ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สิ่งแวดล้อม |
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ บุตรตัน |
เผยแพร่ |
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เปิดสถิติล่าสุดเดือนมิถุนายน ยืนยันเป็นเดือนที่ร้อนสุดสุดเป็นประวัติการณ์ ทำสถิติร้อนติดต่อเป็นเดือนที่ 13 ส่วนค่าเฉลี่ยอุณหภูมิผิวน้ำทะเล 20.85 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกตลอด 12 เดือนสูงขึ้น 1.64 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติเก่าๆ เช่นกัน ตัวเลขเหล่านี้เตือนให้ทุกคนตระหนักรู้ว่า “ภาวะโลกเดือด” เดินหน้าทำงานเต็มสูบพร้อมขย้ำชีวิตผู้คนและสิ่งแวดล้อม
“เซเลสต์ เซาโล” เลขาธิการ WMO ยกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าภาวะโลกเดือดทำงานแล้ว นั่นคือพายุเฮอร์ริเคนเบริล (Hurricane Beryl) และคลื่นความร้อนที่แผ่คลุมหลายพื้นที่ทั่วโลก
“เบริล” เป็นพายุเฮอร์ริเคนลูกแรกของปีนี้ที่ก่อตัวในมหาสมุทรแอตแลนติก ศูนย์เฮอร์ริเคนแห่งชาติของสหรัฐ เฝ้าจับตาพายุลูกนี้ตั้งแต่แรกพบว่า ช่วงตอนเย็นวันที่ 28 มิถุนายน กลุ่มเมฆเหนือบริเวณด้านซ้ายของชายฝั่งแอฟริกาตะวันตกทำปฏิกิริยาทางเคมีเกิดฟ้าผ่าฟ้าร้องอย่างรุนแรงขณะที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลอยู่ที่ 28 องศาเซลเซียส ลมเฉือนความเร็วที่ 9.3-18.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เกิดเป็นพายุดีเปรสชั่นเคลื่อนตัวไปยังเกาะบาร์บาโดส
ถัดมาวันที่ 29 มิถุนายน “เบริล” พัฒนากลายเป็นพายุเฮอร์ริเคนแล้วยกระดับความแรงเป็นเฮอร์ริเคนระดับ 4 ความเร็วลม 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
วันที่ 2 กรกฎาคม เพิ่มพลังแรงเป็น 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นเฮอร์ริเคนระดับ 5 และแผลงฤทธิ์ตลอดเส้นทางผ่านในแถบทะเลแคริบเบียน อ่าวเม็กซิโกเป็นเวลา 8 วันก่อนสลายตัวที่รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา
สาเหตุเบริลเป็นเฮอร์ริเคนระดับ 5 ได้เพราะปีนี้อุณหภูมิพื้นผิวของมหาสมุทรแอตแลนติกเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ อุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นพลังงานชั้นดีที่ช่วยปั่นให้พายุดีเปรสชั่นลูกเล็กๆ มีระดับความแรงเป็นพายุเฮอร์ริเคนติดเทอร์โบในช่วงเวลาไม่กี่วัน
ตามปกติแล้วเฮอร์ริเคนลูกแรกๆ ที่ก่อตัวในมหาสมุทรแอตแลนติกจะไม่มีพลังแรงมากนัก เพราะเดือนมิถุนายน ยังอยู่ปลายฤดูใบไม้ผลิอากาศยังเย็นๆ เฮอร์ริเคนลูกหลังๆ จะแรงฤทธิ์ขึ้นเมื่อเข้าสู่เดือนกันยายน เนื่องจากอุณหภูมิมหาสมุทรระหว่างเดือนกรกฎาคม เดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นฤดูร้อนอุณหภูมิสะสมในพื้นผิวน้ำทะเลเพิ่มขึ้น
“เบริล” จึงเป็นตัวอย่างของการเข้าสู่ภาวะโลกเดือด
อีกตัวอย่าง คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คลุมพื้นที่ฝั่งตะวันออกของสหรัฐ ส่งผลให้ชาวอเมริกันกว่า 100 ล้านคน เหงื่อหยดท่วมตัวเพราะร้อนแทบตับแตก
บางรัฐอย่างเช่น เพนซิลเวเนีย ต้องเปิดห้องฉุกเฉินเตรียมพร้อมรับคนไข้ที่เป็นฮีตสโตรก โรงเรียนหลายแห่งที่ไม่ติดเครื่องปรับอากาศโดนสั่งให้หยุดเรียนชั่วคราว ยังมีภาวะภัยแล้งแทรกซ้อนตามมาด้วย บรรดาเกษตรกรพากันเครียดเนื่องจากดินอุ้มความร้อนไว้มีผลกับพืชผัก แหล่งน้ำก็แห้งขอด
สาเหตุเกิดคลื่นความร้อนในเดือนมิถุนายนนั้น เนื่องจากความกดอากาศสูงแผ่ลงมาปกคลุมในพื้นผิวโลกและชั้นบรรยากาศบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐ นักวิทยาศาสตร์วัดคลื่นความร้อนได้สูงถึง 17 กิโลเมตร
