ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความในประเทศ
‘ลากตั้ง’ ไม่ไป-‘จัดตั้ง’ ไม่มา
ส.ว.จะถึงสภากี่โมง
กกต.กัดฟันตอบ
ปล่อยผี 200 ‘สอยทีหลัง’
รอจนเกือบจะเหงือกแห้งเลยทีเดียว…สำหรับสภาบนชุดใหม่ ที่จะมาแทนที่ 250 ส.ว.ชุดลากตั้ง
ย่างเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 จนคนถามเชิงประชดแบบคนในโลกโซเชียลว่า “ส.ว.ใหม่จะเข้าสภากี่โมง???”
ท้ายที่สุด กกต.ในฐานะผู้ทำหน้าที่ในการดำเนินการจัดเลือก ส.ว.ตามกฎหมาย “ก็ถือฤกษ์โมงยาม บ่ายของวันที่ 10 กรกฎาคม ยอมปล่อยผี” ประกาศรับรอง ส.ว.ใหม่ 200 คน
เหตุแห่งความช้าเพราะการเลือก ส.ว.ครั้งนี้เต็มไปได้วยความปั่นป่วนวุ่นวาย ตั้งแต่เริ่มรับสมัคร วุ่นวายในของการเลือกหลายๆ ระดับ
กระทั่งหลังเสร็จสิ้นกระบวนการ ก็เต็มไปด้วยปัญหามากมาย มีความไม่ชอบมาพากลในแบบที่ชาวบ้านที่ดูข่าวเองยังส่ายหน้าหนี เกิดการยื่นเรื่องร้องเรียนผุดเป็นดอกเห็ด
กกต.ก็ประชุมถกเถียงกันคร่ำเครียดอยู่ครึ่งเดือน กว่าจะมีมติออกมา
มีคำถามว่าจะประเมินวุฒิสภาชุดนี้อย่างไร
คำตอบมีในหลายทิศทาง แต่ส่วนใหญ่เป็นไปในลักษณะ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก”
พูดกันอย่างตรงไปตรงมา ก็ต้องยอมรับกันว่า หนีไม่พ้นครหาเรื่องฮั้ว จนถูกเรียกไปเรียบร้อยแล้วว่าเป็น ส.ว.ชุดจัดตั้ง…
หากตามอ่านข่าวตลอด 2 สัปดาห์หลังการเลือกจบสิ้น ก็จะเห็นร่องรอยสายสัมพันธ์จำนวนมากของว่าที่วุฒิสภากับกลุ้มก้อนการเมืองอย่างชนิดยากจะปฏิเสธ
หากเอาเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญและออกแบบกติกาการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ ต้องบอกว่าผู้ออกแบบ “ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง”
หวังออกแบบกติกาให้ซับซ้อน ให้เลือกกันเองในกลุ่มหลายระดับ หาผู้มีคุณวุฒิในสายอาชีพต่างๆ มาทำหน้าที่ทางการเมือง เพราะไม่ไว้วางใจ “ระบบเลือกตั้งทางตรง” ของประชาชนที่อาจจะเลือกคนซื้อเสียงเข้ามา
คนออกแบบกติกา ดูหมิ่น “เครือข่ายการเมืองเชิงอุปถัมภ์แบบไทยๆ” มากไปแล้ว หารู้ไม่ว่าเขาก็ปรับตัวกับกติกา เรียนรู้ช่องโหว่ หารูรอดเข้ามามีอำนาจจนได้
วันนี้เขาทำให้เห็นแล้วว่า ระบบการเลือกวุฒิสภา “ฉบับมรดก คสช.” ก่อความเสียหายต่อระบบการเมืองไทย “ยิ่งกว่า” (แต่เลวร้ายน้อยกว่าระบบลากตั้ง)
ในทางการเมือง ก็รู้กันว่ามัน “ผิด” แต่ในทางกฎหมาย “ไม่แน่” ว่าผิดหรือเปล่า?
