ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
ตามกำหนดการที่ควรจะเป็น ประเทศไทยจะเข้าสู่สนามการเมืองท้องถิ่น คือการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ทั่วประเทศ ในช่วงปลายปี 2567 โดยควรจะมีการเลือกตั้ง นายก อบจ. และ ส.อบจ. ใหม่พร้อมกันทุกจังหวัด ภายในไม่เกินวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2568 นี้
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2567 ปรากฏภาพการลาออกก่อนครบวาระของนายก อบจ.ในหลายจังหวัด เช่น นครสวรรค์ ปธุมธานี อ่างทอง พะเยา ชัยนาท ชัยภูมิ พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก ทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งนายก อบจ.ใหม่
เหตุผลหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้การลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ปรากฏผ่านคำสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตนายก อบจ.ปทุมธานี ว่า
“เนื่องจากได้หารือเกี่ยวกับปัญหาน้ำหลาก เพื่อหาแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาเรื่องน้ำหลาก ในกลุ่มจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่นครสวรรค์ลงมา สิงห์บุรี อ่างทอง ปทุมธานี พบว่าในช่วงที่เหลือเวลาอยู่ 6 เดือน ก่อนหมดวาระในวันที่ 19 ธันวาคมปีนี้ (2567) พวกเราไม่สามารถดำเนินการอะไรได้เลย เพราะจะต้องอยู่ในกติกาของการเลือกตั้ง เบิกจ่ายเงินไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนสุดท้าย
พวกเราจึงตัดสินใจด้วยกัน ในฐานะประธานสมาพันธ์นายก อบจ.ภาคกลาง ทุกคนจึงมีความเห็นว่า หากเราช่วยเหลือประชาชนไม่ได้ เราก็จะไม่อยู่ เพราะพวกเราคำนวณแล้วว่า ปีนี้น้ำเยอะแน่นอน จึงต้องลาออก โดยได้ตัดสินใจลาออกทั้ง 3 จังหวัด คือ ปทุมธานี นครสวรรค์ และอ่างทอง”
อย่างไรก็ดี ในทัศนะของผู้คร่ำหวอดเรื่องการเมืองท้องถิ่นหลายคนมองว่า เหตุผลเบื้องลึกเบื้องหลังที่แท้จริง เป็นไปเพื่อ
1. เพื่อให้หลุดพ้นจากมาตรการควบคุมวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562
เป็น “เทคนิคทางกฎหมาย” ที่ปรากฏอยู่บ่อยครั้งในการเลือกตั้งหลายระดับ หลายครั้งคราว
2. เพื่อ “ช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง” เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในจังหวะเวลาที่คู่แข่งทางการเมืองยังไม่พร้อม
ตัดฉากมาที่การเลือกตั้งนายก อบจ. ที่เกิดขึ้นไปแล้ว 3 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อ่างทอง และปทุมธานี
ที่จังหวัดนครสวรรค์ พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ สังกัดกลุ่มนครสวรรค์บ้านเรา ซึ่งลาออกเพื่อลงสมัครใหม่ เอาชนะคู่แข่งกลับมาเป็นนายก อบจ.นครสวรรค์ได้อีกสมัย ขณะที่ ร.ต.ท.ธรัตนชัย เฉลยคาม อดีตผู้สมัคร ส.ส.นครสวรรค์ เขต 6 พรรคก้าวไกล สังกัดอิสระนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่รับรองคุณสมบัติ โดยมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเพียงร้อยละ 37.59 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ที่จังหวัดอ่างทอง สุรเชษ นิ่มกุล อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง กลุ่มสำนึกรักบ้านเกิด ซึ่งลาออกเพื่อลงสมัครใหม่เช่นกัน ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่ออีกสมัยโดยไร้คู่แข่ง โดยมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเพียงร้อยละ 46.84 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ที่จังหวัดปทุมธานี เป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ซึ่งลาออกเพื่อลงสมัครใหม่ กับ ชาญ พวงเพ็ชร์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี 3 สมัย สังกัดพรรคเพื่อไทย ซึ่งฝ่ายหลังเป็นฝ่ายเฉือนเอาชนะไปได้
โดยมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเพียงร้อยละ 49.77 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ส่วนอีก 5 จังหวัดที่กำลังจะมีการเลือกตั้งนายก อบจ. ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2567 ได้แก่
จังหวัดพะเยา อัครา พรหมเผ่า อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา เจ้าของเก้าอี้เดิมที่เตรียมขยับขึ้นไปเล่นการเมืองระดับชาติ ส่ง ธวัช สุทธวงค์ อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา และอดีตผู้สมัคร ส.ส.พะเยา เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ ลงสมัครแทน
ส่วนคู่แข่งเป็น ชัยประพันธ์ สิงห์ชัย อดีตผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา พ.ศ.2563 คณะก้าวหน้า และอดีตผู้สมัคร ส.ส.พะเยา เขต 3 พรรคก้าวไกล ลงสมัครในฐานะกลุ่มพะเยาก้าวไกล
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งลาออกจากตำแหน่ง ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง โดยมีคู่แข่งเป็น วัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่ สังกัดกลุ่มก้าวใหม่อยุธยา โดยมี ชริน วงศ์พันธ์เที่ยง ส.ส.พระนครศรีอยุธยา เขต 2 พรรคก้าวไกล ให้การสนับสนุน