พื้นที่อีกหลายแห่งในซึกตะวันตกของสหรัฐเจออากาศร้อนสุดขีด อุณหภูมิ 43.3 องศาเซลเซียส มีผลกระทบกับประชากรราว 36 ล้านคน
ส่วนบริเวณหุบเขามรณะ หรือเดธวัลเล่ย์เขตรอยต่อระหว่างรัฐแคลิฟอร์เนียกับรัฐเนวาดา อุณหภูมิทะลุ 53.3 องศาเซลเซียส ใครไม่คุ้นชินกับอากาศร้อนสุดขีดเช่นนี้อย่าเสี่ยงไปเดินเล่น มีโอกาสช็อกตายเอาง่ายๆ
คลื่นความร้อนและอุณหภูมิเดือดสุดสุเที่เกิดขึ้นกับชาวอเมริกันครั้งนี้ถือเป็นความผิดปกติ เพราะไม่ได้มาพร้อมกับฤดูร้อน แต่มาในเดือนมิถุนายนเป็นช่วงปลายของฤดูใบไม้ผลิที่อากาศควรเย็นๆ กลับร้อนระอุ
นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า คลื่นความร้อนระดับรุนแรงร้อนแทบตับแตก มีระยะเวลานานกว่าเดิมถึง 4 เท่า
คลื่นความร้อนที่มาก่อนเวลา ไม่ได้เกิดเฉพาะในสหรัฐอเมริกา แต่ในยุโรปและเอเชียเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าเดิมเช่นเดียวกับอุณหภูมิที่ร้อนจัด เกิดขึ้นในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ เป็นความผิดปกติที่คาดว่าจะเป็นความปกตินับต่อจากนี้ไป
ที่ประเทศกรีซ อุณหภูมิเดือนมิถุนายนปกติแล้ว อยู่ที่ 22-28 องศาเซลเซียส เมื่อก่อนนี้ใครไปเที่ยวกรีซจะเป็นปลื้มเพราะอากาศเย็นสบาย มาปีนี้อุณหภูมิทะลุ 38 องศาเซลเซียส จึงมีข่าวนักท่องเที่ยวเสียชีวิตด้วยสาเหตุอากาศร้อนจัด
ที่ซาอุดีอาระเบีย อากาศร้อนสุดขีด เฉพาะที่นครเมกกะ ระหว่างวันที่ 16-18 มิถุนายน อุณหภูมิกระฉูดถึง 51.8 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ชาวมุสลิมจากทั่วโลกที่เข้าร่วมทำพิธีฮัจญ์เสียชีวิตรวมๆ แล้วไม่น้อยกว่า 1,300 คน
คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในซาอุฯ นั้น ถ้าดูตามสถิติเคยเกิดช่วงเดือนพฤษภาคม และเดือนกรกฎาคม แต่ครั้งนี้เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นคลื่นความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม สูงกว่า 1.2 องศาเซลเซียส ระยะเวลาเกิดขึ้นก็นานกว่า

มาดูในซีกเอเชีย อากาศร้อนเพิ่งผ่านไปหมาดๆ คราวนี้ เป็นพายุฝนซัดเกาะสุลาเวสี อินโดนีเซีย น้ำท่วม โคลนซัดบ้านเรือนพังหลายสิบหลัง มีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 15 คน
หน้าฝนอินโดนีเซียมีปัญหาดินโคลนถล่มมากเนื่องจากการโค่นไม้ทำลายป่า
ที่ภูเก็ต เกิดฝนตกหนักตูมเดียวท่วมเมือง สาเหตุเพราะไปก่อสร้างบ้านเรือน ถนนขวางทางน้ำทำให้น้ำจากภูเขาสูงไหลทะลักใส่พื้นที่ด้านล่าง
ฝั่งเอเชียใต้ อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ เจออากาศร้อนจัดในกลางเดือนมิถุนายน ร้อนจนแม่ค้าพ่อค้าบอกว่า ไม่สามารถขายสินค้าทั้งช่วงเช้าหรือบ่ายๆ ได้เลย เพราะร้อนเกินทน ผิดกับในอดีต หน้าร้อนยังยืนขายของได้ทั้งเช้าบ่าย ส่วนเที่ยงก็หาที่หลบแดด
อุณหภูมิกลางเดือนมิถุนายนที่เนปาลตอนใต้ทะลุไปถึง 44 องศาเซลเซียส อินเดียและบังกลาเทศ อุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงเดียวกัน 40 องศาเซลเซียสต้นๆ จะมีบางเมืองของบังกลาเทศ เช่น ยาชอร์ อุณหภูมิเมื่อปลายเดือนเมษายนวัดได้ 43.8 องศาเซลเซียส
ชาวสวนมะม่วง ลิ้นจี่ในบังกลาเทศ พากันนั่งเศร้า เพราะลูกมะม่วงและลิ้นจี่เจออากาศร้อนสุดขีด แห้งตายร่วงกราว ผลผลิตลดลงอย่างน้อย 20-30%
อากาศร้อนจัดผ่านพ้นไป ลมมรสุมเข้ามาแทน พื้นที่ในฝั่งเอเชียเจอฝนเทลงมาหนักหน่วง ทำให้เกิดน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม
สถิติความรุนแรงเพิ่มมากถึง 90% เมื่อเทียบกับอดีตในห้วงเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญสรุปว่า ปริมาณน้ำฝนมากผิดปกติเป็นเพราะภาวะโลกเดือด
