประวัติศาสตร์ว่างพอดี นั่นคือตำแหน่งของ อ.ธงชัย วินิจจะกูล ที่กำลังจะเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่ในมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน
นับจากนั้นมาผมก็เดินทางเข้าสู่วังวนของการทำงานวิชาการร่วมกับชัยวัฒน์ในสำนักท่าพระจันทร์มาจนถึงวาระสุดท้าย
ผมเริ่มงานสอนวิชาประวัติศาสตร์สหรัฐ อันเป็นวิชาที่ผมร่ำเรียนและได้ปริญญามา เรื่องการสอนไม่มีปัญหาแม้มีนักศึกษามาเรียนน้อยมาก ก็พอเข้าใจได้เพราะคนไทยส่วนใหญ่รู้จักอเมริกาจากหนังฮอลลีวู้ดแล้วจนไม่มีใครนึกอยากเรียนให้เสียเวลาหรอก
ปัญหาต่อมาของผมกลับไปอยู่ที่งานวิจัยค้นคว้าต่างหาก ว่าจะทำเรื่องอะไรดี ประเด็นและข้อมูลที่พอมีจากการเรียนก่อนนี้เป็นเรื่องประวัติศาสตร์และการเมืองอเมริกันเป็นหลัก
นึกไม่ออกว่าจะมีโจทย์อเมริกันเรื่องอะไรที่ทำได้ในเมืองไทยและเป็นที่สนใจของวงการวิชาการไทย
คนที่ช่วยผมแก้ปัญหาเฉพาะหน้านี้ได้ในเวลาไม่นานนักคือชัยวัฒน์
วันหนึ่งเขาเสนอโครงการวิจัยที่คิดว่าผมมีคุณสมบัติและความอดทนในการวิจัยในโครงการของเขาซึ่งเพียงชื่อเรื่องก็ยากจะเข้าใจได้ “จินตนาการสู่ปี 2000 : นวกรรมเชิงกระบวนทัศน์ด้านไทยศึกษา?”
จุดประสงค์ของโครงการวิจัยนี้คือต้องการให้สังคมไทยเตรียมไตร่ตรองถึงสถานะของความรู้ต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดในสังคมไทยในศตวรรษใหม่ที่จะมาถึง ด้วยการระดมนักวิชาการรุ่นใหม่มาร่วมกันวิจัย โดยมีความเชื่อประการแรก ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทะลวงกรอบกระบวนทัศน์เดิมด้วยการวิพากษ์กระบวนทัศน์หลักที่ดำรงอยู่ และประการที่สอง ต้องเชื่อในการใช้จินตนาการเสรีแสวงหากระบวนทัศน์เป็นทางเลือกอย่างใหม่
โจทย์ยากมาก อ่านตอนแรกก็ยาก มาอ่านตอนนี้ใหม่ไม่ยากเท่าเพราะหลายอย่างถูกวิพากษ์และสิ่งใหม่ได้เริ่มก่อตัวแล้ว อันนี้เป็นคุณูปการของโครงการวิจัยนี้
ลักษณะของความซับซ้อนและท้าทายความคิดและจินตนาการเป็นยี่ห้อประจำตัวของชัยวัฒน์
ผมไม่เคยเจอหรือทำงานกับนักวิชาการคนไหนที่คิดยากและสลับซับซ้อนแต่มีมนต์ในการดึงดูดให้เราอยากใช้ความอหังการของความเป็นนักวิชาการไปเจาะทะลวงบ่วงที่ชัยวัฒน์วางดักไว้
โครงการนั้นสามารถรวบรวมนักคิดนักวิชาการรุ่นใหม่และกลางได้ถึง 13 คนไม่รวมบรรณาธิการคือชัยวัฒน์ นับว่าประสบความสำเร็จได้ไม่น้อย
โครงการวิจัย “จินตนาการสู่ปี 2000” มุ่งวิเคราะห์ปัญหาวิกฤตในสังคมไทยสามด้านคือ ด้านนิเวศวิทยา ด้านจริยธรรมและด้านอัตลักษณ์
ในความเป็นจริงมีปัญหาอื่นๆ ที่กระเทือนการดำรงอยู่ของสังคมไทยขณะนั้นอีกมาก ไม่ว่าเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย เพศวิถีและสตรีนิยม และความมั่นคงแห่งชาติ รวมถึงกระแสการสร้างความรู้บนฐานของ “ไทยศึกษา” ที่กำลังมาแรง ทั้งหมดถูกนำเข้ามาอภิปรายวิพากษ์และนำเสนอในบทความวิจัยขนาดใหญ่นี้ทั้งหมด
สุดท้ายคือท้ายชื่อโครงการวิจัยมีเครื่องหมายปรัศนี ? ทำไม
