เปลี่ยนผ่าน ‘อาหารรสมือแม่’ (おふくろの味)

ธรรมเนียมปฏิบัติแต่เดิมมาของผู้หญิงญี่ปุ่น เมื่อผู้หญิงแต่งงานแล้ว ก็ต้องลาออกจากงานประจำมาเป็นแม่บ้านเต็มตัว

ถ้ามีลูกก็ดูแลเลี้ยงลูก รับผิดชอบงานบ้านทั้งหมด รวมทั้งเรื่องอาหารการกินของคนในครอบครัวครบทุกมื้อ ตื่นก่อนใครมาทำมื้อเช้า พร้อมข้าวกล่องมื้อเที่ยงของสามีไปกินที่ทำงาน และเตรียมทำมื้อเย็นก่อนสมาชิกกลับถึงบ้าน

จบภารกิจหนึ่งวันเมื่อทุกคนเข้านอน

มาถึงยุคสมัยที่ผู้หญิงญี่ปุ่นทำงานนอกบ้านกันมากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้มาจุนเจือครอบครัวอีกแรงหนึ่ง แต่ภาระรับผิดชอบที่ติดตัวมาแต่ดั้งเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือลดน้อยลงเลย

เริ่มตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดให้วันที่ 23-29 มิถุนายน เป็น “สัปดาห์แห่งความเท่าเทียมชาย-หญิง” 男女共同参画週間 (Gender Equality Week) ให้ตระหนักถึงความเป็นสังคมที่เท่าเทียมกันของชาย-หญิงในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทำงาน สถานศึกษา ชุมชน ครอบครัว เป็นต้น

ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการแสดงความรู้ ความสามารถ อยู่ร่วมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติจากเพศ โดยภาครัฐถือเป็นภารกิจ และทุกคนช่วยกันส่งเสริมให้เป็นสังคมแห่งความเท่าเทียมกัน

แต่…ในความเป็นจริง เมื่อผู้หญิงญี่ปุ่นหันมองไปรอบๆ ตัว หลายเรื่องยังพร่าเลือน ความเหลื่อมล้ำทางเพศไม่ได้หมดไป ยังมีอยู่แน่นอน

 

เริ่มที่ใกล้ตัวที่สุด คือ ในครอบครัว สามีภรรยาอาจเริ่มมีการแบ่งงาน ช่วยกันทำงานบ้าน ผู้ชายก็เอาเสื้อผ้าใส่เครื่องซักผ้า แล้วเอาไปตากบ้างแล้ว หรือไม่ก็ช่วยล้างจาน เป็นต้น

แต่ที่ยังเหมือนเดิมอย่างเหนียวแน่น คือ การทำอาหาร คำว่า “อาหารรสมือแม่” おふくろの味 เป็นคำที่เข้าใจและบ่งบอก “หน้าที่ของแม่” อย่างชัดเจนมาโดยตลอด ไม่เปลี่ยนแปลงเลย

การทำอาหารสำหรับคนในครอบครัว “ควรเป็นหน้าที่ของใคร?” ลองไปสอบถามผู้คนต่างเพศ ต่างวัยดู

“ใครก็ได้ ทั้งหญิงและชาย” (หญิง นักเรียนมัธยมปลาย)

“ภรรยาผมเป็นแม่บ้าน ก็ควรเป็นหน้าที่ผู้หญิง” (ชาย วัย 30 ปี)

“คนไหนถนัดก็ทำ ครอบครัวผมคุณพ่อทำอาหารเก่ง คุณพ่อทำทุกวัน” (ชาย วัย 20 ปี)

“ใครทำก็ได้ ไม่เกี่ยวกับเพศ ชายหรือหญิง” (หญิง วัย 50 ปี)

สรุปเบื้องต้น ทั้งชายและหญิง 90% ตอบว่า “ใครก็ได้ ไม่กำหนดชายหรือหญิง” ถ้าเป็นเช่นนี้จริง หมายความว่าเราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางความคิดตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปของญี่ปุ่น

 

ทีนี้ลองเปลี่ยนคำถามไปเล็กน้อย ในความเป็นจริง “ครอบครัวคุณ ใครเป็นคนทำอาหาร?”

“เราทำงานนอกบ้านทั้งคู่ แต่ดิฉันต้องทำอาหารด้วย” (หญิง วัย 40 ปี)

“พ่อแม่ผมทำงานทั้งคู่ แต่แม่กลับบ้านช้ากว่า ส่วนใหญ่พ่อเป็นคนทำอาหาร” (ชาย วัย 20 ปี)

“คุณพ่อเป็นผู้ชายยุคโบราณ ดิฉันจึงถูกอบรมมาให้ทำหน้าที่ของผู้หญิง” (หญิง วัย 50 ปี)

“ส่วนใหญ่ ภรรยาทำอาหาร ผมช่วยเล็กน้อย เพียงหุงข้าวละมั้ง” (ชาย วัย 60 ปี)

