ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | โลกทรรศน์ |
ผู้เขียน | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ |
เผยแพร่ |
โลกทรรศน์ | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
มองการเปลี่ยนแปลง
ของอังกฤษและโลก
พรรคเลเบอร์ พรรคซ้ายกลางของอังกฤษชนะเลือกตั้งทั่วไป ได้ที่นั่งมากถึง 650 ที่นั่งในสภา ด้วยความขมขื่นจากการบริหารงานของพรรคคอนเซอร์เวทีฟภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรี ริชี ซูนัค (Rishi Sunak) ด้วยผลงานความย่ำแย่ด้านค่าครองชีพ บริการสาธารณะที่ล้มเหลว ภาระหนี้
อังกฤษได้นายกรัฐมนตรีสังกัดพรรคเลเบอร์คนใหม่ เคียร์ สตาร์เมอร์ (Sir Keir Starmer)
ความจริงจะโทษ ริชี ซูนัค คนเดียวก็ไม่ได้ ภายใต้การบริหารประเทศของพรรคคอนเซอร์เวทีฟยาวนานถึง 14 ปี มีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีถึง 5 คนใน 9 ปีหลัง อังกฤษมีแต่ความไร้เสถียรภาพ
ภาระภาษีสูงสุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 หนี้สุทธิเกือบเท่ากับผลิตผลทางเศรษฐกิจต่อปี ค่าครองชีพสูง บริการสุขภาพย่ำแย่
อะไรคือ ‘การเปลี่ยนแปลง’
ของรัฐบาลพรรคเลเบอร์
อังกฤษได้เผชิญหน้าวิกฤตการณ์ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อังกฤษเสียหายมากจากโรคระบาดโควิดในปี 2019 ที่บั่นเซาะนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แล้วก่อความพินาศในช่วง 6 สัปดาห์ของนายกรัฐมนตรี ลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) รวมทั้งสร้างภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจให้กับริชี ซูนัค
สโลแกนการรณรงค์หาเสียงของพรรคเลเบอร์มีเพียง 1 คำคือ การเปลี่ยนแปลง
แต่เมื่อเป็นรัฐบาล นโยบายต่างประเทศและการป้องกันประเทศของรัฐบาลใหม่กลับต่อเนื่อง
อังกฤษเป็นผู้สนับสนุนที่เข้มแข็งที่สุดต่อยูเครนหลังรัสเซียรุกราน ปี 2022 การใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศของอังกฤษมากกว่าประเทศไหนๆ ที่เป็นสมาชิก NATO ในยุโรป
นี่คือฉันทานุมัติในการเมืองกระแสหลักอังกฤษ ตามด้วยแผนการเพิ่มค่าใช้จ่ายการป้องกันประเทศ 2.5% ของ GDP
นี่คือ แก่นกลางโครงการการเมืองของสตาร์เมอร์เมื่อเขาได้เป็นผู้นำพรรคเลเบอร์ปี 2020
โลกทัศน์นี้แผ่ซ่านสู่แถลงการณ์ การเลือกตั้งของพรรค ซึ่งบรรยายความผูกพันของตน และสัญญาในการทำงานกับ NATO
รัฐบาลใหม่จะทำ Strategic Defense Review ในปีแรก จัดแนวทางเพิ่มการใช้จ่ายป้องกันประเทศ 2.5% ของ GDP เสนอสนธิสัญญาความมั่นคง UK-EU
ความหมายที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงคือ เสถียรภาพ ดูเหมือนย้อนแย้ง การเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสตาร์เมอร์ สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือ
เสถียรภาพคือ หัวใจ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในนโยบายต่างประเทศของอังกฤษ ความเชื่อของอังกฤษในความสัมพันธ์อย่างมั่นคงกับสหรัฐอเมริกา บทบาทของตนใน NATO และการสนับสนุนยูเครน
แต่การเปลี่ยนแปลงหมายถึง เสถียรภาพอย่างชัดเจน เพราะหลายปีหลังของการบริหารประเทศของพรรคคอนเซอร์เวทีฟ มีความไม่แน่นอนสูงมาก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลง 5 นายกรัฐมนตรีใน 9 ปี ด้วยสิทธิที่ได้รับจากการเลือกตั้ง ด้วยความเสียหายจากนายกรัฐมนตรีคนก่อนๆ
สตาร์เมอร์สามารถมองไปข้างหน้าอีก 5 ปีก่อนเลือกตั้งทั่วไป และด้วยผลพวงที่โดดเด่นของโทนี่ แบลร์ ผู้นำพรรคเลเบอร์คนก่อน สตาร์เมอร์มีโอกาสดีในการชนะเลือกตั้งครั้งหน้า
สู่การปฏิรูป
ชัยชนะอย่างทล่มทลายของพรรคเลเบอร์แสดงว่า คนอังกฤษไม่พอใจพรรคคอนเซอร์เวทีฟ และต้องการ การเปลี่ยนแปลง
สตาร์เมอร์ไม่ใช่ผู้นำหัวรุนแรง พรรคเลเบอร์ผูกมัดสัญญา รักษาสถานะเดิมเรื่องอัตราภาษีและให้สัญญาลดจำนวนผู้อพยพ อย่างไรก็ตาม พรรคได้แสดงวิสัยทัศน์ใหญ่สำหรับอนาคตทางเศรษฐกิจของอังกฤษด้วย ได้แก่
จัดตั้ง Great British Energy (บริษัทพลังงานสะอาดของรัฐ)
ทำรถไฟให้เป็นของรัฐเมื่อสัญญาสิ้นสุด
ปฏิบัติยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมใหม่
เหล่านี้คือ เป้าหมายสูงส่ง แต่ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ในการทำให้สำเร็จ ด้วยการได้รับความมอบหมายที่พรรคได้รับการเลือกตั้ง
คืนความสัมพันธ์กับยุโรป
สตาร์เมอร์สัญญาจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป เนื่องจากอังกฤษแยกตัวออกจาก Brexit เขาอาจต้องทำงานร่วมกับโดนัลด์ ทรัมป์ หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ เขาสาบานว่าลอนดอนจะสนับสนุนชัดเจนต่อยูเครนในสงครามต้านรัสเซีย
ชัยชนะของเลเบอร์ส่งสัญญานชัดเจนต่อสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักรจะปรับปรุงและยกระดับความสัมพันธ์กับยุโรป ความสัมพันธ์ของ 2 พันธมิตรจะขึ้นอยู่กับความทะเยอทะยานของรัฐบาลพรรคเลเบอร์ และอะไรที่สหภาพยุโรปต้องการหรือไม่ต้องการ เรื่อง การค้า
เลเบอร์แสดงความตั้งใจของตน หลัง 8 ปีแห่งความตึงเครียดเนื่องจากการออกจาก Brexit แต่เลเบอร์ยังชัดเจนว่า ไม่เข้าร่วมอีกกับระบบตลาดเดียวของสหภาพยุโรป หรือสหภาพศุลกากร หรืออนุญาตให้คนเคลื่อนย้ายอย่างเสรีระหว่างชายแดนอังกฤษกับสหภาพยุโรป
อังกฤษต้องการเจรจาอีกครั้งเรื่อง การค้ากับ Brexit ในขณะที่ สหภาพยุโรปเหมือนจะผลักดันการเคลื่อนย้ายอย่างอิสระของคน โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายของเยาวชน ด้วยหลักเกณฑ์ต่างตอบแทน
นี่สำคัญสำหรับรัฐบาลพรรคเลเบอร์ที่ถูกโจมตีเรื่อง ความสมดุลความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหภาพยุโรป ซึ่งยังคงเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุด
รัฐบาลพรรคเลเบอร์กับโลกภายนอก