ชัยวัฒน์ตอบว่า “เพราะเป็นการยืนยันว่า ข้อเสนอต่างๆ ในเรื่องกระบวนทัศน์ในหนังสือนี้เป็นการตั้งคำถาม มิใช่ข้อยุติมิใช่เป็น “กระบวนทัศน์ใหม่สำหรับไทยศึกษา” ที่นักวิชาการต้องกอดแจต่อไปในอนาคต ในทางตรงกันข้าม นวกรรมเชิงกระบวนทัศน์ด้านไทยศึกษา? เป็นการเชิญชวนให้สังคมวิชาการไทยตั้งคำถามเอากับการศึกษาอย่างไทย เป็นการท้าทายให้ถามปัญหาที่มิใช่อยู่ในระดับความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลเท่านั้น แต่เป็นการก้าวไปสู่การตั้งคำถามในระดับกระบวนทัศน์” โดยหวังว่าการตั้งคำถามทำนองนี้อาจนำไปสู่การปรับโครงสร้างสายวิชาสังคมศาสตร์โดยรวม
ผมเชื่อว่าการท้าทายของชัยวัฒน์ในครั้งนั้นยังใช้ได้กับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการศึกษาและการสร้างความรู้ทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในปัจจุบันนี้ได้เป็นอย่างดี
การทำงานวิจัยในโครงการนั้นมีหมุดหมายสำคัญต่อการทำงานวิจัยในเมืองไทยของผมอย่างมาก ได้เปิดพื้นที่และคำถามในโจทย์ที่นักวิชาการไทยกำลังสนใจกันอยู่
ผมจึงสามารถลงจากประวัติศาสตร์อเมริกาแล้วเดินเข้าสู่ประวัติศาสตร์ไทยได้โดยไม่ได้เรียนและค้นคว้าเหมือนนักวิชาการไทยศึกษาทั้งหลาย
หลังจากนั้นชัยวัฒน์ทำหน้าที่เหมือนอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ก่อนสำเร็จการศึกษา ด้วยการชักชวนและเสนอโจทย์ใหม่อีกเรื่องให้ผมทำ นั่นคือเรื่อง “สิทธิมนุษยชนไทยในสถานการณ์สากล” (2542-47) ความจริง ศ.เสน่ห์ จามริก หัวหน้าโครงการชวนชัยวัฒน์ให้ร่วมทำในโครงการนี้ แต่คิดว่าเขาคงติดธุระการงานและการสอนมากจึงโอนเรื่องนี้มาให้ผม ซึ่งก็ยินดีรับโดยไม่มีเงื่อนไข
ว่าไปแล้ว การวิจัยในเรื่อง “สิทธิมนุษยชนไทยในสถานการณ์สากล” เท่ากับเป็นการต่อยอดจากงานวิจัยก่อนหน้านี้ของผมในเรื่อง “สิทธิคนไทยในรัฐไทย” เพราะมโนทัศน์หลักยังเป็นเรื่องสิทธิ เพียงแต่เรื่องหลังสิทธิได้ยกระดับไปสู่การเป็นเนื้อหาในความเป็นพลเมืองของทุกประเทศ เป็นสิทธิมนุษยชนที่พลเมืองทั้งหลายต้องมีและมีความชอบธรรมในตัวเองที่อาจเรียกร้องได้ อันเป็นโจทย์ใหม่ที่รัฐไทยไม่ต้องการให้เกิดขึ้น
แต่ด้วยกระแสของโลกาภิวัตน์และการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 ทำให้สิทธิต้องเป็นของพลเมืองไทยทุกคนด้วย
อีกเรื่องที่ชัยวัฒน์เป็นคนจุดไฟให้ผมในการเข้าไปค้นหาความจริงในประวัติศาสตร์ ได้แก่ ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือมลายูมุสลิม หลังเกิดกรณีสังหารในมัสยิดกรือเซะในวันที่ 28 เมษายน 2547
เขาเขียนเล่าว่าวันที่ 28 เมษายนนั้นเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของคนปะตานี กล่าวคือ ในวันนั้นในปี 2491 เกิดการต่อสู้ซึ่งชาวบ้านเรียกขานกันต่อมาว่า perang หรือ kebangkitan Dusun Nyior หรือสงครามหรือการลุกขึ้นสู้ของดุซงญอ ในขณะที่ทางการไทยเรียกว่า “กบฏดุซงญอ”
จากนั้นผมก็ควานหาแสงสว่างในประวัติศาสตร์ร่วมระหว่างสยามกับปะตานี จนเขียนเป็นหนังสือว่าด้วย “ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย” (พิมพ์ครั้งแรก 2549)
ทำให้ผมมีโอกาสไปพบพูดคุยกับนักวิชาการ นักการศาสนา ชาวบ้านในพื้นที่ติดต่อกันมาอีกหลายปี จนผมคิดว่าการค้นคว้าศึกษาประวัติศาสตร์ปะตานีสมัยใหม่นับได้ว่าเป็นปริญญาดุษฎีบัณฑิตของผมได้
