ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
สาระนิยาย Psy ฟุ้ง
ยุทธการ 22 สิงหา
พันธมิตร ‘ยกระดับ’ การต่อสู้
ยึด ‘ดอนเมือง’ ยึด ‘สุวรรณภูมิ’
หากประเมินผ่านบทบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เปิดปฏิบัติการ “โฟนอิน” ผ่านมวลชนเรือนหมื่น “นปช. คนเสื้อแดง”
เดือนพฤศจิกายน 2551 สะท้อนถึงการต่อสู้ในลักษณะ “โต้กลับ”
คล้อยหลัง “โฟนอิน” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็เริ่มขยับ
เห็นได้จากการเดินสายพบ “ผู้นำ” ต่างประเทศ
เริ่มจากในกรอบของ “อาเซียน” นั่นก็คือ การเยือนลาว นั่นก็คือ การร่วมประชุมยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี เจ้าพระยา แม่โขง ระหว่างกัมพูชา ลาว เมียนมา ไทยและเวียดนาม
ถือเป็นการเยือนเวียดนามไปด้วย จากนั้นก็บินไปเยือนฟิลิปปินส์
ในเบื้องต้นอาจเป็นการสืบทอดประเพณีระหว่างอาเซียนด้วยกัน แต่ก็ก้าวไปอีกก้าวสำคัญด้วยการเข้าร่วมประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจที่อินเดีย
โดยมีผู้นำ 7 ประเทศในอ่าวเบงกอลเข้าร่วม ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกาและไทย
ปลายเดือนพฤศจิกายนร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย แปซิฟิก ที่เปรู
ขณะเดียวกัน การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน มีมติอนุมัติเห็นชอบให้เพิ่มกรอบเงินงบประมาณปี 2552 อีก 1 แสนล้านบาทเพื่อนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจ
โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกรและคนยากจน และการจ้างงาน
นอกจากนั้น คณะรัฐมนตรียังได้อนุมัติเห็นชอบให้เพิ่มการขาดดุลงบประมาณได้อีก 1 แสนล้านบาท จากเดิมที่ตั้งงบประมาณขาดดุลไว้ที่ 2.49 แสนล้านบาท
เป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีนอก “ทำเนียบรัฐบาล”
ความน่าสนใจเป็นอย่างมากไม่เพียงแต่ผลสะเทือนอันตกกระทบต่อแต่ละจังหวะก้าวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เท่านั้น
หากแต่ยังเป็นการเคลื่อนไหวของ นายสมัคร สุนทรเวช
หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช ก็ล้มป่วยและเข้ารักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม ได้เดินทางกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านย่านถนนนวมินทร์ 21 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน
จากนั้น ได้เดินทางไปรักษาโรคมะเร็งตับที่สถาบันมะเร็งฮุสตัน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกาในวันที่ 5 พฤศจิกายน
ต่อมา ปรากฏรายงานข่าวทางสื่ออินเตอร์เน็ตเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน
ระบุว่า นายสมัครและคุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช ภรรยาและผู้ติดตามถูกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ณ นครฮุสตัน ชูป้ายประท้วงที่สนามบิน โดย นายสมัคร สุนทรเวช ไม่ได้ตอบโต้แต่อย่างใด
วันรุ่งขึ้น นายสมัคร สุนทรเวช ได้เขียนจดหมายตอบโต้ผู้ประท้วงพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยส่งผ่านและออกอากาศในรายการ “ความจริงวันนี้” ทางสถานีโทรทัศน์ NBT
สะท้อนให้เห็นว่าความขัดแย้งระหว่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับรัฐบาลพรรคพลังประชาชนได้แพร่ออกไปจนถึงสหรัฐอเมริกา
ขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวภายในประเทศก็ยกระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น
มีข้อสังเกตว่าช่วงเดือนพฤศจิกายนได้เกิดเหตุระเบิดและการยิงปืนเข้าใส่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ชุมนุมในทำเนียบรัฐบาลตอนกลางคืนอย่างต่อเนื่อง
เริ่มจากวันที่ 4 และวันที่ 7 พฤศจิกายน เกิดเหตุระเบิดและยิงเข้าใส่ตามจุดชุมนุมต่างๆ บริเวณรอบนอกทำเนียบรัฐบาล
วันที่ 8 พฤศจิกายน เป้าหมายเริ่มเข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาล และหวนกลับมาขว้างระเบิดและยิงเข้าไปอีกในวันที่ 11 พฤศจิกายน แม้ยังไม่มีผู้เสียชีวิตแต่เริ่มมีคนบาดเจ็บหลายราย
