อะไรอยู่ในกอไผ่? “อุตตม”ทิ้ง รมว.ไอซีที เปิดประตู ปรับ ครม.

การลาออกของ นายอุตตม สาวนายน จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ รมว.ไอซีที เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา

ทำให้การปรับ ครม. จากเดิมที่เคยเป็นเพียงกระแสข่าว พลิกผันกลายเป็นเรื่องจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง

ทั้งนี้ กระแสข่าวการปรับ ครม. เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งและหนาหูมากขึ้นหลังจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ผ่านด่านการลงประชามติ 7 สิงหาคมมาได้

อย่างที่รู้กันว่าการลงประชามติ”ผ่าน”ร่างรัฐธรรมนูญคือส่วนผลักดันให้รัฐบาล คสช. โดยเฉพาะตัว พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในสถานการณ์เรียกว่า”ขาขึ้น”แบบสุดๆ

ทำการสิ่งใดล้วนราบรื่นไร้อุปสรรค

ไม่ว่าการปรับเปลี่ยน”หัวขบวน”ในกองทัพ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงกระทรวงต่างๆ รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อเพิ่มสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จาก 220 คน เป็น 250 คน

ก็ปราศจากแรงกระเพื่อมให้เห็น

แต่สำหรับการปรับ ครม. ที่ใกล้มาถึง จะราบเรียบแบบนั้นหรือไม่ เป็นเรื่องท้าทายความสามารถ”ท่านผู้นำ”เป็นอย่างยิ่ง

ในประวัติศาสตร์การปรับ ครม. ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลที่มาด้วยวิธีพิเศษก็แล้วแต่ เกือบทุกครั้งได้นำมาสู่ปัญหาความขัดแย้งภายใน

เพียงแต่มากหรือน้อยเท่านั้น

แม้แต่ในยุครัฐบาล คสช. ของ พล.อ.ประยุทธ์ เองก็ตาม

การปรับ ครม. เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ด้วยการปรับเอาทีมเศรษฐกิจของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ออกแบบยกกะบิแล้วดึงเอาทีมของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้ามาเสียบแทน

คือบทเรียนที่ผู้มีอำนาจไม่อาจมองข้าม

 

แม้การยื่นใบลาออกจาก รมว.ไอซีที ของ นายอุตตม สาวนายน

จะเป็นเรื่อง”ไม่มีอะไรในกอไผ่”

เนื่องจาก พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ในส่วนการจัดตั้งกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่จะมาแทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที มีผลบังคับใช้

เมื่อเปลี่ยนชื่อกระทรวง รัฐมนตรีจึงต้องลาออกเพื่อเปิดทางรองรับการปรับเปลี่ยน”ตัวบุคคล” ที่จะมาเป็น รมว.ดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ด้วยเช่นกัน

แต่แล้วที่ว่าไม่มีอะไรในกอไผ่ ก็กลายเป็น”มี”ขึ้นมา

เมื่อ ครม. แต่งตั้งให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เข้ารักษาการในตำแหน่ง รมว.ดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

หากดูตามเส้นทางประวัติความเป็นของนายอุตตม จะพบว่ามีความสนิทสนมกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลคนปัจจุบัน

ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่การเมือง กระทั่งเข้าสู่การเมืองก็รับตำแหน่งที่ปรึกษานายสมคิด เมื่อครั้งเป็น รมว.คลัง ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

ต่อมาเดือนสิงหาคม 2558 ก็ได้รับแต่งตั้งเป็น รมว.ไอซีที ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ได้ชื่อเป็นรัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจในสายของนายสมคิด ที่เข้าดำรงตำแหน่งรองนายกฯ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” แทน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่ถูกปรับออกไป

นอกเหนือจากนายอุตตมแล้ว ยังมี นายอภิศักดิ์ ตันติวรงค์ รมว.คลัง นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ ที่ถูกระบุว่าเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจ”ทีมสมคิด”

ด้วยความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่าง”สมคิด-อุตตม”

ด้วยความที่กระทรวง”ไอซีที”ได้รับการจัดหมวดหมู่ให้เป็น 1 ในกระทรวงเศรษฐกิจ

คำถามที่หลายคนสงสัยกันมาตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อครั้งปรับ ครม. เดือนสิงหาคม 2558 ทำไมกระทรวงไอซีทีซึ่งมีนายอุตตมนั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการ

จึงไม่อยู่ใต้การกำกับดูแลของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล

 

ในความเป็นจริงกระทรวงไอซีทีกลับอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจของ คสช.

