ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ทะลุกรอบ |
ผู้เขียน | ดร. ป๋วย อุ่นใจ |
เผยแพร่ |
ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ
จาก ‘เด็กชายที่โหล่’
สู่ ‘นักวิทย์โนเบล’
ในตอนเด็ก คุณเคยฝันอยากเป็นอะไร?
คำถามนี้ หลายคนคงเคยโดนถามกันมาบ้าง และคำตอบก็อาจจะมีได้หลากหลาย
สำหรับเด็กชายจอห์น เกอร์ดอน (John Gurdon) ที่กำลังเรียนวิทยาลัยอีตัน (Eton college) ในประเทศอังกฤษ คำตอบก็คือ “นักวิทยาศาสตร์”
ฟังดูก็ไม่มีอะไรประหลาดพิสดาร แต่ทว่า ในสายตาของคุณครูของเขา ความฝันนี้ของจอห์นไม่เข้าท่าอย่างรุนแรง
เพราะในชั้นเรียนของเขาที่อีตันมีนักเรียนอยู่ 250 คน และจอห์นรั้งท้ายในแทบทุกวิชาที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาชีววิทยาดูจะสาหัสที่สุด เพราะคะแนนของจอห์นแย่จนเป็นที่โหล่ของห้อง นั่นคือที่ 250 จาก 250
ความฝันที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ผลักดันพรมแดนแห่งวิทยาศาสตร์ให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น ถึงเป็นอะไรที่ฟังดูทะเยอะทะยานมากสำหรับจอห์น
“ผมเชื่อว่า (จอห์น) เกอร์ดอนมีแนวคิดที่อยากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ผลการเรียนของเขาปัจจุบันชี้ว่านี่เป็นอะไรที่ค่อนข้างไร้สาระ ถ้าเขาไม่สามารถเรียนข้อเท็จจริงพื้นๆ ทางชีววิทยา เขาจะไม่มีโอกาสเลยที่จะทำงานของนักวิจัย และมันจะเป็นการเสียเวลาไปเปล่าๆ ปลี้ๆ ทั้งของเขาและของคนที่ต้องสอนเขาด้วย” ครูประจำชั้นของเขาเขียนลงไปในสมุดพกของเขา
แต่สำหรับจอห์น แม้วิทยาศาสตร์ดูจะเป็นอะไรที่ไม่น่าจะตรงกับความถนัดเลยแม้แต่น้อย แต่จอห์นก็ยังรักและมีแรงบันดาลใจที่เต็มเปี่ยมที่จะเรียนในสายวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชีววิทยา

จอห์นตัดสินใจสมัครเข้าเรียนคลาสสิคที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (ออกซ์ฟอร์ดมีหลักสูตรคลาสสิค (Classics) หรือจริงๆ ก็คือมนุษยศาสตร์และศิลปศาสตร์(Literae Humaniores) ที่เกี่ยวกับความเป็นมาและความรุ่งเรืองของอาณาจักรโบราณทั้งกรีกและโรมัน ครอบคลุมในทุกด้าน ตั้งแต่ภาษา ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วิทยาการ ไปจนถึงโบราณคดี)
และเขาก็ได้ออฟเฟอร์ตอบรับให้เข้าเรียน แต่การตอบรับนี้มีเงื่อนไข นั่นคือเขาจะต้องมาเรียนที่ออกซ์ฟอร์ดในเทอมนั้นเลย และเขาจะไม่ได้เรียนในสิ่งที่เขาสมัครสอบเข้ามา
แต่เหมือนโชคชะตานำพา เจ้าหน้าที่รับสมัครทำเอกสารพลาดทำให้หลักสูตรวิทยาศาสตร์มีที่ว่างราวสามสิบที่ เจ้าหน้าที่ก็เลยเริ่มติดต่อนักศึกษาที่ประสงค์จะเรียนวิทยาศาสตร์ และหนึ่งในนั้นคือจอห์น
“ตอนนั้น ผมค่อนข้างที่จะโชคดี” จอห์นกล่าว “พ่อแม่ของผมเห็นผมสนใจวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ก็เลยจัดเรียนพิเศษให้ในสิ่งที่ผมขาดไปที่โรงเรียน”
และในที่สุด จอห์นก็ได้ปริญญาโทจากออกซ์ฟอร์ดสาขาสัตววิทยา ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของชีววิทยา วิชาที่จอห์นทำได้แย่ที่สุดในตอนมัธยม

“ผมสนใจในชีววิทยามาตลอด ผมแค่ไม่สามารถจัดการตัวเองได้สำหรับการเรียนที่โรงเรียน ระบบมันไม่เหมาะกับผม” จอห์นเล่า
“ตอนนั้น เป็นช่วงหลังสงคราม เราขาดตำราเรียน สิ่งที่เราต้องทำคือ จำและจด และถ้าคุณไม่เก่งสองอย่างนั้น คุณจะสอบไม่ผ่าน และผมก็ทำไม่ได้จริงๆ และก็สอบไม่ผ่านจริงๆ นั่นแหละ”
