The Sea is a Blue Memory การสำรวจกายภาพของน้ำ ในบริบทของประวัติศาสตร์การพลัดถิ่นในมหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ 2024

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

The Sea is a Blue Memory

การสำรวจกายภาพของน้ำ

ในบริบทของประวัติศาสตร์การพลัดถิ่น

ในมหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ 2024

ในตอนนี้ เราขอเล่าถึงผลงานของศิลปินอีกคนที่เราได้ชมในนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร ที่เป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

ปรียากีธา ดีอา (Priyageetha Dia) ศิลปินร่วมสมัยชาวสิงคโปร์ เธอทำงานศิลปะในสื่อที่สัมพันธ์กับเวลา (time-based media) และศิลปะจัดวาง ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์แรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การสำรวจมุมมองของสังคมเกษตรกรรมในเขตร้อน และความทรงจำของบรรพบุรุษที่ขัดแย้งกับความเป็นเหตุเป็นผล ประวัติศาสตร์ของชนกลุ่มน้อย และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์

ผ่านการวิจัยและลงภาคสนาม ที่มุ่งเน้นในการสำรวจเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เป็นเส้นตรง และปฏิเสธอำนาจของเรื่องเล่ากระแสหลัก

ผลงานของเธอจัดแสดงในมหกรรมศิลปะ Kochi-Muziris Biennale (2022-2023) เมืองโกชิ รัฐเกรละ ประเทศอินเดีย และในพิพิธภัณฑ์ Singapore Art Museum (2020, 2023), พิพิธภัณฑ์ ArtScience Museum (2019) สิงคโปร์, สถาบัน La Trobe Art Institute (2022) ออสเตรเลีย

เธอยังเป็นศิลปินพำนักใน NTU Center for Contemporary Art Singapore ในสิงคโปร์ ในปี 2022 และ SEA AiR-Studio Residencies ที่ Jan van Eyck Academie ในเนเธอร์แลนด์ ในปี 2023

ในนิทรรศการครั้งนี้ ปรียากีธานำเสนอผลงาน The Sea is a Blue Memory (2022) วิดีโอจัดวางแอนิเมชั่นโมชั่นแคปเจอร์ 3 มิติ แสดงภาพของสตรีผู้แหวกว่ายร่ายรำในมหาสมุทรสีน้ำเงิน อันเป็นสัญลักษณ์ของจินตนาการถึงบรรพบุรุษของศิลปิน ผู้เดินทางพลัดถิ่นฐาน ข้ามน้ำข้ามทะเลจากอินเดียไปยังคาบสมุทรมลายู จนตกอยู่ในสถานะของคนชายขอบในดินแดนอื่น

“ที่อาจารย์อภินันท์เลือกผลงานชิ้นนี้ของฉันมาแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ เพราะเขาคิดว่าผลงานนี้เหมาะกับเนื้อหาของนิทรรศการ ฉันคิดว่าเขาสนใจในบริบทในงานของฉัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นเกี่ยวกับจิตวิญญาณของท้องทะเล และความเชื่อมโยงกับกายภาพของท้องทะเลจริงๆ”

“ในฐานะคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉันคิดถึงการเคลื่อนที่ การอพยพโยกย้าย และประสบการณ์การแลกเปลี่ยนทางจิตวิญญาณและทางวัฒนธรรมผ่านท้องทะเล อันเป็นที่มาของผลงานชิ้นนี้”

“ก่อนหน้านี้ ผลงานชิ้นนี้เคยแสดงใน Kochi Biennale ซึ่งน่าสนใจว่า โกชิเป็นเมืองที่อยู่ติดน้ำเช่นเดียวกับเวนิส ฉันจึงสนใจการทับซ้อนระหว่างพื้นที่แสดงงานของ Kochi Biennale และ Venice Biennale โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสดงงานในอาคารแห่งนี้ ที่หันหน้าเข้าหาผืนน้ำ ไม่ต่างอะไรกับกระจกเงาที่สะท้อนซึ่งกันและกันกับพื้นที่แสดงงานในเมืองโกชิ”