ถูกแยกออกจาก”สายสมคิด”

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องทั้ง”แปลก”และ”ไม่แปลก”ในคราวเดียวกัน

เมื่อรัฐบาลตั้ง พล.อ.อ.ประจิน ทำหน้าที่รักษาการ รมว.ดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หลังจาก นายอุตตม สาวนายน ยื่นลาออกจาก รมว.ไอซีที แทนที่จะเป็น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ก็เพิ่งลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 182/2559

มอบหมายและมอบอำนาจ”เพิ่มเติม”ให้ พล.อ.อ.ประจิน กำกับดูแลงานในส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการ

เป็นคำสั่งเปลี่ยนแปลงจากเดิมกระทรวงเกษตรฯ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายสมคิด ตรงนี้เองเป็นสัญญาณแรกบ่งชี้ว่า

น่าจะ”มีอะไรในกอไผ่”

แม้ พล.อ.อ.ประจิน จะชี้แจงถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการให้เข้ามาแบ่งเบาภาระของนายสมคิดที่ต้องดูแลงานเศรษฐกิจและต่างประเทศ

แต่ข้อสังเกตก็คือ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 182/2559 มาพร้อมกับกระแสข่าวลือการ”ซดเกาเหลา”ระหว่างรองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ กับ รมว.เกษตรฯ “สายตรง”ของนายกรัฐมนตรี

เป็นปัญหาเดียวกับที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เคยประสบมาก่อน

นั่นก็คือ รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจกำกับดูแลนโยบายได้ก็แต่เฉพาะกระทรวงที่มีคนของตนเองนั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการเท่านั้น

ไม่สามารถกำกับดูแลได้หมดทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์

โดยเฉพาะกระทรวงที่มีอดีต”นายทหาร”นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการ

 

ปัญหา”ปรีดิยาธรโมเดล”ที่หวนกลับมาเกิดกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องหาทางออกก่อนเรื่องจะลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้ ด้วยการออกคำสั่งโอนกระทรวงเกษตรฯ มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ”คนกลาง”อย่าง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง

ขณะเดียวกันก็ได้ชะลอการปรับ ครม. ไว้ชั่วคราว จากที่ก่อนหน้านั้นเคยรับปาก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ ไว้แล้วว่าจะทาบทามหา”รัฐมนตรีช่วยว่าการ”มาช่วยแบ่งเบา

ทำให้เรื่องปรับ ครม. ค่อยๆ ซาไป

ก่อนกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง เมื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม มีแนวคิดตั้ง” ครม.ส่วนหน้า”เพื่อแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังปะทุรุนแรงอีกรอบ

คาดหมายกันว่า คสช. อาจดึง”บิ๊กทหาร”บางคนที่กำลังจะเกษียณอายุราชการสิ้นเดือนกันยายนนี้ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลควบตำแหน่งหัวหน้าทีม ครม.ดับไฟใต้

ทุกสายตาจับจ้องด้วยความสงสัยว่าจะใช่ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ที่กำลังจะลาเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบกหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ระบุ จะมีความชัดเจนภายในเดือนตุลาคมนี้

ส่วนตำแหน่ง รมว.ดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม”ตัวจริง”เป็นใครนั้น

นอกจากชื่อ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ฝ่าย คสช. ผลักดันเข้ามาเป็นตัวเต็ง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ต้องการให้ นายอุตตม สาวนายน “คัมแบ๊ก”กลับมารับตำแหน่งในกระทรวงใหม่

การปรับ ครม. ที่กำลังจะมีขึ้นในระยะเวลาไม่ใกล้ไม่ไกลจากนี้

จึงเป็นประเด็นพิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังยึดมั่นหลักการ”แบ่งแยกแล้วปกครอง”ในการบริหารประเทศ

เหมือนกับที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เคยได้สัมผัสมากับตัวเองหรือไม่