น่าสนใจ ตอนมัธยม แม้ว่าจอห์นจะสนใจในชีววิทยาจนถึงขั้นลุ่มหลง แต่ชีววิทยากลับกลายเป็นฝันร้ายสำหรับเขา
แต่ที่ออกซ์ฟอร์ด ฝันร้ายนี้กลับกลายเป็นฝันดี ความฝันที่ทุกคนเชื่อว่าจะไกลเกินเอื้อมสำหรับเขา กลับเป็นอะไรที่ง่ายนิดเดียวในยามที่เขาค้นพบตัวเอง
ด้วยความชื่นชอบด้านแมลง จอห์นตัดสินใจสมัครเรียนต่อปริญญาเอกทางด้านกีฏวิทยา ทว่า สิ่งที่เขาได้กลับมาคือคำปฏิเสธ
“แต่ผมก็ยังโชคดี ในตอนนั้น มีศาสตราจารย์ทางชีววิทยาพัฒนาการที่ยอดเยี่ยมมากๆ เสนอตำแหน่งให้ผม และนั่นคือเวลาที่อะไรๆ เริ่มเข้าที่เข้าทาง” จอห์นเล่า
ผู้ที่หยิบยื่นโอกาสนั้นให้จอห์นก็คือ มิคาอิล ฟิชเบิร์ก (Michail Fischberg) นักชีววิทยาพัฒนาการมือฉมังแห่งออกซ์ฟอร์ด
ในตอนนั้น งานวิจัยด้านสัตววิทยาที่มาแรงที่สุดก็คืองานวิจัยโคลนนิ่งกบของโรเบิร์ต บริกก์ (Robert Brigg) โทมัส คิง (Thomas King) และทีมที่ศูนย์วิจัยการแพทย์แลนคีเนา (Lankenau Hospitol Research Center) ที่ฟิลาเดลเฟีย (ปัจจุบันคือสถาบันวิจัยมะเร็งฟอกซ์ เชส (Fox Chase Cancer Center)
เปเปอร์ Transplantation of Living Nuclei from Blastula Cells into Enucleated Frogs’ Eggs ของโรเบิร์ตและโทมัสในปี 1952 ถือเป็นหนึ่งเปเปอร์ในตำนานเพราะเป็นผลงานที่บุกเบิกเทคโนโลยีการปลูกถ่ายนิวเคลียสลงไปในเซลล์ไข่ที่ปราศจากนิวเคลียสเพื่อการโคลนสัตว์
ทั้งสองเลือกที่จะใช้นิวเคลียสจากสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนกบมาปลูกถ่าย และพวกเขาก็ทำได้สำเร็จสวยงาม
แม้ว่าการโคลนกบจากสเต็มเซลล์ของพวกเขาได้ผลดีเลิศ แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไร ความพยายามของพวกเขาก็ไม่ประสบผลกับนิวเคลียสของเซลล์ที่พัฒนาไปแล้ว
ทีมวิจัยเชื่อว่าอาจจะเป็นเพราะในนิวเคลียสของเซลล์ที่พัฒนาไปจนเป็นอวัยวะในร่างกายแล้วนั้น อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างเกิดขึ้นกับสารพันธุกรรมทำให้สูญเสียคุณสมบัติในการเป็นสเต็มเซลล์ และสูญเสียศักยภาพในการพัฒนาไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ ไป พอเอาไปปลูกถ่ายลงในเซลล์ไข่ ก็เลยไม่สามารถพัฒนาต่อไปจนเป็นตัวกบที่สมบูรณ์ได้
แต่จอห์นมองต่างมุม เขาไม่เชื่อว่านิวเคลียสของเซลล์พัฒนาไปแล้วนั้นจะสูญสิ้นศักยภาพไปจนหมดสิ้น ได้แรงบันดาลใจจากงานวิจัยโคลนกบในตำนาน ภายใต้การสนับสนุนของมิคาอิล
จอห์นตัดสินใจที่จะสานต่อปณิธานของโรเบิร์ตและโทมัส และพัฒนากระบวนการปลูกถ่ายนิวเคลียสของเซลล์ที่พัฒนาไปอย่างสมบูรณ์แล้ว อย่างเซลล์ลำไส้ลูกอ๊อดลงไปในเซลล์ไข่กบที่ถูกกำจัดเอานิวเคลียสออกไปแล้วให้ประสบผล
ผลออกมาน่าตื่นเต้น เพราะไข่กบโคลนของจอห์นพัฒนาขึ้นมาเป็นตัวกบได้จริง นิวเคลียสจากเซลล์ลูกอ๊อดที่พัฒนาไปจนเป็นเซลล์ลำไส้แล้วสามารถถูกทำให้ย้อนวัยกลับมาเป็นสเต็มเซลล์ที่สามารถเปลี่ยนตัวเองไปเป็นเซลล์อวัยวะชนิดต่างๆ ได้อีกครั้ง
เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ เพราะถ้าเราสามารถรีโปรแกรมนิวเคลียสของเซลล์ร่างกายให้ย้อนกลับมากลายเป็นสเต็มเซลล์ได้ เราก็สามารถสร้างสเต็มเซลล์ขึ้นมาได้เรื่อยๆ จริงๆ สร้างมาใหม่ทั้งร่างเลยก็ยังได้
วิธีการของจอห์นกลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักวิจัยรุ่นหลัง ทั้ง เจ ดิเรก บรอมฮอลล์ (J. Derek Bromhall) สตีน วิลลาดเซน (Steen Willadsen) เริ่มบุกเบิกกระบวนการการปลูกถ่ายนิวเคลียสในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