จังหวัดชัยนาท อนุสรณ์ นาคาศัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยนาท ได้ลาออกจากตำแหน่ง ส่ง จิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภา อดีตสมาชิกวุฒิสภา และเป็นพี่สาวของนายอนุสรณ์ นาคาศัย ลงสมัคร
โดยมี ปัญญา ไทยรัตนกุล อดีตนายกเทศมนตรีหันคา และอดีตผู้สมัคร ส.ส.ชัยนาท เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ ลงในนามก้าวใหม่ชัยนาท และสุทธิพจน์ เชื้ออภัยวงษ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ชัยนาท เขต 2 พรรคก้าวไกล ลงสมัครในฐานะผู้สมัครอิสระ
จังหวัดชัยภูมิ อร่าม โล่ห์วีระ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งลาออกจากตำแหน่ง ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง มีคู่แข่งได้แก่ สุรีวรรณ นาคาศัย ภรรยา สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ เขต 3 พรรคภูมิใจไทย และจารุวรรณ จังหวะ อดีต ส.อบจ.ชัยภูมิ เขตอำเภอหนองบัวแดง พี่สาว กาญจนา จังหวะ ส.ส.ชัยภูมิ เขต 4 พรรคพลังประชารัฐ
จังหวัดพิษณุโลก มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งได้ลาออกจากตำแหน่ง ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกสมัย แข่งกับ เศรษฐา กิตติจารุรัตน์ อดีต ส.จ.เขตอำเภอเมืองพิษณุโลก และอดีตผู้สมัคร ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ ในปี พ.ศ.2562
ขยับออกมามองภาพรวมการชิงตำแหน่งนายก อบจ.ทั่วประเทศ พรรคก้าวไกลซึ่งครั้งนี้ลงมาสู้สนามนายก อบจ. ในนามพรรคก้าวไกลโดยตรง เริ่มทยอยเปิดตัวผู้สมัครในหลายจังหวัด
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงความพร้อมสนามเลือกตั้งนายก อบจ. ว่า การชิงเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครก่อนอาจทำให้เสียเปรียบทางการเมือง แต่ในส่วนของพรรคก้าวไกล ผ่านขั้นตอนการคัดเลือกมีความพร้อมแล้วใน 20 จังหวัด และยืนยันว่ากลยุทธ์การเลือกตั้งท้องถิ่นของพรรคก้าวไกลไม่ได้กลัวเกมบ้านใหญ่ เพราะเชื่อว่าสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงการเมืองได้ ตั้งแต่การเมืองระดับท้องถิ่นไปถึงระดับประเทศ คือการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด
โจทย์สำคัญที่สุดคือการเลือกตั้งท้องถิ่น “กระสุนย่อมแพ้กระแส” หากรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกนายก อบจ. และเลือกตัวแทนจังหวัดให้ได้มากที่สุด และยอมรับว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นเชื่อมโยงระดับชาติ เพราะนโยบายสาธารณะของท้องถิ่นจะต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
ความเชื่อมั่นของพรรคก้าวไกล ต้องถูกท้าทายในสนามเลือกตั้งจริง เมื่อคู่แข่งสำคัญทางการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทยก็เตรียมพร้อมเต็มที่ ใช้กลยุทธ์เป็นคนจากบ้านใหญ่ในพื้นที่ หวังสู้กับกระแสของพรรคก้าวไกล
ปิดท้ายด้วยผลสำรวจ “ธำรงศักดิ์โพล” งานวิจัยส่วนบุคคลของ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 4,310 ราย ใน 47 จังหวัด ระหว่าง 8-21 เมษายน พ.ศ.2567 ด้วยคำถามว่า “พรรคการเมืองที่ท่านจะสนับสนุนในการเลือกตั้งท้องถิ่น นายก อบจ. ครั้งต่อไป”
ผลการวิจัยพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเลือกพรรคก้าวไกล ร้อยละ 58.77 (2,530 คน), พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 13.59 (585 คน), พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 2.65 (114 คน), เลือกพรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 2.56 (110 คน)
เลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 2.44 (105 คน), พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 1.99 (86 คน), พรรคอื่นๆ ร้อยละ 1.74 (75 คน), เลือกผู้สมัครอิสระ ร้อยละ 2.42 (104 คน) และไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 13.84 (596 คน)
เมื่อพิจารณาข้อมูลรายพื้นที่ พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามในพื้นที่เหล่านี้ เลือกพรรคก้าวไกล กรุงเทพฯ ร้อยละ 60.60, ภาคกลาง ร้อยละ 60.90, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 60.20, ภาคเหนือ ร้อยละ 39.10, ภาคใต้ ร้อยละ 55.50, สามจังหวัดชายแดนใต้ ร้อยละ 60.0
เลือกพรรคเพื่อไทย กรุงเทพฯ ร้อยละ 13.20, ภาคกลาง ร้อยละ 12.70, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 18.70, ภาคเหนือ ร้อยละ 27.40, ภาคใต้ ร้อยละ 10.90, สามจังหวัดชายแดนใต้ ร้อยละ 6.70
พรรคภูมิใจไทย สูงสุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 5.10, พรรครวมไทยสร้างชาติ สูงสุดที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ร้อยละ 3.70, พรรคประชาธิปัตย์ สูงสุดที่ภาคใต้ ร้อยละ 6.70, พรรคพลังประชารัฐ สูงสุดที่ภาคเหนือ ร้อยละ 3.60
พรรคก้าวไกลคาดหวังกับเก้าอี้นายก อบจ.อย่างเต็มที่ แต่ในสนามเลือกตั้งจริง จะหักบ้านใหญ่ได้จริงหรือไม่ ต้องรอติดตาม
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022