โองการ แช่งน้ำ ความเป็นมา คำ ‘สยาม’ สุจิตต์ วงษ์เทศ

บทความพิเศษ

 

โองการ แช่งน้ำ

ความเป็นมา คำ ‘สยาม’

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

นอกจากในทางเนื้อหาของ “โองการแช่งน้ำ” แล้ว จิตร ภูมิศักดิ์ ยังได้ให้ความสนใจต่อปัญหาในทางรูปแบบเป็นอย่างมาก

สะท้อนให้เห็นความสนใจอันหลากหลายและกว้างขวาง

กระบวนการในการทำความเข้าใจก็ดำเนินไปด้วยท่วงทำนองการสำรวจ วิเคราะห์ แยกแยะ อย่างเป็นวิทยาศาสตร์

เริ่มจากสมมติฐาน “เดิม” แล้วค่อย “โต้แย้ง”

เป็นการโต้แย้งโดยหลักฐานที่มีความเก่าแก่โบราณไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ทั้งยังแผ่กรอบขอบเขตออกไปถึงวรรณคดีทางเหนือซึ่งสัมพันธ์อยู่กับวรรณคดีแห่งดินแดนล้านช้างอย่างแนบแน่น

วิธีวิทยาในการโต้แย้งของ จิตร ภูมิศักดิ์ เช่นนี้ดำเนินไปในกระสวนเดียวกันกับเมื่อเขียน “ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ”

เป้าหมายคือ ต้องการสถาปนาบทสรุป “ใหม่” จากการค้นคว้าของตนไปแทนที่บทสรุป “เก่า” ซึ่งดำรงอยู่อย่างยาวนาน

เป็นการตัดทอนจาก “วินิจฉัยลิลิตโองการแช่งน้ำพระพิพัฒน์สัตยา”

 

สำรวจ บทสรุป

โองการแช่งน้ำ

ชนิดของคำประพันธ์ที่แต่งเป็นโองการแช่งน้ำในฉบับสมุดไทยเขียนบอกไว้ว่า “ประกาศแช่งน้ำโคลงห้า” คือ เป็นลิลิตประกอบด้วยร่ายโบราณ ร่ายดั้น และโคลงห้า

แต่มีผู้สงสัยว่าจะไม่ใช่โคลงห้า

เพราะบัญญัติโคลงห้าดูยุ่งยากซับซ้อนไม่น่าจะคล้องจองกับที่ไหน ลางท่านว่าเป็นร่ายตลอด ที่ว่าเป็นร่ายตลอดก็เพราะตามต้นฉบับเดิมเขียนแยกโคลงออกเรียงเป็นสองแถว ดังนี้

แลเป็นแผ่นเมืองอินทร์ เมืองธาดาแรกตั้ง

ขุนแผนแรกเอาดินดูที่ ทุกยั้งฟ้าก่อคืน

แลเป็นสี่ปวงดิน เป็นเขายืนทรงง้ำหล้า

เป็นเรือนอินทร์ถาเถือก เป็นสร้อยฟ้าจึ่งบาน

จึ่งเจ้าตั้งผาเผือกผาเยอ ผาหอมหวานจึ่งขึ้น

หอมอายดินเลอก่อน สรดิ้นหมู่แมนมา

ถ้าอ่านลงทีละแถวก็จะได้สัมผัสแบบร่าย ดังนี้ : แลเป็นแผ่นเมืองอินทร์ ขุนแผนแรกเอาดินดูที่ แลเป็นสี่ปวงดิน เป็นเรือนอินทร์ถาเถือก จึ่งเจ้าตั้งผาเผือกผาเยอ หอมอายดินเลอก่อน

ส่วนแถวข้างขวา อ่านลงมาก็เป็นร่ายอีกเหมือนกัน

ที่อ่านได้เป็นร่ายทีละแถวอย่างนี้ถึงกับเห็นกันว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ความจริงไม่มหัศจรรย์อันใดเพราะสัมผัสโคลงห้าเป็นอย่างเดียวกับบาทกุญชร คือ บาทคู่สัมผัสกับบาทคู่ บาทขอนสัมผัสบาทขอน (ส่งสัมผัสข้ามบาท)

ถ้าเราจะเอาโคลงดั้นบาทกุญชรมาเขียนเรียงเป็นสองแถวอย่างนี้บ้างแล้วอ่านลงมาทีละแถวก็จะได้สัมผัสเป็นร่ายเหมือนกัน

แสดงให้เห็นว่าคำประพันธ์ที่เรียงไว้เป็นสองแถวนี้เป็นอย่างอื่น ไม่ใช่ร่าย!