และกรุยทางให้เอียน วิลมุต (Ian Wilmut) และคีธ แคมป์เบลล์ (Keith Campbell) แห่งสถาบันรอสลิน (Roslin Institute) สามารถนำไปต่อยอดจนผลิดอกออกผลเกิดเป็น “ดอลลี่ (Dolly)” แกะโคลนชื่อเสียงกระฉ่อนโลกออกมาได้สำเร็จในปี 1996
เทคโนโลยีโคลนนิ่งสัตว์โดยการปลูกถ่ายนิวเคลียสที่จอห์นพัฒนาขึ้นมาจนสุกงอมนี้ กลายเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีแห่งความหวังที่หลายคนจับตามองทั้งในแวดวงปศุสัตว์เพื่อการสร้างสัตว์โคลนสายพันธุ์ดี และปลอดโรคเพื่อการเกษตร ไปจนถึงการสร้างอะไหล่อวัยวะสำรองเพื่อการปลูกถ่ายอวัยวะให้ผู้ป่วยที่ต้องการ ไปจนถึงโอกาสในการมีทายาทสืบสกุลของกลุ่มชน LGBQIA+
ด้วยผลงานที่ทรงอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อวงการวิทยาศาสตร์ จอห์นได้รับการพระราชทานยศอัศวินกลายเป็นเซอร์จอห์น เกอร์ดอน (Sir John Gurdon) ในปี 1995 และต่อมา ศูนย์วิจัยมะเร็งกองทุนเวลคัม (Wellcome Trust Cancer Research Center) ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันเกอร์ดอน (Gurdon Institute) ในปี 2004
จอห์นได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์และสรีรวิทยาร่วมกับชินยะ ยามานากะ (Shinya Yamanaka) เจ้าพ่อสเต็มเซลล์ผู้ค้นพบน้ำพุแห่งความเยาววัยทั้งสี่ที่เรียกว่าปัจจัยยามานากะ (Yamanaka Factor) ในปี 2012
แต่ที่มหัศจรรย์ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ผลงานของจอห์น นอกจากจะผลักดันวงการวิทยาศาสตร์ให้ก้าวไปข้างหน้าแล้ว ยังเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจเบื้องหลังนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดังของไมเคิล ไครช์ตัน (Michael Crichton) ที่ภายหลังกลายมาเป็นภาพยนตร์อมตะอย่าง “จูราสสิคพาร์ค (Jurassic Park)” อีกด้วย
ภาพยนตร์สร้างแรงบันดาลใจ เพราะบางที เทคโนโลยีในนิยายอาจจะกลายเป็นความจริง
เพราะเมื่อใดที่เทคนิคในการวิเคราะห์ดีเอ็นเอจากซากดึกดำบรรพ์ที่เรียกว่าบรรพพันธุศาสตร์ (Paleogenomics) เริ่มพัฒนาถึงจุดที่มนุษย์จะสามารถกู้คืนลำดับพันธุกรรมของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วมาได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เมื่อนั้น โอกาสที่มนุษย์จะย้อนคืนการสูญพันธุ์ สังเคราะห์จีโนมสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์และโคลนนิ่งเผ่าพันธุ์ที่สาบสูญก็อาจจะเป็นไปได้
บางที ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ถ้าแผนการของโคลอสซัลและเหล่าพันธมิตรเป็นจริง เราอาจจะได้เห็นแมมมอธ ไทลาซีน และนกโดโด้เวอร์ชั่น 2.0 ออกมาเดินฉุยฉายโชว์กายอยู่บนโลกใบนี้ก็เป็นได้
ใครจะรู้ว่าความฝันของจอห์นที่อยากจะเป็นนักวิจัยผู้ทะลวงพรมแดนแห่งองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้กับมนุษยชาติจะเกิดขึ้นจริง
เรื่องนี้ทำให้ผมต้องย้อนกลับมานั่งคิดถึงกระบวนการบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์ในบ้านเรา
ว่า…ที่จริงแล้ว เรากำลังเดินไปถูกทางหรือยัง
ในกรณีของจอห์น ต้องบอกว่าดีนะที่ข้อความร้ายกาจที่ครูบันทึกไว้ในสมุดพก ไม่ทำให้จอห์นถอดใจ หันหลังให้วิทยาศาสตร์ไปเสียก่อน
ไม่งั้นไม่รู้ว่าดอลลี่จะมีโอกาสได้เกิดขึ้นมามั้ย
และความฝันในการฟื้นชีพสัตว์สูญพันธุ์จะดูเป็นจริงได้เมื่อไร!?
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022