ปรียากีธายังเผยถึงที่มาที่ไปของชื่อผลงาน The Sea is a Blue Memory ชิ้นนี้ให้เราฟังว่า

“โดยปกติ คนอาจจะคิดถึงสีน้ำเงิน ในฐานะสี แต่ฉันคิดถึงมันในฐานะอารมณ์ความรู้สึก ฉันมักจะคิดถึงสีน้ำเงินในแง่ของความรู้สึกโหยหาอดีต ความทรงจำครั้งเก่าก่อน ดังนั้น สีน้ำเงินจึงไม่ได้เป็นแค่สี หากแต่เป็นตัวแทนของอารมณ์ความรู้สึกหรือแม้แต่ในเชิงจิตวิญญาณสำหรับฉัน”

เมื่อเปรียบเทียบกับผลงานวิดีโอแสดงสดของกวิตา วัฒนะชยังกูร ในนิทรรศการเดียวกัน ที่ใช้น้ำและสีน้ำเงิน เป็นสัญลักษณ์แทนกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบถึงผืนน้ำในสิ่งแวดล้อม หากผลงานของปรียากีธานำเสนอเรื่องราวของน้ำในอีกแง่มุมหนึ่ง

“เมื่อพูดถึงความพันธ์ระหว่างมนุษย์กับน้ำ ที่ใกล้ชิดที่สุดในวิถีชีวิตประจำวันคือการชำระล้างร่างกายให้สะอาดด้วยน้ำ ซึ่งทำให้น้ำเปลี่ยนสถานะและเลื่อนไหล ในขณะเดียวกัน ความเลื่อนไหลนี้ยังทำให้น้ำเป็นตัวกลางในการเคลื่อนที่ โยกย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง”

“เช่นเดียวกับบรรพบุรุษของฉันที่อพยพพลัดถิ่นข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากอินเดียตอนใต้ มาเป็นกรรมกรกรีดยางในมลายา และกลายเป็นคนสิงคโปร์ในที่สุด”

“ในผลงานของฉัน คุณจะเห็นความขัดแย้งระหว่างผืนน้ำในความเป็นจริงที่อยู่ด้านหน้าพื้นที่แสดงงาน กับผืนน้ำที่ฉันสร้างขึ้นในโลกเสมือนบนจอวิดีโอ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ถูกสร้างขึ้นให้มีความเหนือจริง เพื่อขับเน้นความเป็นคนแปลกแยกในแผ่นดินอื่น”

ในขณะเดียวกัน ร่างกายของตัวละครในผลงานวิดีโอชิ้นนี้ก็ไม่ได้เป็นมนุษย์ตามปกติ หากแต่ดูคล้ายกับตัวละครในนิยายวิทยาศาสตร์อย่างไซบอร์กหรือมนุษย์จักรกลก็ไม่ปาน

“นั่นเพราะฉันต้องการสร้างภาพของจิตวิญญาณของท้องทะเล แต่ในขณะเดียวกันก็อยากเติมความรู้สึกของความเป็นอนาคตลงไป เพื่อทำให้ผู้ชมไม่อาจรู้ได้ว่าร่างกายของตัวละครนี้ปรากฏอยู่ในเวลาหรือสถานที่แห่งไหน เหมือนตัวละครนี้สามารถเดินทางไปข้างหน้าและย้อนกลับในห้วงเวลาที่แตกต่างกัน เพื่อมองไปยังอดีตและอนาคตได้”

บนแผ่นหลังของตัวละครจิตวิญญาณของท้องทะเลตนนี้ยังมีตัวอักษรวิจิตรภาษาอังกฤษที่ส่งแสงเรืองรอง อ่านจับใจความได้ว่า “Malaya” หรือ “มลายา” นั่นเอง

“ฉันกำลังมองในแง่ของประวัติศาสตร์ระหว่างสิงคโปร์และมาเลเซีย ว่ามันมีความหมายอย่างไรในการเป็นประเทศที่ถูกห้อมล้อมด้วยน้ำ และฉันยังคิดถึงผืนน้ำที่มีความเชื่อมโยงกับดวงจันทร์ ว่าดวงจันทร์ส่งผลกระทบอย่างไรต่อน้ำ ทั้งน้ำขึ้นน้ำลง หรือแม้แต่ฤดูมรสุม ว่าสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติส่งผลกระทบอย่างไรต่อมนุษย์ ผืนน้ำ และโลกรอบตัว ฉันรู้สึกว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่กำหนดและส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เรากับน้ำ”

