ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
เผยแพร่ |
คุยกับทูต | ฌ็อง-โกลด ปวงเบิฟ
‘วันชาติฝรั่งเศส’ สู่ ‘โอลิมปิกปารีส’ ครั้งที่ 3 รอบ 100 ปี (1)
14 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันชาติฝรั่งเศส หรือวันบัสตีย์ (Bastille Day) เป็นวันที่ประชาชนฝรั่งเศสลุกฮือกันเดินขบวนประท้วงและตรงเข้าไปบุกทลายคุกบัสตีย์ ที่คุมขังนักโทษการเมืองเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 1789 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติฝรั่งเศส ถือเป็นวันประกาศอิสรภาพของประชาชนฝรั่งเศสที่ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของระบอบเก่า
เหตุการณ์นั้นตรงกับรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)
สาเหตุของการทลายคุกบัสตีย์ สืบเนื่องจากความเหลื่อมล้ำในชีวิตความเป็นอยู่ ช่องว่างระหว่างความมั่งคั่ง ฟุ้งเฟ้อของชนชั้นสูงและความอดอยากยากแค้นของประชาชนทั่วไป
เหตุการณ์นี้ถือเป็นสัญลักษณ์การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงจากระบอบการปกครองแบบเก่าที่เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบใหม่ คือประชาธิปไตยในแบบสาธารณรัฐ

แต่วันที่ 14 กรกฎาคม ไม่ได้เป็นเพียงวันเดียวที่ทุกอย่างจะเปลี่ยน มีการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านการเสียเลือดเนื้อและแย่งชิงอำนาจอีกหลายครั้ง จนถึงปี 1848 ฝรั่งเศสจึงสามารถล้มล้างอำนาจเก่าลงไปได้อย่างสิ้นเชิง
ประเพณีเนื่องในวันเฉลิมฉลองสหพันธรัฐ (La fête de la Fédération หรือ Federation Day) เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 1790 ซึ่งชาวฝรั่งเศสจะมารวมตัวรับประทานอาหารร่วมกันเพื่อเฉลิมฉลองความปรองดองและการฟื้นฟูความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ
ในปี 1880 ได้มีการกำหนดให้วันที่ 14 กรกฎาคม เป็นวันชาติฝรั่งเศส โดยในวันดังกล่าวจัดให้มีการสวนสนามของทหาร การแสดงพลุ การเต้นรำและการสังสรรค์สำหรับประชาชนทั่วไป
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในวันที่ 14 กรกฎาคม ของทุกปี ทั้งในฝรั่งเศสและทั่วโลก ชาวฝรั่งเศสจะมาพบปะกันพร้อมด้วยมิตรจากทุกประเทศ และร่วมกันเฉลิมฉลองความสำคัญของเสรีภาพ

นายฌ็อง-โกลด ปวงเบิฟ (Jean-Claude Poimbœuf) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เล่าถึงการเฉลิมฉลองวันชาติสำหรับชาวฝรั่งเศสที่พำนักอยู่ในประเทศไทย ดังนี้
“ที่นี่ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส กรุงเทพฯ เป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงรับรองอย่างเป็นทางการ เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองวันชาติของเรา ผู้ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมงานประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย คณะทูต และพันธมิตรหลักของสถานเอกอัครราชทูตจากภาคส่วนต่างๆ”
“นอกจากที่กรุงเทพฯ แล้ว เรายังมีชุมชนชาวฝรั่งเศสจำนวนมากซึ่งริเริ่มจัดงานเฉลิมฉลองวันบัสตีย์ในปีนี้ และผมจะเข้าร่วมงานนี้ด้วยในวันที่ 13 กรกฎาคม ที่พัทยา”
“แน่นอน ช่วงที่อยู่ในฝรั่งเศส ผมร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ รวมทั้งชมพลุดอกไม้ไฟที่ยิ่งใหญ่ตระการตา เนื่องในวันชาติของเราเสมอ”