ผมจึงมีที่ยืนในไทยศึกษาได้ในที่สุด แม้เป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยอยากเป็นไทยนักก็ตาม
ผมได้ข้อคิดและข้อสังเกตต่อปัญหาสยาม-มลายูจากชัยวัฒน์ไม่น้อย เขาเปรยให้ฟังว่า รู้ไหมทำไมข้าราชการไทยในพื้นที่สามจังหวัดมักใช้คนขับรถราชการที่เป็นคนมลายู ไม่เอาคนไทย ผมตอบว่าไม่รู้
เขาอธิบายเพราะคนมลายูไม่ดื่มเหล้า ทำไมคนมุสลิมชอบการเจรจาต่อรอง เพราะคนมุสลิมเป็นคนทำการค้าจึงต้องเจรจา ฯลฯ
การร่วมงานกับชัยวัฒน์ที่จริงจังเกิดเมื่อ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้รับเลือกตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2537 และตัดสินใจแต่งตั้งนักวิชาการปัญญาชนเข้ามาเป็นรองอธิการบดีจำนวนมาก จนได้รับฉายาว่า “ดรีมทีม”
ประกอบไปด้วย ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผน ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและผมเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์
ช่วงนั้นเองที่ผมได้มีโอกาสสังเกตและเห็นวิธีการทำงานและบริหารของชัยวัฒน์อย่างมาก เป็นที่ประทับใจยิ่ง เพราะผมไม่เคยทำงานบริหารมาก่อนเลยไม่ว่าระดับอะไรก็ตาม
ผมมานั่งปรึกษาปัญหาและความอึดอัดในการผลักดันภารกิจหน้าที่ในตำแหน่ง ทุกครั้งชัยวัฒน์จะให้คำตอบอย่างธรรมดา ไม่เคร่งเครียด จนเหมือนกับว่ามันไม่ได้มีความขัดแย้งหรือปัญหาอะไรมาก่อนเลย
แต่ฟ้าดินไม่เป็นใจ “ดรีมทีม” ชาญวิทย์มีอายุทำงานในตึกโดมได้เพียงแค่ 9 เดือนเท่านั้น เราเผชิญกับวิกฤตที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิด คือศึกสายเลือดระหว่างนายกสภามหาวิทยาลัย (ศ.นงเยาว์ ชัยเสรี) กับอธิการบดี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่เขย่าตึกโดมและวงการอุดมศึกษาตอนนั้นอย่างแรง เป็นพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์หลายวันและสัปดาห์
จนในที่สุดคณะผู้บริหารนัดปรึกษาพูดคุยกันเย็นวันที่ 9 มีนาคม 2538 อันเป็นวันเกิดของ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หลังจากใช้เวลาไม่น้อยหลายชั่วโมงว่าจะคลี่คลายหรือจัดการปัญหาวิกฤตนี้อย่างไร โดยไม่ได้วางแผนอะไรผมเป็นคนพูดคนสุดท้ายและเสนอทางออกให้ด้วย
จนบัดนี้ผมก็ยังไม่รู้ว่าผมเสนอทางแก้ปัญหาครั้งนั้นออกไปได้อย่างไร กล่าวคือ ผมเสนอว่าหนทางเดียวที่ควรทำคือการลาออก
ในเย็นนั้นมีรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาคนเดียวคือ อ.แก้วสรร อติโพธิ ที่คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการลาออก เพราะมองเห็นว่ามันไม่ใช่การแก้ปัญหา มันเป็นการหนีปัญหาขัดแย้งภายในต่างหาก
ผมคิดว่าคืนนั้นคนที่จะทำให้ข้อเสนอของผมตกไปคือชัยวัฒน์ ซึ่งพวกเราล้วนให้ความนับถือและรับฟังความคิดเห็นของเขาเป็นอย่างมาก
แต่คืนนั้นชัยวัฒน์ไม่ค้านผม หลายวันต่อมาชัยวัฒน์เจอผมเขากล่าวว่า “ผมเพิ่งเห็นพี่ร้องไห้เป็นครั้งแรก”
แด่ชัยวัฒน์ด้วยความรักและอาลัย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022