“อันโตนิโอ กูเตร์เรส” เลขาธิการสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เป็นอีกคนที่ส่งสัญญาณเตือนชาวโลกให้จับมือกันแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนมาตั้งแต่เป็นเลขาฯ ยูเอ็นเมื่อ 6 ปีก่อน แต่นานาชาติแสดงอาการไม่ใส่ใจกับปัญหานี้มากพอ
อาการไม่ใส่ใจดูได้จากการประชุมแก้ปัญหาโลกร้อนที่ยูเอ็นเป็นเจ้าภาพมาตั้งแต่ปี 2535 เวลาผ่านมา 32 ปีแล้ว 154 ชาติที่ร่วมกันเซ็นสัญญาสกัดไม่ให้โลกร้อน หยุดการใช้ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นตัวการทำให้สภาวะภูมิอากาศโลกแปรปรวนรุนแรง ไม่สามารถทำให้บรรลุตามเป้าหมายได้
สถิติเมื่อปีที่แล้วปริมาณก๊าซพิษตัวอันตรายหลักๆ 3 ตัว ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ ที่ชาวโลกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศนั้นไม่ได้ลดลงเลย
องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ของสหรัฐ เก็บข้อมูลก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกในขณะนี้ไปเปรียบเทียบสถิติก่อนจะมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ปรากฏว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่า 50%
เฉพาะปี 2566 ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลก ถูกปล่อยเพิ่มขึ้นมากเป็นอันดับที่ 3 ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับก๊าซมีเทน ปี 2566 มีมากกว่าปี 2565 และก๊าซไนตรัสออกไซด์ ก็มีปริมาณปล่อยออกมาสูงขึ้น คาดว่าเกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมากขึ้น
เมื่อเทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ปริมาณก๊าซไนตรัสออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกมีความเข้มข้นสูงกว่า 25%
นักวิทยาศาสตร์เฝ้ามองปรากฏการณ์ก๊าซพิษในชั้นบรรยากาศที่หอสังเกตการณ์เมานาโลอา ในรัฐฮาวาย สหรัฐ พบว่า เมื่อปีที่แล้ว ก๊าซพิษทุกตัวที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลก มีปริมาณทั้งสิ้น 36.8 พันล้านตัน
เทียบกับช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังโตเบ่งบาน บรรดาประเทศอุตสาหกรรมเร่งผลิตสินค้า รถยนต์ ฯลฯ พากันเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเมามัน ปีละ 10.9 พันล้านตัน
ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นชาวโลกไม่ได้สนใจโลกจะร้อนขึ้นแค่ไหน แม้รู้อยู่ว่า ยิ่งเติมก๊าซพิษในชั้นบรรยากาศโลกมากเท่าไหร่ อากาศจะวิกฤตมากเป็นทวีคูณ
กลางปีที่แล้ว “กูเตร์เรส” มองอนาคตข้างหน้าถ้าชาวโลกยังขืนมีพฤติกรรมเช่นนี้ จะถึงคราวินาศสันตะโรแน่ จึงออกมาป่าวประกาศว่าภาวะโลกร้อนสิ้นสุดไปแล้ว และกำลังเข้าสู่ภาวะโลกเดือด
ผ่านมาครบ 1 ปีเต็ม เสียงร้องของเลขาฯ ยูเอ็น ไม่มีผู้นำประเทศใดให้ความสนใจมากนัก
มาล่าสุดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา “กูเตร์เรส” อดรนทนไม่ไหวต้องออกมาโพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย วิงวอนชาวโลกเร่งปฏิบัติการแก้ปัญหา “โลกเดือด” เพราะสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนรุนแรง โดยเฉพาะอากาศร้อนสุดขั้ว (Extreme Heat) เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน
เลขาฯ ยูเอ็นชาวโปรตุเกสบอกว่า อากาศร้อนสุดขั้วถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางมนุษยธรรม (Humanitarian emergency)
เสียงกู่ร้องของ “กูเตร์เรส” ครั้งนี้ จะมีผู้นำประเทศ นักธุรกิจพลังงานฟอสซิล คนกำหนดนโยบายรัฐ ได้ยินสักกี่คน และมีกี่คนลงมือปฏิบัติการเพื่อให้โลกใบนี้ดีขึ้นกว่าเดิม? •
สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022