เพราะไปกางกติกาดีๆ จะเห็นช่องว่าง รูโหว่ขนาดใหญ่ ที่ผู้ออกแบบเปิดช่องไว้ให้เกิดกรณีเช่นนี้ได้
แน่นอนว่า การจัดตั้งหรือฮั้วโดย “การใช้เงิน” หรือใช้กลไกอำนาจดำเนินการอย่าเอื้อประโยชน์ ย่อมมีความผิด แต่ถ้าทำโดยไม่ทิ้งร่องรอยไว้ ก็ยากที่จะจับได้
แต่เพราะมัน “ผิดไม่ชัด” นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า “อาชญากรรมคอปกขาว” ที่ออกมาจากปาก นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ที่ยอมรับตรงไปตรงมาว่าก็รู้ว่าผิดแต่มัน “เอาผิดยาก”
ในการที่บอกว่ากลุ่มการเมืองบ้านใหญ่แห่งหนึ่ง “ฮั้ว” มีการ “บล็อกโหวตจัดตั้ง” ถ้าดูกันไปอีก ก็จะเห็นลักษณะการเมืองดังกล่าวในกลุ่มก้อนการเมืองอื่น ก็มีการนัดแนะ พูดคุย ตกลงใจกันไม่ต่างกัน เพียงแต่กลัว “ประเจิดประเจ้อ” ไม่ได้ถือโพยเข้าไป จึงทำได้ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก
นั่นจึงเป็นที่มาว่าท้ายที่สุด กกต.ก็ต้อง “ปล่อยผี” ทั้งขบวน โดยสอยร่วงเพียง 1 ราย ในกลุ่ม 18 เพราะมีหลักฐานชัดเจนว่าดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาก่อน (กรณีอื่นๆ อาจมาตามภายหลัง)
น่าคิดว่าถ้ากติกานี้ยังใช้งานต่อในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น?
เมื่อกลุ่มการเมืองหนึ่งประสบความสำเร็จในรอบนี้ด้วยกระบวนการ “จัดตั้ง” ที่มีประสิทธิภาพ แน่อนว่า การเลือก ส.ว.รอบหน้า กลุ่มก้อนการเมืองอื่นๆ ก็คงกระทำไม่ต่างกัน
แถมจะแนบเนียนยิ่งกว่า
ไม่ได้เชียร์ให้ทำแบบนี้ แต่รูปการณ์ทางการเมืองมันจะเป็นแบบนี้แน่ ถ้ากติกายังเป็นแบบเดิม แต่เอาเฉพาะในวันนี้ที่ กกต.ปล่อยปี 200 ส.ว.จัดตั้งนี้แล้ว ยังไงก็ต้องอยู่กับ ส.ว.ชุดนี้อีก 5 ปี ก็ตรวจสอบอย่างเข้มข้น วิพากษ์วิจารณ์การทำงานกันไป
ที่สำคัญคือต้องชี้ให้เห็นข้อบกพร่องเชิงโครงสร้างของกติกาเพื่อให้คนส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า เกมแบบนี้ที่สุดแล้วประเทศไม่ได้ประโยชน์ ต้องเปลี่ยนใหม่ภายใน 5 ปีนี้
เพราะถ้ายังเป็นแบบเดิม กฎกติกาเดิม การเลือกรอบหน้าก็พยากรณ์ได้เลยว่า “เละเทะ” อีก
อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจในสัปดาห์นี้คือ 250 ส.ว.ลากตั้ง ที่ยังไม่ยอมจบบทบาทตัวเองได้เสียโดยดี
จู่ๆ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ก็กดออดเรียกประชุม อ้างว่างภารกิจยังไม่เสร็จ ลงมติตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาปัญหาการเลือก ส.ว.ชุดใหม่
โดนวิพากษ์วิจารณ์ยับ เพราะประเด็นการเลือก ส.ว.ชุดใหม่ เป็นหน้าที่ กกต. แล้ว 250 ส.ว.ชุดเก่าเกี่ยวอะไรด้วย? นั่งเก้าอี้มาตั้งนาน ไม่เห็นออกมาวิพากษ์ดำเนินการอะไรกับกติกาที่ออกแบบภายใต้รัฐธรรมนูญ คสช. แล้วทำไมจึงเพิ่งมาขยันอะไรตอนนี้
นันทนา นันทวโรภาส ว่าที่ ส.ว.ชุดใหม่ทนไม่ไหว ถึงกับบอกว่า ส.ว.ชุดเก่าไร้มารยาท ควรยุติบทบาทไปได้แล้ว
ขณะที่ พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อ.คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ก็ให้มุมมองน่าคิด ทันทีที่มีประกาศทางการ 200 ส.ว.ชุดใหม่ กมธ.วิสามัญที่เพิ่งตั้ง ก็จบเกมทันที