ความเชื่อมโยงระหว่างผืนน้ำและแผ่นดินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติกับน้ำ ยังทำให้เรานึกเชื่อมโยงไปถึงภูมิภาคทางชีวภูมิศาสตร์ของผืนแผ่นดินโบราณของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อประมาณ 220 ล้านปีก่อน ที่เรียกว่า ซุนดาแลนด์ (Sundaland) ซึ่งเป็นแผ่นดินที่เชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไว้ด้วยกัน หากแต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลก็ทำให้ผืนแผ่นดินแห่งนี้จมอยู่ใต้มหาสมุทรในที่สุด

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการในผลงานชิ้นนี้ก็คือ ตัวละครจิตวิญญาณของท้องทะเลในวิดีโอแอนิเมชั่นจัดวางชิ้นนี้ มีรูปร่างหน้าตาที่ละม้ายคล้ายคลึงกับศิลปินเจ้าของผลงานอย่างปรียากีธาอยู่ไม่หยอก ซึ่งเธอก็เฉลยให้เราฟังว่ามันได้แบบมาจากตัวเธอนั่นแหละ

“ใบหน้าและการเคลื่อนไหวของตัวละครในแอนิเมชั่นนี้ก็ได้มาจากการใช้แอนิเมชันโมชั่นแคปเจอร์จับภาพหน้าตา ท่าทาง และการเคลื่อนไหวร่างกายของฉันเพื่อสร้างขึ้นมา

ที่ใช้เทคนิคนี้นอกจากเพราะความสะดวกในการทำงานแล้ว ฉันยังต้องการสะท้อนตัวตนของฉันลงในผลงาน ถึงแม้ฉันจะไม่ได้ถ่ายภาพตัวเองลงไปในผลงานจริงๆ ก็ตาม แต่ฉันก็พยามยามทำให้ตัวเองใกล้ชิดกับตัวงานที่สุด ไม่ต่างอะไรกับการใส่วิญญาณของฉันลงไปในผลงานชิ้นนี้

ฉันยังคิดถึงการที่มนุษย์เราใช้น้ำในพิธีกรรมเพื่อชำระล้าง หรือทำความสะอาดร่างกายและจิตวิญญาณ ไม่ต่างอะไรกับพิธีสังเวยด้วยเลือด เพราะน้ำก็ไม่ต่างอะไรกับสายเลือดของผืนแผ่นดิน”

แนวคิดเช่นนี้ทำให้เรานึกถึงพิธีกรรมและประเพณีของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง ประเพณีลอยกระทง ตามความเชื่อว่าเป็นการขอขมาพระแม่คงคา เทพเจ้าแห่งสายน้ำ หากในปัจจุบันประเพณีที่ว่านี้กลับกลายเป็นมหกรรมสร้างขยะและมลพิษให้กับแหล่งน้ำอย่างมหาศาล จนทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า พิธีกรรมและประเพณีเช่นนี้เป็นสิ่งที่ควรสืบทอดกันต่อไปหรือไม่

ในขณะเดียวกัน ผลงานชิ้นนี้และของศิลปินอีกหลายคนในนิทรรศการที่จัดแสดงในนครแห่งสายน้ำครั้งนี้ ก็ทำให้เรารู้สึกได้ว่า แม้แต่งานศิลปะก็มีส่วนกระตุ้นให้เราตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ แหล่งน้ำ ที่ถือเป็นเหมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของมนุษย์ทุกคนได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

นิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร จัดแสดงในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 ณ พื้นที่แสดงงาน Palazzo Smith Mangilli Valmarana ในเมืองเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน-24 พฤศจิกายน 2567

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ทาง Facebook และ Instagram : Bkkartbiennale

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากศิลปิน มูลนิธิบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่, Arina Matvee และอมรินทร์ •

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

The Sea is a Blue Memory