แน่นอนเป็นภาระอันหนักอึ้งของนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจ หนี้สินประชาชน การบริการสาธารณะ บริการสุขภาพย่ำแย่ และการอพพยของผู้คนขนานใหญ่
สิ่งเหล่านี้ล้วนสัมพันธ์กับการหวนคืนความความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปในฐานะคู่ค้าใหญ่ที่สุดของอังกฤษ
ดังนั้น นโยบายต่างประเทศและการป้องกันประเทศของรัฐบาลใหม่จึงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ยังใกล้ชิดกับยุโรปมากขึ้น
แต่ภาระหนักที่มาจากความคาดหวังจากรัฐบาลพรรคเลเบอร์ไม่ได้บดบังบทบาทอังกฤษในโลกในฐานะผู้นำด้านประชาธิปไตย
พร้อมกันนั้น ประวัติของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและด้านสิทธิมนุษยชนของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ยังเป็นฐานสำคัญเพื่อก้าวเดินในการเมืองระหว่างประเทศด้วย
ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน
ทันทีของชัยชนะการเลือกตั้ง ทวิตเตอร์ของ Derek Tonkin อดีตทูตอังกฤษผู้ติดตามการเมืองในเมียนมาอย่างต่อเนื่องได้เขียนว่า1
“…นโยบายของรัฐบาลอังกฤษต่อเมียนมาภายใต้การบริหารงานของพรรคเลเบอร์จะกดดันอย่างแข็งขันต่อไป ในการยุติการปกครองโดยทหาร ผมเชื่อว่า ตัวสตาร์เมอร์เองสนับสนุนการรณรงค์หนุนชาวปาเลสไตน์ ตัวเขาเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน แต่จะทำให้สงบลง โดยให้ความสำคัญทางพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา…”
อดีตทูต Derek Tonkin ไม่ใช่บุคคลไร้นาม แม้ไม่มีอิทธิพลในการเมืองอังกฤษ แต่ทูตท่านนี้เข้าใจ ฐานคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง ของนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ แล้วมีความหวังต่อเขาและบทบาทของรัฐบาลเขาต่อโลกภายนอก รวมทั้งในเมียนมา
ดูเส้นทางการเมืองของสตาร์เมอร์ เคยเป็นทั้งที่ปรึกษาด้านสิทธิมนุษยชน ที่ปรึกษาสมเด็จพระราชินีและหัวหน้าอัยการ ก่อนสู่เส้นทางการเมืองในการเลือกตั้งปี 2015 เขามีบทบาทในฝ่ายค้าน ในฐานะรัฐมนตรีเงา ด้านการโยกย้ายถิ่น และรัฐมนตรีเงา Brexit ซึ่งต่อต้านการถอนอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป
สตาร์เมอร์ได้รับเลือกเป็นผู้นำพรรคเลเบอร์ปี 2020 เขาปรับเปลี่ยนพรรคเลเบอร์หลายด้าน ทั้งในแง่วัฒนธรรมองค์กร และจุดยืนของพรรคจากเดิมที่เป็นพรรคฝ่ายซ้าย มาเป็นสายกลางมากขึ้น เขายังพยายามขจัดแนวคิดต่อต้านยิวภายในพรรคที่เกิดขึ้นในยุคผู้นำพรรคคนก่อน2
ประวัติของเขาบอกแก่โลกว่า นอกจากความชำนาญด้านยุโรปแล้ว การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนยังโดดเด่นและสืบเนื่อง
สตาร์เมอร์จึงมีความหมายต่ออังกฤษและโลกภายนอก ในแง่มุมใหม่
1Derek TonkinUK, Jul 7, 2024
2วิโรจน์ เลิศจิตต์ธรรม, “รู้จัก เคียร์ สตาร์เมอร์ ตัวเต็งนายกฯ อังกฤษคนใหม่” The Standard, 6 July 2024
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022