ถ้าไม่ใช่ร่ายจะเป็นอะไร

 

เป็น มณฑกคติ

หรือ จิตรลดา

ข้อนี้พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวินิจฉัยไว้ว่าเป็นโคลงโบราณที่เรียกว่า จิตรลดา

โคลงจิตรลดานั้นลักษณะเดียวอย่างจัตวาทัณฑี

คือ บาทที่สามรับสัมผัสบาทต้นด้วยคำที่ 4 แต่ เอก โท บังคับผิดกัน ดังตัวอย่าง

นานาอเนกน้าว เดิมกัลป์

จักร่ำจักราพาฬ เมื่อไหม้

กล่าวถึงตระวันเจ็ด อันพลุ่ง

น้ำแล้งไข้ ขอดหาย

โองการแช่งน้ำที่แปลงเป็นโคลงจิตรลดาตามมติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 นี้

จึงเป็นสิ่งที่ควรได้รับความสนใจอย่างยิ่ง

คราวนี้ลองหันมาดูลิลิตนี้ในด้านโคลงห้าบ้าง โคลงห้าเรียกอีกอย่าง 1 ว่าโคลงมณฑกคติ (โคลงกบเต้น) ลักษณะของโคลงห้าเป็นอย่างไรมีปรากฏอยู่ในตำราฉันลักษณ์แล้ว

แต่ที่สมบูรณ์ที่สุด คือ ตำราฉันทลักษณ์ฉบับของ พระยาอุปกิตศิลปสาร ให้บัญญัติโคลงห้าไว้ชัดเจน แต่ก็มีบางอย่างบกพร่องไม่ต้องตามต้นตำราเดิม

ดังจะชี้ให้เห็นต่อไปข้างหน้า

 

เทียบ โองการแช่งน้ำ

กับ ท้าวฮุ่ง ขุนเจือง

โคลงห้านั้นเป็นโคลงไทยโบราณนิยมกันแต่ทางเหนือแต่ก็ไม่สู้แพร่หลายมากนักด้วยไม่ไพเราะพริ้งเพรา

ลีลาของกลอนสู้โคลงจิตรลดา วิชชุมาลีและสินธุมาลีไม่ได้

โคลงห้าที่ถูกแบบแท้เห็นจะเป็นโคลงในหนังสือกลอนโบราณของไทยล้านช้างเรื่อง “ท้าวฮุ่ง” หรือ “เจือง” ในหนังสือนี้ใช้โคลงห้าอยู่หลายตอนแต่ถ้าเทียบกับโคลงวิชชุมาลีและสินธุมาลีที่ใช้ในเรื่องนี้ซึ่งรวมโคลงราว 5,000 บทแล้วนับว่าน้อยเต็มที

เป็นดัง ห้างแฮ้วถึก ตีนสาน แลนอ

พานสายชัก เชือกแฮ้ว

เบ่านานขาด เป็นบั้น

แค้วแค้วกล่าว คำเมือ

ฟ้าขั้นท่อน เป็นดิน

เป็นดินเดียร ดาดหญ้า

นกยูงบิน สู่ไม้

ไม้ก็ ไม้ลำหม้า ยอดสูง

จะเห็นได้ว่าสัมผัสโคลงห้าไม่ผิดอะไรกับโคลงดั้นบาทกุญชรหรือจิตรลดาถ้าจะลองแปลงเป็นทำนองกลบทดูตามมติของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าก็จะเป็นโคลงจิตรลดาได้เหมือนกัน

โดยเหตุที่โคลงห้าแปลงเป็นโคลงจิตรลดาได้ดังนี้เองทำให้มั่นใจว่าโคลงในลิลิตโองการแช่งน้ำนั้นเป็นโคลงห้าดังที่ท่านจ่าหน้าไว้แน่ไม่ใช่โคลงกลบทอะไร ต้องจัดบทและบาทออกอย่างนี้

นานา อเนกน้าว เดิมกัลป์

จักร่ำ จักราพาฬ เมื่อไหม้

กล่าวถึง ตระวันเจ็ด อันพลุ่ง

น้ำแล้งไข้ ขอดหาย

คำที่ยื่นหน้าบาทมาข้างหน้าบาทละสองคำ คือ นานา, จักร่ำ ฯลฯ นั้นเป็นคำเพิ่มให้ได้ความ มีสิทธิ์เติมได้เช่นเดียวกับคำสร้อย

ดูเหมือนท่านจะนิยมคำเพิ่มหน้าอย่างนี้มากกว่าคำสร้อยเสียด้วยซ้ำไป

 

สู่จุด การเกิดใหม่

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ต้องยอมรับว่าไม่ว่าการศึกษาเรื่อง “โองการแช่งน้ำ” และ “ข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา” ดำรงอยู่อย่างสัมพันธ์กับ “ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ”

รวมถึง “สังคมไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา”

ซึ่งไม่เพียงแต่สำนักพิมพ์ “ฟ้าเดียวกัน” สรุปอย่างรวบรัดว่า ได้รับการยกย่องในฐานะงานที่ “ทะลวงกรอบทลายกรง” บุกเบิกแง่มุมใหม่จากกรอบคิดเดิม

รวมถึง สุจิตต์ วงษ์เทศ ยอมรับอย่างชนิดเปิดหัวใจ

หลังอ่านหนังสือ “ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ความคิดของผมทางภาษาและวรรณกรรมไทย (รวมทั้งประวัติศาสตร์ โบราณคดี)

“ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”

ดังที่เห็นได้เมื่อ สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนถึง “โองการแช่งน้ำ” ในหนังสือ “อำนาจของภาษาและวรรณกรรมไทย”

ความไม่เหมือนเดิมจึงดำรงอยู่ในลักษณะอันเท่ากับเป็น “การเกิดใหม่”