นับถอยหลังอีกไม่กี่วัน สู่โอลิมปิกและพาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 โดยกรุงปารีสจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนในระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม-11 สิงหาคมนี้ คาดว่าจะมีนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันราว 10,500 คน โดยจะแข่งขันใน 32 ประเภทกีฬา รวม 329 เหรียญทอง ส่วนการแข่งขันพาราลิมปิกจะเปิดฉากขึ้นหลังจากนั้น คือตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม- 8 กันยายน โดยจะมีนักกีฬาพาราลิมปิกเข้าร่วม 4,400 คน ด้วยจำนวนชนิดกีฬา 22 ประเภท รวม 549 เหรียญทอง
ปัจจุบัน โอลิมปิกฤดูร้อน จัดมาแล้วทั้งหมด 32 ครั้ง การเป็นเจ้าภาพของกรุงปารีสในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สาม หลังจากที่เคยรับเป็นเจ้าภาพมาแล้วในปี 1900 และ 1924 ตามลำดับ
และกลายเป็นเมืองแห่งที่สองของโลกที่จัดมหกรรมกีฬาอันยิ่งใหญ่มาแล้ว 3 ครั้ง

เอกอัครราชทูตปวงเบิฟ กล่าวถึงความสำคัญและประโยชน์ของการจัดงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิก
“ฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์พิเศษเกี่ยวกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก สิ่งที่ควรระลึกถึงคือ เมื่อปลายศตวรรษที่ 19 ปีแยร์ เดอ กูแบร์แต็ง (Baron Pierre de Coubertin) ขุนนางชั้นบารอนชาวฝรั่งเศส เป็นคนแรกที่เสนอแนะให้ฟื้นฟูการแข่งขันด้วยจิตวิญญาณของประเพณีกรีกโบราณ จึงเป็นอีกหนึ่งในเหตุผลที่ภาษาฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในภาษาทางการของการแข่งขัน”
“ปารีสเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเป็นครั้งแรกในปี 1900 และอีกครั้งในปี 1924 จึงนับว่าน่าตื่นเต้นมากที่ในอีกหนึ่งศตวรรษต่อมาเราได้กลับมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง”
“ข้อดีอย่างหนึ่งที่สำคัญที่สุดของการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกก็คือ ความสามารถในการนำผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกมารวมกัน การแข่งขันครั้งนี้ส่งเสริมบรรยากาศอันเป็นเอกลักษณ์ของความสามัคคีและความสนิทสนมกัน เนื่องจากนักกีฬา ผู้เข้าชม และเจ้าหน้าที่ที่มีภูมิหลังทางภาษาและวัฒนธรรมที่หลากหลายได้มารวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองความเป็นเลิศทางด้านกีฬา”
“การรวมตัวของพลเมืองโลกครั้งนี้สร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและความเข้าใจซึ่งกันและกัน เป็นการตอกย้ำจิตวิญญาณแห่งสันติภาพและมิตรภาพที่โอลิมปิกเป็นตัวแทน”

“มีการตระเตรียมกันอย่างมากมายเพื่อให้แน่ใจว่าการแข่งขันครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ แม้ว่าจะมีเสียงผู้คนทำนายทายทักถึงปัญหาอยู่เสมอก็ตาม เมื่อครั้งที่ผมได้รับสิทธิพิเศษในการอยู่ที่ซิดนีย์เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2000 ชาวซิดนีย์หลายคนก็ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเตรียมการในทำนองเดียวกัน แต่การแข่งขันครั้งนั้นก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม”
“ความทุ่มเทและความพยายามในระดับเดียวกันได้ถูกนำมาใช้ในการเตรียมตัวสำหรับการแข่งขัน Paris Games และผมมั่นใจว่าจะเป็นงานที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำและประสบความสำเร็จ จากการนำมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติมารวมกันอีกครั้งในใจกลางฝรั่งเศส”
“ยิ่งไปว่านั้น ผมตื่นเต้นมากกับการจัดพิธีเปิดการแข่งขันในครั้งนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่จัดนอกสนามกีฬาเท่านั้น แต่จะเป็นใจกลางแม่น้ำแซน (La Seine) ซึ่งเปรียบเสมือนแม่น้ำแห่งชาติของประเทศฝรั่งเศส ที่ไหลผ่านใจกลางกรุงปารีส และจะเป็นครั้งแรกที่ฉีกประเพณีดั้งเดิมซึ่งจัดพิธีเปิดการแข่งขันภายในสนามกีฬา ทางเลือกที่เป็นนวัตกรรมใหม่นี้ ไม่เพียงแต่นำเสนอความงดงามของปารีสเท่านั้น แต่ยังเป็นการเริ่มต้นกิจกรรมที่มีเสน่ห์อย่างน่าประทับใจอีกด้วย” •


รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน
Chanadda Jinayodhin
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022