สรุปว่า คนทำอาหารในครอบครัวตัวจริง เป็นผู้หญิง (ภรรยา แม่ ย่ายาย) 71% ผู้ชาย (สามี พ่อ ปู่ตา) 5% ส่วนอีก 23% ใครก็ได้แล้วแต่สะดวก หรือกินอาหารนอกบ้าน สั่งอาหารเดลิเวอรี่ เป็นต้น

 

แม้ภาครัฐจะพยายามส่งเสริมให้ทุกคนมีความคิดชาย-หญิงเท่าเทียมกัน แต่ในทางปฏิบัติและชีวิตประจำวันก็แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง หน้าที่อุ้มท้อง คลอดบุตร เลี้ยงดูลูก งานบ้าน ทำอาหาร ยังคงเป็นหน้าที่ที่ถูกกำหนดให้ผู้หญิงต้องทำอย่างไม่บกพร่อง

ศาสตราจารย์เคียวโกะ นางาอิ 永井暁子 มหาวิทยาลัยสตรีญี่ปุ่น ให้ความเห็นว่า ยิ่งเป็นประเทศที่เน้น “อาหารรสมือแม่” มากเท่าใด อัตราการเกิดของเด็กก็ต่ำลงไปด้วย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี อิตาลี สเปน ถ้าทุกคนช่วยกันลดการแบ่งแยกนี้ลงได้ อัตราเด็กเกิดน้อยในสังคมญี่ปุ่นคงกระเตื้องขึ้นได้บ้าง ผู้หญิงยุคใหม่อาจไม่ครองตัวเป็นโสดมากขึ้น หรือแต่งงานแล้วก็อยากมีลูกให้ครอบครัวสมบูรณ์

หากย้อนดูธรรมเนียมปฏิบัติในอดีต “อาหารรสมือแม่” ฟังดูเป็นคำชมที่น่าภูมิใจสำหรับผู้หญิง แต่ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่าสังคมได้กำหนดภาระหน้าที่ของผู้หญิงแยกจากผู้ชายไปแล้ว

 

เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด หลังพลิกฟื้นตัวเองจากความพ่ายแพ้สงครามโลก กลายเป็นสังคมอุตสาหกรรม ประชาชนมีกินมีใช้ ชีวิตสุขสบาย อาหารแต่ละมื้อในครอบครัวจึงเพียบพร้อมทั้งข้าว ซุป เครื่องเคียง และอาหารหลัก ปลา เนื้อ ไก่ เป็นต้น แต่ถ้าย้อนดูสมัยที่ยังเป็นสังคมเกษตรกรรม อาหารแต่ละมื้อก็พอประทังชีวิตได้เท่านั้น

กล่าวได้ว่าคติความคิดเกี่ยวกับครอบครัว สามี “ทำงานบริษัท” ภรรยา “แม่บ้านเต็มเวลา” เป็นรูปแบบครอบครัวญี่ปุ่นในช่วงหลังปี 1970 เป็นต้นมา หลังแต่งงาน สามีเป็นผู้ออกไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ผู้หญิงจึงมีหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุน ทั้งงานบ้าน เลี้ยงลูก นับเป็น “การแบ่งแยกหน้าที่ตามเพศ” อย่างหนักแน่นและชัดเจน แบบ “ชายเป็นใหญ่”

ตั้งแต่ปี 1985 ที่มีกฎหมายการจ้างงานเท่าเทียมกันทั้งชายและหญิง 男女雇用機会均等法 ผู้หญิงญี่ปุ่นเริ่มออกไปทำงานนอกบ้านกันมากขึ้น ผู้หญิงมีโอกาสใช้ความรู้ ความสามารถที่มีให้เกิดประโยชน์ และเป็นรายได้จุนเจือครอบครัวเพิ่มขึ้น น่าจะเป็นความภาคภูมิใจของผู้หญิง

แต่…กลับกลายเป็นว่า ผู้ชายทำงาน ผู้หญิงก็ทำงาน และดูแลงานบ้านด้วยเหมือนเดิม ผู้หญิงจึงต้องรับภาระหนักเกินกำลังของตนเองไปโดยปริยาย

ผู้หญิงไม่ควรก้มหน้ายอมรับว่าเป็น “ปัญหาของฉัน” แต่ต้องผลักดันให้เป็น “ปัญหาของครอบครัวเรา” ที่ต้องหาทางพูดคุยและแก้ไขร่วมกัน

 

จําเป็นต้องเริ่มต้นจาก เปลี่ยนผ่านความคิดเรื่อง “อาหารรสมือแม่” ที่แฝงความรู้สึกโหยหาและคิดถึง สู่ “อาหารรสบ้านเรา” 我が家の味

พ่ออาจทำอาหารผัด ทอด ได้ถูกปากลูกๆ เป็นอาหารฝีมือพ่อ

หรือแม่ทำข้าวแกงกะหรี่อร่อยเลิศรส เป็นอาหารฝีมือแม่

ทุกอย่างล้วนเป็น “อาหารรสบ้านเรา”

เพียงเท่านี้ก็อาจช่วยลดภาระหนักอึ้งของผู้หญิงยุคใหม่ได้…