วันที่ 20 พฤศจิกายน มีการยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่เต็นท์ของผู้ชุมนุมในทำเนียบรัฐบาลห่างจากเวทีปราศรัยเพียง 15 เมตร
บาดเจ็บ 23 ราย สาหัส 2 รายและเสียชีวิต 1 รายในเวลาต่อมา
วันเดียวกันแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีมติให้ระดมมวลชนครั้งใหญ่ในวันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน เพื่อเผด็จศึกแบบ “ม้วนเดียวจบ ไม่ยืดเยื้อ”
ก่อนวันเผด็จศึกเพียง 1 วันก็ได้เรื่อง
เวลา 02.10 น.ของวันที่ 22 พฤศจิกายน มีการยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าไปในทำเนียบรัฐบาล ส่งผลให้การ์ดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บาดเจ็บเล็กน้อย 5 ราย บาดเจ็บสาหัส 3 ราย
เดิมทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยวางเป้าหมายการเคลื่อนไหว “ม้วนเดียวจบ ไม่ยืดเยื้อ” ในวันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน โดยเคลื่อนขบวนแสดงการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปกดดันผ่านกระบวนการล้อมรัฐสภาในวันที่ 24 พฤศจิกายน
แต่เมื่อประสบเข้ากับการยิงเอ็ม 79 เข้าใส่อย่างต่อเนื่องในวันที่ 20 และวันที่ 22 พฤศจิกายน ก็เปลี่ยนแผน
จากเป้าหมายรัฐสภาเป็นสนามบินดอนเมืองในวันที่ 24 พฤศจิกายน
กระบวนท่าการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในวันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2551 น่าติดตามอย่างเป็นพิเศษ
โดยเคลื่อนไปปิดล้อมรัฐสภาตั้งแต่เวลา 06.30 น.
เวลา 08.00 น. ปฏิบัติการดาวกระจายส่งกำลังส่วนหนึ่งไปปิดล้อมหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล และกระทรวงการคลัง
เวลา 09.00 น. นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา สั่งงดการประชุมรัฐสภา
เวลา 12.30 น. พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถอนกำลังจากหน้ารัฐสภา หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล หน้ากระทรวงการคลัง มุ่งไปปิดล้อมหน้าห้องรับรองพิเศษ (VIP) สนามบินดอนเมือง
ซึ่งกำหนดเป็นสถานที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ ผลอย่างฉับพลันก็คือทำให้ที่ประชุมต้องเลิก
แม้การประชุมคณะรัฐมนตรีพิเศษจะยุติไปแล้ว แต่ผู้ชุมนุมบางส่วนได้บุกเข้าไปยังห้องประชุมคณะรัฐมนตรีโดยเข้าไปนั่งในที่นั่งนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี
พร้อมกับงัด “มือตบ” ขึ้นมาโชว์ให้ช่างภาพบันทึกภาพด้วยความสนุกสนามในอารมณ์
วันที่ 25 พฤศจิกายน เมื่อทราบข่าวว่าคณะรัฐมนตรีจะจัดประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษที่กองบัญชาการกองทัพไทย พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็เคลื่อนขบวนไปปิดล้อมเหมือนที่ดอนเมือง
เมื่อคณะรัฐมนตรีสั่งงดการประชุม ขบวนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็เคลื่อนต่อไปโดยมีเป้าหมายอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ
เห็นเด่นชัดว่าไม่เพียงแต่สนามบินดอนเมือง หากเป็นสนามบินสุวรรณภูมิ
ไม่ว่าจะมองจากด้านของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะมองจากด้านของพรรคพลังประชาชน
ดำเนินไปในลักษณะประจันหน้า ไม่มีฝ่ายใดยอมตกอยู่ในสถานะ “ตั้งรับ”
หากมองจากการเดือนสิงหาคม 2551 ที่มีการบุกเข้ายึด “ทำเนียบรัฐบาล” กระทั่งมาถึงเดือนพฤศจิกายน 2551 ก็จะมองได้ถึงการโต้กลับอย่างทวีความดุเดือดเข้มข้นมากยิ่งขึ้น
ถึงชั้นมีการนำเอาระเบิดเอ็ม 79 มาเป็นเครื่องมือ
ส่งผลให้บาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัสและหนักหนาถึงขั้นมีการเสียชี่วิต ฝ่ายที่เคยรุกจึงจำเป็นต้องมีการยกระดับ
จากการยึด “ทำเนียบรัฐบาล” ขยายไปสู่การยึด “สนามบิน”
ความน่าสนใจมิได้อยู่ที่การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบนท้องถนน หากที่สำคัญยังเป็นการเคลื่อนไหวจากกลุ่มพลังอื่นประสานเข้ามา
ไม่ว่าจะเป็นฝ่าย “การเมือง” ไม่ว่าจะเป็นฝ่าย “การทหาร”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022