แต่ก็ยังไม่สามารถวางใจได้ เชื่อว่ากลุ่ม 250 ส.ว.ลากตั้ง ก็จะยังคงเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะอาจใช้ช่องทางลัดทางกฎหมายที่พวกเขาถนัด ในการจัดการกับระบบและบุคคลที่ฝ่ายตนไม่ชอบ
ดูจากคะแนนที่โหวตตั้ง กมธ.วิสามัญล่าสุด ก็จะเห็นเสียงส่วนใหญ่เทคะแนนเดินหน้าทำงาน ทั้งที่โดยมารยาท ควรจะหยุดไปนานแล้ว
ทั้งหมดเกิดจาก “อารมณ์ค้าง” ไม่รู้จักปล่อยวาง
ต้องยอมรับว่า “ความเละเทะ” ที่เกิดขึ้นในการเลือกวุฒิสภาโดยส่วนใหญ่ ปัจจัยหลักคือผู้ออกแบบกฎกติกา
เพราะในนามของความหวังดี อยากได้คนดีมาดำรงตำแหน่งวุฒิสภา จึงได้ตกผลึกออกแบบกลไกนี้ออกมา
แน่นอนว่า “หลักการบางอย่างดี” ไม่ปฏิเสธ หรืออาจจะยอมรับได้บ้างว่า “ผู้ออกแบบก็คงหวังดี” อยากเปิดโอกาสให้คนเก่ง คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม ที่ได้รับการยอมรับในวงวิชาชีพ มากกว่าแค่ใช้เงินซื้อเสียง เข้ามามีอำนาจ
แต่ที่สุด พอออกมาเป็นกติกาจริง กลับเกิดช่องโหว่รูใหญ่ จนพ่ายแพ้ให้กับนักการเมืองที่ผู้ออกแบบกฎกติการังเกียจอยู่ดี
หลังจากนี้ ส.ว.ชุดใหม่ซึ่งถูกขนานนามไปแล้วว่าเป็น “ส.ว.จัดตั้ง” แทน “ลากตั้ง” โดย ส.ว.ส่วนใหญ่ถูกเรียกว่าเป็น “ส.ว.สายสีน้ำเงิน”
การถูกสอยแค่ 1 ราย หมายความว่า 5 ปีจากนี้ ส.ว.สายสีน้ำเงิน จะครองอำนาจนำในสภาสูงอย่างเบ็ดเสร็จ
เบื้องต้นต้องจับตาดูตำแหน่ง ประธานและรองประธานวุฒิสภา ว่าจะเป็นใคร?
โดย ส.ว.สายสีน้ำเงิน ก็จะเป็นตัวแปรสำคัญทางการเมืองและกฎหมายของประเทศ แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ แล้ว แต่ก็นับได้ว่ายังมีอิทธิฤทธิ์อยู่ในระดับสูง
เพราะเป็นคนคุมเกมว่าจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ จะยอมให้วาระทางการเมือง กฎหมายไหน ได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลง จะแต่งตั้งใครเป็นองค์กรอิสระ
ทั้งหมดล้วนสำคัญต่อทิศทางการเมือง
น่าเศร้าที่พอหันไปดูอีกซีกโลกหนึ่งอย่างประเทศอังกฤษ
เขาเลือกตั้งใหญ่กันวันเดียว ตอนเย็นก็รู้ผล วันรุ่งขึ้น “นายกฯ ริชี ซูแน็ก ลาออก” จากนั้น “เซอร์เคียร์ สตาร์เมอร์” หัวหน้าพรรคแรงงานที่ชนะเลือกตั้งเข้าเฝ้าพระเจ้าชาร์ลส์เพื่อรับตำแหน่งนายกฯ คนใหม่
ไม่กี่ชั่วโมงต่อมาก็ประกาศชื่อคณะรัฐมนตรี พอเช้าอีกวัน ครม.ใหม่ก็เข้าทำเนียบ ไม่กี่วันถัดมาก็ประชุมสภา
พอดูบรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษยิ่งน่าสนใจ ห้องประชุมเล็กๆ พิธีรีตองไม่ต้องมาก สู้กันที่วาจาและตรรกะ
ตัดภาพมาที่เมืองไทย “การเลือก” ก็จัดก่อนอังกฤษตั้งนาน จนอังกฤษดำเนินการทุกอย่างเสร็จ มีนายกฯ-สภาใหม่ เริ่มทำงานแล้ว
นี่แหละ ผลจากการเอาระบบการเมืองการปกครองมาจากเขา แต่เอามาแค่ “เปลือกนอก” ลืมเอา “แก่นสาระ” การเมืองการปกครองของเขามาด้วย จึงวุ่นวายกันทุกวันนี้
ของอังกฤษทำงานแล้ว ของเรายังไม่รู้เลยจะได้เข้าสภากี่โมง…
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022